NEXT MOVE ของภาคธุรกิจ ‘การเปลี่ยนแปลงที่ต้องปรับตัว’

คำถามยอดนิยมในปี 2020 ที่เราได้ยินกันบ่อยๆ คือ เมื่อไหร่จะมีวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 และ เศรษฐกิจในอนาคตจะเป็นอย่างไร
ทั้งสองเรื่องนี้เกี่ยวข้องกันโดยตรง เพราะการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของเศรษฐกิจโลกในตอนนี้ เกิดจากความไม่แน่นอน ประเทศไทยเองก็มีโครงสร้างเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจภายนอกประเทศอยู่ถึง 50% ของ GDP ทั้งส่งออกและการท่องเที่ยว เลยได้รับผลกระทบไปด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ส่วนอีก 50% มาจากเศรษฐกิจภายในประเทศ ที่รัฐบาลพยายามออกมาตรการต่างๆ เพื่อเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจ กระตุ้นกำลังซื้อ
.
ดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(TDRI) ได้เสนอมุมมองที่น่าสนใจว่า สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปนี้ จะเป็นตัวกำหนดว่าธุรกิจไทยจะ Transform ไปทิศทางไหน ซึ่งมีส่วนที่เป็นตัวเร่งเศรษฐกิจ และเป็นตัวฉุดรั้งเศรษฐกิจบางอย่างในเวลาเดียวกัน
.
1. ตัวเร่งเศรษฐกิจ
การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ช่วยเร่งให้บางธุรกิจมีการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดภายในเวลาไม่กี่เดือน ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่สามารถปรับเข้าสู่โลกดิจิทัล (Digital Economy) เพื่อที่จะให้บริการผ่านออนไลน์ได้ เช่น การเรียนออนไลน์ ธุรกิจส่งอาหารถึงบ้าน ธุรกิจบันเทิงที่ให้บริการแบบสตรีมมิ่ง Virtual Tour ของธุรกิจท่องเที่ยว รวมทั้งธุรกิจ E-Commerce ที่ในช่วงนี้มีการเติบโตสูงมาก
.
โดยธุรกิจที่ยังไม่เคยทำออนไลน์ จำเป็นต้องเข้ามาในกระแส Digital เพื่อช่วยให้ธุรกิจเติบโต เราจะเห็นได้ว่าปัจจุบันธุรกิจร้านอาหารมีรายได้เพิ่มจากออนไลน์ และบริการ Delivery ในส่วน SME ก็มีรายได้จากการหันมาทำ E-Commerce ทางด้านธุรกิจออแกไนซ์เซอร์เองก็เริ่มทำ Hybrid Event เชื่อมโลกออฟไลน์และออนไลน์กันมากขึ้น
.
นอกจากนี้เรื่อง Social Distancing ยังเป็นความท้าทายใหม่ของธุรกิจการท่องเที่ยวและบริการ หลังการปลดล็อกดาวน์และเปิดประเทศ ที่อาจมีการปรับตัวเป็น Private Tour ที่มีคนน้อยลง หรือการเพิ่มมาตรการ Hygiene ในธุรกิจการบินเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้โดยสาร
.
2. ตัวรั้งเศรษฐกิจ
อีกด้านหนึ่งของการเปลี่ยนแปลง ที่ธุรกิจควรหันกลับมาคำนึงให้มากขึ้น คือ Circular Economy หรือ การนำทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ เช่น การใช้ขวดพลาสติกที่ย่อยสลายง่ายขึ้น ประหยัดพื้นที่ลง
.
ก่อนเกิดโควิด-19 เรารณรงค์เรื่องการ Re-Use ถุงพลาสติก แต่ตอนนี้พฤติกรรมการใช้ชีวิตของเราเปลี่ยนไป หันมาใช้บริการส่งอาหาร และกลับมาใช้ภาชนะแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งกันมากขึ้น เพื่อป้องกันความเสี่ยงในการแพร่เชื้อไวรัส ทำให้มีปริมาณขยะเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว อีกทั้งการเติบโตของธุรกิจบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม ยังถูกฉุดจากราคาพลาสติกที่มีแนวโน้มถูกลงตามราคาน้ำมันโลกอีกด้วย
.
ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ลดลง ส่วนหนึ่งมาจากมาตรการล็อกดาวน์ของหลายประเทศ ที่ทำให้มีการเดินทางน้อยลง นอกจากนี้ราคาน้ำมันที่ถูกลงอาจกระทบกับความน่าสนใจในการลงทุนด้านธุรกิจพลังงานสะอาด อย่างเช่น พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลม ที่เมื่อคำนวณระยะเวลาคุ้มทุนแล้วไม่คุ้มกับการผลิตไฟฟ้าจากน้ำมัน แต่เรื่องนี้น่าจะมีผลแค่ในระยะสั้นเพราะเราอาจจัดการกับโควิด-19 ได้ในอนาคต
.
จะเห็นว่าตัวเร่งเศรษฐกิจ มีส่วนทำให้ธุรกิจเติบโตและขยายตัวอย่างรวดเร็ว แล้วยังมีแนวโน้มที่จะเป็นกระแสหลักได้ในระยะยาว เพราะสามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในปัจจุบันที่ต้องการความสะดวกสบาย และตื่นตัวเรื่องสุขอนามัยกันมากยิ่งขึ้น ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับตัวรั้งก็ควรปรับตัวด้วยการเสริมความสามารถในการแข่งขันระยะยาว เช่น การทำ Digitalization หรือเราอาจจะเห็นการเปลี่ยนโฉมธุรกิจที่จะเกิดขึ้นในรูปแบบการควบรวมกิจการ ไม่ใช่การลงทุนใหม่ (Greenfield Investment)
.
วิกฤตครั้งนี้แม้ว่าจะส่งผลกระทบทั้งเป็นตัวเร่งเศรษฐกิจ และตัวรั้งเศรษฐกิจ แต่กลยุทธ์หลักในการดำเนินธุรกิจที่เหมือนกันคือ การปรับตัวอย่างรวดเร็ว เพราะ “ทุกวิกฤตย่อมมีโอกาสอยู่เสมอ” อยู่ที่เราจะเห็นโอกาสนั้นแล้วปรับตัวเพื่อสร้างความแข็งแกร่งทางธุรกิจได้เร็วแค่ไหน
.
คำถามในเวลานี้เลยอาจจะไม่ใช่เรื่องวัคซีน หรือเศรษฐกิจในอนาคต แต่เป็นการที่เรามองกลยุทธ์ธุรกิจท่ามกลางความไม่แน่นอนนี้ไว้อย่างไรมากกว่า
.
ที่มา KrungsriBusinessEmpowerment