‘TADA’เปิดศึกตลาดแอปฯเรียกรถในไทย แบบไม่มีค่าคอมมิชชั่น บุกกรุงเทพฯปลายปีนี้

TADA (ทาดา) แพลตฟอร์มเรียกรถแบบไม่มีค่าคอมมิชชั่นของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประกาศเปิดตัวเข้าสู่ประเทศไทยอย่างเป็นทางการ คาดว่าจะเริ่มให้บริการในกรุงเทพฯ ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2566
หลังจากได้รับความนิยมและมีส่วนแบ่งตลาดที่น่าประทับใจในสิงคโปร์ กัมพูชา และเวียดนาม TADA ได้ขยายการให้บริการมาสู่ประเทศไทย ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการส่งมอบโซลูชั่นการเดินทางที่มีคุณภาพและราคาไม่แพงให้กับลูกค้าในวงกว้างยิ่งขึ้น
การเข้าสู่ประเทศไทยของ TADA ไม่ได้เป็นเพียงแค่การเติบโตเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวข้องกับการส่งเสริมความร่วมมือและการทำงานอย่างราบรื่นร่วมกับกลุ่มต่างๆ ในประเทศไทย ทีมงานในประเทศไทยถูกจัดตั้งขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปี เป็นการเน้นย้ำถึงความทุ่มเทของบริษัทในการให้บริการที่เหมาะสมกับประเทศไทย โดย TADA จะลงทุนอย่างเต็มที่เพื่อการเติบโตและความสำเร็จในประเทศไทย
การลงทะเบียนคนขับของ TADA ได้เปิดอย่างเป็นทางการแล้ว และบริษัทขอเชิญชวนคนขับทุกท่านที่สนใจ ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน TADA สำหรับคนขับเพื่อเริ่มขั้นตอนการลงทะเบียน การเข้าร่วมนี้นับเป็นจุดเริ่มต้นของการให้บริการขับรถแบบไม่มีค่าคอมมิชชั่นสำหรับคนขับในประเทศไทย
การเปลี่ยนแปลงของบริการเรียกรถผ่านแอปพลิเคชัน: รูปแบบแพลตฟอร์มที่ไม่มีค่าคอมมิชชั่น (Zero-Commission Platform Fee Model)
หัวใจสําคัญของวิธีการที่ไม่เหมือนใครของ TADA คือรูปแบบแพลตฟอร์มที่ไม่มีค่าคอมมิชชั่น ซึ่งเป็นปัจจัยที่สร้างความเปลี่ยนเปลี่ยนสำหรับทั้งผู้โดยสารและคนขับ โดย TADA มีค่าธรรมเนียมแพลตฟอร์มเพียงเล็กน้อยตามกฎหมายเท่านั้น ซึ่งแตกต่างจากแพลตฟอร์มเรียกรถรูปแบบดั้งเดิมที่มีการเรียกเก็บค่าคอมมิชชั่นสูงจากการเดินทางในแต่ละเที่ยว กลยุทธ์นี้ช่วยให้บริษัทสามารถสร้างระบบนิเวศที่เป็นธรรม โปร่งใส และให้ผลตอบแทนทางการเงินมากขึ้น
รูปแบบนี้มีผลกระทบอย่างมากต่อคนขับรถที่ได้รับรายได้ส่วนใหญ่จากค่าโดยสาร ผลลัพธ์ที่ได้คือรายได้ที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จะช่วยให้คนขับได้รับประโยชน์โดยตรงจากการทำงานหนักและความทุ่มเทของพวกเขา
การเปิดรูปแบบแพลตฟอร์มนี้ในประเทศไทยเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ที่กว้างขึ้นของ TADA ในการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมบริการเรียกรถให้มีความเป็นธรรมมากขึ้น ให้กลายเป็นพื้นที่ที่เทคโนโลยีให้บริการประชาชน มากกว่าที่จะแสวงหาผลกำไรเพียงอย่างเดียว
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันตลาดแอปฯเรียกรถในไทยมูลค่าประมาณ 70,000 ล้าน มีการแข่งขันและมูลค่าการตลาดที่สูง และเป็นธุรกิจที่มองว่าจะทำกำไรได้ในอนาคต
เห็นได้จากตัวเลขผลประกอบการแอปฯเรียกรถและเดลิเวอรี่ปี 2565 พบว่า
Grab รายได้ 15,197 ล้านบาท กำไร 576 ล้านบาท
LineMan รายได้ 7,803 ล้านบาท ขาดทุน 2,731 ล้านบาท
RobinHood รายได้ 538 ล้านบาท ขาดทุน 1,987 ล้านบาท
ขณะที่ผู้ได้รับอนุญาตประกอบการขนส่งทางอิเล็กทรอนิกส์ (แอปฯเรียกรถ) ประกอบด้วย
GRAB (ประเทศไทย)
LINE MAN TAXI
ROBINHOOD โรบินฮู้ด
HELLO PHUKET SERVICE
Asia Cab (CABB)
BONKU
ROBINHOOD โรบินฮู้ด คือผู้เล่นรายล่าสุดที่ลงสนามขยายธุรกิจเพิ่ม จากบริการเดลิเวอรี่ เข้าสู่บริการแอปพลิเคชั่นเรียกรถนอกจากเจ้าอื่นๆ ที่มีให้บริการก่อนอยู่แล้ว เช่น Grab ประเทศไทย ที่เป็นผู้นำตลาดถึงร้อยละ 80