Biznews

เปิดไทม์ไลน์ปฏิบัติการดิ้นสู้ฟัด “ไปรษณีย์ไทย”

ต้องยอมรับว่าในปีที่ผ่านมาถือเป็ยปีที่ร้อนแรงสำหรับธุรกิจขนส่งสินค้าก็ว่าได้ เนื่องจากการเติบโตของช้อปออนไลน์ซึ่งประเทศไทยขึ้นแท่นอันดับ 1 ในการช้อปปิ้งออนไลน์ในภูมิภาคอาเซียนเป็นที่เรียบร้อยดังนั้นธุรกิจที่เกี่ยวข้องอย่างการขนส่งจึงตามโตตามไปด้วย

ในปีที่ผ่านมามีผู้ประกอบการหน้าใหม่ๆ  เกิดขึ้นจำนวนมาก ซึ่งแต่ละค่ายต่างแข็งแกร่ง ขณะที่ผู้ประกอบการในตลาดต่างมีการพัฒนาศักยภาพรองรับการเติบโตและการแข่งขันดังกล่าวด้วย รวมถึง “ไปรษณีย์ไทย” ที่ต้องปรับตัวด้วยเช่นกัน

บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ในสังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รับผิดชอบเกี่ยวกับกิจการไปรษณีย์ของประเทศไทย ซึ่งแปรรูปมาจาก การสื่อสารแห่งประเทศไทย (ก.ส.ท.)

ระบบไปรษณีย์ของประเทศไทย เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยหน่วยงานที่รับผิดชอบกิจการไปรษณีย์ในสมัยแรกคือ กรมไปรษณีย์ เปิดให้บริการเป็นครั้งแรก ณ วันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2426 มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ไปรษณียาคาร ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาใกล้ปากคลองโอ่งอ่าง ปัจจุบันรื้อทิ้งเพื่อสร้างสะพานพระปกเกล้า

ในระยะแรกที่ให้บริการ ครอบคลุมเฉพาะกรุงเทพเท่านั้น เมื่อ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2428 จึงเริ่มขยายไปต่างจังหวัดโดยเปิดที่ทำการไปรษณีย์ที่สมุทรปราการและนครเขื่อนขันธ์ (พระประแดง ในปัจจุบัน) และขยายต่อจนถึงเชียงใหม่ในเดือนตุลาคมของปีเดียวกัน ส่วนบริการไปรษณีย์ระหว่างประเทศ เริ่มเมื่อ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2428 หลังประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิกสหภาพสากลไปรษณีย์

ในปี พ.ศ. 2441 กรมไปรษณีย์ได้เปลี่ยนชื่อเป็น กรมไปรษณีย์โทรเลข หลังจากมีการควบรวมเอา กรมไปรษณีย์ และ กรมโทรเลข ซึ่งดูแลงานด้านโทรเลข เข้าด้วยกัน เมื่อ พ.ศ. 2483 ได้มีการเปิด ที่ทำการไปรษณีย์กลาง ขึ้นบนถนนเจริญกรุง เขตบางรัก และใช้เป็นที่ทำการของกรมไปรษณีย์โทรเลข

เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2520 ได้เปลี่ยนสถานะจากหน่วยงานราชการมาเป็นรัฐวิสาหกิจใช้ชื่อว่า การสื่อสารแห่งประเทศไทย (ก.ส.ท.)[3]

และเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2546[4] มีการปรับโครงสร้างอีกครั้งตามนโยบายแปรรูปรัฐวิสาหกิจ โดยแยกการสื่อสารแห่งประเทศไทย เป็น บริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท.) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ซึ่งปัจจุบัน บริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด เป็นผู้ดูแล บริการด้านไปรษณีย์ทั้งหมด มีสำนักงานใหญ่ที่ถนนแจ้งวัฒนะ

วิวัฒนาการที่สำคัญของไปรษณีย์ไทยในช่วงที่ต้องเผชิญคู่แข่งรายล้อมมากมาย เราได้เห็นการขยับตัวหลายอย่างซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นกับองค์กรแห่งนี้มาก่อน ล่าสุดคือการรับฝากเงินผ่านเคาน์เตอร์ทุกที่ทั่วประเทศ ภายใต้ความร่วมมือ กับธนาคารไทยพาณิชย์  เปิดบริการรับฝากเงินสดเข้าบัญชีออมทรัพย์ หรือ กระแสรายวันของธนาคารไทยพาณิชย์ เพื่อเป็นทางเลือกแก่ประชาชนในการใช้บริการฝากเงินสด โดยประชาชนสามารถฝากเงินได้สูงสุดต่อรายการ 30,000 บาท และสูงสุดต่อวัน 60,000 บาท ได้ ณ ที่ทำการไปรษณีย์ทั่วประเทศ กว่า 900 แห่ง พร้อมประเดิมโปรโมชั่นพิเศษช่วงเปิดตัว! คิดค่าธรรมเนียมเพียงรายการละ 10 บาท จากปกติ 20 บาท ไปจนถึง 31 มีนาคม 2562

