เมื่อกรุงเทพฯ เป็นเมืองไร้เงินสด
ผู้อยู่อาศัย ธุรกิจ และรัฐบาล ของกรุงเทพมหานครสามารถได้รับมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มเป็นจำนวนกว่า 1.26 แสนล้านบาท (3.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ) ต่อปี หากเปลี่ยนพฤติกรรมจากการใช้เงินสดมาเป็นการชำระเงินแบบดิจิตอล อ้างอิงจากผลการศึกษาอิสระที่ดำเนินการโดย Roubini ThoughtLab
ผลวิจัยประเมินผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจจากการเพิ่มการใช้จ่ายผ่านระบบดิจิตอลในหัวเมืองหลักทั่วโลก กรุงเทพฯ เป็นหนึ่งในหกมหานครที่ได้รับการคัดเลือกสำหรับการวิจัย เพื่อเป็นตัวแทนของ “เมืองที่กำลังเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ระบบดิจิตอล” ซึ่งเป็นหนึ่งในห้าระดับชั้นการพัฒนาของการชำระเงินแบบดิจิตอล
สำหรับกรุงเทพฯ การใช้จ่ายทางอิเล็กทรอนิกส์ในรูปแบบต่างๆอย่างแพร่หลาย สามารถทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศมีมูลค่าเพิ่มขึ้นถึงประมาณ 1.26 แสนล้านบาท โดยผู้บริโภค ภาคธุรกิจ และภาครัฐบาล จะได้รับผลประโยชน์สุทธิ 3 พันล้านบาท 7.3 หมื่นล้านบาท และ 5 หมื่นล้านบาท ตามลำดับ
ผลประโยชน์สุทธิโดยประมาณมาจากปัจจัย เช่น การประหยัดเวลาระหว่างการดำเนินธุรกิจและธุรกรรมการเงิน ไม่ว่าจะเป็นการซื้อขายแบบค้าปลีก การลดลงของต้นทุนการขนส่ง รายได้จากการขายที่เพิ่มมากขึ้นจากฐานลูกค้าที่ขยายทั้งแบบออนไลน์และในร้าน รายได้ภาษีที่เพิ่มขึ้นและการเติบโตทางเศรษฐกิจ การประหยัดค่าใช้จ่ายในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และจำนวนอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับเงินสดที่ลดลง รวมถึงปัจจัยอื่นๆอีกมากมาย
“เมืองไร้เงินสด – ประโยชน์ของการชำระเงินผ่านระบบดิจิตอล” คืองานวิจัยที่จัดขึ้นเพื่อศึกษาผลประโยชน์สุทธิที่เมืองต่างๆจะได้รับหากก้าวไปสู่ “เมืองไร้เงินสดในระดับที่เป็นไปได้” ซึ่งกำหนดโดยประชากรทั้งหมดของเมืองที่ย้ายไปใช้การชำระเงินแบบดิจิตอล เท่ากับ 10% ของผู้ใช้เงินดิจิตอลอยู่แล้วในเมืองนั้นๆในปัจจุบัน การศึกษานี้ไม่ได้มุ่งเน้นถึงการกำจัดเงินสด แต่ในทางกลับกันพยายามที่จะหาประโยชน์สุทธิและการลดลงของต้นทุนธุรกิจ เมื่อมีการเพิ่มการชำระผ่านระบบดิจิตอลอย่างมีนัยสำคัญ
การศึกษาได้ประมาณการผลประโยชน์ในระยะสั้นและระยะยาว ในการลดการพึ่งพาเงินสดสำหรับสามกลุ่มหลักซึ่งประกอบไปด้วย ผู้บริโภค ภาคธุรกิจ และภาครัฐบาล โดยผลการศึกษาได้แสดงให้เห็นว่าผลประโยชน์เหล่านี้สามารถเพิ่มผลประโยชน์โดยตรงสุทธิประมาณ 15.6 ล้านล้านบาท (4.7 แสนล้านเหรียญสหรัฐ) ต่อปีใน 100 เมืองทั่วโลกที่ได้รับการวิเคราะห์:
· ผู้บริโภคใน 100 เมืองหลักสามารถได้รับผลประโยชน์สุทธิเกือบ 9.29 แสนล้านบาท (28 พันล้านเหรียญสหรัฐ) ต่อปี ผลกระทบนี้จะมาจากปัจจัยต่างๆ รวมถึงการช่วยประหยัดเวลา 3,200 ล้านชั่วโมงในการทำธุรกรรมผ่านธนาคาร ห้างค้าปลีก และการขนส่งรวมถึงการลดอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับเงินสดอีกด้วย
· ธุรกิจในหัวเมืองทั้ง 100 แห่งสามารถได้รับผลประโยชน์โดยตรงมากกว่า 10.35 ล้านล้านบาท (3.12 แสนล้านเหรียญสหรัฐ) ต่อปี ผลกระทบนี้จะมาจากปัจจัยต่างๆ รวมถึงการประหยัดเวลาในการประมวลผลการชำระเงินเข้าออกร่วมถึง 3,100 ล้านชั่วโมง และรายได้จากการขายที่เพิ่มขึ้นอันเนื่องมาจากการขยายฐานลูกค้าออนไลน์และในร้านค้า การวิจัยยังพบอีกว่าการยอมรับเงินสดและเช็ค เพิ่มค่าใช้จ่ายให้ธุรกิจถึง 7.1 เซ็นต์ของทุกเงินดอลลาร์สหรัฐที่ได้รับ เมื่อเทียบกับการเก็บเงินจากระบบดิจิตอลซึ่งเพิ่มค่าใช้จ่ายให้ธุรกิจเพียงแค่ 5 เซ็นต์ของทุกเงินดอลลาร์สหรัฐที่ได้รับ
· รัฐบาลในทั้ง 100 เมืองหลักสามารถได้รับผลประโยชน์โดยตรงประมาณ 4.3 ล้านล้านบาท (130 พันล้านเหรียญสหรัฐ) ต่อปี ผลกระทบนี้จะมาจากปัจจัยต่างๆ เช่น รายได้จากภาษีที่เพิ่มขึ้น การเติบโตทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น การประหยัดต้นทุนจากประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้นในการบริหาร และค่าใช้จ่ายด้านคดีอาญาลดลงเนื่องจากการลดอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับเงินสด