โมเดล ‘ต้นไม้วิเศษ’ ดันซีพีแรมสู่องค์กรแห่งนวัตกรรม
เปิดดำเนินธุรกิจคู่ปากท้องคนไทยมาเป็นปีที่ 31 ในทศวรรษที่ 3 ของบริษัทซีพีแรมในเครือเจริญโภคภัณฑ์ วางโรดแมพธุรกิจสู่ องค์กรแห่งนวัตกรรม ภายใต้โมเดล ต้นไม้วิเศษ ซึ่งเป็นชื่อมาจากต้นไม้ของวิเศษ นั่นก็คือ วิเศษ วิศิษฏ์วิญญู กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพีแรม นั่นเอง
ในปี 2531 เครือซีพีได้ปักธงรุกธุรกิจอาหารพร้อมทานและเบเกอรี่ขึ้น โดยก่อตั้งบริษัท ซีพี รีเทลลิ้งค์ แอนด์ มาร์เก็ตติ้งขึ้น เพื่อผลิตสินค้ารองรับธุรกิจค้าปลีกในเครือ ธุรกิจแรกเริ่มคือ แปรรูปผักผลไม้แช่เยือกแข็ง มีโรงงานตั้งอยู่ที่อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี ด้วยทุนจดทะเบียน 20 ล้านบาท
จากวันนั้นถึงวันนี้ บริษัท ซีพี รีเทลลิ้งค์ แอนด์ มาร์เก็ตติ้ง ได้เปลี่ยนชื่อเป็น ซีพีแรม และเร่งเครื่องทำตลาดเต็มสูบ โดยเฉพาะการสร้างแบรนด์องค์กรให้เป็นที่รู้จัก เพราะที่ผ่านมามีลูกค้าที่รู้จักชื่อแบรนด์สินค้า ไม่ว่าจะเป็น ขนมจีบซาละเปา เจดดราก้อน ขมมปังเลอแปง ที่ขายในเซเว่นอีเลฟเว่น แต่กลับมีไม่มากนัก ที่รู้ว่าผลิตจากซีพีแรม
นอกจากการเร่งสร้างแบรนด์องค์กรแล้ว ซีพีแรมยังปรับยุทธศาสตร์การทำงานหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการหันมารุกตลาดในประเทศเพิ่มมากขึ้น จากก่อนหน้านี้ที่หันไปลุยตลาดส่งออกจนนำมาซึ่งวิสัยทัศน์ที่จะเป็นครัวของโลก ตามยุทธศาสตร์ใหญ่เครือซีพีบริษัทแม่ แต่ปัจจุบัน วิสัยทัศน์ใหม่ของซีพีแรมคือ การมุ่งสู่ผู้ผลิตและจำหน่ายอาหารพร้อมทานที่ลูกค้ามอบความไว้วางใจให้พร้อมทั้งเร่งพัฒนาสินค้าเต็มสูบ ไม่ว่าจะเป็นอาหารแช่แข็ง(โฟรเซ่นฟู้ดส์) อาหารแช่เย็น(ชิลล์ฟู้ดส์) และเบเกอรี่
จากวิสัยทัศน์ที่เปลี่ยนไป นำมาสู่การวางตำแหน่งองค์กรให้เป็นองค์กรแห่งนวัตกรรม ที่เน้นการพัฒนานวัตกรรทใหม่ๆ เข้าสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง ด้วยการนำโมเดล ต้นไม้วิเศษ มาใช้ขับเคลื่อนเพื่อให้ทุกคนในองค์กรเข้าใจได้อย่างรวดเร็ว และร่วมมือกันเพื่อไปสู่วิสัยทัศน์และเป้าหมายที่วางไว้
วิเศษ เปรียบเทียบซีพีแรมเป็นเหมือนต้นไม้ ที่แตกกิ่งก้านสาขาเป็นหน่วยงานต่างๆ และใบไม้ทุกใบคือพนักงาน ต้นไม้ต้นนี้ออกผลไม้เป็นนวัตกรรมเต็มต้น ผลไม้เปรียบเสมือนนวัตกรรมของซีพีแรม 7 ประเภท คือ 1. Business Model Innovation 2. Technology Innovation 3. Organization Innovation 4. Process Innovation 5. Product innovation 6. Service Innovation 7. Management Innovation
ความหมายสำคัญของโมเดลนี้คือ พนักงานทุกคนทุกระดับสามารถเป็นนวัตกรสร้างสรรค์นวัตกรรมได้ และต้นไม้ต้นนี้จะเติบโตและมีผลไม้เต็มต้นได้ทุกวันจะต้องได้รับสารอาหารผ่านทางรากนั่นก็คือ Intangible resources (ทรัพย์สินที่จับต้องไม่ได้) 4 ด้าน ได้แก่ 1. Relational Capital (ทุนด้านความสัมพันธ์) 2. Structural Capital (ทุนโครงสร้าง) 3. Human Capital (ทุนทรัพยากรมนุษย์) หรือสมรรถนะของบุคลากร และ 4. Information Capital (ทุนข้อมูล)
ส่วนลำต้นที่แข็งแรงคือ Tangible resources (สิ่งที่มองเห็นได้) ได้แก่ ที่ดิน, อาคาร, เครื่องจักร, เงินทุนและสาธารณูปโภคพื้นฐานที่จะเข้ามาสนับสนุน
ปัจจุบันซีพีแรมประกอบด้วย 2 กิจการหลัก ได้แก่ 1. กิจการอาหารพร้อมรับประทาน โดยผลิตและจัดจำหน่ายอาหารพร้อมรับประทานแช่เยือกแข็งและแช่เย็น ส่งออกและจำหน่ายในประเทศได้แก่ ติ่มซำ “เจด ดราก้อน” และอาหารพร้อมรับประทาน “เดลี่ไทย” และ “เดลิกาเซีย” นอกจากนี้ยังมีธุรกิจบริการจัดเลี้ยง ภายใต้แบรนด์ ” ซีพีแรม แคเทอริ่ง” 2. กิจการเบเกอรี่ โดยผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์เบเกอรี่อบสด ภายใต้แบรนด์ “เลอแปง”
นอกจากการวางโมเดลธุรกิจดังกล่าวแล้ว ซีพีแรมยังปรับโครงสร้างการดำเนินงานใหม่ จากเดิมที่ใช้รูปแบบไซโล ที่ต่างฝ่ายต่างทำงาน มาเป็นการทำงานร่วมกัน และใช้ทรัพยากรที่มีร่วมกัน เพื่อแบ่งบันโนฮาวที่แต่ละฝ่ายมีความชำนาญต่างกันมาร่วมกันสร้างองค์ความรู้ขององค์กรโดยรวม รวมไปถึงการใช้ระบบจัดซื้อรวมกับบริษัทและโรงงานในเครือเพื่อเพิ่มจำนวนการสั่งซื้อและเพิ่มอำนาจต่อรอง
อีกเป้าหมายที่ท้าทายของซีพีแรมคือ การขยายการผลิตไปสู่ภูมิภาคมากขึ้น โดยปัจจุบันมีโรงงาน 5 แห่ง ได้แก่ โรงงานเดิม 3 แห่ง ที่ชลบุรี ขอนแก่น และปทุมธานี และโรงงานใหม่ 2 แห่งที่ จ.ลำพูน และสุราษฎร์ธานี ผลิตสินค้าเพื่อป้อนตลาดส่งออกสัดส่วน 15% และอีก 85% จำหน่ายในประเทศซึ่งส่วนใหญ่ผ่านร้านเซเว่นอีเลฟเว่นบริษัทในเครือซีพีเช่นกัน
ขณะที่เป้าหมายสูงสุดคือ การร่วมเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อน และยกระดับขีดความสามารถของประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมอาหารของภูมิภาคเอเซีย รวมถึงการพัฒนาอาหารสุขภาพและอาหารสำหรับบุคคลเฉพาะกลุ่ม เช่น ผู้สูงวัย ซึ่งจะเป็นเทรนด์มาแรงในยุคที่โลกกำลังก้าวสู่สังคมสูงวัยอย่างรวดเร็วในเวลานี้