10 ปี ความสัมพันธ์ “หอศิลป์ฯ -กทม.” เงื่อนไขที่เปราะบางบน “งบสนับสนุน”
หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร หรือที่เรียกกันติดปากว่า “หอศิลป์” ซึ่งตั้งอยู่ที่สี่แยกปทุมวัน ใจกลางเมืองหลวงรายล้อมไปด้วยห้างสรรพสินค้าหลายแห่ง มีรถไฟฟ้าทั้งบนดินและใต้ดิน ใกล้กับสนามกีฬาแห่งชาติ รวมถึงมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย นับเป็นพื้นที่เส้นเลือดใหญ่สำคัญขับเคลื่อนเม็ดเงินในแต่ละวันอย่างมหาศาล
ประวัติศาสตร์ในอดีตกว่าจะมีการก่อตั้งหอศิลป์ฯ แห่งนี้ก็มีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง ในเว็บไซต์หอศิลป์ กทม. www.bacc.or.th ระบุเอาไว้ว่าเนื่องจากโครงการก่อสร้างหอศิลป์เกิดขึ้นในปี 2538 เมื่อครั้งที่ ดร.พิจิตต รัตตกุล ดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่าฯ กทม. และได้มีมติร่วมกับคณะกรรมการโครงการ เฉลิมพระเกียรติฯ ศิลปะแห่งรัชกาลที่ 9 ให้กทม.จัดสร้าง หอศิลปะร่วมสมัยแห่งกทม. ณ สี่แยกปทุมวัน โดยมีรูปแบบที่ผ่านการ คิดและการตัดสินใจร่วมกัน
แต่โครงการนี้ก็ต้องมาหยุดชะงักในสมัยที่นายสมัคร สุนทรเวช ได้รับการเลือกตั้งให้เป็นผู้ว่าฯ กทม. ในปี 2544 นอกจากรูปแบบการก่อสร้างที่ต้องเปลี่ยนไปแล้ว ลักษณะของอาคารก็ถูกปรับให้เป็นการพาณิชย์มากขึ้น ประเด็นสำคัญที่ส่งผลให้กลายมาเป็นปัญหาในปัจจุบันคือ จากเดิมที่วางแผนให้กทม.เป็นผู้ลงทุน เปลี่ยนเป็นให้เอกชนเข้ามาสร้าง
อย่างไรก็ตาม เมื่อนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. ในปี 2547 เครือข่ายศิลปินและประชาชนจึงนำโครงการหอศิลป์เข้าหารือ ก่อนจะได้รับการพิจารณาเห็นชอบให้ดำเนินการจัดสร้าง หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครตามโครงการเดิม นับเป็นความร่วมมือครั้งสำคัญในการส่งเสริมศิลปะระหว่างกทม.และ เครือข่ายประชาชนเพื่อหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ที่ได้เริ่มต้นจากจุดนั้นเป็นต้นมา
ทั้งนี้ เดิมกำหนดการก่อสร้างหอศิลป์ฯ จะแล้วเสร็จช่วงปลายปี 2549 แต่การก่อสร้างได้ล่าช้าออกไปจากเดิม ก่อนจะมาเสร็จแล้วเปิดใช้งานเมื่อปี 2551 ซึ่งนับได้ว่าเป็นเวลา 10 ปีเต็มที่หอศิลป์ได้ตั้งตระหง่านกลางแยกปทุมวัน
แต่เมื่อไม่นานมานี้ ก็มีสัญญาณบางอย่างที่น่าเป็นห่วงเผยออกมาจาก พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. คนปัจจุบัน กับ ผศ.ปวิตร มหาสารินันทน์ ผู้อำนวยการหอศิลป์ฯ ซึ่งทั้ง 2 คนพูดตรงกันถึงปัญหา “งบอุดหนุน”
ผศ.ปวิตร เปิดเผยว่าในปีนี้หอศิลป์ฯ ถูกตัดงบประมาณจาก กทม. จากเหตุผลที่ว่าการเบิกจ่ายงบประมาณมีปัญหา นับตั้งแต่ปี 2555 หอศิลป์ฯ ได้งบประมาณอุดหนุนจาก กทม.เป็นเงินก้อนใหญ่ ประมาณปีละ 40-45 ล้านบาท แต่ปี 2560 มีการปรับวิธีเบิกจ่าย โดยหอศิลป์ฯ ต้องขอแบ่งงบประมาณจากสำนักวัฒนธรรม กีฬาและการท่องเที่ยว กทม. เพื่อเบิกค่าน้ำ ค่าไฟและค่ากิจกรรม ฯลฯ
กระทั่งเดือนตุลาคม 2560 หอศิลป์ฯ ก็ไม่สามารถเบิกค่ากิจกรรมได้ ต่อมาในเดือนกรกฎาคม 2561 สำนักวัฒนธรรมฯ หยุดจ่ายค่าน้ำ-ค่าไฟ สรุปแล้วงบประมาณที่ กทม.จัดสรรผ่านสำนักวัฒนธรรมฯ ประมาณ 40 ล้านบาท หอศิลป์ฯ ได้รับเป็นค่าน้ำ-ค่าไฟเพียง 6-7 ล้านบาทเท่านั้น
งบประมาณที่เป็นปัญหานี้ยังทำให้สถานการณ์ของหอศิลป์ฯ ในปัจจุบันเข้าขั้นวิกฤต โดยล่าสุดทางหอศิลป์ฯ ได้รับใบแจ้งระงับการใช้น้ำเป็นการชั่วคราว โดยกำหนดปิดประตูน้ำคือ 26 กันยายน 2561โดยหากยังเป็นเช่นนี้ รายได้จากมูลนิธิฯ อาจทำให้ดำเนินกิจการไปได้ถึงประมาณกลางปีหน้าเท่านั้น นอกจากนี้อาจจะเปิดให้บริการตามปกติแต่ต้องลดค่าใช้จ่าย ประเด็นที่กำลังพิจารณาในเบื้องต้น คือ การปรับลดเวลาให้บริการ จาก 10.00 น. ถึง 21.00 น. เป็น 11.00 น. ถึง 20.00 น.
ผู้อำนวยการหอศิลป์ฯ บอกอีกว่าสาเหตุที่ กทม.ไม่อนุมัติงบฯ เพราะอ้างว่ายังไม่ได้แก้ไขสัญญาโอนสิทธิ์ที่มูลนิธิหอศิลป์กรุงเทพฯ ทำกับ กทม.ในปี 2554 เนื่องจากมีถ้อยคำที่สภา กทม.เห็นว่ามีปัญหาต่อการจ่ายงบอุดหนุน ซึ่งมีการเสนอเรื่องเข้าสภา กทม.แล้ว แต่ตลอดเวลา 1 ปีที่ผ่านมายังไม่มีการแก้ไข
“ปัญหาคือเมื่อประมาณเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว ในการประชุมสภา กทม. เรื่องงบประมาณหอศิลป์ฯ ทางสภา กทม. ได้ท้วงติงว่า การที่ กทม. ให้งบอุดหนุนหอศิลป์ฯ ตามสัญญาโอนสิทธิ์ที่ กทม. ทำกับมูลนิธิหอศิลป์ฯ นั้นไม่ถูกต้องตามระเบียบราชการ จึงขอให้ กทม. เปลี่ยนรายละเอียดสัญญาตั้งแต่เดือนสิงหาคมปีที่แล้ว จนถึงปัจจุบันนี้ยังไม่เกิดอะไรขึ้น ช่วงก่อนปี 2560 นั้น กทม.จะให้งบอุดหนุนมาก้อนหนึ่งราวๆ 40-50 ล้านบาทต่อปี ให้กับมูลนิธิ ซึ่งทางมูลนิธิก็นำไปจ่ายเงินการดำเนินการต่างๆ โดยสภา กทม. ในยุคนั้นก็เห็นว่าชอบธรรม แต่เมื่อมาถึงยุคนี้หรือในยุครัฐบาลนี้กลับติดปัญหาขึ้นมา” ผศ.ปวิตร ให้ความเห็น
ทั้งนี้ กลุ่มศิลปินกราฟฟิตี้-สตรีทอาร์ท ได้แก่ Alex Face, Mue Bon, Gong, Kanet, Goh-M ออกมาแสดงจุดยืนถึงกรณีดังกล่าวว่า จะไม่ขอรับงานศิลปะทุกประเภทจากหน่วยงานสังกัดกรุงเทพมหานคร นับตั้งแต่ตอนนี้ไปจนกว่าผู้ว่ากทม. คนปัจจุบันจะพ้นจากตำแหน่ง
ด้านนายพัฒน์ฑริก โรจนุตมะ มีสายญาติ กรรมการผู้ช่วยเลขาธิการ มูลนิธิศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ได้ออกมาชี้แจงว่า ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา หอศิลป์ฯ บริหารงานอย่างมืออาชีพและมีประสิทธิภาพ และกำลังเจริญไปข้างหน้าอย่างหอศิลปะที่เกิดขึ้นในสากลโลก พร้อมทั้งได้ปฏิบัติตาม “ปฏิญญาว่าด้วยความร่วมมือด้านศิลปวัฒนธรรม” ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2540 และระเบียบราชการ กทม.2528 ว่าด้วย วิสัยทัศน์, พันธกิจ, วัตถุประสงค์ ทุกประการ
นายพัฒน์ฑริก ยืนยันว่าการบริหารงานของหอศิลป์ฯ ไม่เคยขาดทุน การสนับสนุนโดยกทม. 40 ล้านบาทต่อปี นั้น ค่าใช้จ่ายที่เกินมาหอศิลป์ฯ เป็นผู้หามาเองโดยทั้งสิ้น ซึ่งข้อมูลจากไทยพีบีเอสออนไลน์ ระบุว่า ปี 2557 มีผู้เข้าชมหอศิลป์ 9 แสนคน ,ปี 2558 มี 1.1 ล้านคน ,ปี 2559 มี 1.2 ล้านคน และปี 2560 มี 1.7 ล้านคน ซึ่งเป็นยอดผู้เข้าชมที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ข้อมูลจากเว็บไซต์ The standard เปิดเผยว่า กทม. ลดงบประมาณหอศิลป์ 5 ปี 15 ล้านบาท และในปีนี้ไม่มีการสนับสนุนงบประมาณ เนื่องจากสภา กทม.ไม่อนุมัติ งบจึงตกไปเป็นของสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว ในการจัดสรรงบเพื่อมอบให้หอศิลป์ต่อไป ส่วนหอศิลป์ทำรายได้ 5 ปี เพิ่มขึ้น 25 ล้านบาท จากค่าเช่าที่และเงินบริจาค
ในขณะที่ พล.ต.อ.อัศวิน ที่เคยมีแนวความคิดจะนำหอศิลป์ฯมาให้ กทม.บริหารจัดการเอง เห็นว่าการบริหารงานหอศิลป์โดยมูลนิธิฯ พบว่าเกิดความไม่สะดวกในหลายๆ รูปแบบ ให้มีการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ เช่น การให้บริการโต๊ะเก้าอี้ต่างๆ ก็ไม่เพียงพอ ส่วนที่บอกว่าขาดทุน 80 ล้านบาทไม่เคยพูด จะขาดทุน กำไรไม่ใช่เรื่องของกทม.แต่เป็นเรื่องของมูลนิธิ ฯ และตอนนี้ได้บอกว่าสังคมอยากให้อยู่ตรงนี้ก็ยกเลิกและชี้แจงไปแล้ว ให้เป็นประโยชน์กับสังคมมากที่สุด โดยต้องการพัฒนาพื้นที่ co-woking space โดยให้สำนักวัฒนธรรม กีฬาและการท่องเที่ยวบริหารดูแล
“ยืนยันว่าถ้าพี่น้องประชาชนไม่เห็นด้วยก็จะหยุด และปล่อยให้เป็นไปตามเอ็นโอยูที่จะครบภายในปี 2564 โดยได้นำเสนอต่อสภากทม.ตั้งแต่เมื่อวานนี้(14 พ.ค. 2561)และพร้อมคุยทำความเข้าใจกับทุกกลุ่ม ถึงตอนนั้นคงไม่สามารถตอบได้ว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป เพราะตอนนั้นผมอาจจะไม่ใช่ผู้ว่าฯ กทม. แล้ว” พล.ต.อ.อัศวิน กล่าว
อย่างไรก็ตาม แนวคิดดังกล่าวเกิดจากความต้องการในการพัฒนาพื้นที่ภายในหอศิลป์ฯ ให้มีความเหมาะสมและเกิดประโยชน์สูงสุด เรื่องของการขาดทุนหรือกำไรไม่ใช่เรื่องของกทม. แต่เป็นเรื่องที่ทางมูลนิธิฯจะต้องไปบริหารจัดการเอง ซึ่งในเรื่องดังกล่าวไม่ใช่เรื่องการเมืองแต่อย่างใด
