5 ปีนานไป!เปิดแผน 3 ปี’ไมเนอร์’ ทุ่ม 2.6 หมื่นล้าน ปั้มร้านอาหาร-รร. เพื่อ’กำไร’อีกครั้ง

บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ MINT ยักษ์ใหญ่วงการท่องเที่ยวบริการและร้านอาหารของไทย ก้าวเข้าสู่ปีที่ 55 นับตั้งแต่ก่อตั้งเมื่อปี 2510 ภายใต้การนำทัพของนายวิลเลียม เอ็ลล์วู๊ด ไฮเน็ค ผ่าน 3 กลุ่มธุรกิจหลักคือ โรงแรม ร้านอาหาร และสินค้าไลฟ์สไตล์
ปฏิเสธไม่ได้ว่า จากผลพวงการแพร่เชื้อโควิด-19 ในช่วงกว่า 2 ปี ที่ผ่านมาทำให้ยักษ์ใหญ่ค่ายนี้ได้รับผลกระทบไม่ต่างไปจากบริษัทอื่นๆ เห็นได้จากผลประกอบการในปี 2563 ขาดทุนจากการดำเนินงาน 1.88 หมื่นล้านบาท ปี 2564 ขาดทุนอีก 9.3 พันล้านบาท จนต้องมีการปรับกระบวนการภายในขนานใหญ่ เพื่อกลับมาทำกำไรให้ได้ในปี 2565
นายชัยพัฒน์ ไพฑูรย์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงแผนการดำเนินงานในครึ่งปีหลัง 2565 ว่า เตรียมงบประมาณโดยรวม 6,400 ล้านบาท เพื่อใช้หาโอกาสการฟื้นตัวและเพิ่มรายได้ใน 3 ธุรกิจหลัก ได้แก่ ธุรกิจโรงแรม 527 แห่ง ร้านอาหาร 2,389 สาขา และไลฟ์สไตล์ ส่วนปี 2566-2567 มีแผนลงทุนประมาณ 10,000 ล้านบาท/ปีรวมเป็นงบลงทุนทั้งสิ้น 2.6 หมื่นล้านในระยะเวลา 3 ปีนับจากนี้ ตั้งแต่ปี 2566-2568 ถือเป็นครั้งแรกที่จัดทำแผนระยะ 3 ปี จากปกติก่อนโควิด-19 ทำแผนธุรกิจระยะ 5 ปีมาตลอด เพราะมองว่า 5 ปีนานเกินไปสำหรับการคาดการณ์ธุรกิจ
โดยเริ่มตั้งแต่ธุรกิจร้านอาหาร มุ่งให้ความสำคัญในการปรับภาพลักษณ์แบรนด์ร้านอาหารในเครือ และเตรียมขยายสาขาโฟกัสทุก ๆ แบรนด์ที่อยู่ในพอร์ตโฟลิโอกว่า 8 แบรนด์ อาทิ เดอะ พิซซ่า คอมปะนี, ซิซซ์เล่อร์, แดรี่ควีน, เบอร์เกอร์ คิง, สเวนเซ่นส์, บอนชอน, เดอะ คอฟฟี่ คลับ และคอฟฟี่ เจอร์นี่
สำหรับแผนเชิงรุกของธุรกิจโรงแรมระหว่างปี 2565-2567 เป็นต้นไป ไมเนอร์ฯเตรียมขยายธุรกิจเปิดโรงแรมและเข้าไปรับจ้างบริหาร เบื้องต้นที่อยู่ในไปป์ไลน์ที่เซ็นสัญญาแล้วประมาณ 50 โรงแรม
อีกทั้งยังได้พยายามสร้างแบรนด์ให้แข็งแกร่ง เดินหน้าเพิ่มอัตราการเข้าพักและปรับราคาห้องพักให้สอดคล้องกับดีมานด์ โดยใช้จุดแข็งของแบรนด์โรงแรมในเครือไมเนอร์ฯและศักยภาพของทำเลที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยว และปรับเรื่องดิจิทัล จัดโปรโมชั่นให้คนเข้าถึงโรงแรมมากขึ้น ในบางพื้นที่มีการรีโนเวตโรงแรมให้ทันสมัยขึ้นเพื่อชาร์จค่าห้องให้สูงขึ้นได้ ตลอดจนการนำลอยัลตี้โปรแกรมมาใช้เพิ่มปริมาณลูกค้าที่มาใช้บริการทั้งเครือด้วยเช่นกัน
ขณะที่ธุรกิจไลฟ์สไตล์มุ่งพัฒนาช่องทางการขายออนไลน์และออฟไลน์ภายใต้กลยุทธ์ omnichannel เพื่อสอดรับพฤติกรรมผู้บริโภคที่หันมาเลือกซื้อสินค้าในช่องทางออนไลน์เพิ่มขึ้น และในปีที่ผ่านมาได้เปิดตัวแบรนด์เบิร์กฮอฟฟ์ ซึ่งเป็นแบรนด์เครื่องครัวที่มีศักยภาพในการเติบโตสูงจากประเทศเบลเยียม เพื่อสร้างการเติบโตในระยะยาว
