IT & Digital

เอไอเอสตีกันดีแทคชิงคลื่น ทรูถอนตัวเพื่อแข่งขันเป็นธรรม

การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง ผนวกกับความต้องการของผู้บริโภคที่หลากหลาย ทำให้ผู้ให้บริการมือถือต้องถือครองคลื่นหลายช่วงความถี่เพื่อการแข่งขัน คุณสมบัติของคลื่นแต่ละช่วงความถี่แตกต่างกัน โดยคลื่นความถี่ต่ำเช่น 700, 850 และ 900 MHz จะสามารถครอบคลุมพื้นที่ได้กว้าง แต่ไม่เหมาะสำหรับการใช้งานในบริเวณที่มีความต้องการข้อมูลในปริมาณสูงหรือหนาแน่น ในทางกลับกัน คลื่นความถี่สูงเช่น 1800, 2100 และ 2600 MHz จะครอบคลุมพื้นที่ได้แคบกว่าคลื่นความถี่ต่ำ แต่จะสามารถรับส่งข้อมูลได้ปริมาณมากและรวดเร็วมากกว่า โดยปกติแล้วผู้ให้บริการมือถือจึงต้องการถือครองอย่างน้อยสองช่วงความถี่ คือ ช่วงคลื่นความถี่ต่ำเพี่อให้บริการในต่างจังหวัดที่มีความต้องการใช้ข้อมูลไม่ค่อยหนาแน่นแต่ต้องครอบคลุมพื้นที่กว้าง และช่วงคลื่นความถี่สูงเพื่อให้บริการในพื้นที่ที่มีความต้องการใช้บริการข้อมูลที่สูงและมีการใช้งานหนาแน่นเช่น กรุงเทพฯ อย่างไรก็ดี ยังมีการใช้คลื่นทั้งสองช่วงความถี่ผสมผสานกันในแต่ละพื้นที่ เพราะในเชิงเทคนิคคลื่นความถี่ต่ำอย่าง 900 MHz จะเพิ่มความสามารถในการให้บริการในอาคารสูงได้ดีกว่าคลื่นความถี่สูงอย่าง 1800 MHz เป็นต้น

สำหรับไทยนั้น คลื่น 1800 MHz จะช่วยตอบโจทย์การใช้งาน 4G ส่วนคลื่น 900 MHz จะช่วยรองรับการใช้งาน 3G ให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น และทั้งสองคลื่นยังสามารถให้บริการ 2G ที่จะต้องมีต่อไปอีก 5-7 ปี ความต้องการใช้งาน 4G มีความชัดเจนมากขึ้นจากเทรนด์การใช้ชีวิตแบบ “on-the-go” หรือ “always-on” ซึ่งรวมถึงการรับชมและแลกเปลี่ยนวีดิโอออนไลน์ที่ต้องส่งข้อมูลขนาดใหญ่และรวดเร็วยิ่งกว่า 3G โดยคลื่น 1800 MHz ได้เปรียบคลื่นช่วงอื่นในการนำมาพัฒนาระบบ 4G เนื่องจากขณะนี้ โมเดลเครื่องสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต รวมไปถึง smart device อื่นๆ ที่รองรับคลื่น 1800 MHz เพื่อใช้งาน 4G ได้นั้นมีจำนวนมากที่สุดในโลก ต่างจากเมื่อสิงหาคมปีที่แล้วในช่วงที่คลื่น 1800 MHz ของ DPC (AIS) และ TRUE กำลังจะหมดอายุสัมปทานนั้น จำนวนโมเดลของ smart device ที่รองรับ 1800 MHz ได้ยังมีอยู่น้อยและมีราคาสูง ส่วนความต้องการ 4G ยังมีอยู่ต่ำ การที่ กสทช. เลื่อนการประมูลคลื่น 1800 MHz มาเป็นปีนี้ทำให้เกิดความพร้อมขึ้นทั้งฝั่งอุปกรณ์ ผู้ให้บริการและผู้รับบริการ ส่วนคลื่น 900 MHz เหมาะแก่การลงทุนเพื่อเพิ่มศักยภาพ 3G เมื่อความต้องการเร่งตัวขึ้นทั่วประเทศ อย่างไรก็ดี ยังคงต้องมีบริการ 2G อยู่ระยะหนึ่งเพราะยังมีดีมานด์จากสถาบันการเงินสำหรับระบบเครื่องเอทีเอ็มและจากนักท่องเที่ยวในการใช้บริการโทรศัพท์ข้ามแดนอัตโนมัติ (โรมมิ่ง) โดยทาง ITU คาดว่าทั่วโลกยังต้องให้บริการ 2G ต่อไปอีก 5-7 ปี