สำหรับการจัดสรรงบประมาณในปีต่อไปนั้น สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยวจะเป็นผู้รับผิดชอบในการทำเรื่องขอจัดสรรงบประมาณ โดยผู้ว่าฯ กทม.จะนำเรื่องเสนอต่อสภา กทม.ตามอำนาจหน้าที่ เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบตามกระบวนการเหมือนปีที่ผ่านๆ มา
ในกรณีการให้งบประมาณหอศิลป์ พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวว่า ได้พยายามของบประมาณแล้วถึง 3 ครั้ง แต่ยังคงไม่ได้รับการอนุมัติจากสภาฯ เนื่องจากได้รับข้อทักท้วงในประเด็นด้านกฎหมาย โดยหากหอศิลป์ฯ ต้องการงบอุดหนุนจากกทม. ก็จำเป็นต้องดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย
เช่นเดียวกับ นายทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ รองผู้ว่าฯกทม. ที่เผยว่าการประชุมแต่งตั้งคณะกรรมการมูลนิธิหอศิลป์กรุงเทพมหานครชุดใหม่ ที่แต่งตั้งโดยผู้ว่าฯ กทม. เพื่อวางกรอบการดำเนินงาน การสรรหารายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิ 12 คน แบ่งเป็นด้านศิลปวัฒนธรรมทุกแขนง 6 คน ผู้ทรงคุณวุฒิในการบริหารจัดการองค์กรอีก 6 คน คาดว่าจะได้รายชื่อครบทั้งหมดภายใน 2 สัปดาห์ จากนั้นอีก 2 เดือน เป็นช่วงที่คณะกรรมการสรรหาจะทำหนังสือเรียนเชิญผู้ทรงคุณวุฒิทั้งหมด ก่อนแต่งตั้งคณะกรรมการมูลนิธิหอศิลป์ชุดใหม่ เข้ามาทำหน้าที่แทนชุดเดิม ที่หมดวาระตั้งแต่ 2 มีนาคม 2561
นายทวีศักดิ์ ยังกล่าวถึงสาเหตุที่ กทม.ไม่สามารถอุดหนุนงบให้กับหอศิลป์ได้เพราะขัดต่อกฎระเบียบ ส่วนการจัดสรรงบให้เฉลี่ยปีละ 40-50 ล้านบาทในช่วงที่ผ่านมา คงต้องไปถามผู้บริหารชุดก่อน อย่างไรก็ตามแม้จะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการมูลนิธิฯ ชุดใหม่แล้ว การบริหารงานของหอศิลป์ ยังคงแนวทางเดิม คือจะไม่เข้าไปบริหารเอง จนกว่าจะครบสัญญาในปี 2564
แม้ปัญหาเรื่องงบประมาณสนับสนุนหอศิลป์จาก กทม. ดูเหมือนจะตัดขัดอยู่ที่กฎระเบียบบางอย่างที่ทำให้สมาชิกสภา กทม. ยังไม่เห็นชอบ แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีผู้เกี่ยวข้องคนไหนออกมาให้คำตอบที่ชัดเจนว่า “ข้อติดขัด” นั้นคืออะไร สามารถพูดคุยนำมาแก้ไขกันใหม่ได้หรือไม่
สุดท้ายแล้วหอศิลป์ฯ ซึ่งเปรียบเสมือนชุมทางของเหล่าบรรรดาศิลปินจะแบกรับภาระทางด้านค่าใช้จ่ายไปถึงแค่กลางปีหน้า หรืออย่างช้าที่สุดคือลากยาวไปจนครบสัญญาในปี 2564 แต่วันนี้ความไม่เข้าใจได้เข้าเกาะกุมทัศนคติจนเกิดการแบ่งเป็น 2 ฝ่าย
ซึ่งไม่แน่ว่าถ้าหากยังเป็นเช่นนี้ ประวัติศาสตร์หอศิลป์ฯกทม. อาจกำลังนับถอยหลังรอคอยวันสุดท้ายแล้วก็ได้