ไอเดียสู้ชีวิต’ธุรกิจร้านอาหาร’ พลิกแพลง-ดิ้นรนสู้โควิด ‘คิดนอกกรอบ’

โดยเฉพาะการห้ามไม่ให้ลูกค้าที่มาใช้บริการนั่งทานอาหารและเครื่องดื่มภายในร้าน โดยต้องให้ซื้อหรือสั่งกลับไปทานที่บ้านเท่านั้น
มาตรการนี้ มีผลตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งแน่นอนว่าแค่จำนวนตัวเลขของผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ทำให้เจ้าของร้านต้องพยายามปรับตัวมาขายของออนไลน์อีกช่องทางหนึ่ง เมื่อห้ามทานอาหารที่ร้านก็ยิ่งซ้ำเติมให้บรรยากาศซบเซายิ่งเงียบเหงาไปกันใหญ่
มันทำให้คิดเป็นอย่างอื่นไม่ได้เลยครับว่า การบริหารจัดการสถานการณ์การระบาดของรัฐบาลตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ไม่ได้ทำให้ผู้มีอำนาจรัฐมีบทเรียน เพื่อหาทางออกให้กับร้านค้าของคนเล็กคนน้อย
และมันตอกย้ำว่ารัฐล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในวิกฤตนี้ เมื่อมองวิธีคิด วิธีดำเนินงาน เพื่อจัดซื้อวัคซีนมาฉีดให้กับประชาชน
ผมอยากยกตัวอย่างร้านไดโซะซูชิบุฟเฟ่ต์ ซึ่งอยู่ที่ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ พอ ศบค.ออกมาตรการห้ามลูกค้าทานอาหารในร้าน เจ้าของก็ได้คิดปรับรูปแบบ และกลยุทธ์ด้านการขาย ด้วยการเปิดบริการในรูปแบบ “Drive in buffet” สร้างแคมเปญ “เพียงจอดก็จุกได้ สั่งไม่อั้นเสิร์ฟถึงรถ เวลา 2 ชั่วโมงเต็ม ท่านละ 500 บาท”
เมื่อเจ้าของร้านไม่ยอมแพ้และพยายามคิดนอกกรอบ ต้องการสู้เพื่อให้ธุรกิจรอดแต่ก็ปฏิบัติตามมาตรการที่รัฐออกมาบังคับใช้อย่างเคร่งครัด หลายคนก็ออกมาชื่นชมครับ
มีการนำเต็นท์มากางบนลานจอดรถ โดยให้ลูกค้ามาจอดแล้วทานบุฟเฟ่ต์ จัดพนักงานให้บริการลูกค้าสแกนคิวอาร์โค้ดสั่งอาหาร พร้อมเครื่องดื่มต่างๆ ก่อนจะจัดเสิร์ฟให้ถึงรถ
วิธีนี้ทำให้ลูกค้าพากันมาอุดหนุนอย่างคับคั่ง เพราะยังสามารถมาทานอาหารที่ร้านได้แต่อยู่ในรถใครรถมัน
คือร้านอาหารบุฟเฟต์มันต้องทานที่ร้านครับ เสน่ห์ของการทานบุฟเฟต์ไม่ว่าจะเป็นอาหารญี่ปุ่น ชาบู หมูกระทะ หรือแม้แต่ข้าวราดแกง คือการได้เลือกอาหาร เลือกเมนู อุปกรณ์อย่างหม้อชาบูก็ไม่ได้มีกันทุกบ้าน หรือจะซื้อไปกินที่บ้านก็ไม่สะดวก
ปรากฏว่าหลังเปิดให้บริการได้ 2 วัน ก็มีหน่วยงานภาครัฐจากส่วนกลางตั้งคำถามเรื่องของการทานอาหารในรถทันทีว่าคนในรถมาจากบ้านเดียวกันจริงหรือไม่ หรือการที่ต้องถอดหน้ากากอนามัย การกินอาหารในรถก็ถือว่าผิดจากการที่มีการออกคำสั่งให้สวมหน้ากากอนามัยเพื่อออกจากบ้าน อีกทั้งอยู่ในรถเกิน 1 คน ต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา 100 เปอร์เซ็นต์
วิธีคิดแบบนี้ก็ไม่ต่างจากการให้ประชาชนลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการรัฐครับ คือมีไอเดียในการออกมาตรการแต่กลับคิดไม่ได้ว่าจะนำข้อมูลมาใช้เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดกับประชาชนอย่างไร
มุมหนึ่งก็มองได้ว่าเคร่งกครัดกับมาตรการป้องกันการระบาด แต่อีกมุมหนึ่งมันก็เหมือนกับว่าต้องการจะฆ่ากันให้ตายไปข้าง
อีกหนึ่งไอเดียที่พยายามคิดนอกกรอบสู้การระบาด คือร้าน Daddy G’s smoke & brew สั่งที่ร้านทานที่ห้อง ด้วยการเสิร์ฟแบบ Room service
ไอเดียคือทางร้านดีลกับโรงแรม รับจองล่วงหน้าวันละ 73 ห้อง ใช้ห้องได้ครบทุก function อยากทานอะไร ยกหูสั่งเพิ่มเติมได้เลย เข้าใช้บริการได้ช่วงเวลา 11.00-21.00 น. (กรณีไม่ค้างคืน ใช้บริการได้ไม่เกิน 22.00 น.) สั่ง 500 บาท ฟรีห้อง 1 ชั่วโมง , สั่ง 1,000 บาท ฟรีห้อง 2 ชั่วโมง ,สั่ง 1,500 บาท ฟรีห้อง 3 ชั่วโมง ถ้าสั่งอาหารมากกว่า 5,000 บาทฟรีห้อง 1 คืน
นี่ก็มีความพยายามจะให้ลูกค้าได้นั่งทานด้วยการเปิดห้องในโรงแรมแทนการนั่งที่ร้าน พอเป็นไวรัลแค่ 2 วัน ทางร้านก็ได้รับการประสานจากตำรวจ สน.หัวหมาก เข้าไปตรวจสอบ พร้อมกับแนะนำให้รอประกาศ ศบค. ยืนยันว่าการสั่งที่ร้านโดยทานที่โรงแรมทำได้หรือไม่
“ตามข่าวที่ได้มีการเผยแพร่ออกไปนั้นว่า ศบค. กำลังจะมีการพิจารณาว่าแนวทางปฎิบัตินั้นสามารถ ทำได้ไหม ทางร้านขอประกาศว่า ณ ตอนนี้ทางร้านจำเป็นต้องขาย Take away เพียงอย่างเดียว เพื่อรอฟั่งประกาศจาก ศบค.” ข้อความบางส่วนที่เพจ Daddy G’s smoke & brew โพสต์เพื่อชี้แจงการยกเลิกแคมเปญและขออภัยลูกค้าที่สนใจและจองโรงแรมไว้แล้ว”
แม้สุดท้ายทางร้านต้องส่ง Delivery และสั่งกลับบ้าน แต่ทั้ง 2 ร้านนี้ผมถือว่าเป็นตัวอย่างของคนไม่ยอมแพ้ที่น่านับถือครับ
ก่อนหน้านี้ธุรกิจร้านอาหารขนาดเล็กก็ปรับตัว New narmal กันมาแล้วนะครับ แม้แต่อาหารตามสั่งก็ยังมีบริการส่งเดลิเวอรี่
แต่วันนี้ร้านข้าวราดแกง ร้านบุฟเฟต์ ร้านนั่งดื่มฟังเพลง ร้านกาแฟ บางคนลงทุนตกแต่งร้านเพื่อขายบรรยากาศให้คนมาถ่ายรูป เช็คอิน ร้านเหล่านี้ก็พยายามดิ้นรนพลิกแพลงกันเต็มที่แล้ว
การบริหารจัดการสถานการณ์การแพร่ระบาดที่่ผ่านมา รัฐบาลไม่ได้ทำให้ประชาชนมั่นใจแม้แต่นาทีเดียวเลยนะครับว่าประเทศไทยจะพ้นวิกฤตนี้ไปได้อย่างไร
ที่สำคัญคือ หากในอนาคตอันใกล้นี้เมื่อสามารถควบคุมการระบาดให้น้อยลงแล้ว จะมีการระบาดในประเทศไทยซ้ำๆ อีกกี่ระลอก สุขภาวะของคนไทยจะต้องวนลูปแบบนี้ไปอีกนานแค่ไหน พอการระบาดเริ่มซาลง หน่วยงานรัฐก็เปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว หรือไม่ก็มีการลักลอบข้ามพรมแดนไปๆมาๆ แล้วก็กลับมาระบาดอีก หากไวรัสกลายพันธุ์รุนแรงมากขึ้น รัฐบาลจะทำอย่างไร
วงจรนี้แค่คิดก็เหนื่อยใจแล้วนะครับ
แล้วพ่อค้าแม่ค้า เจ้าของร้านอาหร สถานประกอบการ ที่ต้องผ่านการขาดทุนซ้ำแล้วซ้ำเล่า จะเหนื่อยขนาดไหน
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ประเมินผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 ต่อธุรกิจร้านอาหารในปี 2564 โดยคาดว่ามูลค่าธุรกิจร้านอาหารในปีนี้จะหดตัว 5.6% ถึง 2.6% ต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา และเป็นการหดตัวต่อเนื่องเป็นปีที่สองติดกัน
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภค โดยหลีกเลี่ยงการนั่งบริโภคภายในร้านหรือสังสรรค์ เพื่อลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อ ประกอบกับการระบาดของโควิด-19 ที่ยาวนานต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการร้านอาหาร โดยเฉพาะร้านอาหารขนาดเล็ก-กลางที่คาดว่าจะมีสัดส่วนไม่น้อยกว่า 80% ของธุรกิจที่ได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากช่วงปีที่ผ่านมา จนทำให้ต้องพึ่งพาแหล่งเงินทุนหมุนเวียนภายนอก สะท้อนให้เห็นจากยอดคงค้างสินเชื่อที่เร่งตัวขึ้นของธุรกิจบริการในช่วงปีก่อน
จากสถานการณ์ต่างๆ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ปรับลดประมาณการธุรกิจร้านอาหารในปี 2564 โดยมองว่ามูลค่าธุรกิจร้านอาหารน่าจะอยู่ที่ 3.82-3.94 แสนล้านบาท หรือหดตัว 5.6% ถึง 2.6% จากปีที่แล้วลดลงจากคาดการณ์เดิมที่ 4.1 แสนล้านบาท
นอกจากจะต้องมีบางร้านที่ต้องปิดตัวลงไป ก็ยังส่งผลให้ยอดขายของธุรกิจร้านอาหารกลุ่มนี้ในปี 2564 น่าจะมีมูลค่าอยู่ที่ 1.39-1.44 แสนล้านบาท หรือหดตัวลง 12% ถึง 8.9%
ที่ต้องยกข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรมาอ้างอิง ก็เพราะตัวเลขไม่เคยโกหกใคร แต่จะให้คนอยู่กันอย่างไรครับ เศรษฐกิจที่ฝืดเคืองไร้ประสิทธิภาพอยู่แล้วมาเจอโควิดซ้ำอีก พอบรรยากาศดีขี้นหน่อยจะลงทุนอะไรก็ต้องมาเจอระบาดซ้ำ ที่ไม่รู้ว่าจะจบลงเมื่อไหร่
จริงอยู่ครับ ที่ต่อให้เป็นเทวดาก็ไม่รู้ว่าโรคโควิดจะหายระบาดเมื่อไหร่ แต่รัฐบาลควรมองการบริหารของประเทศต่างๆ ไว้เป็นไอเดียบ้าง ทันโลก ทันสถานการณ์บ้างว่าผู้นำเขากำลังผลักดันเรื่องอะไร มีวาระในการจัดการกับโควิดอย่างไร
นี่อะไรกันครับ ปล่อยให้ชาวบ้านพลิกแพลงดิ้นรนสู้เพื่อความอยู่รอดแต่เพียงฝ่ายเดียว
การบริหารประเทศไม่ใช่การเล่นขายขนมครกยามว่างของทหารเกษียณอายุนะครับ