difference-thinkingSpecial Scoop

ดร.เทียม โชควัฒนา (ตอนที่ 32)

โตแล้วแตก แตกแล้วโต

เมื่อณรงค์ เรียนจบจากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ข้าพเจ้าให้ณรงค์มาช่วยข้าพเจ้าทำงานที่สหพัฒน์ และดูแลธุรกิจโรงงานรองเท้าแพน เพราะลูกชายกลุ่มโตของข้าพเจ้าก็พร้อมที่จะออกไปดำเนินธุรกิจของตนเอง

เริ่มด้วยบุญย์เอก ไปเปิดบริษัทราชธานี จำกัด ทำการค้าเครื่องเขียน เครื่องสำอางอูเทน่า และเสื้อชั้นในลูน่า

บุญปกรณ์ ไปเปิดบริษัท นิวซิตี้(กรุงเทพฯ) จำหน่ายเครื่องสำอางโกตี้ (Coty) และได้น้องสาว ศิรินา มาเป็นผู้ช่วย ต่อมาศิรินา แตกออกไปเป็น บริษัท บูติคนิวซิตี้ ทำเสื้อผ้าสำเร็จรูปคนแรกของประเทศไทย

ดร.เทียม โชควัฒนา

ส่วนบุณยสิทธิ์ ได้ช่วยข้าพเจ้าเรื่องการผลิตและการตั้งโรงงาน ติดต่อกับบริษัทญี่ปุ่นโดยตรง แต่ขณะเดียวกันก็ตั้งบริษัทไอซีซี (ICC) เพื่อจำหน่ายเครื่องสำอางเพี้ยซ

ต่อมา บริษัทไอซีซี (ICC) ขยายใหญ่โตมากขึ้น มีสินค้าวาโก้ มีแอร์โร่ มีโรงงานในเครือไอซีซี (ICC) เช่น บริษัทไอแอลซี (ILC) ผลิตเครื่องสำอาง มีคุณวัฒนเกียรติ จิระสิทธิ์ดำรง เป็นกรรมการผู้จัดการ

บริษัท ไทยวาโก้ มีคุณมนู ลีลานุวัฒน์ เป็นกรรมการผู้จัดการ

บริษัท ธนูลักษณ์ มีคุณสมชาย ทรงศักดิ์เดชา เป็นกรรมการผู้จัดการ

บริษัท ประชาอาภรณ์ มีคุณโป๊ะ ปวโรฬารวิทยา เป็นกรรมการผู้จัดการ

แต่ละบริษัทเป็นบริษัทขนาดใหญ่ มีพนักงานจำนวนมาก สามารถเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์เป็นบริษัทมหาชน และได้แตกต่อไปอย่างกว้างขวางเป็นร้อยกว่าบริษัท

ส่วนณรงค์ เป็นผู้อำนวยการที่บริษัท บางกอกรับเบอร์ จำกัด ดูแลสินค้ากลุ่มโรงงานรองเท้า ณรงค์ได้พัฒนาการผลิตรองเท้าเป็นอุตสาหกรรมแล้วขยายต่อไปเป็นกลุ่มโรงงานรองเท้าที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

กำธร พูนศักดิ์อุดมสิน บุตรบุญธรรมของข้าพเจ้าก็แตกมาเปิด บริษัท ยูนิเวอร์สบิวตี้ จำหน่ายเครื่องสำอางเท็ลมี และขยายกิจการไปสู่โรงงานและธุรกิจอื่น ๆ

ดร.เทียม โชควัฒนา

คนหนุ่มทั้งหมดทำงานด้วยความขยันและแข่งขันกัน ข้าพเจ้าจะคอยบอกว่า การทำธุรกิจต้อง “มีคู่แข่งอย่ามีคู่แค้น” คู่แข่งที่ทำให้เราขยันอดทน ทำให้เราไม่หลงตัวเอง เหมือนกระจกหรือเครื่องวัดความสามารถ ความเฉลียวฉลาด ความโง่เขลาของตนเองได้ดีที่สุด การแข่งขันทำให้เราเรียนรู้ แพ้ก็เป็นบทเรียน ชนะก็เป็นบทเรียน การแข่งขันเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์ แข่งกับคนนอกยังไม่พอ ในเครือก็ต้องแข่งขันกันด้วย จะทำให้ยิ่งโตเร็ว

ข้าพเจ้าเต็มใจให้ทุกคนขยายกิจการต่อไป โดยข้าพเจ้ารับรู้และชื่นชมยินดีกับความสำเร็จของเขา ขอให้บริษัทของเขาเจริญขึ้น เจริญขึ้น

Related Articles

Back to top button
X
%d bloggers like this: