Biznews

‘กรุงไทยแอกซ่า” ปิดจุดอ่อน LGBT จัดสิทธิที่เท่าเทียม !!!

คู่รักเพศเดียวกันหรือ LGBT แม้จะมีให้เห็นมากขึ้นในสังคมไทย จนไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่แต่อย่างใด แต่การยอมรับในทางกฎหมายของบ้านเรานั้น ยังต้องยอมรับว่า ‘ไม่เท่าเทียม’ จึงทำให้การใช้ชีวิตของกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศมีอุปสรรคและยากลำบาก จนหลายคนเริ่มถามหาความคืบหน้าของร่าง ‘พระราชบัญญัติคู่ชีวิต’ ว่าจะแล้วเสร็จเมื่อใด ซึ่งร่างพระราชบัญญัตินี้จะเป็นก้าวสำคัญและเป็นจุดเริ่มต้นของการส่งเสริมสิทธิ LGBT ในประเทศไทย

กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ในภาษาอังกฤษย่อว่า LGBT (หรือ GLBT) ซึ่งเป็นตัวอักษรตัวแรกของคำว่า lesbian (เลสเบี้ยน) , gay (เกย์) , bisexual (ไบเซ็กชวล) , และ transgender/transsexual (คนข้ามเพศ) มีการใช้คำว่า LGBT มาตั้งแต่ยุค 90 ซึ่งดัดแปลงมาจาก “LGB” ที่ใช้ในการแทนวลี “สังคมเกย์” (Gay community) ที่ในหลาย ๆ กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ไม่รู้สึกว่าอธิบายกลุ่มคนพวกนี้ได้อย่างถูกต้องตามที่กล่าว ในการใช้สมัยใหม่ LGBT มีความหมายถึงความหลากหลายของเพศวิถี (Sexuality) และลักษณะการแสดงเพศทางสังคม และในบางครั้งอาจหมายถึงกลุ่มคนที่ไม่ใช่กลุ่มรักต่างเพศ แทนการระบุว่าเป็นเลสเบี้ยน เกย์ ไบเซ็กชวล หรือ คนข้ามเพศ
สถานการณ์ LGBT ในประเทศไทยนั้นมีความซับซ้อนและขัดแย้งอยู่มาก โดยแม้ว่าสังคมจะยอมรับพฤติกรรมรักเพศเดียวกันและ การข้ามเพศ และมีจำนวนสาวประเภทสองที่พบเห็นได้อยู่มากกว่าประเทศอื่นๆ แต่ความชิงชังและอคติที่มีต่อกลุ่ม LGBTI ยังปรากฏให้เห็นอยู่ อีกทั้งยังมีการเลือกปฏิบัติต่อคนกลุ่มนี้แฝงอยู่ในองค์กรต่างๆ

สำหรับการใช้ชีวิตคู่ของคู่รัก LGBT อย่างกรณีศึกษาของชายรักชายวัย 50+ จาก Pantip.com คู่หนึ่ง เขาทั้งสองคนใช้ชีวิตร่วมกันมานานกว่า 30 ปีฉันท์สามีภรรยา แต่ก็ยังมีความกังวลในเรื่องความมั่นคงของชีวิตในอนาคต เนื่องจากไม่สามารถมีภาระผูกพันทางกฎหมาย แม้กระทั่งเรื่องฉุกเฉินเกี่ยวกับการรักษาทางการแพทย์ก็ไม่มีสิทธิที่จะดูแลกันได้ ทำให้ไม่สามารถเซ็นอนุญาตอะไรได้ ซึ่งหากเกิดเป็นอะไรร้ายแรงหรือฉุกเฉิน ก็เป็นข้อจำกัดที่อาจส่งผลต่อการเสียชีวิตของคู่ชีวิตได้

ดังนั้นสิ่งที่กลุ่ม LGBT คาดหวังสำหรับการครองคู่อย่างเป็นสุขก็คือ สิทธิในการทำธุรกรรม การเซ็นยินยอมต่างๆ ให้แก่กันได้ เช่น การรับการรักษาพยาบาล สิทธิในการจัดการทรัพย์สินมรดก การลดหย่อนภาษี เป็นต้น แต่ก็ยังขาดสิทธิสำคัญอีกหลายประการ เช่น สิทธิในการรับบุตรบุญธรรมหรือสิทธิของคู่สมรสเดิม หรือกระทั่งบุตรที่เกิดจากการอาศัยนวัตกรรมทางการแพทย์ การเปลี่ยนคำนำหน้านาม หรือการเปลี่ยนนามสกุล รวมถึงสิทธิในการทำประกันชีวิตที่ไม่แตกต่างจากเพศชาย-หญิง ทั่วไป

บริษัท กรุงไทย-แอกซ่า ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) บริษัทประกันชีวิตชั้นนำของไทย ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2540 ที่เกิดจากการร่วมทุนระหว่าง บมจ.ธนาคารกรุงไทย ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ชั้นนำที่มีรัฐบาลไทยเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และกลุ่มแอกซ่า กลุ่มธุรกิจประกันชีวิต สุขภาพ และบริหารสินทรัพย์ขนาดใหญ่ เล็งเห็นถึงโอกาสในช่องว่างดังกล่าว อีกทั้งมีนโยบายส่งเสริมความหลากหลายและความเป็นเอกภาพ เพื่อทุกคนที่มีความแตกต่างจะได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม โดยไม่แบ่งแยกตาม เชื้อชาติ ศาสนา เพศ รสนิยมทางเพศ

ด้วยแนวคิดนี้ จึงพัฒนาแนวทางในการรับประกันเพื่อตอบรับกับความต้องการที่หลากหลายของลูกค้าที่มีครอบครัวและคู่ชีวิตที่เป็นเพศเดียวกัน หรือ LGBT ให้มีโอกาสที่จะได้รับความคุ้มครอง และสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้อย่างเท่าเทียมเช่นเดียวกันกับคู่สมรสชายหญิง

ดังนั้น จึงขอประกาศเปลี่ยนแปลงการพิจารณาการรับประกันภัย ให้ผู้เอาประกันภัยสามารถระบุคู่ชีวิตที่มีเพศเดียวกันกับผู้เอาประกันภัยเป็นผู้รับผลประโยชน์ได้ ตามหลักเกณฑ์ที่บริษัทฯ กำหนด โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2560 เป็นต้นไป โดยไม่มีการแบ่งแยกพิจารณาการรับประกันภัยในส่วนอื่นๆ ต่างออกไปจากเงื่อนไขปกติของบริษัทฯเพียงแนบ จดหมายรับรองความสัมพันธ์คู่ชีวิต และเอกสารที่เกี่ยวข้อง พร้อมใบคำขอเอาประกัน เป็นต้น

แม้ผู้สร้างโลกจะกำหนดให้มนุษย์มีเพศสภาพเพียงแค่ชายกับหญิงเพื่อสืบเผ่าพันธุ์ แต่มิอาจห้ามความเป็นตัวตนของใครได้ เพราะทั้งร่างกายและจิตใจคือของพวกเขา หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ “กลุ่มบุคคลหลากหลายทางเพศหรือ LGBT” และถ้ามองไปทั่วโลกจะเห็นได้ว่าหลายประเทศ หลายทวีปให้การยอมรับกลุ่มบุคคลหลากหลายทางเพศแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการแต่งงานกัน ให้สิทธิ์เท่าเทียม มีกฎหมายออกมารองรับ

แต่พอมองย้อนดูในประเทศไทย กลุ่ม LGBT ยังมีความซับซ้อนและขัดแย้งกันอยู่มาก

ถึงแม้สังคมไทยจะออกปากให้การยอมรับเป็นอย่างดี

แต่ความชิงชังและอคติที่ฝังลึกอยู่ในใจยังมีให้พบเห็นอยู่ร่ำไป

ขอบคุณข้อมูลจาก กรุงไทย-แอกซ่า

Related Articles

Back to top button
X
%d bloggers like this: