กสทช.หน้าแหก 3 ค่ายยักษ์ประกาศเทคลื่น 1800 พังไม่เป็นท่า
และแล้วสิ่งที่หลายคนคิดไว้ล่วงหน้าก็เป็นความจริง เมื่อผู้ให้บริการมือถือทั้ง 3 รายอย่างเอไอเอส ทรู และดีแทคออกมาประกาศไม่ร่วมวงสังฆกรรมประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz เรียบร้อยแล้วเนื่องจากเห็นตรงกันว่าราคาเริ่มต้นประมูลสูงเกินไปอีกทั้งแต่ละค่ายต่างก็มั่นใจในคลื่นความถี่ของแต่ละคนว่าจะสามารถให้บริการลุกค้าได้อย่างทั่วถึง
ค่ายดีแทคออกมาประกาศช่วงเช้าวันนี้ (15 มิถุนายน 2561) โดยให้เหตุผลว่า ดีแทคได้พิจารณาการเข้าร่วมประมูลอย่างรอบคอบ โดยมีข้อสรุปถึงการถือครองคลื่นย่านความถี่สูง (high-band spectrum) มีปริมาณมากพอที่จะรองรับการใช้งานดาต้าที่เติบโตขึ้นในอนาคต โดยการประมูลในครั้งนี้คงหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ไม่เอื้อประโยชน์ให้บริษัทฯ สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับลูกค้าและผู้ถือหุ้นได้ในระยะยาว ดีแทคมั่นใจในการให้บริการอย่างต่อเนื่องจากจำนวนคลื่นความถี่ทั้งหมดที่ถือครองมากพอที่จะรองรับการเติบโตการใช้งานดาต้าของลูกค้า และเตรียมพร้อมสำหรับมาตรการคุ้มครองลูกค้าเพื่อไม่กระทบการใช้งานจากกรณีสิ้นสุดสัมปทานคลื่นความถี่
ปัจจุบัน ดีแทคได้ถือครองความถี่ย่าน 2100 MHz จำนวน 2×15 MHz และมีคลื่นใหม่ความถี่ 2300 MHz จำนวน 1x60MHz ซึ่งเป็นคลื่นความถี่เดียวที่กว้างที่สุดในประเทศไทย ซึ่งถ้าหมดสัมปทานคลื่น 1800 MHz และสิ้นสุดระยะเวลาเยียวยาแล้ว ดีแทคยังมีคลื่นย่านความถี่สูงเพิ่มมากกว่าอีกเดิม 10 MHz จากคลื่นใหม่ 2300 MHz ที่จะนำมาให้บริการสำหรับคลื่นย่านความถี่สูงอย่างพอเพียง
ทั้งนี้ คลื่น 2300 MHz ได้ถูกนำมาให้บริการ 4G TDD เพื่อตอบสนองการใช้งานดาต้าที่เน้นการดาวน์โหลด สอดคล้องกับพฤติกรรมลูกค้าที่หันมานิยมการรับชมวิดีโอผ่านสมาร์ทโฟนจำนวนหลายชั่วโมงต่อวัน
ถึงแม้ว่าดีแทคจะสิ้นสุดสัมปทานคลื่น 1800 MHz และ 850 MHz ดีแทคยังมีปริมาณคลื่นความถี่ที่จะให้บริการต่อจำนวนลูกค้ามากกว่าผู้ประกอบการรายอื่น (ดีแทคมีจำนวนคลื่นเฉลี่ย 2.75 MHz ต่อจำนวนลูกค้า 1 ล้านราย ในขณะผู้ให้บริการรายอื่นมีจำนวน 1.37 MHz และ 1.99 MHz)
ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่าย ดีแทคยังเร่งขยายสถานีฐานอย่างรวดเร็วกว่าที่ผ่านมา โดยมีการขยายเพิ่มสถานีฐาน 3G/4G บนโครงข่าย 2100 MHz จำนวน 4,000 แห่งต่อปีในช่วง 2560-2561 ซึ่งขยายรวดเร็วกว่าเดิมถึง 2 เท่าเมื่อเทียบกับปีก่อน ดีแทคยังรุกขยายสถานีฐานสำหรับการใช้งานบนคลื่นความถี่ 2300MHz dtac TURBO ด้วยเทคโนโลยี 4G TDD ให้ได้อีกอย่างน้อย 4,000 แห่งในปีนี้ตามข้อตกลงกับทีโอที และหากดีแทคสามารถทำได้เต็มกำลังการติดตั้งสถานีฐานคาดว่าจะขยายได้มากSPECTRUM)ถึง 7,000 แห่งในปลายปีนี้
จากที่ประเทศไทยมีคลื่นย่านความถี่สูง (high-band spectrum) รองรับบริการ ดีแทคขอย้ำว่าภาพรวมอุตสาหกรรมโทรคมนาคมของไทยในขณะนี้ต้องการคลี่นความถี่ต่ำ (low-band spectrum) มากกว่า เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนในต่างจังหวัด และพื้นที่ห่างไกลสามารถเข้าถึงบริการโทรคมนาคมขั้นพื้นฐาน และกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจในระดับชุมชน การสร้างนวัตกรรมที่ตอบสนองความต้องการและปัญหาเฉพาะในแต่ละท้องถิ่น อันจะนำมาซึ่งการพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ แต่ประเทศไทยยังขาดแผนการจัดสรรคลื่นความถี่ต่ำที่จะมาให้บริการ
ช่วงบ่ายของวันเดียวกัน เอไอเอส ประกาศดับฝัน กสทช.อีกราย ด้วยการประกาศไม่เข้าประมูลคลื่น 1800 MHz ในนามบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ จำกัด (เอดับบลิวเอ็น) ด้วยเหตุผลที่ไม่ต่างจากอีก 2 ราย นั่นคือ การประมูลครั้งนี้ไม่เหมาะสมต่อการลงทุนหรือก่อให้เกิดประโยชน์ต่อบริษัทฯในขณะนี้
ปัจจุบันเอไอเอส มีทั้งคลื่นความถี่ย่าน 2100 MHz ,คลื่น 1800 MHz และคลื่น 900 MHz ที่บริษัทฯประมูลมาได้ รวมทั้งมีคลื่นความถี่ 2100 MHz จากบมจ.ทีโอที ที่ได้ลงนามสัญญา ร่วมกันกับบริษัทฯ แล้ว ดังนั้นจากคลื่นความถี่ทั้งหมดที่มีอยู่จึงเพียงพอต่อการรองรับลูกค้าในการใช้บริการทั้งวอยซ์ และดาต้าที่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในขณะนี้
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ ทรู ถือเป็นรายแรกที่แจ้งเรื่อง ต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า ไม่ขอเข้าร่วมประมูล โดยให้เหตุผลว่า จำนวนคลื่นความถี่ที่ถือครองอยู่ 55 เมกะเฮิรตซ์ เพียงพอต่อการทำตลาด และเป็นค่ายเดียวที่มีคลื่นความถี่ทุกย่านและมากที่สุดในอุตสาหกรรม
โดยให้เหตุผลดังนี้ คลื่นความถี่ที่มีอยู่ 850MHz, 2100MHz รวมถึง 900MHz และ 1800MHz มีขนาดรวม 55MHz ครอบคลุมทั้งคลื่นย่านความถี่ต่ำและความถี่สูง เพียงพอให้บริการลูกค้าและแข่งขันกับคู่แข่งได้อย่างสบาย
ประเด็นต่อมาคือ ทรูมองเห็นว่า ราคาเริ่มต้นประมูลและข้อกำหนดต่างๆ ไม่เอื้อประโยชน์ให้ผู้ชนะประมูลได้เปรียบ และทรูเชื่อว่าการเข้าร่วมประมูลจะเป็นการสนับสนุนราคาที่สูงผิดปกติเกินกว่าความเป็นจริง และยังถือเป็นการสร้างภาระทางการเงินให้กับผู้ชนะประมูลอีกด้วย
งานนี้ต้องจับตา กสทช. ว่าจะเดินเกมไหนต่อดีหลังจากหน้าแตกประกาศเลื่อนระยะเวลาการประมูลคลื่นจากเดิมวันที่ 4 สิงหานี้ออกไปอย่างไม่มีกำหนด ซึ่งอาจต้องทบทวนราคาเริ่มต้นประมูลใหม่หรือไม่ หรืออาจต้องรอให้ กสทช. ชุดใหม่เข้ามารับช่วงดำเนินการประมูลในอนาคตก็เป็นได้