ไฟไหม้ลอนดอน ร้อนถึงกรุงเทพ
จากเหตุการณ์เพลิงไหม้อาคารเกรนเฟลล์ ทาวเวอร์ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษซึ่งเป็นอาคารพักอาศัยสูง 24 ชั้น ที่เกิดเพลิงไหม้อย่างรุนแรง มีผู้เสียชีวิต 50 ราย และสูญหายไปอีกจำนวนมาก เป็นเหตุเพลิงไหม้ที่ร้ายแรงใจกลางมหานครลอนดอน และเกี่ยวข้องทางด้านความปลอดภัยในมาตรฐานการออกแบบอาคารสูงและการใช้วัสดุในการตกแต่งอาคาร สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ (ASA) ขอให้บุคลากร หรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในวิชาชีพนี้ รวมถึงประชาชนให้ตระหนักถึงความสำคัญของความปลอดภัยของสิ่งปลูกสร้างในประเทศไทยด้วย
ทั้งนี้ ผู้แทนสมาคมฯ พันตำรวจโท ดร.บัณฑิต ประดับสุข กรรมการกลาง และผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยอาคาร เห็นว่าขณะนี้เป็นจังหวะเหมาะสมที่จะให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องตระหนักถึงความสำคัญกับเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยในงานสถาปัตยกรรมอย่างจริงจัง เพราะเหตุการณ์ร้ายแรงแบบนี้ ก็เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย สำหรับสาเหตุและการลุกลามของไฟภายนอกอาคารในเหตุการณ์ครั้งนี้ได้ตั้งสมมุติฐานโดยยึดหลักการพฤติกรรมของไฟประกอบกับกลไกของการลุกลามของไฟภายนอกอาคาร (EXTERNAL FIRE SPREAD) และข้อมูลข่าวสารจากต่างประเทศ

สรุปได้ว่า ต้นเพลิงเริ่มจากอาคารพักอาศัยซึ่งสันนิษฐานว่าจะเป็นห้องครัว เมื่อเกิดการระเบิดหรือลุกไหม้ ความร้อนและเปลวไฟก็เล็ดลอดออกเข้าสู่ช่องว่างของระบบเปลือกอาคาร เมื่อควันและเปลวไฟลอยขึ้นไปจนสุด ก็เกิดการสะสม และลุกลามสู่ระบบเปลือกอาคารซึ่งเป็นแผ่น ALUMINUM COMPOSIT (ACP) โดยเข้าสู่ช่องว่างระหว่างแผ่น ACP กับฉนวนกันความร้อนซึ่งเป็นช่องว่างกว้างประมาณ 5 เซนติเมตร โดยควันและเปลวไฟจะลอยขึ้นเพราะความร้อนไปในแนวตั้งของเปลือกอาคารเกิดปรากฎการณ์ปล่องควัน (CHIMNY EFFECT) ซึ่งส่งผลให้เกิดการลุกลามอย่างรวดเร็วในแนวตั้งและแผ่ไปในแนวนอนของแต่ละชั้นจนลุกลามอย่างรวดเร็วโดยรอบของอาคาร ซึ่งการดับเพลิงก็กระทำได้ยาก เนื่องจากความสูงของอาคารและเกิดขึ้นที่เปลือกอาคารภายนอก

จากข้อสมมติฐานดังกล่าวพิจารณาได้ว่าบทบาทของสถาปนิกซึ่งมีส่วนสำคัญอย่างมาก เนื่องจากเป็นต้นน้ำของการออกแบบ สถาปนิกควรมีความรู้และความตระหนักในเรื่องภัยต่างๆ ที่จะสามารถเกิดขึ้นของตัวอาคาร จากบทเรียนนี้เป็นบทเรียนที่มีค่ามากสำหรับการออกแบบเพื่อให้เกิดความปลอดภัยในงานสถาปัตยกรรม เช่น การออกแบบรูปร่างของแปลน รูปทรงอาคาร เปลือกอาคาร การใช้วัสดุ การแบ่งส่วนอาคาร (COMPARTMENT) และเส้นทางการหนีไฟ เพื่อไม่ให้เกิดการสูญเสียต่างๆ เกิดขึ้น

The massive fire ripped through the 27-storey apartment block in west London in the early hours of Wednesday, trapping residents inside as 200 firefighters battled the blaze. Police and fire services attempted to evacuate the concrete block and said “a number of people are being treated for a range of injuries”, including at least two for smoke inhalation. / AFP PHOTO / Daniel LEAL-OLIVAS
ปัจจุบันในพื้นที่กรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดเหตุเพลิงไหม้ เนื่องจากมีปัจจัยที่เข้ามากระตุ้นหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นความแออัดของพื้นที่ มีการก่อสร้างอาคารสูงเป็นจำนวนมาก ดังนั้นการออกแบบตัวอาคารจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องตระหนักถึงความปลอดภัย ขณะที่ภาครัฐเองก็ตระหนักถึงการใช้วัสดุประเภทนี้ โดยเตรียมที่จะออกกฎกระทรวงที่เกี่ยวกับการใช้วัสดุที่เป็น ACP เพื่อให้เป็นมาตรฐานในการประเมินความเสี่ยง การออกแบบและการแก้ไขปรับปรุงทั้งอาคารเก่าและใหม่ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อไป