“โอสถสภา”ระดมทุนลุย CLMV หลังชูกำลังในปท.ซบ
หนึ่งในองค์กรเก่าแก่ที่มีอายุการดำเนินงานเกิน 100 ปี ต้องมีชื่อของ ” โอสสภา “จารึกอยู่แน่นอน เนื่องด้วยองค์การแห่งนี้ผูกพันกับคนไทยมายาวนานถึง 127 ปีเต็ม และยังคงเป็นหนึ่งในบริษัทที่คุ้นหูของผู้บริโภคชาวไทย ที่มีการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง ชนิดต่อกรกับคู่แข่งท่ามกลางการแข่งขันในตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคที่ฟาดฟันกันอย่างดุเดือด
บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทผลิตเครื่องอุปโภคบริโภคในประเทศไทย ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2434 ในนาม “ร้านขายยาเต๊กเฮงหยู” (จีนตัวย่อ: 德恒裕; จีนตัวเต็ม: 德恆裕) ซึ่งนายแป๊ะ โอสถานุเคราะห์ (สกุลเดิม: แซ่ลิ้ม) เป็นผู้ก่อตั้ง เริ่มจากกิจการขายของเบ็ดเตล็ด ต่อมาได้เริ่มผลิตยากฤษณากลั่น ซึ่งมีสรรพคุณในการรักษา โรค ปวดท้อง ท้องร่วง
ต่อมาได้นำยากฤษณากลั่นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อใช้ในการซ้อมรบของกิจการเสือป่าที่จังหวัดนครปฐม จากนั้นในปี พ.ศ. 2475 ได้ย้ายร้านขายยาจากย่านสำเพ็ง มาที่ถนนเจริญกรุง และได้เปลี่ยนชื่อว่า “โอสถสถานเต๊กเฮงหยู” และยังได้ผลิตยาสามัญประจำบ้านอื่นๆ เช่น ยาหอมชนะลม, ยาสบาย, ผลไม้กวน,ยาธาตุ, ยาแก้ไอ, ยาอมวัน-วัน, ยาอมโบตัน, ยาทัมใจ เป็นต้น ต่อมา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานครุฑตราตั้งแก่บริษัทฯ เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2502
โอสถสภา ในฐานะองค์กรองค์กรเกินร้อย มีการบริหารธุรกิจแบบครอบครัวจากรุ่นสู่รุ่นมาแล้วถึง “4รุ่น” และกำลังย่างก้าวสู่ “รุ่นที่5” ก็ไม่สามารถต้านทานพลังแห่งการแข่งขันและความต้องการในการเติบโตทางธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ ในปีที่ผ่านมาเราจึงได้เห็นปรากฏการณ์ครั้งสำคัญของค่ายนี้ด้วยการดึงทีมผู้บริหารรุ่นใหม่ๆ เข้ามาภายในองค์กรมากขึ้น เสมือนเป็นการส่งสัญญาณและสื่อนัยยะบางประการไปยังสังคมภายนอก ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนกับค่ายเก่าแก่ค่ายนี้ิ
ย้อนยุคไปรุ่นแรก เป็นที่ทราบกันโดยทั่วว่า “นายแป๊ะ โอสถานุเคราะห์” นามสกุลเดิม“แซ่ลิ้ม” คือผู้บุกเบิกร้านขายสินค้าเบ็ดเตล็ด “เต๊กเฮงหยู” ต้นกำเนิดโอสถสภา
เข้าสู่รุ่น 2 มีบุตรชายนายแป๊ะ “สวัสดิ์ โอสถานุเคราะห์” สานต่อธุรกิจ กระทั่งรุ่น 3 คือ“สุรัตน์ โอสถานุเคราะห์” บุตรชายของสวัสดิ์ ทำหน้าที่สิบทอดธุรกิจ กระทั่งสุรัตน์ ถึงแก่อสัญกรรม เมื่อวันที่ 8 พ.ค.2551 ด้วยอาการติดเชื้อทางกระแสโลหิต
จากนั้นบุตรชายของสุรัตน์ ก็เข้ามาสืบทอดธุรกิจของตระกูลเต็มรูปแบบ โดยบุตรชายคนโต “เพชร โอสถานุเคราะห์” อดีตนักร้องกับเพลงดัง “ฉันไม่ใช่ผู้วิเศษ” เดิมกุมบังเหียนธุรกิจการศึกษา คือ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ขณะที่“รัตน์ โอสถานุเคราะห์” น้องชายเพชร เป็นแม่ทัพของ “โอสถสภา” แต่ด้วยปัญหาสุขภาพของรัตน์ ทำให้เพชร ขึ้นมานั่งในตำแหน่ง “ประธานกรรมการบริหาร”ของโอสถสภา สานต่ออาณาจักรของตระกูล
การเปลี่ยนแปลงสำคัญที่เห็นในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาภายใต้การบริหารของเพชร คือการดึงผู้บริหารมือเก๋าจากค่ายยูนิลีเวอร์ อย่าง “กรรณิกา ชลิตอาภรณ์” อดีตนักการตลาดผู้ยิ่งใหญ่ซึ่งไม่มีใครไม่รู้จัก เข้ามานั่งในตำแหน่ง “ประธานที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหาร” ต่อด้วย ฉกอีกหนึ่งมือดีจากค่ายเดียวกันอย่าง “วรรณิภา ภักดีบุตร” ลูกหม้อของยูนิลีเวอร์ ไทยเทรดดิ้ง ที่ดำรงตำแหน่งสูงสุดถึง “รองประธานกรรมการบริหารกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ส่วนบุคคลและอาหาร” เข้ามานั่งในฐานะแม่ทัพคนใหม่ของโอสถสภา ในตำแหน่ง“กรรมการผู้จัดการใหญ่” ต่อจาก “ธรรมศักดิ์ จิตติมาพร” ถือเป็นปฏิบัติการฉกข้ามห้วยอันลือเลื่องก็ว่าได้ เพราะ วรรณิภาเธออยู่คู่องค์กรยูนิลีเวอร์มากว่า 20 ปี
สำหรับ กรรณิกา หรือคุณอ้น ภารกิจแรกของเธอคือ การขับเคลื่อนองค์กรแห่งนี้ให้สามารถก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคงยิ่งขึ้น รวมถึงการจัดพอร์ตสินค้าที่ค่ายเก่าแก่แห่งนี้มีสินค้าในเครือมากมาย และส่งออกสินค้าไปต่างประเทศทั่วโลก โดยเธอตั้งเป้าเป็นบริษัทอุปโภคบริโภคที่ดีที่สุดในประเทศไทย
ขณะที่กำลังจัดทัพปรับใหญ่ อีกหนึ่งก้าวครั้งสำคัญของยักษ์ใหญ่แห่งนี้คือการสลัดภาพความเป็นธุรกิจครอบครัวสู่ระบบการบริหารแบบมืออาชีพด้วยการประกาศเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เรียกเสียงฮือฮาให้กับคนในแวดวงสินค้าอุปโภคบริโภคเป็นอย่างมาก ซึ่งโอสถาสภาจะนำเงินที่ได้จากการระดมทุนใช้พัฒนาธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ เพื่อสร้างความเข้มแข็งและเติบโตที่ดีต่อไปในอนาคตอย่างยั่งยืน โดยบริษัทฯ มีแผนสร้างโรงงานผลิตเครื่องดื่มแห่งใหม่ที่ประเทศเมียนมาร์ เพื่อให้สามารถควบคุมการลงทุนได้และมีความยืดหยุ่นในการตอบสนองความต้องการของตลาด รวมถึงพัฒนาปรับปรุงการผลิต การจัดจำหน่ายสินค้า ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและการดำเนินธุรกิจภายในของบริษัทฯ การนำไปชำระคืนเงินกู้ยืมสถาบันการเงินและใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงานต่อไป
นางวรรณิภา ภักดีบุตร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) หรือ OSP บอกว่า OSP มีความมุ่งมั่นในการรักษาและเสริมสร้างความแข็งแกร่ง ในฐานะเป็นบริษัทฯ ผู้ประกอบธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภคชั้นนำที่มีประสิทธิภาพและมีนวัตกรรมที่ทันสมัยในประเทศไทยและตลาดต่างประเทศ ภายใต้วิสัยทัศน์ ‘พลังเพื่อเสริมสร้างชีวิต’ (The Power to Enhance Life) ที่มุ่งมั่นพัฒนาบริษัทฯให้เป็นองค์กรที่เสริมสร้างคุณภาพชีวิตให้แก่ผู้บริโภคและสังคมด้วยผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมที่ทันสมัย ด้วยประสบการณ์ดำเนินธุรกิจมายาวนานกว่า 127 ปี โดยบริษัทฯ เป็นผู้ผลิต ทำการตลาด และผู้จัดจำหน่ายชั้นนำในกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มที่ไม่ผสมแอลกอฮอล์และผลิตภัณฑ์ของใช้ส่วนบุคคลในประเทศไทย และเป็นผู้นำตลาดเครื่องดื่มบำรุงกำลังในเมียนมาร์และลาว รวมถึงยังเป็นผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มในประเทศต่างๆ ทั่วโลกรวม 25 ประเทศผ่านผู้จัดจำหน่าย นอกจากนี้ OSP ยังให้บริการอื่นๆ เช่น บริการบริหารจัดการด้านซัพพลายเชน ได้แก่ การผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าให้แก่บุคคลภายนอกภายใต้กิจการร่วมค้าและสัญญาบริการผลิตสินค้า (OEM) “การเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในครั้งนี้ เพื่อเสริมศักยภาพการดำเนินธุรกิจให้มีความแข็งแกร่ง รองรับแผนการรุกขยายธุรกิจครั้งใหญ่ในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญของเราที่ต้องการผลักดันการเติบโตแบบก้าวกระโดด และรักษาความเป็นผู้นำตลาดในกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มที่ไม่ผสมแอลกอฮอล์และผลิตภัณฑ์ของใช้ส่วนบุคคลในภูมิภาคนี้
ปัจจุบัน OSP แบ่งการดำเนินธุรกิจออกเป็น 4 กลุ่มได้แก่ 1. ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่ม ประกอบด้วยเครื่องดื่มบำรุงกำลัง เครื่องดื่มเกลือแร่ กาแฟพร้อมดื่มและเครื่องดื่มที่มีการเติมส่วนผสมเพื่อให้ได้คุณสมบัติเฉพาะ โดยมีผลิตภัณฑ์หลัก เช่น เอ็ม-150, เอ็ม-สตอร์ม, ลิโพวิตัน-ดี, ฉลาม, ชาร์คคูลไบท์, โสมอิน-ซัม, เอ็มเกลือแร่ (M-Electrolyte), เอ็ม-เพรสโซ, และเปปทีน 2. ธุรกิจผลิตภัณฑ์ของใช้ส่วนบุคคล ที่ประกอบด้วยกลุ่มผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กภายใต้ แบรนด์ ‘เบบี้มายด์’ และกลุ่มผลิตภัณฑ์ความงามสำหรับผู้หญิงภายใต้แบรนด์ ‘ทเวลฟ์พลัส’ 3.บริการบริหารจัดการด้านซัพพลายเชน ซึ่งรวมถึงการรับจ้างผลิตและ/หรือบรรจุหีบห่อผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มและของใช้ส่วนบุคคลประเภทให้กับกิจการร่วมค้าและบุคคลภายนอก (OEM) เช่น ซี-วิต และคาลพิส การจำหน่ายขวดแก้วตามสัญญาบริการผลิตสินค้า (OEM) และการผลิตผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพให้แก่กิจการร่วมค้าของบริษัทฯ และ 4. กลุ่มธุรกิจอื่นๆ ได้แก่ ธุรกิจผลิตภัณฑ์ลูกอมภายใต้แบรนด์ โอเล่ และโบตัน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. โอสถสภา กล่าวว่า บริษัทฯ มีจุดแข็งด้านแบรนด์ผลิตภัณฑ์ชั้นนำที่หลากหลายและได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคในวงกว้าง
โดยปัจจุบัน OSP เป็นหนึ่งในผู้นำตลาดเครื่องดื่มบำรุงกำลังด้วยมูลค่าตลาดค้าปลีก คิดเป็นสัดส่วน 54.4% ของมูลค่าตลาดค้าปลีกของเครื่องดื่มบำรุงกำลังในประเทศสำหรับปี 2560 (จากรายงาน Frost & Sullivan) ขณะที่แบรนด์ ‘เบบี้มายด์’ เป็นผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กอันดับหนึ่งในประเทศไทย เมื่อพิจารณาจากมูลค่าตลาดค้าปลีกสำหรับปี 2560 โดยไม่รวมผลิตภัณฑ์ผ้าอ้อมเด็กทารก (จากรายงาน Nielsen) ซึ่งความสำเร็จดังกล่าวมาจากการวิจัยและพัฒนาสูตรผลิตภัณฑ์ ความแข็งแกร่งในด้านกระบวนการผลิต การตลาดและการกระจายสินค้าเข้าสู่ช่องทางการจัดจำหน่ายที่ครอบคลุมผู้บริโภค โดยมีตลาดหลักได้แก่ เมียนมาร์ กัมพูชา และ ลาว และตลาดรองได้แก่ อินโดนีเซียและเวียดนาม
การตัดสินใจครั้งสำคัญของค่ายเก่าแก่แห่งนี้ในการปรับลุคใหม่ครัง้นี้จะสามารถสร้างปราการณ์และเสียงฮือฮาให้กับตลาดทั้งในและต่างประเทศได้หรือไม่ ต้องติดตาม