Biznews

Good Idea “เมเจอร์” เตรียมเปิดโรงหนังสำหรับเด็ก

ปักหลักทำธุรกิจโรงภาพยนต์มาอย่างยาวนานสำหรับ “เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป” เจ้าของโรงภาพยนตร์ในเครือเมเจอร์ที่มีสาขาครอบคลุมทั่วประเทศ ปัจจุบัน เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป มีสาขารวมทั้งสิ้น 131 สาขา 710 โรง เป็นสาขาในประเทศไทย 126 สาขา 685 โรง (ครอบคลุม 51 จังหวัด แบ่งเป็นกรุงเทพฯ และปริมณฑล 41 สาขา 338 โรง ต่างจังหวัด 85 สาขา 347 โรง) และต่างประเทศ 5 สาขา 25 โรง แบ่งเป็นประเทศกัมพูชา 3 สาขา 16 โรง, ประเทศลาว 2 สาขา 9 โรง และในปี 2561 มีแผนที่จะเปิดเพิ่มอีกประมาณ 34 สาขา 98 โรง

รายได้หลักนอกจากการจำหน่ายตั๋วและอื่นๆ แล้ว เมเจอร์ยังมีรายได้มาจากสื่อโฆษณาในโรงหนัง ซึ่งปัจจุบันทำรายได้ 13% และมีการเติบโตต่อเนื่องมาทุกปีสวนทางกับภาวะเศรษฐกิจรวมทั้งสื่ออื่นๆ โดยเฉพาะสื่อหลักที่มีการเติบโตลดลง

กระนั้นก็ตาม แม้ว่าทิศทางของสื่อในโรงหนังในเครือเมเจอร์ยังเติบโตได้ต่อเนื่อง ด้วยจุดแข็งราคาที่ไม่สูงมากนักเมื่อเทียบกับสื่ออื่นๆ มีประเภทสื่อโฆษณาที่หลากหลาย เข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้อย่างชัดเจน พร้อมแรงหนุนจากภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดและภาพยนตร์ไทยที่มีแนวโน้มเติบโตขึ้นในปีนี้ แต่การทำตลาดก็ยังคงต้องดำเนินต่อไป โดยเฉพาะการขยายกลุ่มเป้าหมายให้กว้างขึ้นด้วยการขยายสาขาของโรงภาพยนตร์ทั้งในกรุงเทพฯ ต่างจังหวัดซึ่งครอบคลุมไปถึงระดับอำเภอ และการเตรียมโปรเจคทีเด็ดนั่นคือ การทำโรงหนังสำหรับกลุ่มครอบครัวโดยเฉพาะเพื่อเป็นการปลูกฝังการดูภาพยนตร์ตั้งแต่เด็กๆ

นิธิ พัฒนภักดี รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายสื่อโฆษณา บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) บอกว่า จากการเติบโตและได้รับความนิยมและทำรายได้ของหนังแอนิเมชั่น หนังดิสนีย์ในปีที่ผ่านมาที่ทำรายได้เกิน 100 ล้านบาทอีกทั้งหนังไทยทำรายได้ดีแสดงให้เห็นว่าตลาดยังมีช่องว่าง จึงมีแผนทำโรงหนังสำหรับเด็กเพื่อมาดูกับครอบครัวโดยเฉพาะด้วยการเลือกโลเกชั่นที่มีหมู่บ้านและกลุ่มครอบครัวอยู่อาศัยเป็นจำนวนมาก อย่างเมกะ บางนา และเซ็นทรัล เวสต์เกต ด้วยการปรับโรงเดิมที่มีอยู่แล้วทำให้มีสีสันมากขึ้นคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการในอีก 1-2 เดือนข้างหน้า ซึ่งหากได้รับการตอบรับที่ดีจะขยายไปยังโรงอื่นๆ ต่อไป

