โควิดซัดญี่ปุ่นดิ่งเหว! ธุรกิจเจ๊งระนาว ‘โตโยต้า’เตือน กำไรสุทธิลดฮวบ 64%

ยังคงเดินหน้าคร่าชีวิตเพื่อนร่วมโลกอย่างต่อเนื่องสำหรับไวรัสมรณะโควิด-19 ที่ทำลายล้างโลกใบนี้ให้เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง โดยขณะนี้มีจำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลกทะลุกว่า 19 ล้านราย สหรัฐอเมริกานำโด่ง อย่างต่อเนื่อง
ไม่เพียงสหรัฐอเมริกายักษ์ใหญ่ระดับโลกที่น่าเป็นห่วง ญี่ปุ่น เป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน จนอาจต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินอีกครั้ง
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ( COVID-19) ในประเทศญี่ปุ่น ประจำวันที่ 5 สิงหาคม 2563 เวลา 18.09 น. มียอดผู้ติดเชื้อใหม่ในจังหวัดต่าง ๆ ของญี่ปุ่น ดังนี้ กรุงโตเกียว 263 คน นับเป็นวันที่ 9 ติดต่อกันที่มีผู้ติดเชื้อมากกว่า 200 คน/วัน โดยประมาณร้อยละ 62 หรือ 163 คน เป็นผู้ติดเชื้ออายุระหว่าง 20-39 ปี
จังหวัดโอซากา 196 คน ,จังหวัดไอจิ 139 คน นับเป็นวันที่ 9 ติดต่อกันที่มีผู้ติดเชื้อมากกว่า 100 คน/วัน ,จังหวัดคานากาวะ 81 คน ,จังหวัดไซตามะ 64 คน ,จังหวัดเฮียวโกะ 52 คน และมีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 1 คน ,จังหวัดชิบะ 50 คน และมีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 1 คน ,จังหวัดคุมาโมโตะ 31 คน
แนวโน้มดังกล่าว สถาบันวิจัยเอกชนในญี่ปุ่นประเมินผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือ GDP จะดิ่งลงมากกว่าร้อยละ 20 ในไตรมาสของเดือนเมษายนถึงมิถุนายน เนื่องจากผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด โดยคาดว่าการเติบโตของ GDP เฉลี่ยรายปีจะลดลงถึงร้อยละ 21.7 ถึงร้อยละ 28.7 ซึ่งเป็นการร่วงมากที่สุดนับตั้งแต่เริ่มรวบรวมข้อมูลเปรียบเทียบตั้งแต่ปี 2523
การหดตัวของ GDP มากเป็นประวัติการณ์ในครั้งนี้ เกิดจากการบริโภคส่วนบุคคลที่ลดลงอย่างมาก เนื่องจากคำขอให้ประชาชนอยู่แต่ในบ้านเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ รวมทั้งยอดการส่งออกรถยนต์ไปยังสหรัฐและยุโรปก็ลดลงอย่างมากด้วยเช่นกัน
บริษัทวิจัยด้านความเชื่อมั่นทางธุรกิจของญี่ปุ่นยังพบว่า ธุรกิจในญี่ปุ่น 400 แห่งต้องปิดตัวลงเนื่องจากได้รับผลกระทบจากการระบาดใหญ่ของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ตัวเลขนี้รวมบริษัทต่าง ๆ ทั่วประเทศที่ล้มละลายแล้ว หรือระงับการดำเนินธุรกิจและเริ่มเข้าสู่กระบวนการล้มละลายจนถึงวันจันทร์ที่ 3 สิงหาคม ขณะที่บริษัทเกือบ 200 แห่งระบุว่าพวกตนอาจต้องปิดกิจการภายใน 1 ปี
อุตสาหกรรมกินดื่ม เช่น ผับและร้านอาหาร มี 54 แห่ง โรงแรมและที่พักแบบญี่ปุ่นปิดกิจการไปแล้ว 48 แห่ง อุตสาหกรรมเครื่องแต่งกาย 25 แห่งและอุตสาหกรรมค้าส่งอาหาร 25 แห่ง
เมื่อดูเป็นรายจังหวัด โตเกียวมีตัวเลขธุรกิจปิดตัวสูงสุดที่ 95 แห่ง ตามด้วยโอซากา 41 แห่ง และฮอกไกโด 23 แห่ง
อุตสาหกรรมกินดื่มจะต้องเผชิญสภาวะที่เลวร้ายยิ่งขึ้น หลังทางการกรุงโตเกียวได้เรียกร้องให้ผับและร้านอาหารที่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลดชั่วโมงทำการลง
บริษัทวิจัยยังระบุว่า ถ้ารัฐบาลญี่ปุ่นกลับมาจำกัดการดำเนินการทางเศรษฐกิจอีกครั้ง บริษัทที่ยังมีผลประกอบการดีอยู่ ก็มีความเสี่ยงที่ต้องปิดกิจการเช่นกัน
ตอกย้ำสถานการร์เลวร้ายในญี่ปุ่นอีกครั้ง เมื่อยักษ์ใหญ่ในวงการรถยนต์อย่างโตโยต้า ออกมายอมรับว่า ถูกโควิด-19เล่นงานอย่างหนัก กำไรสุทธิปีนี้คาดว่าจะลดลงถึง 64% พร้อมกับรายงานตัวเลขรายได้ประจำไตรมาสซึ่งต่ำมาก
บริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่นรายนี้ คาดการณ์ว่า กำไรสุทธิในปีการเงินนี้ (เม.ย.2020-มี.ค.2021) จะอยู่ที่ 730,000 ล้านเยน (6,900 ล้านดอลลาร์) ต่ำจากระดับ 2.07 ล้านล้านเยนซึ่งทำได้ในปีที่แล้ว
ขณะเดียวกัน โตโยต้าให้ตัวเลขคาดการณ์กำไรจากการดำเนินงานของปีการเงินนี้ ยังคงอยู่ที่ 500,000 ล้านเยนไม่เปลี่ยนแปลง ซึ่งลดต่ำลงเกือบๆ 80% จากปีที่แล้ว
การเตือนผลกำไรสุทธิตลอดปีจะหล่นฮวบครั้งนี้ ออกมาพร้อมๆ กับที่โตโยต้ารายงานว่า กำไรสุทธิในไตรมาสที่ผ่านมา (เม.ย.-มิ.ย. 2020) ได้ทรุดต่ำลง 74.3% จากยอดรายรับซึ่งหดหายกว่า 40% ในไตรมาสดังกล่าว
ขอบคุณข้อมูล ฐานเศรษฐกิจ ผู้จัดการออนไลน์