เมื่อ กทม.แบ่งค่าปรับให้กับผู้แจ้งเบาะแส
เมื่อ กทม.แบ่งค่าปรับให้กับผู้แจ้งเบาะแส
โดย…ธนก บังผล
เมืองหลวงของแต่ละประเทศบนโลกนี้มีการจัดการที่แตกต่างกันไปแล้วแต่บริบทและวัฒนธรรม ในส่วนของกรุงเทพมหานครจะเห็นได้ว่ามีปัญหาสะสมมาอย่างยาวนาน อย่างที่เคยมีคำเปรียบเปรยว่า “ทำอะไรตามใจคือไทยแท้” จนกระทั่งล่าสุด ผู้มีอำนาจก็ได้ออกกฎหมายขึ้นมาฉบับหนึ่ง ซึ่งน่าสนใจมากครับ
สาระสำคัญของกฎหมายนี้คือ การให้รางวัลนำจับกึ่งหนึ่งของค่าปรับแก่ผู้แจ้ง กรณีพบเห็นผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535
โดย พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯกทม.ได้ลงนามในระเบียบกทม.ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการแบ่งค่าปรับ ที่ได้จากการเปรียบเทียบให้แก่ผู้แจ้งความนำจับตามกฎหมายว่าด้วย “การรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง” พ.ศ. 2560 เมื่อวันที่ 20 ก.ค. ที่ผ่านมา
ซึ่งระเบียบดังกล่าวจะครอบคลุมถึง การจอดหรือขับขี่รถจักรยานยนตร์บนทางเท้า การทิ้งขยะในแม่น้ำ คู คลองและพื้นที่สาธารณะ หาบเร่-แผงลอย การลักลอบติดป้ายโฆษณาอย่างผิดกฎหมาย
กฎหมายฉบับนี้น่าจะติดพันมาจากการจัดระเบียบทางเท้าซึ่งถือได้ว่าเป็นผลงานชิ้นโบแดง ของผู้ว่าฯอัศวิน โดยระบุว่า หากประชาชนพบเห็นการกระทำความผิดดังกล่าว สามารถแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ได้ทันที ผ่านช่องทาง ดังนี้
1.สายด่วนสำนักเทศกิจ 02-465-6644
2.ไปรษณีย์ ส่งถึงสำนักเทศกิจ เลขที่ 1 ถนนเทศบาลสาย 1 แขวงวัดวัดกัลยาณ์ เขตธนบุรี 10600
3.อีเมล์ citylaw_bma@hotmail.com
4.ทางเฟซบุ๊กสำนักเทศกิจ กรุงเทพมหานคร
5.ทางแอพพลิเคชันไลน์ ในกลุ่มhttp://line.me/R/ti/g/NM4UVW0C2
และ 6.ทางสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต
สำหรับการแจ้งนั้นประชาชนจะต้องมีหลักฐาน อาทิ ภาพถ่ายหรือวิดีโอที่แสดงถึงการกระทำผิดที่ชัดเจน โดยให้มีภาพหมายเลขทะเบียนที่ทำผิด พร้อมระบุวัน เวลา และสถานที่กระทำผิด และบุคคลที่กระทำผิด
ทั้งนี้ รางวัลนำจับที่ผู้แจ้งความจะได้รับรางวัลกึ่งหนึ่งของค่าปรับนั้น จะได้รับภายหลังจากที่ผู้ต้องหาได้ชำระค่าปรับตามที่เปรียบเทียบแล้ว โดยอายุความของหลักฐานจะมีอายุ 1 ปี ส่วนการรับเงินแบ่งค่าปรับกึ่งหนึ่งสามารถรับเงินค่าปรับได้ที่สำนักงานเขตที่รับแจ้งภายในวันที่เปรียบเทียบปรับหรือภายใน 60 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง หรือหากผู้กระทำความผิดได้ชำระค่าปรับในวันเดียวกันผู้แจ้งความก็จะได้รับรางวัลค่าปรับในวันเดียวกันทันที
หากไม่ขอรับภายในกำหนดถือว่าสละสิทธิ์ ซึ่งเงินจำนวนดังกล่าวจะส่งเป็นรายได้ของกทม. โดยการกระทำความผิดตามพ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ มีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท หลังจากนี้จะมีการประสานงานกับกองบัญชาการตำรวจนครบาล เพื่อให้การรักษากฎหมายทำได้ดียิ่งขึ้น
เป็นหลักการคิดของตำรวจที่เข้าใจได้ไม่ยากครับ ปรับเปลี่ยนมาจากระเบียบการให้รางวัลกับผู้แจ้งเบาะแสคนร้ายในคดีอาชญากรรมทั่วไป
แต่คำถามที่ตามมาแน่นอนคือ การแบ่งค่าปรับให้สูงถึง ร้อยละ 50 นั้น ในความเป็นจริงทำได้ง่าย ๆจริงหรือ เพราะกฎหมายมักระบุคำว่าปรับ “ไม่เกิน” ….บาท ซึ่งสามารถตีความได้ว่า หากปรับไม่เกิน 1,000 บาท ทางกทม.สามารถอะลุ้มอล่วย ปรับแค่ 200 บาทก็ได้ เพราะฉะนั้นเงินค่าส่วนแบ่งที่จะถึงมือผู้แจ้งเบาะแสก็เหลือเพียง 100 บาท
แค่นี้ก็เห็นปัญหาและช่องว่างมากแล้วครับ เช่น ปรับจริงเท่าไหร่ไม่รู้ไม่มีคนระบุไว้แต่เอามาให้ประชาชน 50 บาท แล้วการแจ้งเบาะแสผ่านคลิปที่ต้องอัดเพื่อเงินเพียง 50 บาท คุ้มหรือไม่
นอกจากนี้ ยังสามารถทำให้เกิดการกลั่นแกล้งกันได้ง่ายขึ้น เช่น รถที่จอดริมทางอาจจะจอดเพียง 30 วินาที ซึ่งไม่ทำให้เกิดความเดือดร้อนใดๆ แต่คนที่ถ่ายรูปได้ก็ส่งไปเป็นเบาะแสนำมาสู่การจับปรับ
กฎหมายยังระบุอีกครับว่า เงินที่ได้จากการปรับนั้น ต้องแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ ผู้แจ้ง ผู้จับ และแผ่นดิน ดังนั้นหากปรับ 1,000 บาท เงิน 500 บาทแรก จะเป็นของแผ่นดินแน่นอน ที่เหลืออีก 500 บาท จะถูกแบ่งให้กับผู้แจ้ง และ เจ้าหน้าที่เทศกิจ หมายความว่าต่อให้ปรับที่จำนวนเงิน 1,000 บาท ผู้แจ้งเบาะแสก็จะได้เพียง 250 บาท
ประเทศซาอุดิอาระเบีย ก็มีกฎหมายประเภทนี้นะครับ แต่ชัดเจนมากว่า ประชาชนจะได้เพียง 1 ใน 4 ของค่าปรับเท่านั้น ไม่ใช่ กึ่งหนึ่ง
มองโลกในแง่ร้ายแล้ว ความวุ่นวายบังเกิดแน่นอนครับ และรับรองว่าสิ่งที่จะตามมาคือการปรับเปลี่ยนค่าปรับให้สูงขึ้น เพื่อผู้ที่แจ้งเบาะแสจะได้รับเงินเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่เบาะแสเท็จ เบาะแสที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อทาง กทม. จะล้นทะลักจนเจ้าหน้าที่ไม่เป็นอันทำงานอย่างอื่น
คำถามคือถ้าไม่ใช้กฎหมายบังคับแบบนี้ จะมีทางไหนให้ประชาชนเป็นตาสัปปะรดคอยช่วยเหลือเจ้าหน้าที่เพื่อรักษาความสะอาดเป็นระเบียบเรียบร้อยให้กับ กทม.
น่าคิดนะครับ ยิ่งถ้าเราได้ดูข่าวคนไทยไปเที่ยวที่ Yellow Stone แล้วเข้าไปในสถานที่เขาห้ามไว้ แต่กลับคิดว่าตัวเองไม่ได้ทำผิดอะไร เรื่องจิตสำนึกและปฏิบัติตามกฎหมายนั้นคนไทยค่อนข้างเพิกเฉย
ผมคิดว่าการแก้ปัญหาอาจจะต้องรื้อระบบเทศกิจกันใหม่หมด เพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่และเงินเดือนเบี้ยเลี้ยงให้มากขึ้น แทนที่จะเอาเงินมาตีหัวล่อให้ประชาชนเป็นหูเป็นตาแทน
////////////////////////////////////
เงินในบัญชีหายใครต้องรับผิดชอบ
ปิดท้ายเกร็ดความรู้จาก กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ กระทรวงยุติธรรม เมื่อเงินในบัญชีหาย ใครต้องรับผิดชอบ? ทั้งนี้การฝากเงินกับธนาคารเป็นสัญญาระหว่างผู้ฝาก กับผู้รับฝาก (ธนาคาร) ซึ่งผู้รับฝากได้ตกลงว่าจะเก็บรักษาทรัพย์สินดังกล่าวแล้วจะคืนให้กับผู้ฝาก หากเงินในบัญชีหายไปไม่ว่าด้วยเหตุผลใดๆ ธนาคารจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ คืนเงินต่อเจ้าของบัญชีตามสัญญาฝากทรัพย์
แต่ผู้ฝากเงิน ไม่สามารถแจ้งความดำเนินคดีกับธนาคาร ในข้อหายักยอกทรัพย์ได้ เนื่องจากธนาคารเป็นผู้เสียหายโดยตรง ธนาคารจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบคืนเงินต่อเจ้าของบัญชีตามสัญญาฝากทรัพย์
(มาตรา 657 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์)