ด้านภาพรวมของธุรกิจสื่อโฆษณาในโรงในปีที่ผ่านมา รายได้ของธุรกิจสื่อโฆษณาในโรงยังเติบโตสวนทางกับสภาวะเศรษฐกิจและภาพรวมอุตสาหกรรมโฆษณา เนื่องจากเป็นช่องทางการโฆษณาที่มีประสิทธิภาพสามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้โดยตรงมากกว่าสื่อโฆษณาประเภทอื่น ส่งผลให้มีอัตราการเติบโตของรายได้โตต่อเนื่องทุกปี เพราะสื่อโฆษณาของ เมเจอร์ ไม่ใช่แค่การลงโฆษณา แต่ลูกค้ายังสามารถทำกิจกรรมในช่องทางอื่น ๆ ได้ด้วย ทั้งในรูปแบบของ Sponsorship, การทำโฆษณาสินค้าร่วมกับเจ้าของผลิตภัณฑ์ (Cross Promotion), การจัด Interactive Activity, Interactive Media และ Event ต่าง ๆ

ส่วนทิศทางธุรกิจสื่อโฆษณาของ เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป ในปี 2561 เชื่อว่าสื่อโฆษณาในโรงภาพยนตร์ยังคงได้รับความนิยมจากลูกค้า เนื่องจากเป็นสื่อโฆษณาที่ราคาไม่สูงมากนัก แต่สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้อย่างชัดเจนและตรงจุด เพราะผู้ชมภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์เป็นกลุ่มผู้ชม ที่ชอบดูภาพยนตร์อย่างแท้จริง และยังระบุได้ว่าต้องการเข้าถึงลูกค้ากลุ่มไหน ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มวัยรุ่น, กลุ่มคนทำงาน หรือ กลุ่มครอบครัว อีกทั้งสามารถสร้างการรับรู้และจดจำในตัวโฆษณาได้ และยังเข้าถึงด้วยการแบ่งกลุ่มผู้ชมภาพยนตร์ได้ตามประเภทภาพยนตร์อีกด้วย

สำหรับรูปแบบการขายสื่อโฆษณาของ เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป ในปี 2561 จะเน้น…

– การจัดโฆษณาให้ตรงตามความต้องการของลูกค้า โดยลูกค้าสามารถเลือกช่องทาง, เวลาฉายโฆษณา, ระยะเวลาการโฆษณา, จุดติดตั้ง การปรับเปลี่ยนเนื้อหาโฆษณาให้สอดคล้องตามกลุ่มเป้าหมายในช่วงเวลาต่าง ๆ ได้

– การหาลูกค้ารายใหม่เพิ่ม โดยการจัดแพ็คเกจให้เหมาะสมกับความต้องการของลูกค้า อาทิ ลูกค้าที่ต้องการสร้างความรับรู้และจดจำในตัวโฆษณาสินค้าจะแนะนำให้ลงโฆษณาตามภาพยนตร์ โดยเลือกประเภทของภาพยนตร์ที่ตรงตามกลุ่มเป้าหมาย หรือลูกค้าที่ชอบกิจกรรมจะแนะนำให้จัดโรดโชว์ เน้นไปที่ตลาดต่างจังหวัด

– การรักษาฐานลูกค้าเก่า จะมีการเพิ่มความหลากหลายของแพ็คเกจใหม่ ๆ ให้มีความน่าสนใจ

– การขายแพ็คเกจตามนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ ของโรงภาพยนตร์ เช่น ระบบการขายตั๋วซึ่งเปลี่ยนด้วย Box Office เป็นตู้ E-Ticketing และพัฒนาสู่ Mobile Ticketing ซึ่งลูกค้าสามารถใช้มือถือ สแกนผ่านเครื่อง Smart Ticket ที่เริ่มใช้แล้วกว่า 30 สาขา ตลอดจน ปัจจุบันลูกค้าสามารถซื้อตั๋วหนังเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ ผ่าน Application, Facebook, QR Code Payment on EDC และเร็ว ๆ นี้ จะได้สัมผัสนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ ล่าสุด กับ โรงภาพยนตร์ LED Cinema Screen

นอกจากนี้ การขายสื่อโฆษณายังได้แรงหนุนจากภาพยนตร์ดี ๆ ที่จะเข้าฉายในปีนี้รวมทั้งสิ้นประมาณ 330 เรื่อง เป็นภาพยนตร์ฮอลลีวู้ด 195 เรื่อง ภาพยนตร์เอเชีย 80 เรื่อง และภาพยนตร์ไทย 55 เรื่อง สำหรับภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดในปี 2561 ถือเป็นปีที่ดีอีกปีหนึ่ง เพราะมีภาพยนตร์ Blockbuster ฟอร์มยักษ์อยู่หลายเรื่องมากกว่าปี 2560 ที่จะเข้าฉายและจะทำเงินมากกว่า อาทิ Maze Runner : The Death Cure, Black Panther, A Wrinkle in Time, Avengers : Infinity War 2, Deadpool 2, Ant-Man and The Wasp 2, Incredibles 2, Mission : Impossible 6, Jungle Book : Origins 2, Fantastic Beasts 2, Aquaman เป็นต้น

ส่วนภาพยนตร์ไทยในปีนี้ก็จะดีมากกว่าปีที่ผ่านมา เนื่องจากมีภาพยนตร์ไทยเลื่อนมาฉายในปีนี้หลายเรื่อง เป็นของบริษัทในเครือเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป 17 เรื่อง (ของ บริษัท เอ็ม เทอร์ตี้ไนน์ จำกัด หรือ M 39 จำนวน 7 เรื่อง, บริษัท เอ็ม พิคเจอร์ส เอ็นเตอร์เทนเม้นท์จำกัด (มหาชน) หรือ M Pictures 5 เรื่อง, บริษัท ทรานส์ฟอร์เมชั่น ฟิล์ม จำกัด 3 เรื่อง, บริษัท ซีเจ เมเจอร์ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด 2 เรื่อง), ค่าย GDH 3 เรื่อง, ค่ายสหมงคลฟิล์มฯ 7 เรื่อง, ค่าย TMoment 3 เรื่อง และอื่น ๆ ประมาณ 25 เรื่อง โดยมีภาพยนตร์ไทยที่น่าสนใจ อาทิ ๙ ศาสตรา ของ M Pictures, หลวงพี่แจ๊ส 5G ของ M 39, ขุนพันธ์ 2 ของ สหมงคลฟิล์ม , นาคี 2 ของ คุณประวิทย์ มาลีนนท์ , Brother & Sister ของ GDH

อนาคตภาพยนตร์ไทยยังมีความสดใส ผู้สร้างเริ่มให้ความสำคัญในการผลิตภาพยนตร์ไทยไม่เพียงแค่ฉายให้กับคนไทยในประเทศดูเท่านั้น แต่อุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยต่อไปจะผลิตเพื่อการส่งออกด้วย ซึ่งเป็นผลเนื่องมาจากภาพยนตร์ไทยเรื่อง “ฉลาดเกมส์โกง” ของค่าย GDH ซึ่งได้เข้าไปฉายในประเทศจีนและสามารถทำรายได้มากถึง 1,300 ล้านบาท ประเทศจีนนับเป็นตลาดโรงภาพยนตร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก มี
จำนวนโรงภาพยนตร์มากกว่า 51,000 โรง

อีกทั้งคนจีนยังมีกระแสตอบรับภาพยนตร์ไทยที่ดีมาก เชื่อว่าค่ายหนังและผู้กำกับของไทยคงเห็นถึงโอกาสนี้ และคงพยายามพัฒนาการผลิตภาพยนตร์ไทยให้สามารถส่งออกไปขายในตลาดต่างประเทศ ทั้ง จีน, ลาว, กัมพูชา, เวียดนาม และเมียนมาร์ มากขึ้น ภาพยนตร์ไทยยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก เพราะยังเป็นที่ชื่นชอบของกลุ่มลูกค้าทั้งในกรุงเทพฯ ต่างจังหวัด และในกลุ่มประเทศ CLMV อีกด้วย เห็นได้จากมีผู้สร้างหน้าใหม่หันมาสร้างภาพยนตร์ไทยเพิ่มมากขึ้น

ย้ำให้เห็นว่า แม้เศรษฐกิจจะยังไม่ฟื้นตัวฉุดเม็ดเงินโฆษณาลดฮวบฮาบ แต่นั่นไม่ใช่กับการโฆษณาในโรงภาพยนตร์ที่ยังลงแล่นฉิวอย่างสบายอารมณ์ แถมยังมีภาพยนตร์ชั้นนำต่อแถวรอเข้าโรงอีกเพียบ

Related Articles

Back to top button
X
%d bloggers like this: