4 เทรนด์อีคอมเมิร์ซ 2019
ขณะเดียวกัน สถานการณ์ดังกล่าว ก็ส่งผลให้การแข่งขันธุรกิจอีคอมเมิร์ซในปีนี้ดุเดือดมากขึ้น และยังคงมีปัจจัยบวกและสัญญาณที่ดี จากกลุ่มที่ส่งผลกระทบทางตรง เช่น การเติบโตและปรับตัวของช่องทางฟินเทคและอีเพย์เมนต์ต่างๆ แคมเปญโปรโมชั่นของผู้เล่นในตลาด พฤติกรรมผู้บริโภคที่เริ่มนิยมการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น

ข้อมูลเชิงลึก (Insights) ของไพรซ์ซ่าในปีนี้ ยังพบว่า สถานการณ์ยอดซื้อต่อตะกร้า (Average Basket Size) บนช่องทางอีคอมเมิร์ซ ระหว่างวันที่ 1 ม.ค. – 12 พ.ย. 2018 อยู่ที่ 1,469 บาทต่อตะกร้า โดยกลุ่มสินค้าที่เป็นที่นิยมมากที่สุด ยังคงเป็นกลุ่มสินค้าหมวดเสื้อผ้าและแฟชั่น โทรศัพท์และอุปกรณ์สื่อสาร เครื่องใช้ไฟฟ้า รถและยานพาหนะ ตามลำดับ

ถนนทุกสายจะมุ่งสู่การค้าออนไลน์
แม้ถนนทุกสายจะมุ่งสู่การค้าออนไลน์ แต่ก็ไม่ใช่ผู้ประกอบการทุกรายที่จะสามารถขายสินค้าได้ ผู้ประกอบการจำเป็นต้องทราบว่า ผู้บริโภคอยู่ที่ไหน มีพฤติกรรมอย่างไร ผู้ประกอบการจึงจะมีโอกาสขายสินค้าได้
จากพฤติกรรมของคนไทยที่เข้ามาค้นหาสินค้าเปรียบเทียบราคาบนแพลตฟอร์มของไพรซ์ซ่า พบว่า วันที่มีจำนวนผู้เข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์สูงสุด ได้แก่ วันจันทร์ และจำนวนจะค่อยๆ ลดลงในวันถัดไป ส่วนวันเสาร์-อาทิตย์ จะน้อยที่สุด นั่นอาจหมายถึงว่า คนไทยนิยมช้อปปิ้งในวันทำงาน ร้านค้าจำเป็นต้องทันพฤติกรรมผู้บริโภคเหล่านี้

ประกอบกับงานวิจัยของ Temasek รายงานว่าประเทศไทยจะมีผู้ใช้อินเตอร์เน็ตมากถึง 59 ล้านคน ภายในปี 2020 หรือ 84% ของประชากรทั้งประเทศ และคนไทยยังใช้เวลากับ Mobile Internet มากถึงวันละ 4.2 ชั่วโมง/วัน ทำให้โอกาสของการเข้าถึงคนไทยผ่านช่องทางดิจิตอลมีสูงมากกว่าแต่ก่อนมาก
ปี 2018 ที่ผ่านมาเป็นปีแรกที่การซื้อสินค้าหรือบริการผ่านออนไลน์ ติด 5 อันดับแรกในเรื่อง กิจกรรมบนโลกออนไลน์ของผู้บริโภคในประเทศไทย นอกเหนือจากนั้นจะมีกิจกรรมอย่างอื่นที่เพิ่มหลากหลายขึ้นมา เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนๆ อาทิเช่น
- การสั่งอาหารเพื่อส่งอาหาร
- การจองโรงแรมจองตั๋วต่างๆ
- การหาเพื่อน
- หาคู่
พฤติกรรมเหล่านี้ จะเป็นข้อบ่งชี้ว่าสังคมไทย เริ่มขับเคลื่อนสู่สังคมดิจิทัลอย่างแท้จริง ซึ่งทำให้สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาหลังจากนี้ น่าจะเป็นสิ่งที่คนทำธุรกิจอีคอมเมิร์ซต้องจับตามองว่าจะนำไปสู่ทิศทางไหน
แต่ละกิจกรรมหลักที่คนไทยใช้เวลาไปเหล่านี้ ล้วนแล้วติดอยู่กับแพลตฟอร์มใหญ่แทบทั้งสิ้น และในยุคที่แพลตฟอร์มต่างแข่งขันกันเพื่อแย่งชิงเวลาและความสนใจของผู้บริโภค หน้าที่ของแพลตฟอร์ม คือทำให้ผู้ใช้ใช้เวลากับแพลตฟอร์มมากขึ้นและติดมากขึ้น และสร้างการมีส่วนร่วมมากยิ่งขึ้น ซึ่งสุดท้ายจะนำมาซึ่งการ
“รู้จักผู้ใช้มากขึ้น”
และการขายสินค้าให้ผู้บริโภค เป็นช่องทางและโอกาสที่ดีมากในเวลานี้ที่จะช่วยทำให้แพลตฟอร์มสร้างการมีส่วนร่วมกับผู้ใช้ได้มากขึ้นนั่นเอง
อีคอมเมิร์ซจะเป็นช่องทางที่สร้างความสัมพันธ์ระยะยาวอย่างยั่งยืนให้กับผู้ใช้และช่วยให้แพลตฟอร์มสามารถทำเงินได้มากขึ้นด้วย

ในมุมมองของ ไพรซ์ซ่า เรามองเห็น 5 แพลตฟอร์มที่ต่างมุ่งสู่การให้บริการด้านการค้าออนไลน์ทั้งสิ้น ได้แก่
- Search Platform: Google
- Social Media Platform: Facebook, IG
- Chat Platform: LINE, Messenger
- Payment Platform: KBANK, SCB
- Commerce Platform: Lazada, Shopee, JD
สิ่งที่จะเกิดขึ้นในปีนี้ คือ แพลตฟอร์มทั้ง 5 จะเปิดบริการเพื่อส่งเสริมทางด้านการค้าออนไลน์ทุกเจ้า
- Google ได้เริ่มแล้ว โดยการเปิดบริการ Google Shopping และล่าสุดปีนี้ได้ประกาศลงทุนในบริษัท JD ซึ่ง ไพรซ์ซ่า เชื่อว่า Google จะเปิดให้ผู้ใช้สามารถซื้อสินค้าผ่าน Google ได้โดยตรงในประเทศไทยในไม่กี่ปีข้างหน้านี้
- Facebook นำร่องโดยการเปิดตัว Facebook Marketplace ไปแล้ว แต่เราจะเห็นการเชื่อมระบบกับร้านค้าออนไลน์ต่างๆเข้ามาด้วย เพื่อให้ร้านค้าออนไลน์ต่างๆมีช่องทางเพิ่มขึ้นในการขายสินค้า รวมทั้งการจับมือกับ KBANK เพื่อช่วยให้ผู้ซื้อจ่ายเงินได้สะดวกรวดเร็วอย่างไร้รอยต่อมากขึ้นผ่าน Messenger
- KBANK เปิด K+ Market เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถขายสินค้าผ่าน Platform K+ ได้
- Lazada, Shopee และ JD ซึ่งถือว่าเกิดมาจากการค้าออนไลน์อยู่แล้ว ก็ไม่หยุดตัวเองไว้แค่นั้น ต่างมุ่งพัฒนาให้แพลตฟอร์มตัวเองสามารถเป็น Social Media & Chat Platform ได้ด้วย

ปี 2019 นี้ เราจะเห็นการนำเสนอบริการใหม่ๆ ของ “ดิจิทัล แพลตฟอร์ม” เหล่านี้เพื่อให้บริการ “อีคอมเมิร์ซ” มากยิ่งขึ้นแน่นอน
E-Marketplace | โอกาสและความท้าทายของการค้าขายในโลกอีคอมเมิร์ซ

ผู้เล่นอีมาร์เก็ตเพลสชั้นนำในตลาดประเทศไทยที่มีนักลงทุนสนับสนุน มีอยู่ 3 รายหลักๆ ได้แก่ Lazada, Shopee และ JD Central
โอกาสของผู้ประกอบการที่ต้องการขายสินค้าสู่ผู้บริโภค ด้วยการนำสินค้าเข้าไปขายผ่านอีมาร์เก็ตเพลส ซึ่งขณะนี้ถือเป็นจังหวะที่ดีที่ E-Marketplace พยายามผลักดันให้เกิดการซื้อขายผ่านแพลตฟอร์มของตัวเองให้มากที่สุด ซึ่งเห็นได้จากการโฆษณาอย่างหนักหน่วง ทั้งการใช้เหล่าเซเลบคนดัง ดารานักแสดงแถวหน้า ในสื่อหลากหลายช่องทาง
แต่ในอีกแง่มุมที่ผู้ประกอบการควรคำนึงถึงคือ การทำยอดขายบนอีมาร์เก็ตเพลสให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง ต้องอาศัยการวางแผนกลยุทธ์ที่ดีด้วย
จากข้อมูลที่ Priceza เราพบว่ามีสินค้าบนอีมาร์เก็ตเพลส 3 รายใหญ่รวมกันมากกว่า 70ล้าน รายการ

สินค้าจำนวนมากขนาดไหน ถ้าให้ลองนึกภาพว่าผู้ใช้ 1 คน ใช้เวลาดูสินค้า 1 รายการประมาณ 5 วินาที เขาจะต้องใช้เวลาถึง 11 ปีในการดูสินค้าให้ครบทั้ง 70 ล้านรายการเลยทีเดียว
หากลองมองให้ลึกลงไป ผู้ขายในอีมาร์เก็ตเพลสไม่ได้มาจากผู้ประกอบการในประเทศเพียงอย่างเดียว แต่มีผู้ขายจากต่างประเทศค่อนข้างมาก จากการประมาณการของ Priceza เราพบว่าสินค้ามากกว่าครึ่งนั้นมาจากผู้ขายต่างประเทศ

ในปีนี้ เราจะเห็นอัตราการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงขึ้นไปอีก ทั้งผู้ขายที่เข้ามาเพิ่ม จากในและนอกประเทศ
การนำสินค้ามาลงขายบนอีมาร์เก็ตเพลสอย่างเดียว อาจจะไม่เพียงพออีกต่อไป
โอกาสในมาร์เก็ตเพลสนั้นมีสูง แต่ผู้ประกอบการก็ต้องพัฒนาความสามารถในการทำการตลาดและพัฒนาสินค้าให้โดดเด่น แตกต่าง เพื่อสร้างจุดขายใ้เหนือกว่าคู่แข่ง นอกจากนี้ยังต้องอาศัยการทำการตลาด การเลือกสื่อโฆษณาที่เหมาะสม และจัดกิจกรรมทางการตลาดเพิ่มเติม

E-Payment เติบโตแบบก้าวกระโดด
การชำระเงินแบบ COD (Cash on Delivery) เป็นช่องทางการชำระเงินที่มีสัดส่วน 60-70% ของวิธีการชำระเงินซื้อสินค้าออนไลน์ในอีมาร์เก็ตเพลสชั้นนำในไทย เหตุผลเพราะว่าในช่วงแรกผู้บริโภคยังไม่มั่นใจในบริการซื้อสินค้าออนไลน์ รวมทั้งไม่สะดวกในการจ่ายเงินผ่านทางช่องทางอื่นๆ เพราะยึดติดกับเงินสด
มีการศึกษาของแบงค์ชาติพบว่าการจ่ายเงินด้วยเงินสด จะมีต้นทุนในการบริหารจัดการเงินที่สูงกว่าการชำระเงินด้วยช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ ถึง 2.5 เท่า

และมีการศึกษาของ Amazon ในประเทศอินเดีย พบการรับชำระเงินด้วยเงินสดผ่าน COD มีต้นทุนที่สูงกว่าช่องทางการชำระเงินด้วย E-Payment ถึง 3.5 เท่า เลยทีเดียว
จึงเป็นที่มาว่าทำไมผู้ให้บริการอีคอมเมิร์ซต่างพยายามผลักดันให้ลูกค้าจ่ายเงินผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น
จะเห็นชัดเจนว่ามีความเคลื่อนไหวมากมายของฝั่งผู้ให้บริการรับชำระเงิน
- Lazada มี Lazada Wallet
- Shopee มี AirPay
- JD Central คาดว่าน่าจะเปิดตัว JD Wallet ของตัวเองแน่นอน เพราะว่ามีการตั้งบริษัท JD Finance ขึ้นมาแล้วตั้งแต่ต้น
- ธนาคารบ้านเราก็ไม่น้อยหน้า มีการยกเครื่อง Mobile App ให้เป็น Platform การชำระเงินที่ใช้งานง่ายดาย ทั้ง K+, SCB Easy

ปีนี้ผู้ให้บริการอีคอมเมิร์ซจะพยายามผลักดันให้ลูกค้าจ่ายเงินผ่านช่องทางอเล็กทรอนิกส์มากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยกลยุทธ์การให้ Incentive ต่างๆนานา อาทิ
- ได้ Points
- ได้ส่วนลดมากขึ้น
- ได้เงินคืน ถ้าเติมเงินเข้าไป
- คืนเงินได้ไว เวลา Return สินค้า

และหนึ่งในสิ่งที่น่าจะเกิดขึ้นแน่นอนคือการเปลี่ยนให้คนที่เลือกจ่ายเงินด้วย COD เปลี่ยนมาจ่ายด้วย E-Payment ณ ตอนรับสินค้า ผู้ส่งสินค้าจะเป็นคนช่วยเชียร์ แทนที่จะจ่ายเงินสดเปลี่ยนเป็นจ่ายผ่าน QR Code แทน เพราะสิทธิประโยชน์เพิ่มเติม
ตลาด E-Payment จะดุเดือดมากขึ้น เพราะต่างฝ่ายต่างพยายามผลักดันให้ผู้บริโภคเติมเงินเข้ามาเก็บไว้ใน Wallet ตัวเองให้มาก และใช้กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลัก
โอกาสของผู้ขายคือ การจัดทำโปรโมชั่นร่วมกับผู้ให้บริการรับชำระเงินผ่านช่องทางต่างๆ เพราะผู้ให้บริการเหล่านี้จะพยายามอัดงบมาเพื่อดันให้ผู้บริโภคเลือกชำระเงินผ่านทางช่องทางดังกล่าว เตรียมตัวคิดโปรโมชั่นกันไว้ได้เลยครับว่าจะเล่นรูปแบบไหนดี

การค้าหลากหลายช่องทาง (Omnichannel)
Omnichannel เป็นคำที่ใครๆต่างพูดถึงกันมานานแล้ว แต่ Priceza เชื่อว่า Omnichannel จะเห็นชัดเจนอย่างมากในปีนี้
Omnichannel คือ การสร้างตัวตนของแบรนด์คุณไปในทุกๆช่องทางที่ลูกค้าของคุณอยู่ และทำให้ลูกค้าสามารถตัดสินใจซื้อผ่านทางช่องทางไหนก็ได้ที่ลูกค้าสะดวกที่สุด ณ ขณะนั้นๆ

จากเทรนด์ที่ 1 เรื่อง ถนนทุกสายมุ่งสู่การค้าออนไลน์ เราฉายภาพให้เห็นแล้วว่า Digital Platform ใหญ่ๆต่างจะเปิดให้บริการส่งเสริมการค้าออนไลน์ มันนำมาซึ่งโอกาสที่ผู้ประกอบการสามารถใช้ช่องทางที่หลากหลายมากขึ้นในการเข้าถึงลูกค้า และไม่ใช่แค่เข้าถึงแบบเดิมๆ แต่จะเป็นการที่ผู้ประกอบการสามารถนำเสนอสินค้าและปิดการขายได้เลยผ่านช่องทางเหล่านั้น

ผู้ประกอบการจะนำ Omnichannel มาใช้มากขึ้นในการค้าขายอย่างมีนัยสำคัญ
เหตุผลเพราะว่า การค้าผ่านทางช่องทางใดช่องทางหนึ่ง จะเป็นการปิดโอกาสในการเข้าถึงลูกค้าในช่องทางอื่นๆ รวมทั้งการแข่งขันที่สูงขึ้นในช่องทางเดิมอย่าง อีมาร์เก็ตเพลส
คำแนะนำสำหรับผู้ประกอบการ
- มองหาโอกาสที่จะใช้หลากหลายช่องทางในการเข้าถึงลูกค้า
- ไม่ยึดติดกับช่องทางใดช่องทางเดียว
- มีสินค้าที่แตกต่างและเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค แล้วโอกาสของช่องทางจะเข้ามาหา
- สร้างความสัมพันธ์โดยตรงกับลูกค้าของคุณ (Own your customer relationship)
- สร้างฐานข้อมูลลูกค้าเพื่อใช้ในการต่อยอดการขายสินค้า
- การเข้าใจในความต้องการของลูกค้าและการมีฐานลูกค้าที่มั่นคง จะเป็นฐานที่ช่วยให้คุณต่อยอดได้
นี่คือบทสรุปของ 4 เทรนด์ อีคอมเมิร์ซประเทศไทยปี 2019 จาก Priceza
ขอบคุณข้อมูลจาก Priceza