 

ก่อนหน้านี้ ไปรษณีย์ไทยได้ร่วมมือกับ ธนาคารกสิกรไทย เปิดบริการ สำหรับลูกค้าที่ต้องการฝากเงินผ่าน “เคแบงก์ เซอร์วิส” ที่สาขาไปรษณีย์ เป็นลูกค้าประเภทบุคคลธรรมดาที่ต้องการฝากเงินสดเข้าบัญชีเงินฝากออมทรัพย์หรือกระแสรายวัน เพียงกรอกใบนำฝากเพื่อแจ้งเลขที่บัญชีที่ต้องการฝากเงิน และจำนวนเงิน โดยผู้ฝากจะได้รับหลักฐานการทำธุรกรรม เมื่อทำรายการเสร็จสมบูรณ์เป็นใบเสร็จ และ SMS ซึ่งผู้รับปลายทางจะได้รับเงินโดยทันที โดยรับฝากเงินสูงสุด 20,000 บาทต่อครั้ง ไม่เกิน 40,000 บาทต่อวัน ค่าธรรมเนียม 20 บาทต่อรายการ ในช่วงเปิดบริการลดค่าธรรมเนียมเหลือ 10 บาทต่อรายการจนถึงสิ้นปี 2561

ไม่เพียงเปิดรับฝากเงินเท่านั้นที่เป็นบริการใหม่ของไปรษณีย์ไทย การเปิดให้บริการรับส่งสินค้าประเภทอื่นๆ  อย่างเช่นปลาสวยงามก็สามารถทำได้แล้ว ผ่านบริการของไปรษณีย์ไทย เพื่อตอบรับผู้ประกอบการยุคอีคอมเมิร์ซ โดยนำร่องส่งปลากัดก่อน เพราะมีความแข็งแรง และจะขยายไปยังปลาสวยงามชนิดอื่นในปี 2562 ซึ่งในแต่ละปีเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาสวยงามได้ส่งออกปลากัดไปต่างประเทศกว่า 26 ล้านตัว โดยเฉพาะในสหรัฐฯที่มีกว่า 10 ล้านตัว

สนนราคาในการจัดส่งสัตว์น้ำด้วยระบบพิเศษ เริ่มต้นที่ 42-137 บาท คิดตามน้ำหนักการส่งตั้งแต่ 250 กรัม – 3 กิโลกรัม ใช้เวลาขนส่ง 1-3 วัน โดยเริ่มต้นให้บริการกลุ่มผู้ค้าปลากัดที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมประมง โดยยืนยันผ่านแอปพลิเคชั่น Wallet@Post และผู้ส่งจะต้องแสดงตัวตนก่อนส่งปลากัดทุกครั้ง ณ จุดให้บริการทั้ง 124 ที่ทำการไปรษณีย์ทั่วประเทศ ซึ่งล่าสุดไปรษณีย์ไทยได้เปิดให้บริการส่งปลากัดแล้ว 48 แห่งทั้งในกรุงเทพฯและปริมณฑล ในต่างจังหวัดอีก 73 แห่ง และไปรษณีย์ในอีก 3 อำเภอที่มีผู้ประกอบการรวมอยู่มาก

ทั้งนี้ ไปรษณีย์ไทยมีการรับประกันการส่งปลากัดหากสินค้าที่ส่งเกิดความเสียหายจะชดเชยให้ตามมูลค่าสิ่งของแต่ต้องไม่เกิน 2,000 บาท แต่จะไม่รับประกันในกรณีที่ปลาเกิดตายในระหว่างการจัดส่ง โดยส่วนนี้จะต้องเป็นไปตามข้อตกลงระหว่างผู้ขายกับผู้ซื้อ

นอกจากนี้ สิ่งที่ ไปรษณีย์ไทย สร้างความแปลกใหม่อีกครั้งคือ การขยายเวลาให้บริการไปรษณีย์ ถึง 20.00 น. และบางแห่งถึง 23.00 น. พร้อมเปิดให้บริการแบบไม่มีวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ วันหยุดนักขัตฤกษ์ และวันหยุดชดเชยในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล

จะเห็นได้ว่าเม็ดเงินในธุรกิจโลจิสติกส์นั้นพุ่งอย่างก้าวกระโดด มีการเติบโตเฉลี่ยถึง 20% นับว่าร้อนแรงมาก ซึ่งไม่น่าแปลกใจเพราะในเวลานี้พฤติกรรมนักช็อปมีการเปลี่ยนแปลงไปมาก ตอนนี้ทุกคนชอบในความสะดวกสบายในการสั่งซื้อสินค้าจากที่ไหนก็ได้ เวลาไหนก็ได้ จึงส่งผลให้ปริมาณการขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว จึงไม่แปลกใจที่ในปัจจุบัน ในธุรกิจขนส่งจะมีผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามาในตลาดค่อนข้างมาก

ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมา เจ้าตลาดอย่างไปรษณีย์ไทยได้ทุ่มเม็ดเงินกว่า 7,000 ล้านบาท เพื่อพัฒนาแอปพลิเคชัน Promptpost ที่ให้กับลูกค้ารายใหญ่หรือแม่ค้าพ่อค้าสามารถสั่งส่งของออนไลน์ล่วงหน้า เพื่อไม่ต้องรอคิว หรือบริการกล่องเหมาจ่าย รวมถึงจะรับทำหน้าที่เป็นตัวแทนธนาคารในการทำธุรกรรมการเงิน ฝากถอน อย่างล่าสุดก็เพิ่งตกลงเซ็นสัญญากับธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกสิกรไทยในการเป็นแบงกิ้งเอเยนต์

ผู้บริหาร ไปรษณีย์ไทย “สมร เทิดธรรมพิบูล” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท)”ยอมรับว่า การแข่งขันเป็นเรื่องธรรมดา เพราะเป็นโลกเสรี และ “ไปรษณีย์ไทย” (ปณท) เป็นรัฐวิสาหกิจที่ไม่ได้ผูกขาด ดังนั้นเราแข่งขันมาโดยตลอด เพียงแต่ในอดีตที่ผ่านมาคู่แข่งยังไม่ค่อยเข้ามา เพราะการส่งของยังน้อยอยู่ แต่วันนี้เมื่อเทคโนโลยีเจริญ ทำให้ปริมาณการค้าออนไลน์มีมากขึ้น จึงเป็นโอกาสธุรกิจที่ทำให้มีบริษัทขนส่งและโลจิสติกส์ ทั้งบริษัทท้องถิ่น และบริษัทต่างประเทศเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น

ความได้เปรียบของเอกชน คือ ความคล่องตัว ขณะที่ “ไปรษณีย์ไทย” เป็นหน่วยงานของรัฐ มีกฎระเบียบ ทำให้การขยับแต่ละอย่าง สู้เอกชนไม่ได้ อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญที่ทำให้ธุรกิจอยู่ได้ จากเมื่อก่อนเคยมีคำกล่าวกันว่า “ปลาใหญ่ กินปลาเล็ก” ต่อมาเป็น “ปลาเร็ว กินปลาช้า” แต่วันนี้องค์กรที่จะอยู่ได้ยืนยาว และเติบโตต่อไป คือ องค์กรที่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมได้ เพราะฉะนั้นไปรษณีย์ไทย ต้องปรับคน – องค์กร เพื่อทำให้เราอยู่ได้”

จึงเป็นที่มาของการปรับตัวและยกระดับคุณภาพบริการสู่ “ไปรษณีย์ไทย 4.0” เน้นแผนงานที่ต้องทำให้สำเร็จใน 3 ด้าน คือ

1. พัฒนาคุณภาพการให้บริการ และภาพลักษณ์การให้บริการ

2. นำเทคโนโลยีมาใช้ทั้งระบบตั้งแต่ การรับฝาก – คัดแยก – ส่งต่อ – นำจ่าย เพื่อให้รองรับปริมาณงานที่เพิ่มขึ้น

3. พัฒนาศักยภาพด้านโลจิสติกส์ เพื่อเพิ่มโอกาสการสร้างรายได้ระยะยาว โดยร่วมมือกับพันธมิตรต่างๆ

นอกจากนี้ยังได้ติดตั้ง GPS ที่รถขนส่งไปรษณีย์กว่า 1,000 คัน แล้ว เพื่อควบคุมคุณภาพการขนส่งให้ทันเวลา สามารถติดตามรถขนส่งได้แบบ Real Time ลดปัญหาความล่าช้า ซึ่งก็ทำให้การควบคุมการส่งต่อไปรษณียภัณฑ์เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด ตรงเวลา

ทั้งนี้ ไปรษณีย์ไทยมั่นใจในความรู้จริงในพื้นที่ ความชำนาญในการส่ง และเป็นมิตรกับคนในชุมชนที่ยังเชื่อใจพนักงานนำจ่าย ซึ่งมีกว่า 10,000 คน จากพนักงานทั้งหมด 36,000 คน บวกกับการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ การเพิ่มบริการใหม่ๆ จะเป็นเกราะคอยป้องกันให้ไปรษณีย์ไทยสามารถยืนหยัดและต่อกรกับคู่แข่งที่กำลังถาโถมในเวลานี้ได้เป็นอย่างดี

Related Articles

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Back to top button
X
%d bloggers like this: