SMS ดูดเงิน ความมักง่ายของเครือข่ายโทรศัพท์
ในยุคปัจจุบันที่คนส่วนใหญ่มีโทรศัพท์มือถือ และผู้ให้บริการเครือข่ายมีเพียงไม่กี่ราย ในขณะที่ผู้ควบคุมกฎอย่าง สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ก็ดูเกรงอกเกรงใจผู้ให้บริการเครือข่ายมากกว่าผู้บริโภค
ล่าสุด มีผู้เสียหายจากข้อความที่ไม่พึงประสงค์ หรือที่เรียกว่า SMS ดูดเงิน ออกมาร้องเรียนว่าถูกผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เก็บค่าบริการโดยไม่ได้สมัครใจ และเป็นการเก็บแบบ “เออเอง” เป็นเวลานาน
กรณีล่าสุดเมื่อวันที่ 18 มีนาคมที่ผ่านมา ผู้ประกาศข่าวช่อง 3 ประวีณมัย บ่ายคล้อย โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงการถูกค่ายมือถือค่ายหนึ่ง เก็บค่าบริการเสริมโดยไม่ได้มานานโดยไม่รู้ตัว
“ปกติจะเซ็ทให้หักค่ามือถือผ่านบัตรเครดิต และบิลจะส่งไปที่บ้านเดิมทุกเดือน เลยไม่ค่อยได้มานั่งเพ่งค่าบริการที่เรียกเก็บ ก็จ่ายไปตามนั่นทุกเดือนๆ เพิ่งมานั่งไล่ดูบิลมือถือตัวเอง ปรากฏเจอรายการค่าบริการที่เรียกเก็บ ปรากฎว่า มีรายการรับส่ง SMS ข้อมูล/บันเทิง เช่น คลิป/ดูดวง/ร่วมกิจกรรม บริจาค 82 ครั้ง 438 บาท !! ซึ่งเรามั่นใจว่า ไม่ได้ทำกิจกรรมพวกนี้แน่ เลยโทรไป Call Center #ais พนักงานบอกว่า เราน่าจะไปโหลด application หรือ เข้า link ที่มีให้ดาวน์โหลดคลิปที่เสียตังค์ ซึ่งตอนนี้ก็ยังคิดไม่ออกว่า คือลิงก์อะไร แอพอะไร แล้วเดือนเดียวใช้ 82 ครั้ง !!! ไม่ใช่แน่ๆๆ
พนักงานเลยทำเรื่องยกเลิกเดือนนี้ให้ แต่ไม่สามารถทำย้อนหลังได้ ทำให้รู้ว่า เวลาเราไปโหลดอะไร ลิงก์อะไรมา ระบบจะไม่บอก ไม่เตือนเราว่าเราต้องเสียตังค์
แล้วSMS ที่เรารับๆ อยู่ มันยังมีแบบที่เราก็ต้องเสียค่าบริการ มีทั้ง SMS ประชาสัมพันธ์ โฆษณาทั้งหลายด้วย ถึงตอนนี้ก็ต้องเสียเงินโดยไม่รู้ตัวเดือนละ 400-600 บาท มาเป็นปีๆ แล้ว”
บทสรุปของกรณีนี้คือทางผู้ให้บริการเครือข่ายยินดีจ่ายคืนในส่วนที่ถูกหักมานานหลายเดือน หากกรณีนี้ทางผู้ใช้บริการไม่ได้ตรวจสอบก็หมายความว่าอาจจะต้องเสียเงินไปทั้งๆที่ไม่ได้สมัคร
คำถามคือเป็นเรื่องที่ทางผู้ใช้บริการต้องมานั่งตรวจสอบเองหรือไม่ เนื่องจากพฤติกรรมลักษณะนี้เหมือนปล้นมากกว่า
เร็วๆนี้ข่าวว่าผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์แห่งหนึ่งทำข้อมูลลูกค้ารั่วไปสู่สาธารณะจนกลายเป็นเรื่องใหญ่ที่ทาง กสทช. เรียกจัดระเบียบผู้ให้บริการเครือข่ายขนานใหญ่
ทั้งนี้ เพจ ดราม่า แอดดิค ระบุว่า การที่ทางผู้ให้บริการทำข้อมูลลูกค้ารั่วไหล สามารถส่งผลกระทบในอนาคต อาทิ ได้บัญชีธนาคารเพิ่มเติมอีกมากมาย เพราะมิจฉาชีพจะเอาข้อมูลบัตรประชาชนไปเปิดบัญชีแล้วเอาไปใช้ในการหลอกลวง ฉ้อโกง
ได้ซิมมือถืออีกมากมาย เพราะมิจฉาชีพจะเอาข้อมูลบัตรประชาชนไปเปิดซิมใหม่ แล้วเอาไปโทรหลอกลวงชาวบ้าน นอกจากนี้อาจจะมีหนี้นอกระบบแบบไม่รู้ตัว เพราะโดนเอาบัตรไปกู้หนี้ยืมสิน
และแน่นอนว่า เมื่อข้อมูลของลูกค้ารั่วไหล ย่อมมีการขายประกันตามมารวมถึงการถูกนำไปใช้ประโยชน์อื่นๆที่ผู้ใช้บริการไม่ได้สมัครใจ เช่น SMS ดูดเงิน