เยอะจนน่าตกใจ! ‘แบงก์ชาติ’ เปิดข้อมูล 9 ด.แรก แอพธนาคารไหนล่มบ่อยสุด

ขณะที่ประเทศไทยประกาศว่ากำลังก้าวเข้าสู่สังคมไร้เงินสด ตามนโยบายรัฐบาล หลังจากพัฒนาระบบชำระเงินที่เรียกว่า โครงการพัฒนาระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือ อี-เพย์เมนท์ ที่ถือว่าประสบความสำเร็จจนคนไทยได้เริ่มใช้เงินบนดิจิทัลแทนเงินสดในรูปแบบกระดาษ โดยเฉพาะบนแอพพลิเคชั่นธนาคาร (โมบายแบงกิ้ง)
แต่ทว่าปัญหาที่พบส่วนใหญ่ที่มีค่อนข้างถี่และยังแก้ไม่ตก ก็คือ “ระบบล่ม” เมื่อถึงเวลาที่มีคนใช้งานจำนวนมากอย่างวันสิ้นเดือน หรือช่วงต้นเดือน มักจะเกิดระบบขัดข้องสร้างความขุ่นเคืองให้กับผู้ใช้งานที่มีความจำเป็นต้องทำธุรกรรมเป็นอย่างมาก
ล่าสุด “ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือแบงก์ชาติ” ได้เผยแพร่สถิติระบบเทคโนโลยีสารสนเทศขัดข้องที่กระทบต่อการให้บริการผ่านช่องทางสำคัญ โดยสิ้นไตรมาส 3 ที่ผ่านมา (เดือน ก.ค.-ก.ย.64) พบว่า ระบบธนาคารพาณิชย์ขัดข้อง 4 ช่องทาง ทั้งโมบายแบงกิ้ง อินเทอร์เน็ตแบงกิ้ง เอทีเอ็ม และสาขาธนาคารรวมกันถึง 38 ครั้ง ขัดข้องรวมกันนานถึง 88 ชั่วโมง เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 2 ที่ขัดข้องรวม 4 ช่องทางเพียง 21 ครั้ง
สำหรับระบบธนาคารขัดข้อง 4 ช่องทางในช่วงเดือน ก.ค.-ก.ย.64 แบ่งเป็น โมบายแบงกิ้ง 21 ครั้ง มีธนาคารซีไอเอ็มบีไทยกับธนาคารทหารไทยธนชาตมากที่สุดถึง แห่งละ 5 ครั้ง รองลงมาเป็นธนาคารกรุงเทพและธนาคารไทยพาณิชย์ แห่งละ 3 ครั้ง ส่วนธนาคารกรุงศรีฯโมบายแบงกิ้งขัดข้อง 2 ครั้ง และธนาคารกรุงไทย, ธนาคารเกียรตินาคินภัทร และธนาคารทิสโก้ แห่งละ 1 ครั้ง
ส่วนระยะเวลาที่โมบายแบงกิ้งขัดข้องในช่วง 3 เดือนนี้รวม 21 ครั้งนั้น พบว่ามีระยะเวลาขัดข้องรวมถึง 51 ชั่วโมง ในส่วนนี้มีมากสุดโมบายแบงก์กิ้งขัดข้องนานถึง 20 ชั่วโมง คือ ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย รองลงมาคือ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ขัดข้องนาน 12 ชั่วโมง
ด้าน อินเทอร์เน็ตแบงกิ้ง ธนาคารไทยพาณิชย์ขัดข้อง 3 ครั้ง นาน 5 ชั่วโมง, ธนาคารทหารไทยธนชาต 2 ครั้งนาน 6 ชั่วโมง และธนาคารกรุงไทยกับธนาคารกรุงศรีฯ ขัดข้องแห่งละ 1 ครั้ง นานแห่งละ 2 ชั่วโมง
ส่วน เอทีเอ็ม มีธนาคารทหารไทยธนชาตขัดข้อง 2 ครั้ง และมีขัดข้องแห่งละ 1 ครั้ง ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารกรุงศรีฯ, ธนาคารทิสโก้ และธนาคารยูโอบี
ขณะที่ สาขา ธนาคารขัดข้อง เป็นธนาคารทหารไทยธนชาต 3 ครั้ง และธนาคารยูโอบี 3 ครั้ง
อย่างไรก็ตาม ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังได้รายงานสถิติระบบเทคโนโลยีการสื่อสาร ของธนาคารพาณิชย์ไทยขัดข้อง ที่กระทบต่อการให้บริการทางการเงินในช่วงสำคัญ ครึ่งปีแรกของปีนี้ พบว่า 5 อันดับธนาคาร ที่มีระบบการให้บริการขัดข้องสูงสุด ได้แก่
ธนาคารไทยพาณิชย์ ขัดข้อง 13 ครั้งในรอบ 6 เดือน โดยการให้บริการผ่านระบบโมบาย แบงกิ้ง ขัดข้อง 7 ครั้ง ระบบอินเตอร์เน็ต แบงกิ้งขัดข้อง 5 ครั้ง ระบบเอทีเอ็มขัดข้อง 1 ครั้ง
ธนาคารทหารไทย ขัดข้อง 12 ครั้ง โดยการให้บริการผ่านระบบโมบาย แบงกิ้ง ขัดข้อง 7 ครั้ง ระบบเอทีเอ็มขัดข้อง 3 ครั้ง และการให้บริการผ่านสาขาขัดข้อง 2 ครั้ง
ธนาคารธนชาต ขัดข้อง 5 ครั้ง เป็นโมบาย แบงกิ้งขัดข้อง 1 ครั้ง เอทีเอ็มขัดข้อง 2 ครั้ง และการให้บริการผ่านสาขา 2 ครั้ง
ธนาคารกรุงเทพ และธนาคารกสิกรไทย มีระบบขัดข้องเท่ากันคือ 4 ครั้ง โดยธนาคารกรุงเทพ เป็นการขัดข้องการให้บริการโมบาย แบงกิ้ง ทั้ง 4 ครั้ง
ขณะที่ธนาคารกสิกรไทย เป็นการขัดข้องระบบการให้บริการโมบาย แบงกิ้ง 1 ครั้ง ระบบอินเตอร์เน็ต แบงกิ้ง 1 ครั้ง ระบบเอทีเอ็ม 1 ครั้ง และการให้บริการผ่านสาขา 1 ครั้ง
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา 3 ครั้ง เป็นระบบโมบาย แบงกิ้งขัดข้อง 2 ครั้ง ใน ขณะที่อินเตอร์เน็ตแบงกิ้งขัดข้อง 1 ครั้ง
ล่าสุด เมื่อวันที่ 5 พ.ย.2564 เกิดแฮชแท็ก #กรุงไทยล่ม ผุดในโลกทวิตเตอร์ เมื่อผู้ใช้งาน “ธนาคารกรุงไทย” ไม่สามารถทำธุรกรรมต่างๆ ผ่านระบบพร้อมเพย์ได้ จน“กรุงไทย” ออกมาชี้แจงว่า “เนื่องจากขณะนี้ ไม่สามารถโอนเงินระหว่างธนาคารผ่านระบบพร้อมเพย์ได้ ธนาคารอยู่ระหว่างการเร่งดำเนินการแก้ไข ธนาคารขออภัยในความไม่สะดวกมา ณ โอกาสนี้”
Krungthai NEXT เช่น
- โอนเงิน
- เติมเงิน
- จ่ายบิล
- ถอนเงินไม่ใช้บัตร
- ดูข้อมูลบัญชี
- บริการบัตรกรุงไทย Travel card
- เปิดบัญชีออนไลน์
เป๋าตัง (บริการยืนยันตัวตน และ เติมเงินผ่าน Krungthai NEXT)
Krungthai Connext เช่น
- สมัครใช้บริการ Krungthai Connext ด้วยการยืนยันตัวตนผ่าน Krungthai NEXT
- เปิดและปิดการแจ้งเตือนบน Krungthai Connext
ธนาคารขออภัยในความไม่สะดวก