Biznews

ไม่หวั่นโควิด!’TNP’ ทุ่ม 100 ล้านเปิดอีก 5 สาขา ตั้งเป้ารายได้ปี 64 โต 15%

ยังคงเดินเครื่องขยายสาขาอย่างต่อเนื่องสำหรับยักษ์ค้าปลีกภูธรเมืองเชียงรายอย่าง ธนพิริยะ  หรือ TNP อาณาจักรค้าปลีกท้องถิ่นบริหารงานโดยตระกูล “พุฒิพิริยะ” ที่กำลังถูกจารึกบนธุรกิจค้าปลีกของไทยภายใต้การนำของคู่สามีภรรยา “ธวัชชัยและอมร” ที่ร่วมกันฝ่าฟันปัญหาอุปสรรคมากมายจนสามารถเติบโหญ่

วันนี้ ธนพิริยะหรือที่คนท้องถิ่นเรียกสั้นๆ ว่า “ธน” ยืนหยัดอยู่ในตลาดอย่างโดดเด่นและเติบโตขยายกิ่งก้านสาขา ท่ามกลางร้านค้าปลีกท้องถิ่นที่ทยอยปิดตัวลง และยังเป็นหนึ่งในบริษัทยักษ์ใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ ท้าชนยักษ์ใหญ่จากต่างชาติเรียบร้อยแล้ว

ต้องยอมรับว่า สมรภูมิการแข่งขันในธุรกิจค้าปลีก จังหวัดเชียงรายรุนแรงไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าสมรภูมิในเมืองหลวง เพราะปัจจุบันเต็มไปด้วยร้านค้าปลีกรายใหญ่เข้าจับจองพื้นที่เกือบครบทุกแบรนด์ ไล่มาตั้งแต่ เทสโก้ โลตัส บิ๊กซี ท็อปส์ แม็คโคร จนถึงร้านสะดวกซื้ออย่าง เซเว่น อีเลฟเว่น

การยืนหยัดของ ธนพิริยะ ที่สามารถตีฝ่าวงล้อมคู่แข่งคนสำคัญถือเป็นปรากฏการณ์ที่หลายคนอดตั้งคำถามไม่ได้ว่า ร้านค้าปลีกภูธรรายนี้มีดีอย่างไรถึงอยู่รอดมาถึงทุกวันนี้

 

 

เบื้องหลังความสำเร็จนี้เกิดจากมันสมองของ ธวัชชัย และอมร พุฒิพิริยะ สามีภรรยาชาวเชียงราย ที่ไม่ยอมจำนนต่อความพ่ายแพ้ เหมือนกับร้านค้าปลีกท้องถิ่นรายอื่นๆ หลังค้าปลีกเชนใหญ่ได้บุกเข้าถึงถิ่นตั้งแต่ปี 2540 ทั้งคู่ตัดสินใจลุกขึ้นสู้ เปลี่ยนความกังวลเป็นพลัง พร้อมมุ่งมั่นทำการบ้านอย่างหนัก วิเคราะห์จุดแข็งจุดอ่อนของคู่แข่ง วางยุทธศาสตร์การเติบโต เพราะพวกเขาเชื่อว่า “โอกาส” ยังมีในตลาดนี้

ธุกิจค้าปลีกของตระกูลพุฒิพิริยะ อยู่คู่กับจังหวัดเชียงรายมากว่า 50 ปี เริ่มต้นในปี 2508 จากร้านของชำแผงลอยในเทศบาลเชียงรายภายใต้ชื่อ “โง้วทองชัย” ต่อมาในปี 2534 ได้พัฒนามาเป็นมินิมารท์แบบทันสมัยภายใต้ชื่อ “พิริยะมินิมาร์ท” ต่อมาในปี 2543 ได้จดทะเบียนเปลี่ยนเป็น “ห้างหุ้นส่วนจำกัด ธนพิริยะ” และใช้ชื่อสถานประกอบการเป็น “ธนพิริยะ” โดยมีสำนักงานใหญ่ตั้ง อยู่ที่ ตำบลรอบเวียง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย

ต่อมากิจการได้มีการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง จึงได้สร้างโกดังเก็บสินค้าในปี 2540 เพื่อจัดส่งสินค้าไปยังอำเภอต่างๆ ในจังหวัดเชียงราย และด้วยวิสัยทัศน์ของผู้บริหารที่เล็งเห็นโอกาสของธุรกิจค้าปลีกที่น่าจะให้ผลกำไรและสภาพคล่องได้ดีกว่าธุรกิจค้าส่งจึงได้เปิดสาขาที่ 2 ในปี 2550 ตั้งแต่นั้นมาก็มีการขยายสาขาอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในอำเภอเมืองและอำเภออื่นๆ ในจังหวัดเชียงราย

ในปี 2555 ได้จดทะเบียนเปลี่ยนเป็น “บริษัท ธนพิริยะ จำกัด” และในปี 2556 ได้เพิ่มทุนจดทะเบียนและชำระแล้วเป็น 50 ล้านบาท ต่อมาในปี 2557 เพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 145 ล้านบาท และมีมติอนุมัติให้ซื้อ หุ้นสามัญของบริษัท ธนภูมิ พร๊อพเพอร์ตี้ 2013 จำกัด เพื่อปรับโครงสร้างกลุ่มและเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2558 ที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นได้มีมติแปรสภาพให้เป็นมหาชนเพื่อเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ

 

แม้ว่าสถานการณ์ต่างๆ จะแวดล้อมไปด้วยปัจจัยลบต่างๆ  นานา  แต่ทว่า ค้าปลีกภูธรรายนี้หาได้หวาดหวั่นไม่  ยังคงเดินหน้ากระหน่ำแผนกลยุทธ์อย่างต่อเนื่อง

นางอมร พุฒิพิริยะ รองกรรมการผู้จัดการ บมจ.ธนพิริยะ (TNP) เปิดเผยว่า ปี 2564   ตั้งเป้ารายได้เติบโตไม่ต่ำกว่า 10-15% หรือมีรายได้  2,500 ล้านบาท แม้ว่าสถานการณ์โดยรวมจะยังไม่ดีนัก แต่สินค้าที่บริษัทวางขายในสาขาต่างๆ ถือว่าเป็นสินค้าจำเป็นในการบริโภค และได้รับการตอบรับอย่างดีจากลูกค้า  โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มของใช้ในครัวเรือน กลุ่มน้ำยาฆ่าเชื้อ กลุ่มซักล้างและของใช้ส่วนตัวกลุ่มบะหมี่เครื่องปรุงรส เนื่องจากเป็นเทรนด์สุขภาพและคนทำงานที่บ้าน

ขณะที่สินค้าในกลุ่มน้ำผลไม้ตก เพราะผลไม้สดราคาถูก คนหันหาน้ำผสมวิตามินมาก ทำให้สินค้ากลุ่มดังกล่าว โตเกิน100%  ส่วนน้ำมันพืชถั่วเหลืองมาแทนปาล์ม เพราะปาล์มราคาสูงส่วนใหญ่ร้านอาหารซื้อไปใช้ คนหันมาทำอาหารกินเองทำให้ถั่วเหลืองเติบโตมาก

ขณะที่สินค้ากลุ่มฟุ่มเฟือยอย่างแอลกอฮอล์ และกลุ่มเครื่องดื่มบำรุงกำลังตก  ยอดขายลดลง  เนื่องจากคนต้องประหยัดค่าใช้จ่ายมากขึ้น

