หลายคนอาจสงสัยว่าทำไม ช่วงนี้มีคนที่ไม่ได้เป็นเพื่อนกันในเฟซบุ๊กแท็กเราพร้อมกับคนอื่นๆอีกร่วมร้อยคน โดยมีข้อความและรูปภาพที่ดูเหมือนเป็นลิงค์ข่าวอาชญากรรมถูกแชร์ในโซเชียล
มีการสร้างชื่อหน้าเว็บลิงค์เหมือนสื่อหลัก เช่น ข่าวสด หรือไทยรัฐ เพื่อหลอกให้คนได้รับคิดว่าเป็นการแชร์ลิงค์ที่มีต้นตอมาจากสื่อหลักน่าเชื่อถือ
ช่วงประมาณกลางเดือน ธ.ค. 2563 เคยเกิดกรณีผู้ใช้เฟซบุ๊กได้รับการติดแท็กจากคนอื่นที่ไม่ได้รู้จักและไม่ได้เป็นเพื่อนในเฟซบุ๊ก

ดังนั้น การที่มีใครก็ไม่รู้แท็กชื่อบัญชีเฟซบุ๊กของเรา เป็นเพราะอะไร และจะเป็นอันตรายหรือไม่ เว็บข่าวไอทีที่ได้รับความนิยมของไทย 2 แห่ง คือ it24hrs.com กับ www.beartai.com ได้เคยรวบรวมข้อมูลหลังจากในช่วงปลายปีที่แล้วมีหลายคนถูกแท็กจนสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้น
it24hrs.com ระบุว่าเป็น Virus hoax (ไวรัสโฮคส์) หรือแปลเป็นไทยตรงๆว่า “ไวรัสหลอก” ถูกส่งผ่านแท็กข่าวบน facebook อย่างมากมาย รูปแบบของไวรัสนี้จะเป็นแท็กข่าวที่เหมือนว่าได้นำมาจากเว็บไซต์หนังสือพิมพ์ มีแคปชั่นที่อ่านแล้วเป็นเรื่องคนใกล้ตัว ซี่งผู้ไม่หวังดีปล่อยไวรัสนี้ออกมาเพื่อแฮคบัญชีเฟซบุ๊กของเรา
ไวรัสสามารถกระจายด้วยการแท็กข่าวปลอมพร้อมลิงค์อันตราย หากเรากดเข้าไปดูจะกลายเป็นหน้าล็อกอินเพื่อหลอกให้เราใส่ชื่อบัญชีผู้ใช้ รหัสผ่าน และข้อมูลต่างๆ กว่าจะรู้ตัวว่าเป็นไวรัสเฟซบุ๊กก็ถูกแฮคไปแล้ว นอกจากนี้ Virus hoax ยังมีอีกรูปแบบหนึ่ง ที่เมื่อเรากดเข้าไปตามลิงค์แล้ว จะทำให้เฟซบุ๊กของเราแท็กเพื่อนที่มีพร้อมกับส่งข่าวปลอมไปด้วย
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เผยว่า Virus hoax กลายเป็นภัยคุกคามใหม่ที่ส่งข่าวปลอมที่ถูกส่งต่อๆ แบบไม่รู้จบ ถ้าใครเผลอคลิกแล้ว หรือโดนเพื่อนทักว่าแท็กเราทำไม โดยที่เราไม่ได้เป็นผู้แท็กเองแล้วละก็ อย่างแรกที่ต้องรีบทำคือเปลี่ยนรหัสผ่านทันที
Virus hoax ถูกออกแบบให้มาก่อกวน ส่งผลต่อที่ผู้ใช้คอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟนได้อย่างรวดเร็ว สามารถส่งข้อความต่อๆ กันไปผ่านทางเฟซบุ๊ก หรือกลุ่มไลน์ต่างๆ ถ้ามีผู้ได้รับลิงค์นี้แล้วส่งต่อไปเรื่อยๆ ก็จะยิ่งทำให้ไวรัสกระจายไปไม่มีที่สิ้นสุด จะหยุดได้ก็ต่อเมื่อต้องไม่กดลิงค์เข้าไปดูข่าวปลอม และลบแท็กข่าวที่ปรากฏอยู่บนเฟซบุ๊กทิ้งไป
it24hrs.com แนะนำวิธีลบแท็กข่าว ที่มี Virus hoax 2 กรณี คือ 1. ถ้าลิงค์ข่าวปลอมถูกส่งมาจากเพื่อนในเฟซบุ๊กเราสามารถกดเข้าไปในครื่องหมาย (…) ที่อยู่บนกรอบแท็กข่าว

2. ถ้าถูกแท็กจากคนที่ไม่ได้รู้จัก วิธีการลบออกต้องเข้าไปที่หน้าโปรไฟล์ตัวเอง คลิกที่ (…) แล้วเลือกที่ บันทึกกิจกรรม “ข่าวที่ถูกแท็ก”
ในขณะที่ www.beartai.com หรือแบไต๋ ได้นำลิงค์ที่ถูกส่งมาตรวจสอบผ่านบริการ WHOIS บริการตรวจสอบผู้ถือครองโดเมน พบว่า โดเมนนี้เพิ่งถูกจดทะเบียนในวันที่ 9 ธ.ค. 2563 ก่อนถูกแชร์กันอย่างมากมายทางสื่อโซเชียลในวันที่ 14 ธ.ค.
แบไต๋ ระบุว่า เมื่อคลิกลิงก์ไปแล้ว บางเบราว์เซอร์จะสามารถตรวจจับได้ว่าเป็นเว็บฟิชชิ่ง แต่สำหรับในบางครั้งจะทำการ Redirect ไปยังหน้าข่าวเลย โดยมีตัวกลางในการเชื่อมต่อซึ่งเราไม่สามารถรู้ได้ว่าแฮกเกอร์ได้ทำการฝังสคริปต์อะไรเอาไว้บ้าง
อย่างไรก็ตาม มีหลายวิธีที่แฮกเกอร์จะใช้เป็นช่องทางสำหรับโจรกรรมข้อมูล ชื่อผู้ใช้และรหัสผ่าน มีรายงานว่าบางครั้งเมื่อคลิกลิงก์ที่ ก็จะโผล่ไปที่เว็บไซต์ที่มีหน้าตาเหมือนกับหน้าล็อกอินของเฟซบุ๊ก ทั้ง ๆ ที่ลิงก์ไม่ใช่เฟซบุ๊ก

เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว และป้องกันการถูกแฮกจากผู้ไม่หวังดี สามารถทำได้ในการตั้งค่า ดังนี้
1. Log out การใช้งานจากทุกเครื่อง ในการตั้งค่า
2. เปลี่ยนรหัสผ่าน
3. เปิดใช้งานการยืนยันตัวตนสองขั้นตอน (2FA)
ด้าน เฟซบุ๊ก “เจ้าหญิงน้อยแห่งอันดามัน” ทางเพจได้มีการโพสต์เรื่องราวเตือนภัยทางโซเชียล หลังมีลูกเพจส่งเรื่องให้ว่า เฟซบุ๊กมักถูกคนที่ไม่รู้จักและไม่ได้เป็นเพื่อนกันในเฟซบุ๊ก ติดแท็กข่าวมาให้ โดยข่าวที่พบส่วนใหญ่คือข่าวเกี่ยวกับอุบัติเหตุจากเพจสำนักข่าวต่าง ๆ
เพจเจ้าหญิงน้อยแห่งอันดามัน แนะนำว่า หากใครเจอลักษณะดังกล่าว ไม่ควรกดรับอนุมัติแท็ก หรือคลิกดูข่าวในลิงก์ที่แท็กมา เนื่องจากอาจเป็นมิจฉาชีพหลอกแฮกคฟซบุ๊ก หรือเป็นมัลแวร์ (ซอฟต์แวร์ที่ถูกออกแบบมาเพื่อสร้างความเสียหายให้กับคอมพิวเตอร์ หรือเซิร์ฟเวอร์) ก็เป็นได้ เพราะเบื้องต้นมีคนโดนมาแล้ว
เมื่อเจอคนที่ไม่รู้จักแท็กชื่อมาในลักษณะดังกล่าว ถ้าไม่รู้จักไม่ต้องอนุมัติให้แท็ก ,ถ้ามีข่าวเป็นอุบัติเหตุทำนองรถชน หรืออะไรขึ้นมา แม้จะเป็นลิงก์ข่าวที่น่าเชื่อถือ นาทีนี้อย่าเพิ่งกดอ่าน และจุดสังเกตเบื้องต้น คือเป็นการแท็กคนจำนวนมากเกิน 10 คนขึ้นไป
แม้ว่าหลายคนจะแนะนำให้ลบแท็กสแปมทิ้ง แต่ก็มีบางคนที่บอกว่า การรายงานโพสต์นี้จะช่วยให้ สำนักงานเฟซบุ๊ก รับทราบปัญหาที่เกิดขึ้น มากกว่าการลบแท็กออกเฉย ๆ เนื่องจากในปัจจุบันยังไม่มีรายงานว่าต้นตอของสแปมแท็กตัวนี้มีที่มาอย่างไร ถูกสร้างจากใครที่ไหน เพราะฉะนั้นหากผู้ใช้เฟซบุ๊กลบและรายงานปัญหาให้เฟซบุ๊กก็อาจเป็นวิธีแก้ไขในเบื้องต้นที่ดีกว่าลบทิ้งไปเฉยๆ

สแปมแท็กลิงค์ ก็มีลักษณะการขโมยข้อมูลเหมือน อีเมล์ หรือการทักแชท ที่หลอกให้เราคลิ๊กลิงก์ ใส่ข้อมูลส่วนตัว โดยอาจจะอ้างว่าเป้นมาตรการรักษาความปลอดภัยจากเฟซบุ๊ก

ไวรัสเฟซบุ๊ก ยังอาจถูกส่งผ่านมาจากการสลัครเล่นเกมที่ไม่มีแหล่งที่มา ,เข้าใช้แอพตั้งคำถาม แอพ Quiz ต่างๆ ด้วยเช่นกัน
มีคำถามว่าถ้าเฟซบุ๊กถูกแฮกไปแล้วจะทำอย่างไร ในกูเกิ้ลมีคำตอบเพียบเลยครับ แต่ที่สำคัญเป็นอันดับแรกเลยคือ เรายังสามารถล็อคอินเข้าไปใช้บัญชีเฟซบุ๊กได้อยู่หรือไม่ เพราะถ้ายังได้ก็ต้องรีบเปลี่ยนรหัสก่อนเลย
แล้วผู้ไม่หวังดีจะแฮกเฟซบุ๊กเราทำไม การก่อเหตุคดีพื้นๆ ก็อาจทักแชทปลอมเป็นเราเพื่อหลอกยืมเงินเพื่อนในเฟซบุ๊ก ไปจนถึงการโจรกรรมข้อมูลบัญชีธนาคาร แต่ก็มีบางคนที่แค่อยากสร้างความรำคาญให้กับเจ้าของเฟซบุ๊กต้องหัวปั่นเท่านั้น
เพราะฉะนั้นถ้าไม่อยากปวดหัว ลิงค์อะไรแปลกๆ เว้นไปไม่ต้องดูบ้างก็ได้
Post Views:
9,113
Like this:
Like Loading...
Related