“ไฮเนเก้น” หนุนภาษีใหม่
ประกาศใช้อย่างเป็นทางการเรียบร้อยสำหรับอัตราภาษีสรรพสามิตบุหรี่และสุราปี 2560 ซึ่งการปรับภาษีใหม่ครั้งนี้ จะทำให้ภาครัฐมีรายได้เพิ่มขึ้น 2% หรือประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท โดยกลุ่มเครื่องดื่มนั้น มีการเก็บภาษีตามปริมาณความหวาน ทำให้สินค้าเครื่องดื่ม 111 รายการ ที่เดิมไม่ต้องเสียภาษี จะมี 2รายการ ได้แก่ ชา ชาเขียว และกาแฟ ที่ต้องเสียภาษีตามค่าความหวานทั้งในส่วนของมูลค่าและปริมาณ
ขณะที่เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ที่หลายฝ่ายคาดคะเนกันต่างๆ นานาจนเกิดปัญหาสินค้าขาดตลาดมากมายนั้น เอาเข้าจริงก็ยังมิได้มีการปรับราคาขึ้นแต่อย่างใด ผู้ประกอบการทุกค่ายต่างรอดูสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และยังไม่มีค่ายใดออกมาแสดงความคิดเห็น ยกเว้น “ไฮเนเก้น” ผู้นำเบียร์ระดับพรีเมียมที่ชูมือสนับสนุนมาตรการดังกล่าวอย่างชัดเจน

นายปริญ มาลากุล ณ อยุธยา ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายและองค์กรสัมพันธ์ กลุ่มบริษัท ไทยเอเชีย แปซิฟิค บริวเวอรี่ จำกัด (ทีเอพี) ผู้ผลิตและทำตลาดเบียร์ไฮเนเก้น เชียร์ และไทเกอร์ บอกว่า การจัดเก็บภาษีใหม่ในครั้งนี้ถือว่ามีความโปร่งใส บริสุทธิ์ ยุติธรรม และทันสมัยมากที่สุดเมื่อเทียบกับฉบับก่อนหน้านี้ที่ถือเป็นการควบคุมผู้ประกอบการในประเทศทำให้ไม่สามารถแข่งขันกับบริษัทข้ามชาติได้อย่างเท่าเทียมกัน แต่กฎหมายฉบับใหม่อำนวยความสะดวก ลดขั้นตอนและทำให้ผู้ประกอบการทำงานง่ายขึ้นมาก
“โครงสร้างภาษีพอปรับต้องมีวิธีการคิดคำนวณด้วย เมื่อ 5 ปีที่แล้วใช้อัตราภาษีหน้าโรงงานก็เกิดปัญหาต่างๆ นานา รายนั้นขายเท่านี้ รายโน้นขายอีกราคา ไม่เท่ากัน ทำให้ต้องมีการปรับเปลี่ยนเบียร์แต่ละประเภทเป็นเบียร์พรีเมียม เบียร์สแตนดาร์ด เบียร์อีโคโนมี่ ซึ่งไม่มีอิสระในการทำตลาด เพราะถูกกำหนดไว้หมดแล้ว ให้หลังเมื่อ 2-3 ปีต่อมาปรับคิดภาษีเป็นการขายส่งช่วงสุดท้ายก็ยังไม่ดีขึ้น ล่าสุด เปลี่ยนมาคิดภาษีตามราคาขายปลีกก็จะทำให้ง่ายขึ้น ยุติธรรมดี”
นอกจากนี้ ปริญยังเห็นด้วยกับการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตใหม่ในครั้งนี้ส่งผลดีต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐที่มีรายได้เพิ่มขึ้น ผู้ประกอบการที่ทำตลาดง่ายขึ้น และตัวผู้บริโภคเอง เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย อีกทั้ง การปรับโครงสร้างภาษีดังกล่าวยังเป็นครั้งแรกที่ภาครัฐเปิดทางให้ภาคเอกชนได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการร่างประมวลกฎหมายภาษีสรรพสามิตในรูปของการตั้งคณะทำงานร่วม ทำให้ได้ข้อมูลที่ครบถ้วน
ขณะที่กฎหมายดังกล่าว จะมีการเปลี่ยนวิธีคำนวณจากการคำนวณจาก “ราคาหน้าโรงงานอุตสาหกรรม” มาใช้เกณฑ์ “ราคาขายปลีกแนะนำ” ที่ผู้ประกอบการหรือผู้นำเข้ากำหนดให้ผู้บริโภคทั่วไปรายสุดท้ายโดยเปิดเผย ส่วนตัวเห็นว่าวิธีการดังกล่าว จะช่วยให้เกิดความเป็นธรรมในการกำหนดราคา เมื่อเทียบกับการเก็บภาษีแบบเดิมที่คิดจากราคาหน้าโรงงานฯ ก่อนจะเปลี่ยนมาใช้ราคาขายส่งช่วงสุดท้าย (ในกรณีของภาษีแอลกอฮอล์) ซึ่งยังพบความไม่เป็นธรรมจากราคาขายส่งของผู้ประกอบการแต่ละรายที่ไม่เท่ากัน กระทบต่อความได้เปรียบเสียเปรียบในการแข่งขัน
ในส่วนผลิตภัณฑ์ของบริษัทในขณะนี้ยังไม่มีการปรับราคาแต่อย่างใด คาดว่าสัปดาห์หน้าน่าจะมีการเปลี่ยนแปลง โดยอาจจะปรับเพิ่มไม่เกิน 1-2 บาทเท่านั้น