สำหรับแผนการทำตลาดในปี 2564  TNP  ยังคงมุ่งหน้าขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง  โดยจะเปิดอีก 5 สาขา  ภายใต้วงเงินลงทุนประมาณ 100  ล้านบาท ในพื้นที่ 3 จังหวัดจากปัจจุบันมีสาขารวม  32 สาขา คือ เชียงราย 26 สาขา พะเยา 4 สาขา และเชียงใหม่ 2 สาขา

ส่วนมุมมองสถานการณ์ค้าปลีกปีนี้ ซ้ออมร  กล่าวว่า  ไตรมาสแรกน่าจะเติบโตเนื่องมาจากการกระตุ้นภาครัฐจนถึงไตรมาส 2 ส่วนครึ่งปีหลังถ้าวัคซีนได้มาน่าจะทรงตัวแล้วพลิกกลับในไตรมาส 4 แต่คงช้าๆไม่เร็วมากนัก เพราะระบาดรอบสองมาบาดเจ็บมากกว่ารอบแรกในภาพรวมเศรษฐกิจ 

อย่างไรก็ตาม  มาตรการเยียวยาต่างๆ  ที่ออกมาจากภาครัฐมีประสิทธิภาพและตรงความต้องการของประชาชน โดยเฉพาะโครงการคนละครึ่ง และ เราชนะที่กำลังจะออกมา ซึ่งภาครัฐควรเข็นมาตรการในลักษณะนี้ออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะโครงการ “เราชนะ” ซึ่งจะมีผู้บริโภคส่วนหนึ่งที่ได้รับการเยียวยาจากสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จะนำสิทธิไปใช้ผ่านร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ ซึ่งบริษัทอยู่ในกลุ่มผู้ให้บริการร้านค้าดังกล่าวด้วย

เมื่อถามว่า ปีนี้ห่วงเรื่องไหนบ้าง  ซ้ออมร  บอกว่า  ส่วนตัวห่วงการฟื้นตัวในภาพรวม และถ้าไม่มีเงินจากภาครัฐเข้าระบบอาจทำให้การฟื้นตัวช้าลงอีก ซึ่งนโยบายภาครัฐรอบนี้ ธุรกิจเอสเอ็มอีฟื้นเห็นชัดมาก ทั้งโครงการคนละครึ่ง.และเราชนะ ทำให้รวยไม่กระจุก  ส่วนโครงการประชารัฐเป็นโครงการที่ดีมาก เพราะได้กับคนจนจริงๆ ต้องยกนิ้วให้กับคนที่คิดโครงการนี้

ยักษ์ค้าปลีกภูธร เชียงราย มองว่า สถานการณ์ปีนี้น่าจะแย่กว่าปีที่แล้ว  เนื่องจากภาคธุรกิจท่องเที่ยวน่าจะฟื้นตัวช้ามากๆ คงต้องกระตุ้นท่องเที่ยวในประเทศเพิ่ม เพื่อให้สถานการณ์ดีขึ้น

ซ้ออมร ทิ้งท้ายให้กับทุกคนให้สามารถผ่านสถานการณ์นี้ไปด้วยกันให้ได้ อย่ากังวลเกินไปจนไม่ทำอะไร เพราะในวิกฤตความกลัว มักมีโอกาสดีๆ  ซ่อนอยู่เสมอ เราต้องบริหารความเสี่ยงที่เกิดขึ้นให้ดีที่สุด เช่นการเลือกขยายสาขาในช่วงนี้ที่หลายธุรกิจหยุดชะงัก จะได้ประโยชน์ทั้งในเรื่องของต้นทุนการก่อสร้าง ต้นทุนที่ดิน รวมไปถึงระยะเวลาการก่อสร้างที่รวดเร็งยิ่งขึ้น  นี่คือสิ่งดีๆ  ที่ซ่อนอยู่ท่ามกลางความเลวร้ายของสถานการณ์ในเวลานี้  หากเราไ่ยอมแพ้  และสู้ไปด้วยกัน  

 

 

 

Related Articles

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Back to top button
X
%d bloggers like this: