โควิดพ่นพิษ!’ไอคอนสยาม’ พับแผนสร้าง ‘หอชมเมือง’ ริมเจ้าพระยา!

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ‘ยุทธนา หยิมการุณ’ อธิบดีกรมธนารักษ์ได้รับแจ้งจากเจ้าของโครงการก่อสร้างหอชมเมือง ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาว่า ขอยกเลิกสัญญาการก่อสร้าง เนื่องมาจากสถานการณ์แพร่ระบาดไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่(โควิด-19) ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงเป็นอย่างมาก ทำให้ไม่คุ้มค่าต่อการก่อสร้าง
ทั้งนี้ ไอคอนสยามเป็นเจ้าของโครงการหอชมเมืองได้รับสัญญาเช่าที่ดินเนื้อที่กว่า 4 ไร่ ซึ่งเป็นท่าเรือเก่า ริมแม่น้ำเจ้าพระยา อยู่ติดกับโครงการไอคอมสยาม ตรงข้ามกับโรมแรมโอเรียลเต็ล
สำหรับโครงการหอชมเมืองกรุงเทพหานคร ตั้งอยู่ในเขตคลองสาน ซอยเจริญนคร 7 เป็นที่ดินตาบอด เนื่องจากบริเวณปากซอยเป็นที่ตั้งของชุมชน ดังนั้นหากสร้างโครงการหอชมเมือง จะต้องเข้าทางไอคอนสยาม ซึ่งเป็นทางที่สะดวกที่สุด
จากการศึกษาความเหมาะสมของการลงทุน พบว่าโครงการนี้จะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ปีละกว่า 1 ล้านคน มีอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจตลอดอายุสัญญาเช่า 30 ปี อยู่ที่ 46,800 ล้านบาท ส่วนการก่อสร้าง ภาคเอกชนในนามของมูลนิธิหอชมเมือง จะเป็นผู้ลงทุนเองทั้งหมด 4,620 ล้านบาท ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว เมื่อปี 2560
เดือนมิถุนายน 2560 MThai เคยเปิดข้อมูลคณะกรรมการมูลนิธิหอชมเมืองกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย ดร. พนัส สิมะเสถียร ประธานกรรมการมูลนิธิ ปัจจุบันยังดำรงตำแหน่งเป็น กรรมการกฤษฎีกา, กรรมการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์, กรรมการบริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) และ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด
คุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม กรรมการมูลนิธิ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็น กรรมการเหรัญญิกสภากาชาดไทย, กรรมการธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน), กรรมการ บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน), และ กรรมการบริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด
วัลลิยา ปังศรีวงศ์ กรรมการมูลนิธิ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็น กรรมการมูลนิธิเพื่อการศึกษาและประชาสงเคราะห์ รศ.ดร.ภิญโญ สุวรรณคีรี กรรมการมูลนิธิ ปัจจุบันเป็น ศิลปินแห่งชาติ และดำรงตำแหน่งราชบัณฑิตสำนักศิลปกรรม ประเภทสถาปัตยศิลป์
รท.ดร. สุวิทย์ ยอดมณี กรรมการมูลนิธิ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็น รองประธาน มูลนิธิเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ ดร.วิทย์ สุนทรนันท์ กรรมการมูลนิธิ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็น รองประธานกรรมการ มูลนิธิพุทธรักษา ผช.กนิช บุณยัษฐิติ กรรมการมูลนิธิ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็น อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ทั้งนี้ บริเวณชั้นบนสุดของหอชมเมืองฯ จะเป็นโถงเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชแห่งมหาจักรีพระบรมราชวงศ์เพื่อประดิษฐานพระบรมรูปของบูรพมหากษัตริยาธิราช ประดิษฐานรูปหล่อพระคลังมหาสมบัติ พร้อมแสดงพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช เพื่อเป็นการเผยแพร่ศาสตร์พระราชาทุกๆ ด้าน
หอชมเมืองกรุงเทพมหานคร จะกลายเป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ ซึ่งจะเป็นหอคอยที่สุดที่สุดในเมืองไทย เพราะมีความสูงถึง 459 เมตร มีพื้นที่ใช้สอยรวม 22,281 ตร.ม. เมื่อเทียบกับหอคอยแห่งอื่นๆ ในไทย ได้แก่
– หอสูงพัทยาปาร์คทาวเวอร์ที่สูง 240 เมตร
– หอชมเมืองสมุทรปราการสูง 179.5 เมตร
– หอคอยเทอร์มินอล 21 โคราช สูง 110 เมตร
เมื่อเทียบกับตึกสูงแห่งอื่นๆ ทั่วโลก พบว่า หอชมเมืองกรุงเทพฯ เมื่อสร้างเสร็จแล้วจะมีความสูงเป็นอันดับ 10 ของโลก (แบบการก่อสร้างยังไม่เป็นทางการ) โดยเปรียบเทียบกับตึกสูงต่างๆ ดังนี้
– Tokyo Skytree จุดสูงสุด 634 เมตร มีจุดชมวิวสูงสุด 450 เมตร
– Bangkok Observation Tower จุดสูงสุด 459 เมตร มีจุดชมวิวสูงสุด 357.50 เมตร
– Canton Tower (Guangzhou) จุดสูงสุด 595.70 เมตร มีจุดชมวิวสูงสุด 449 เมตร
– Kuala Lumpur Tower จุดสูงสุด 421 เมตร มีจุดชมวิวสูงสุด 276 เมตร
น่าเสียดายที่โครงการนี้มีอันต้องพับแผนไปเสียก่อน ได้แต่หวังว่า เมื่อสถานการณ์ต่างๆ ดีขึ้น ไอคอนสยามจะนำกลับมาปัดฝุ่นอีกครั้ง….
ขอบคุณข้อมูล ไทยรัฐออนไลน์ ,กรุงเทพธุรกิจ,ประชาไท,Mthai