ด้วยภาพการถือครองคลื่นปัจจุบันของผู้ให้บริการทั้ง 3 รายและความพร้อมของเทคโนโลยี 4G ในไทย จึงคาดว่าการประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz จะมีระดับการแข่งขันที่สูงกว่า 900 MHz และอาจทำให้ราคาประมูลสุดท้ายสูงกว่าราคาตั้งต้นพอสมควร โดยทั่วไปแล้วคลื่นที่มีความถี่ต่ำกว่า 1000 MHz จะมีมูลค่าคลื่นสูงกว่าคลื่นที่มีความถี่สูงกว่า 1000 MHz ทำให้การกำหนดราคาประมูลคลื่น 800-900 MHz มักสูงกว่าราคาประมูล 1800-2100 MHz ในหลายประเทศรวมถึงไทย สาเหตุหลักคือคลื่นความถี่ต่ำสามารถครอบคลุมพื้นที่ให้บริการได้มากกว่า 2 เท่าและสามารถลดการลงทุนด้านโครงข่ายลงได้กว่า 10 เท่า จึงเกิดการแข่งขันแย่งชิงคลื่นความถี่ต่ำกันค่อนข้างสูง

อย่างไรก็ดีสำหรับไทยนั้น เนื่องจากการประมูลคลื่น 1800 MHz ในช่วงเดือนสิงหาคมมีจำนวนใบอนุญาตเพียง 2 ใบต่อจำนวนผู้เข้าประมูลอย่างน้อย 3 ราย ผนวกกับความพร้อมและความต้องการเทคโนโลยี 4G ที่สูงขึ้นชัดเจนในประเทศ จึงมีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดการแข่งขันและดันราคาประมูลให้สูงกว่าราคาตั้งต้นและอาจสูงกว่าราคาประมูล 900 MHz ก็เป็นได้ โดยตัวแปรที่ต้องจับตาคือการตัดสินใจของ DTAC ว่าจะแข่งราคาประมูลอย่างเต็มที่หรือไม่ เนื่องจากมีคลื่น 1800 MHz ภายใต้ระบบสัมปทานอยู่แล้วแต่หากสามารถเปลี่ยนการถือครองคลื่น 1800 MHz มาอยู่ในระบบใบอนุญาตจะช่วยลดต้นทุนการกำกับดูแล (regulatory cost) ลงได้ค่อนข้างมาก

โดยก่อนหน้านี้ ทางคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือกสทช. ได้เปิดให้ผู้สนใจเข้ารับเอกสารการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคมที่ผ่านมาเป็นวันแรก และจะเปิดให้รับเอกสารฯ ไปจนถึงวันที่ 14 มิถุนายนนี้ โดยมีผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3 รายหลักของประเทศไทย ได้เข้ารับเอกสารการประมูลคลื่นความถี่ฯ โดยกลุ่ม AIS รับเอกสารไป 2 ชุด ในนามบมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือ ADVANC และบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด หรือ AWN

กลุ่มบริษัท DTAC รับเอกสารไป 2 ชุด ในนามบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด หรือ DTN และบริษัท ดีแทค บรอดแบนด์ จำกัด หรือ DBB

ส่วนกลุ่มบริษัท TRUE รับเอกสารไป 1 ชุด ในนามบริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด หรือ TUC ซึ่งสะท้อนว่าคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ยังเป็นที่สนใจของผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม และเป็นความต้องการของตลาด

สำหรับขั้นตอนต่อจากนี้ สำนักงาน กสทช. กำหนดให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตในวันที่ 15 มิถุนายน จากนั้นจะเป็นขั้นตอนการพิจารณาคุณสมบัติขั้นแรก ระหว่างวันที่ 16-28 มิถุนายน และจะประกาศรายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติเป็นผู้เข้าร่วมประมูลภายในวันที่ 29 มิถุนายน และกำหนดจัดการประมูลในวันที่ 4 สิงหาคมนี้ เพื่อให้สามารถจัดการประมูลคลื่นความถี่ได้ทันก่อนที่สัญญาสัมปทานระหว่าง DTAC กับ CAT จะสิ้นสุดลงในวันที่ 15 กันยายนต่อไป

ความเคลื่อนไหวล่าสุดหลังจากที่กลุ่มบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ไปรับเอกสารการประมูลคลื่น 1800 MHz ในนามบริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (ทียยูซี) เมื่อวันที่ 15 พ.ค.ที่ผ่านมา จากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช.

ล่าสุด กลุ่มทรู เลือกเล่นเกมชิงไหวชิงพริบด้วยการประกาศไม่ขอเข้าร่วมประมูลคลื่น 1800 MHz โดยให้เหตุผลว่า ปริมาณคลื่นที่มีอยู่มากพอที่จะรักษาความได้เปรียบในตลาดและสามารถรองรับจำนวนลูกค้าเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว

โดยทรูได้ออกแถลงการณ์ใจความว่า ตามที่ กลุ่มทรู ได้เข้ารับเอกสารการประมูลคลื่น 1800 MHz ในนามบริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (ทียูซี) ไปเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคมที่ผ่านมานั้น บริษัทฯ ได้พิจารณากฎเกณฑ์การประมูลต่างๆในเอกสารแล้ว และพิจารณาว่าจะไม่เข้าร่วมประมูลคลื่น 1800 MHz ในครั้งนี้

ดร.กิตติณัฐ ทีคะวรรณ กรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มบริษัท (ร่วม) บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า จากการพิจารณาเอกสารรายละเอียดต่างๆของการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ที่ได้รับจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) คณะผู้บริหารพิจารณาว่า จะไม่เข้าร่วมประมูลคลื่น 1800 MHz ที่จะมีขึ้นในครั้งนี้ ด้วยเหตุผลสำคัญ 3 ประการคือ เรื่องปริมาณคลื่นความถี่ที่ทรูมูฟ เอช มีอยู่ในปัจจุบันที่มีมากถึง 55 MHz ยังมากเพียงพอที่จะรองรับจำนวนลูกค้าที่จะเติบโตเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว และเมื่อเปรียบเทียบกับศักยภาพการให้บริการของผู้ประกอบการรายอื่นในประเทศแล้ว ปริมาณคลื่นของทรูมูฟ เอช ยังคงสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันในตลาดได้ต่อไปในอนาคต รวมทั้งจะรักษาประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้าในเรื่องการใช้งานทั้งวอยซ์และดาต้าที่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องแน่นอน

นอกจากนี้ จากการพิจารณารายละเอียดกฎเกณฑ์การประมูลตามเอกสารแล้ว ทั้งเรื่องราคาและข้อกำหนดต่างๆ ไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้ผู้ที่ชนะประมูลในครั้งนี้จะมีความได้เปรียบอย่างมีนัยยะสำคัญแต่อย่างใด และที่สำคัญคือความเชื่อของกลุ่มทรูในเรื่องของการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรม ที่จะไม่เข้าร่วมประมูลเพียงเพื่อจะทำให้ราคาสูงผิดปกติเกินกว่าความเป็นจริง หรือสร้างภาระทางการเงินให้แก่ผู้ชนะประมูลแต่อย่างใด ดังนั้น ด้วยเหตุผลที่ได้กล่าวมาเบื้องต้น บริษัทฯ จึงพิจารณาว่า ยังไม่มีเหตุผลที่จะเข้าร่วมประมูลคลื่น 1800 MHz ในครั้งนี้

ด้านนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า กสทช. จะยังคงเดินหน้าจัดประมูลคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ต่อไป แม้อาจจะเหลือผู้ประกอบการที่เข้าประมูลเพียงรายเดียว หลังจาก บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) ประกาศว่าจะไม่เข้าประมูลในครั้งนี้

“อาจจะมีรายอื่นเพิ่มเข้ามาหรือไม่ เพราะด้วยกฏ N-1 แม้เหลือผู้เข้าประมูลเพียงรายเดียวก็ยังประมูลได้”นายฐากร กล่าว

ทั้งนี้ นายฐากร กล่าวว่า รู้สึกเสียดายแทนหากผู้ประกอบจะละทิ้งโอกาสที่ดีไป เพราะ กสทช.เคยประเมินไว้ว่าเมื่อเทคโนโลยี 5G ให้บริการเชิงพาณิชย์ในปี 63 ผู้ประกอบการทุกรายควรจะมีจำนวนคลื่นความถี่อย่างน้อยรายละ 100 เมกะเฮิรตซ์เพื่อให้เพียงพอรองรับการให้บริการด้วยเทคโนโลยีใหม่

ด้านนายสืบศักดิ์ สืบภักดี นักวิจัยด้านโทรคมนาคม สำนักวิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ กล่าวถึงกรณีกลุ่มทรูประกาศไม่เข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ว่า ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ เพราะก่อนหน้านี้ทรูไม่ได้ยืนยันความชัดเจนที่จะเข้าร่วมประมูลคลื่นตั้งแต่แรก ส่วนที่รีบออกมาประกาศทั้งที่เพิ่งเปิดให้รับเอกสารหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นไปไม่กี่วันก็เป็นสิทธิที่จะทำได้

จากนี้คงต้องดูว่าจะมีผู้ประกอบการรายอื่นประกาศไม่เข้าร่วมประมูลอีกหรือไม่ คงต้องรอดูจนถึงช่วงให้ยื่นแสดงความจำนงเข้าประมูลและตรวจคุณสมบัติจนเสร็จเรียบร้อยว่าจะเหลือผู้ประกอบการอีกกี่ราย ตามหลักเกณฑ์การประมูลหากเหลือผู้ประกอบการน้อยราย กสทช.จะขยายเวลาในการยื่นแสดงความประสงค์เข้าประมูลออกไปอีก 90 วัน หลังจากนั้นจึงจะตัดสินใจว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป

ขณะที่แหล่งข่าวจากวงการโทรคมนาคม เปิดเผยว่า ขณะนี้ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะเข้าร่วมประมูลหรือไม่ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลเพื่อนำเสนอให้คณะกรรมการบริษัทตัดสินใจในการประชุมที่จะมีขึ้นราวปลายเดือน พ.ค.นี้

สำหรับเงื่อนไขการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ครั้งนี้ กสทช.เตรียมไว้ 45 MHz แบ่งเป็น 3 ชุด ชุดละ 15 MHz ต่อ 1 ใบอนุญาตโดยผู้เข้าร่วมประมูลสามารถประมูลได้สูงสุด 1 ชุดคลื่นความถี่ กำหนดราคาเริ่มต้นของการประมูลไว้ที่ 37,457 ล้านบาท และกำหนดหลักประกันการประมูล เท่ากับ 1,880 ล้านบาทซึ่งเป็นราคาสุดท้ายจากการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ในครั้งก่อน โดยใช้สูตร N-1 คือมีผู้ประมูลเกินใบอนุญาตอย่างน้อย 1 ราย

ใบอนุญาตมีระยะเวลาการอนุญาต 15 ปี ราคาที่เพิ่มต่อการเคาะในแต่ละครั้ง 75 ล้านบาท หากมีการทิ้งการประมูล สำนักงาน กสทช. จะยึดหลักประกันการประมูล 1,880 ล้านบาท และการคิดค่าปรับอีก 5,620 ล้านบาท เป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 7,500 ล้านบาท


คงต้องรอดูกันต่อไปว่า ท้ายที่สุดแล้วในวันประมูลคลื่นจะเหลือผู้ประกอบการตัวจริงเสียงจริงสักกี่ราย และใครจะได้คลื่นไปครอง !!!

Related Articles

Back to top button
X
%d bloggers like this: