Biznews

อ่านมุมมอง นิ้วกลม “ไม่อยาก ‘ติด’ ก็ต้อง ‘ห่าง'”

ยังคงมุ่งมั่นในการเขียนเตือนสติคนทั่วไปอย่างต่อเนื่องสำหรับ  ‘สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์’ หรือ  เอ๋ ซึ่งเป็นที่รู้จักในนามปากกาว่า นิ้วกลม เป็นครีเอทีฟโฆษณา ผู้กำกับโฆษณา นักเขียน พิธีกรชาวไทย มีผลงานสร้างชื่ออย่างมากมาย  

ล่าสุด นิ้วกลม  โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุคส่วนตัว ถึง 14 ข้อคิด  “ไม่อยาก ‘ติด’ ก็ต้อง ‘ห่าง'”  ใจความดังนี้

1
ปี 1918 ขณะเชื้อ H1N1 กำลังระบาดหนัก คร่าชีวิตชาวอเมริกันไปนับแสน และอีกหลายล้านทั่วโลก การตัดสินใจบางเรื่องเป็นการเลือกระหว่างความเป็นความตาย ขณะนั้นวิลเมอร์ ครูเซน กรรมาธิการสาธารณสุขแห่งฟิลาเดลเฟียอนุญาตให้จัดพาเหรดใหญ่ซึ่งมีผู้คนจำนวนสองแสนคนร่วมขบวนพาเหรด สัปดาห์ถัดจากนั้นจำนวนร่างของผู้เสียชีวิตค่อยๆ สะสมถมทับกันกองพะเนิน กระทั่งสิ้นสุดฤดูกาลปรากฏว่าประชากร 12,000 คนเสียชีวิตจากการติดเชื้อโดยมีต้นเหตุจากการที่คนจำนวนมากไปร่วมขบวนพาเหรด

2
ขณะที่ในเมืองเซนต์หลุยส์, กรรมาธิการสาธารณสุข แม็กซ์ สตาร์คลอฟฟ์ตัดสินใจปิดเมือง โดยไม่ใส่ใจต่อคำทักท้วงของนักธุรกิจที่ไม่เห็นด้วย ไม่ใช่แค่เมือง แต่ยังประกาศปิดโรงเรียน บาร์ โรงหนัง และหยุดการแข่งขันกีฬาทั้งหมด แม้มีคนไม่พอใจบางส่วน แต่สุดท้ายแล้วผู้เสียชีวิตจากโรคร้ายในเมืองเซนต์หลุยส์เทียบสัดส่วนกับประชากรในเมืองแล้วน้อยกว่าฟิลาเดลเฟียถึงครึ่งหนึ่ง โดยมีคนตายจากโรคนี้เพียง 1,700 คนเท่านั้น

3
เรากำลังอยู่ในทางแยกระหว่างการเลือกว่าจะเป็นแบบฟิลาเดลเฟียหรือเซนต์หลุยส์ เพื่อการตัดสินใจที่ดีอาจต้องการข้อมูลประกอบการตัดสินใจ

4
23 มกราคมปีนี้ อู่ฮั่นยืนยันเคสผู้ติดเชื้อ 444 ราย สัปดาห์ถัดมากลายเป็น 4,903 ราย สัปดาห์ถัดไปอีกกลายเป็น 22,112 ราย

5
22 กุมภาพันธ์ปีนี้ อิตาลีพบผู้ติดเชื้อ 62 ราย อีกสัปดาห์เพิ่มเป็น 888 ราย ก่อนจะกลายเป็น 4,636 รายในต้นเดือนมีนาคม นั่นหมายความว่ามีโอกาสที่โรคนี้จะแพร่ในจำนวน 10 เท่าต่อสัปดาห์ และ 100 เท่าภายในเวลาไม่ถึงเดือน หากไม่มีนโยบายจัดการสาธารณะที่ดี

6
ในจีน เมื่อรัฐบาลออกนโยบายยกเลิกการจัดงานหรือพบปะในที่ชุมนุมชนยอดผู้ติดเชื้อก็ค่อยๆ ลดลง นั่นเป็นโอกาสให้ใช้เวลากับการรักษาผู้ติดเชื้อเดิมให้ค่อยๆ หายดีอีกด้วย ในสิงคโปร์ก็เช่นกัน ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อไม่สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และควบคุมสถานการณ์ได้ดีขึ้นเรื่อยๆ

7
โรคระบาดแพร่ลามด้วยการ ‘ติดเชื้อ’ หากคิดตรรกะง่ายๆ ด้วยภาษา คำที่ตรงข้ามกับ ‘ติด’ ก็คือ ‘ห่าง’ ก็พอจะสรุปเป็นข้อปฏิบัติกับตัวเองได้ว่า “ถ้าไม่อยาก ‘ติด’ ก็ต้อง ‘ห่าง’ กันไว้ก่อน” เพราะการไม่นำตัวเองไปพบปะเจอะเจอกันในสถานที่คนมากไม่เพียงช่วยดูแลสุขภาพตัวเองเท่านั้น แต่ยังช่วยสังคมให้ลดความเสี่ยงของการเพิ่มผู้ติดเชื้ออีกด้วย

8
หากไม่ช่วยกัน ถ้าปริมาณผู้ติดเชื้อมีสูงขึ้นก็มีโอกาสแพร่เชื้อได้มากขึ้นและมากขึ้นไปอีก เป็นวงจรที่น่าหวาดหวั่น ยังไม่นับว่าถ้าผู้ป่วยมีมาก บุคลากรสาธารณสุขก็ยิ่งทำงานหนัก โรงพยาบาลอาจไม่เพียงพอ ฯลฯ ตามมาอีกมากมาย ‘ความห่าง’ จึงสำคัญ

9
จึงไม่แน่ใจว่าการที่ภาครัฐต้องการจัดอีเวนต์ต่างๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นความคิดที่ดีหรือไม่ เพราะหากมีจำนวนผู้ติดเชื้อสูงขึ้น แทนที่จะกระตุ้นให้เศรษฐกิจกระเตื้องกลับเป็นปัจจัยให้เศรษฐกิจซบเซายาวนานมากขึ้นไปอีก

10
ในมุมประชาชนเอง, หากเป็นไปได้นอกจากกินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือบ่อยๆ แล้ว การหลีกเลี่ยงที่จะพาตัวเองไปอยู่ในที่ผู้คนเยอะๆ ก็น่าจะช่วยประเทศได้ด้วยอีกแรง บริษัทหรือออฟฟิศไหนที่มีงานบางอย่างที่สามารถ “ทำที่บ้าน” ได้ก็อาจอนุญาตให้พนักงานลดการเดินทางลงเพื่อเสี่ยงต่อการติดเชื้อที่ลดลง

11
แน่นอนว่ามีผู้เป็นห่วงเศรษฐกิจในภาพรวมว่าถ้าทุกคนหวาดกลัวเกินเหตุ แล้วกด pause ชีวิตปกติเอาไว้อาจทำให้เศรษฐกิจในภาพใหญ่ชะงักไปเฉยๆ อันนี้เห็นด้วยครับว่าไม่ควรตื่นตกใจเกินเหตุ แต่ขณะเดียวกันก็ต้องอัพเดตข้อมูลและกรณีศึกษาจากต่างประเทศที่ทำได้ดีเพื่อนำมาประเมินพฤติกรรมการใช้ชีวิตของเราด้วยเหมือนกัน อาจต้องยอมกัดฟันใช้ชีวิตไม่ปกติ เงินในระบบลดลงช่วงหนึ่งเพื่อจัดการโรคร้ายนี้ให้ดีที่สุด ยุติมันให้เร็วที่สุดน่าจะดีกว่าการพยายามทำทุกอย่างราวกับว่าเราอยู่ในสถานการณ์ปกติ กระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการจัดงานต่างๆ ออกไปสังสรรค์ในที่เสี่ยง แบบนี้อาจส่งผลร้ายมากกว่าผลดี ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่ต้องประเมินกันอย่างถ้วนถี่

12
ผมเชื่อว่าในวันที่ชาวฟิลาเดลเฟียออกมารื่นเริงกับงานพาเหรดกัน พวกเขาคงมีความสุขที่ได้ออกมาใช้ชีวิต “ตามปกติ” โดยไม่กลัวเชื้อโรคร้ายที่กำลังระบาด แต่ผลลัพธ์หลังจากนั้นไม่ใช่ความสุขเลยแม้แต่น้อย

13
ทุกคนย่อมมีอิสระในการตัดสินใจ แต่อย่างน้อย การได้รับทราบข้อมูลในอดีต เรียนรู้จากเพื่อนร่วมโลกที่จัดการปัญหาเดียวกับเราได้ดีก็น่าจะมีประโยชน์ เพราะการตัดสินใจในวินาทีนั้นสำคัญ มันอาจเป็นการตัดสินใจอยู่บนเส้นบางๆ ระหว่างความเป็นกับความตาย อาจไม่ใช่ของเรา แต่คือความเสี่ยงที่จะติดเชื้อมายังคนอื่นต่อไปอีก

14
หากคิดตามตรรกะพื้นฐาน, เราอาจได้ข้อสรุปง่ายๆ ว่า “ไม่อยาก ‘ติด’ ก็ต้อง ‘ห่าง'”

“ช่วงนี้เราห่างกันสักพักนะ”

พอทุกอย่างคลี่คลายอย่างแท้จริง ตอนนั้นความปกติจะกลับมาเอง

Cr. Roundfinger

 

Related Articles

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Back to top button
X
%d bloggers like this: