ไม่ตลกด้วย!หยุดพฤติกรรม’คุกคามทางเพศ’ บนสื่อโทรทัศน์

ประเด็น Sexual Harassment หรือคุกคามทางเพศบนจอโทรทัศน์ในสังคมไทยดูจะเป็นเรื่องที่หลายคนยังไม่ค่อยเข้าใจ หรือเข้าใจคลาดเคลื่อนอยู่พอสมควร
การคุกคามทางเพศ เป็นกรณีที่ไม่ได้รับการยอมรับในระดับสากล เช่นเดียวกับการ “บูลลี่”
ถ้ามีใครสักคนเข้ามาพูดจาถากถางเรื่องรูปร่างหน้าตา ส่วนสูง ทรงผม หรือการแต่งกายของคุณ รุกล้ำความเป็นตัวของตัวคุณ แล้วคุณรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ยอมรับได้
ควรเลยผ่านบทความนี้ไปเลยครับ เพราะผมกำลังจะอธิบายถึง “สิทธิส่วนบุคคล” อันเป็นเรื่องที่เราต้องให้เกียรติคนอื่นและคนอื่นก็ควรให้เกียรติเราด้วยเช่นกัน
กรณีของ “บอล เชิญยิ้ม” ที่มีพฤติกรรมคึกคามทางเพศกับ “มายด์ 4EVE” ในระหว่างการแสดงรายการตลกรายการหนึ่งนั้น กลายเป็นประเด็นดราม่าว่า… สมควรหรือไม่?
ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักน้องมายด์ ที่ตกเป็นข่าวดราม่านี้คร่าวๆครับ
มายด์ มีชื่อจริงว่า อาทิตยา ตรีบุดารักษ์ เป็นที่รู้จักในวงการบันเทิงคือ “มายด์ 4EVE” เธอเป็นคนจ.ชลบุรี จบการศึกษาจาก วิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
ปัจจุบันเป็นสมาชิกวงเกิร์ลกรุ๊ป 4EVE เซ็นสัญญาเป็นนักแสดงช่องเวิร์คพอยท์ เข้าวงการจากการประกวดรายการ Girl Group Star แล้วเดบิวต์เป็นสมาชิกเกิร์ลกรุ๊ป 4EVE ต่อมาเธอกลายเป็นพี่คนโตสุดของวง และเป็น เมน Vocal ของวงด้วย
กระแสดราม่าเกิดขึ้นเมื่อ มายด์ ได้รับเชิญให้ไปออกรายการตลก รายการหนึ่งโดยมีบอล เชิญยิ้ม เป็นหนึ่งในนักแสดงหลักของรายการนั้น
เรื่องหลังจากนี้ก็เป็นอย่างที่ทุกคนได้ทราบกันแล้วคือ บอล เชิญยิ้ม มีการแตะเนื้อต้องตัวน้องมายด์ และดมผม ซึ่งทำให้เธอออกอาการเหวออย่างชัดเจน
จริงๆแล้ว ในรายการตลกของช่องเวิร์คพอยท์ที่ผ่านมา มีประเด็นคุกคามทางเพศอยู่บ่อยครั้งซึ่งผู้บริหารไม่เคยออกมาแอคชั่นใดๆต่อสาธารณชน
โดยเฉพาะรายการชิงร้อยชิงล้าน และสำหรับผมเจาะจงไปที่ เท่ง เถิดเทิง
พฤติกรรมทั้งคำพูดและการแสดงออกของเท่ง เถิดเทิง ต่อนักแสดงหญิงรับเชิญหลายๆคน ทำเอาผมซึ่งเคยติดรายการชิงร้อยฯ อย่างงอมแงม ต้องเลิกดูไปเลย
ในมุมมองของผม ผมคิดว่ามันประเจิดประเจ้อเกินเลยจนน่าเกลียด
นี่ไม่ใช่ข้ออ้างที่จะบอกว่ามันคือการแสดง เพราะเห็นชัดๆว่าเป็นพฤติกรรมคุกคามทางเพศบนจอโทรทัศน์
กรณีบอล เชิญยิ้ม มีหลายคนบอกว่าก่อนหน้านี้เขาสร้างดราม่าขึ้นมาเกาะกระแสอยู่เรื่อยๆ
บางคนมีอคติกับบอล เชิญยิ้ม เนื่องจากที่ผ่านมาเขามักแสดงความมั่นใจในการกระทำที่ไม่ถูกไม่ควรของตัวเองอยู่บ่อยครั้ง
เช่น การเรียกร้องให้หมอ รพ.ศิริราชที่รักษาอาการป่วยจากไวรัสโควิดของอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดท่านหนึ่ง ไปรักษา “น้าค่อม” แทนหมอ รพ. ที่กำลังทำการรักษาอยู่ เป็นต้น
กลับมาที่ประเด็นดราม่าเรื่องคุกคามทางเพศผ่านสื่อโทรทัศน์ ซึ่งถูกละเลยจากผู้บริหารสถานีมาโดยตลอดเพราะเห็นว่าเป็นรายการบันเทิง ทั้งๆที่มีเยาวชนอีกจำนวนไม่น้อยกำลังติดตาม
สังคมไทยควรมีจุดยืนต่อพฤติกรรมคุกคามทางเพศโดยเฉพาะการแสดงตลกถ้าคุณมีฝีมือจริงๆ และเป็นสุภาพบุรุษ มันก็ไม่จำเป็นเลยที่จะต้องแตะเนื้อต้องตัวผู้หญิง
การสัมผัสเนื้อตัว การดมเส้นผม สร้างความขบขันตรงไหน
ศิลปินตลกที่ได้รับการเชิดชูเกียรติให้เป็นศิลปินแห่งชาติ เคยแสดงพฤติกรรมเช่นนี้เพื่อเรียกเสียงหัวเราะจากผู้ชมอย่างนั้นหรือ
สุดท้ายแล้ว หากคิดว่านี่คือการแสดง อย่าไปคิดอะไรมาก นั่นก็หมายความว่าผู้กำกับเวที และโปรดิวเซอร์รายการคิดน้อยเกินไป
และหากอ้างว่าต้องเล่นไปตามบทที่ได้รับ ก็หมายความว่าครีเอทีฟรายการสิ้นคิดไปแล้ว
เราขอยืนยันว่า เราไม่เห็นด้วยกับการคุกคามทางเพศทุกรูปแบบ เพื่อไม่ให้เกิดการเลียนแบบในอนาคต
ขอบคุณภาพ จาก Workpoint