เมื่อ แบรนด์กีฬา (ต้อง)เป็นมากกว่า “กีฬา”
จากเทรนด์สุขภาพและเทรนด์การออกกำลังกายรูปแบบใหม่ ๆ ที่หนุนให้ผู้บริโภคยอมจ่ายเงินเพื่ออุปกรณ์การออกกำลังกายที่จำเป็นและมีนวัตกรรมใหม่ๆ ที่โดนใจทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องต้องเร่งปรับกระบวนทัศน์ในการทำตลาดเพื่อตอบสนองเทรนด์ดังกล่าวซึ่งไม่ใช่แค่ในประเทศไทยเท่าน้ันหากแต่เป็นเทรนด์ทั่วโลก และคาดว่าจะมีโมเมนตัมหรือแรงส่งต่อเนื่องไปอีกหลายปี
ไม่เพียงเท่าน้ัน จากการที่มีเหล่าดาราเซเลบคนดังสลัดภาพมาเป็นแฟชั่นไอคอนร่วมสร้างกระแสสปอร์ตให้ครึกครื้นยิ่งขึ้น เพราะเมื่อเธิหรือเขาเหล่านั้นที่มีสาวกผู้ติดตามเป็นจำนวนมากนั้นใส่แบรนด์ใด แบรนด์นั้นกวาดยอดขายถล่มถลายเกลี้้ยงสโตร์ภายในเวลาอันรวดเร็ว
ยกตัวอย่างเช่น แฟชั่นไอคอนคนดังอย่าง ชมพู่ อารยา ว่าที่คุณแม่ลูกแฝดที่เธอเปลี่ยนลุคเป็นสาวสปอร์ตเกิร์ลอย่างเต็มตัวด้วยการเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ให้กับแบรนด์ adidas ก็ไม่ทำให้ผิดหวังเพราะสินค้า adidas จากที่เคยได้รับความนิยมเป็นทุนเดิมอยู่แล้วก็เพิ่มยอดขายได้มากมาย
เช่นเดียวกับแบรนด์ Under Armour อีกหนึ่งแบรนด์กีฬาที่ได้รับความนิยมในไทยที่เลือกใช้แบรนด์แอมบาสเดอร์สาวคนดังไม่แพ้กันอย่าง ปู ไปรยา ลุนด์เบิร์ก นักแสดงช่อง 7 และมีผลงานหลากหลาย ทั้งด้านภาพยนตร์ ละคร พรีเซ็นเตอร์ และนางแบบขึ้นปกนิตยสารชื่อดังมากมาย
ปัจจุบัน แบรนด์ แอมบาสเดอร์ ของ Under Armour (อันเดอร์ อาร์เมอร์) ประเทศไทย ประกอบด้วย ไปรยา ลุนด์เบิร์ก, ฟ้าใส พึ่งอุดม, นนท์ณัฐดา อำมาตย์, พรไพศาล เรืองแสงเพ็ญ, จิรวัฒน์ ตระกูลมา, อานันท์ อภินันท์, ทิพย์วลี จารุหิรัญสกุล, พร้อมนักกีฬาบาสเก็ตบอลาวรุ่ง ได้แก่ วุฒิพงษ์ ดาโสม, กานต์ณัฐ เสมอใจ, ชนะชนม์ กล้าหาญ, ณัฐกานต์ เมืองบุญ และไพรัช เสกธีระ
นอกจากทั้ง 2 แบรนด์ดังแล้ว บริษัท ไทยทอปสปอร์ต จำกัด ในฐานะผู้จัดจำหน่ายสินค้ากีฬาแบรนด์ รีบอค ซึ่งทำตลาดในไทยมากว่า 30 ปี ร่วมโหนกระแสแฟชั่นไอคอนด้วยการดึง “ลีเดีย ศรัณย์รัชต์ วิสุทธิธาดา”นักร้องหญิงสไตล์ R&B และนิยมออกกำลังจนหุ่นฟิตเฟิร์มแม้จะเป็นคุณแม่ลูกหนึ่ง เป็นแอมบาสซาเดอร์สำหรับประเทศไทยตั้งแต่ปีที่ผ่านมาซึ่งก็ไม่สร้างความผิดหวังเพราะยอดขายของรีบอคเติบโตขึ้นมากกว่าตลาดที่โต 15%
ที่ผ่านมา รีบอค มองว่า ผู้บริโภคผู้ชายซึ่งเป็นตลาดใหญ่เริ่มมีสัญญาณอิ่มตัวให้เห็นเนื่องจากกลุ่มนี้มีแบรนด์ประจำอยู่แล้ว การชักจูงให้เปลี่ยนแบรนด์จึงยาก ตรงข้ามกับกลุ่มผู้บริโภคหญิงที่ยังมีช่องว่างอีกมาก จึงมุ่งขยายไลน์อัพสินค้าสำหรับผู้หญิงมากขึ้นทั้งในกลุ่มกีฬาเดิมทั้งฟิตเนสโยคะ พร้อมกับเพิ่มกลุ่มกีฬาใหม่ ๆ เช่น กีฬาต่อยมวยที่กำลังได้รับความนิยมในหมู่ผู้หญิง ซึ่งจะมีถุงมือ เป้าล่อ นวม กระสอบทราย เป็นต้น
โดยภาพรวมในปีที่ผ่านมา มีการเติบโตมากขึ้นเนื่องจากผู้บริโภคตระหนักและให้ความสำคัญกับการเลือกซื้อเสื้อผ้าและอุปกรณ์กีฬาสำหรับการออกกำลังกาย และตั้งเป้าขยายช่องทางการจัดจำหน่ายของแบรนด์ รีบอค ในปี 2017 ตั้งเป้าเพิ่ม 1-2 สาขาซึ่งปัจจุบันมีทั้งหมด 11 สาขา และเพิ่มเป็น 20 สาขาภายในปี 2020
นอกจากนี้ รีบอคยังใช้กลยุทธ์ทางการตลาดเพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้าผ่านแคมเปญ Be More Human ผ่านแบรนด์แอมบาสเดอร์ โดยลิเดียมีการวางแผนการออกกำลังกายอย่างเป็นระบบ มีการศึกษาผลดี ผลเสีย ของการออกกำลังกายในแต่ละประเภทเพื่อให้ผู้บริโภคเกิดแรงบันดาลใจว่าคุณก็สามารถทำได้เช่นกัน
ขณะที่นิตยสารฟอรบส์ จัดอันดับ 10 แบรนด์และธุรกิจด้านกีฬาสุดหรู และมีมูลค่ามากที่สุดในโลกโดยพิจารณาจากผลประกอบการและความเป็นพรีเมี่ยมของแบรนด์ ซึ่งมีทั้งแบรนด์กีฬาและสถานีโทรทัศน์กีฬาดังนี้
1.Nike (ไนกี้) มีมูลค่าการค้าที่ 15,900 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
2.ESPN (อีเอสพีเอ็น) มีมูลค่าการค้าที่ 11,500 ล้านเหรียญสหรัฐ
3.Adidas (อะดิดาส) มีมูลค่าการค้าที่ 6,800 ล้านเหรียญสหรัฐ
4.Sky Sports (สกายสปอร์ต) มีมูลค่าการค้าที่ 4,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
5.Under Armour (อันเดอร์ อาร์มูร์) มีมูลค่าการค้าที่ 3,500 ล้านเหรียญสหรัฐ
6.Reebok (รีบ็อก) มีมูลค่าการค้าที่ 1,200 ล้านเหรียญสหรัฐ
7.Yes (เยส) มีมูลค่าการค้าที่ 600 ล้านเหรียญสหรัฐ
8.IMG (ไอเอ็มจี) มีมูลค่าการค้าที่ 520 ล้านเหรียญสหรัฐ
9.NESN (เอ็นอีเอสเอ็น) มีมูลค่าการค้าที่ 500 ล้านเหรียญสหรัฐ
10.MLB (เอ็มแอลบี) มีมูลค่าการค้าที่ 420 ล้านเหรียญสหรัฐ
นั่นคือ การห้ำหั่นของแบรนด์กีฬาที่ต้องปรับกลยุทธ์เพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค ไม่เฉพาะเพื่อต่อกรกับอินเตอร์แบรนด์เท่าน้ัน แต่ยังรองรับโลคอลแบรนด์ที่หันมาพึ่งน้ำบ่อนี้อีกด้วย