บริษัทตั้งเป้ากลับมาทำกำไรในปีนี้ ด้วยการสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งเพื่อการฟื้นตัวแบบก้าวกระโดด ปัจจัยหลักมาจากการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะเทรนด์การท่องเที่ยวล้างแค้น (Revenge Travel) หลังจากหลายประเทศผ่อนคลายข้อจำกัดการเดินทางและเปิดประเทศเต็มรูปแบบ เช่น ยุโรป มัลดีฟส์ ออสเตรเลีย และไทย ซึ่งเป็นจุดหมายหลักของโรงแรมในเครือไมเนอร์ฯ
โดย ณ สิ้นไตรมาส 1 ที่ผ่านมา บริษัทมีโรงแรมทั้งหมด 527 แห่ง คิดเป็นจำนวนห้องพัก 75,805 ห้อง มีจำนวนห้องพักมากติดอันดับ 1 ใน 20 ของเชนโรงแรมทั่วโลก
สำหรับโรงแรมในไทย ปัจจุบันครองสัดส่วนรายได้ 10% แม้จะฟื้นตัวช้ากว่าตลาดอื่นๆ เพราะเพิ่งเปิดประเทศเต็มรูปแบบ ยกเลิกระบบไทยแลนด์พาส มีผลเมื่อวันที่ 1 ก.ค. แต่ผลการดำเนินงานดีขึ้น อัตราการเข้าพักเดือน ก.ค. เกิน 50% แล้ว ฟื้นตัวจากไตรมาส 1 ที่มี 31% และไตรมาส 2 ที่มี 43% ส่วนราคาห้องพักไตรมาส 1-2 เพิ่มขึ้นเป็นตัวเลข 2 หลัก ขณะที่รายได้ต่อห้องพัก ไตรมาส 1 เพิ่มขึ้น 100% และไตรมาส 2 เพิ่มขึ้น 300%
ส่วนแผนขยายธุรกิจโรงแรมช่วง 5 ปี (2565-2569) มีโรงแรมที่อยู่ระหว่างการพัฒนา (Pipeline) 60 แห่ง 11,742 ห้อง แบ่งเป็นโรงแรมที่ไมเนอร์ฯ เป็นเจ้าของและเช่า จำนวน 11 แห่ง 2,018 ห้อง เตรียมเปิดให้บริการทั้งหมดภายในปีนี้
ทั้งนี้ โรงแรมที่รับบริหาร เซ็นสัญญาแล้ว 49 แห่ง 9,724 ห้อง ทยอยเปิดให้บริการในปีนี้ 16 แห่ง 3,254 ห้อง ปี 2566 จำนวน 16 แห่ง 2,703 ห้อง ปี 2567 จำนวน 9 แห่ง 1,541 ห้อง และปี 2568-2569 อีก 8 แห่ง 2,226 ห้อง
ขณะที่ธุรกิจไลฟ์สไตล์ในช่วงโควิดได้ปิดแบรนด์ที่ไม่ทำกำไรไป ส่วนบางแบรนด์ที่ยังทำกำไร ยังดำเนินการต่อ ปัจจุบันมีร้านค้า 386 แห่ง ทั้งเสื้อผ้าแฟชั่นและสินค้าไลฟ์สไตล์ โดยเครื่องหมายการค้าที่ไมเนอร์ฯเป็นผู้จัดจำหน่าย อาทิ แก๊ป, เอสปรี, บอสสินี่ บานาน่า รีพับบลิค, บรูคส์ บราเธอร์ส, โอวีเอส, เอแตม, แรทลีย์, อเนลโล่ อีกทั้งยังมีธุรกิจรับจ้างผลิตสินค้า
ปัจจุบันบริษัทยังคงมีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง โดย ณ สิ้นเดือน พ.ค.2565 มีเงินสดคงเหลือกว่า 22,000 ล้านบาท และวงเงินสินเชื่อที่ยังไม่ได้เบิกใช้อีกประมาณ 31,000 ล้านบาท รวมถึงมีวอร์แรนต์ 3 ชุด ซึ่งจะครบกำหนดใช้สิทธิ์ในปี 2566-2567 อีกประมาณ 15,000 ล้านบาท ทำให้บริษัทมีฐานเงินทุนที่แข็งแกร่ง
อย่างไรก็ตาม เพื่อยังคงรักษาฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง ในวันที่ 31 ส.ค.2565 บริษัทจะไถ่ถอนหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนไถ่ถอนเมื่อเลิกบริษัท (“หุ้นกู้ด้อยสิทธิฯ”) ชุดเดิม (MINT18PA) 15,000 ล้านบาท ที่เสนอขายเมื่อปี 2561 ก่อนกำหนด และเตรียมเสนอขายหุ้นกู้ด้อยสิทธิฯ ชุดใหม่ทดแทน แก่ประชาชนเป็นการทั่วไปในเดือน ก.ย. มูลค่า10,000 ล้านบาท