ในงานสัมมนา Brand Inside Forum 2019: New Retail Present by KBank ที่จัดขี้นภายใต้หัวข้อ New Retail เผยเคล็ดลับธุรกิจค้าปลีกยุคใหม่ เพื่อตั้งรับ ปรับตัว เปลี่ยนแปลง ในยุคเทคโนโลยีดิสรัปชั่น ภายใต้โจทย์ “อนาคตของธุรกิจค้าปลีกไทย โดยมีผู้คร่ำหวอดในวงการค้าปลีกและธุรกิจอีคอมเมิร์ซ อย่าง “ธนาวัฒน์ มาลาบุปผา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ไพรซ์ซ่า จำกัด มาร่วมฉายภาพและหาทางออกให้ธุรกิจค้าปลีกในยุค 4.0

ธนาวัฒน์ กล่าวถึงเทรนด์ของอีคอมเมิร์ซไทยว่า ปัจจุบันการใช้เวลาอยู่กับอินเทอร์เน็ตของคนไทยจากทุกอุปกรณ์สูงถึง 9 ชั่วโมง 11 นาทีต่อวันต่อคน สูงที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก (ค่าเฉลี่ยทั่วโลก 6 ชม. 42 นาที / วัน) แต่หากเจาะลึกถึงการใช้อินเทอร์เน็ตผ่านสมาร์ทโฟน ไทยเป็นอันดับ 1 ของโลก คนไทยโดยเฉลี่ย ใช้เวลาบน Mobile Internet 5 ชม. 13 นาที / วัน สูงสุดอันดับ 1 ของโลก (ค่าเฉลี่ยทั่วโลก 3 ชม. 14 นาที / วัน) และการช้อปปิ้งออนไลน์เป็นกิจกรรมอันดับ 5 ที่คนไทยใช้เวลามากที่สุดบนอินเทอร์เน็ต สะท้อนถึงไลฟ์สไตล์คนที่เปลี่ยนไป มือถือกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน ทำให้อีคอมเมิร์ซไทยเติบโตในอัตราสูงต่อเนื่อง
โดยกิจกรรมในเน็ตที่คนไทยใช้เวลามากที่สุด อันดับ1 คือ โซเชียลมีเดีย 93.64% อันดับ 2 อีเมล์ 74.15% อันดับ 3 การค้นหาข้อมูล 70.75% อันดับ 4 ดูหนังฟังเพลง 60.72% และอันดับที่ 5 ช้อปปิ้งออนไลน์ 51.28%


เมื่อพิจารณาจากตลาดค้าปลีกโดยรวมของไทย ที่มีมูลค่า 2-3 ล้านล้านบาท ธุรกิจอีคอมเมิร์ซยังมีสัดส่วนเพียง 2-3% จากมูลค่าค้าปลีกโดยรวม โดยอีคอมเมิร์ซไทยรวมบีทูซีและซีทูซี มีมูลค่าประมาณ 2 แสนล้านบาท แต่เติบโตถึง 30% จากปีก่อนหน้า และคาดว่ามูลค่าจะเพิ่มถึง 1-2 ล้านล้านบาทในปี 2568 หรือเติบโตถึง 6 เท่าตัว
ขณะที่ประเทศอื่นๆ มีมูลค่า ธุรกิจอีคอมเมิร์ซสูงสุด อาทิ ประเทศจีน มีสัดส่วนสูงที่สุดอยู่ที่ 20% ตามด้วยเกาหลีใต้ 18% สหราชอาณาจักร 16% สหรัฐอเมริกา 13% ญี่ปุ่น 8% ออสเตรเลีย 7%

ในมุมมองของธนาวัฒน์ เห็นว่า หัวใจสำคัญของค้าปลีกสมัยใหม่อยู่ที่บิ๊กดาต้า เพื่อนำมาต่อยอด วิเคราะห์ความต้องการของลูกค้าได้อย่างตรงจุด ซึ่งนอกจากจะได้วิธีการพัฒนาสินค้าให้ตรงความต้องการแล้ว ยังรวมถึงการจัดรายการโปรโมชั่น และมองหาโอกาสในการขายสินค้าอื่นๆ ที่ลูกค้ามีโอกาสจะกลับมาซื้อซ้ำได้อีกด้วย


นอกจากนี้ ในฐานะกูรูอีคอมเมิร์ซยังแนะนำช่องทางค้าออนไลน์ที่มีโอกาสขายสินค้าว่า โซเชียล มีเดีย เป็นช่องทางที่คนไทยซื้อสินค้าสูงสุด หรืออยู่ที่ 40% โดยเป็นการซื้อผ่านเฟซบุ๊กมากสุด ตามด้วยช่องทางอีมาร์เก็ตเพลส อยู่ที่ 35% อาทิ ลาซาด้า ช้อปปี้ เจดีดอทคอมฯลฯ และที่เหลือเป็นการขายผ่านเว็บไซต์ของบริษัทอยู่ที่ 25%
รวมถึงยังคาดการณ์อีกว่า มูลค่าตลาด E-Commerce ไทย เฉพาะของ SME ซึ่งมียอดขายไม่เกิน 50 ล้านบาทต่อปี ซึ่งในปี 2017 มาจาก 3 ช่องทาง แต่มีสัดส่วนที่ต่างออกไป ดังนี้ Social Media (เช่น Facebook, LINE, Instagram ฯลฯ) 75 %
E-Marketplace (เช่น JD Central, Lazada, Shopee ฯลฯ) 24% Brand ที่ทำ E-Commerce เอง 1 %




ทั้งนี้ ปัจจัยหลักในการค้าขายออนไลน์ให้อยู่รอดได้ ในมุมมองของธนาวัฒน์ มีอยู่ 3 ปัจจัยด้วยกันคือ 1. คอนเทนต์ต้องโดนใจลูกค้า 2.ต้องมีคุณค่าเพิ่ม (Value Added) และ 3.ใส่ความคิดสร้างสรรค์ โดยยกตัวอย่างการขายออนไลน์อันน่าทึ่งในการ FB Live ของ “ฮาซัน” ที่ทำยอดขายปลาเค็มทะลุ 20 ล้านต่อเดือนเรียบร้อยแล้ว