แม้จะมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงในพื้นกรุงเทพฯ ห้ามการชุมนุมเกิน 5 คน รวมถึงเตือนผู้ที่เข้าร่วมชุมนุมจะมีความผิดและต้องถูกดำเนินคดี แต่ฝ่ายผู้ชุมนุมยังคงยืนยันที่จะจัดการชุมนุมอย่างต่อเนื่อง โดยมีผู้เข้าร่วมชุมนุมจำนวนมาก
ล่าสุด นักเขียน คอลัมนิสต์ชื่อดังอย่าง ‘นิ้วกลม’ สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์ ประกาศเข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่มราษฏร โดยโพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊คส่วนตัว Sarawut Hengsawad ระบุว่า
ภาพและคลิปที่ผู้ชุมนุมยืนเรียงแถวแล้วส่งต่อของไปเรื่อยๆ รวมถึงการส่งเสียงเพื่อสื่อสารกับ ‘เพื่อน’ ผู้ร่วมชุมนุมเป็นทอดๆ ทำให้รู้สึกถึงพลังของ ‘ประชาชน’ ที่สามารถเปลี่ยนแปลงสังคมไปสู่สิ่งที่ดีขึ้นได้จริงๆ และทำให้เห็นว่าทุกคนล้วนสำคัญด้วยกันทั้งนั้น
ความรู้สึกเช่นนี้เป็นความรู้สึกที่มีพลังมาก
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนี้ทำให้ย้อนกลับไปมองว่าอะไรหรือใครกันหรือที่ทำให้ผู้คนมากมายกล้าหาญและตื่นตัวกันขนาดนี้ ผมนึกถึงอะไรหลายอย่าง ผู้คนหลายคนที่ขับเคลื่อนเพื่อต่อสู้กับความไม่ถูกต้องมายาวนาน หลายคนที่พยายามอธิบายปัญหาเชิงโครงสร้างให้เข้าใจ ผมเรียนรู้ผ่านนักวิชาการ อาจารย์ นักเขียน สำนักพิมพ์ และสื่อที่ทุ่มเททำงานหนัก (สนพ.อย่างฟ้าเดียวกัน อ่าน วิภาษา สมมติ สามัญชน มติชน ฯลฯ นักเขียนจำนวนมาที่ไล่ชื่อไม่หมด สื่อ ดารา นักร้อง ผู้กำกับ และอีกหลายคนซึ่งไม่สามารถกล่าวได้หมด) องค์กรด้านกฎหมายอย่าง iLaw ที่ต่อสู้และให้ความรู้ต่อเนื่อง ผมเฝ้ามองนักศึกษา นักเรียน หนุ่มสาว ที่ต้องคารวะในความกล้าหาญของพวกเขาอย่างยิ่ง มีผู้คนมากมายหลายคนที่เสี่ยงภัยทั้งที่ถูกกระทำจากผู้มีอำนาจ บางคนเสี่ยงต่อการถูกปฏิเสธงาน ถูกแฟนๆ เลิกติดตาม หลายคนถูกจับ และน้องๆ อีกหลายคนต้องทะเลาะกับพ่อแม่ ครูอาจารย์ บางคนถูกตัดญาติ เพื่อนแอนตี้เพราะทัศนะทางการเมืองไม่ตรงกัน รวมถึงอีกหลายคนที่เผชิญหน้ากับการสลายการชุมนุมอย่างกล้าหาญ คนเหล่านี้ไม่ต่างอะไรกับ ‘ประชาชน’ ผู้ทรงพลังที่ยืนเรียงแถวกันในม็อบแล้วส่งต่อของหรือส่งเสียงบอกต่อกันไปเป็นทอดๆ
เพราะผมเชื่อว่า ความกล้าหาญและทุ่มเทของคนหนึ่งคนนั้นเขย่าหัวใจของคนที่ยังลังเลว่าจะแสดงออกอย่างไร เป็นแรงกระเพื่อมไปเรื่อยๆ
ผมเองเป็นคนหนึ่งที่ขี้ขลาด แน่นอนว่าถ้าเป็นเพื่อนใกล้ชิดย่อมรู้กันดีว่าผมอยู่ข้างฝั่งประชาธิปไตยและไม่เห็นด้วยกับการสืบทอดอำนาจของคสช. มาโดยตลอด แต่ผมไม่กล้าหาญพอที่จะแสดงทัศนะที่ชัดเจนต่อสาธารณะ และคิดเสมอว่ายังอยากพูดคุยกับคนที่คิดไม่เหมือนกัน แลกเปลี่ยนข้อมูลและมุมมองกันด้วยเหตุผลอยู่เสมอ กระทั่งถึงตอนที่พิมพ์อยู่นี้ และแสดงออกเป็นครั้งคราวในช่วงเวลาที่คิดว่าต้องส่งเสียงออกไปบ้าง แต่เทียบกับคนที่ทุ่มเทแล้วก็เหมือนเสียงกระซิบ
ผมกลัวถูกเกลียด – ชัดๆ ตรงๆ นี่คือรากความกลัว
แต่ในคืนวันสลายการชุมนุม หัวค่ำวันที่ 16 ตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งมีเพื่อนๆ น้องๆ ที่รู้จักกันหลายคนอยู่ในม็อบ บางคนแสบตาจากสารเคมีสีฟ้าที่ฉีดเข้ามาในม็อบซึ่งชุมนุมอย่างสงบปราศจากอาวุธ บางคนวิ่งหนีอย่างโกลาหลด้วยความตระหนกตกใจ ทำให้รู้สึกโกรธ เศร้า สิ้นหวัง และไม่อาจแสดงออกเฉพาะในกลุ่มเพื่อนได้อีกต่อไป เพราะรับรู้ถึงความทุกข์และเจ็บปวดจาก ‘เพื่อน’ ทั้งที่เป็นเพื่อนใกล้ชิดและเพื่อนร่วมสังคม
ผมอ่านสเตตัสของตุล-คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง ที่บอกว่าความรู้สึกเวลาไปม็อบคือต้องการไป ‘อยู่ตรงนั้น’ เคียงบ่าเคียงไหล่กับเพื่อน ซึ่งหมายถึงคนที่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันในสังคมไทยในสภาพที่เป็นอยู่ เวลาใครไปม็อบ เขาจะบอกว่า “แล้วเจอกัน” ทั้งที่ไม่รู้ว่าจะเจอไหม แต่ ‘เจอกัน’ นั้นหมายถึงการส่งกำลังใจและยืนยันว่า ‘กูอยู่ข้างมึง’ ผมซาบซึ้งใจกับ ‘เพื่อน’ ในความหมายนี้
ไม่ใช่แค่เพื่อนที่เราคบหากัน แต่คือเพื่อนที่เดือดร้อนและทุกข์ทนกับอำนาจที่ไร้ความเป็นธรรม ระบบโครงสร้างเศรษฐกิจ สังคม การเมืองที่ทำให้ความเป็นอยู่ สิทธิ เสรีภาพ สวัสดิการ การตรวจสอบไม่สามารถนำมาถกเถียงได้อย่างเสรีและเท่าเทียมกัน
ฉะนั้น เพื่อนจึงช่วยเพื่อนร่วมผลักดันให้เกิด
#การเมืองดี เพื่อเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองให้ดีกว่าที่เป็นอยู่
หลายคนพูดชัดว่า ไม่ได้ต่อสู้กับตัวบุคคล แต่กำลังต่อสู้กับโครงสร้าง กฏกติกา และความไม่ถูกต้อง สิ่งที่พวกเขากำลังต่อสู้มิใช่เพื่อโค่นล้มสถาบันใด หากคือต้องการชวนคิดชวนคุยด้วยเหตุผลเพื่อปรับเปลี่ยนในสิ่งที่สามารถเปลี่ยนปรับให้เหมาะสมและเป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่าย สิ่งเหล่านี้สามารถทำได้หากฝ่ายมีอำนาจรับฟัง และออกแบบวิธีเพื่อเปิดพื้นที่ให้เสียงที่หลากหลายได้แลกเปลี่ยนกัน และมีส่วนร่วมในการหาทางออกร่วมกัน มิใช่เอาแต่กดทับและปราบปราม
ผมอ่านสเตตัสของหมออ๊อฟ (เพื่อนในเฟซบุ๊ก) ซึ่งเขียนว่า คนที่ไม่ยอมแสดงตัวว่าเลือกสนับสนุนฝ่ายไหนเพราะคิดว่าทุกฝ่ายล้วนสกปรก ทุกฝ่ายล้วนมีคนชั่วหรือพฤติกรรมแย่ๆ อยู่ในนั้น ซึ่งในความเป็นจริงก็เป็นเช่นนั้น ใครๆ ก็รู้กันว่าทุกฝ่ายหรือทุกม็อบก็ต้องมีคนที่ทำพฤติกรรมแย่ๆ เลวๆ ไม่ใช่ไม่รู้ แต่นั่นไม่ใช่เหตุผลที่จะทำให้ไม่ส่งเสียงสนับสนุน ‘ประเด็นสำคัญ’ ของการเคลื่อนไหว เพราะระหว่างขับเคลื่อนไป เราก็วิพากษ์วิจารณ์คนที่ทำผิดในฝั่งเดียวกันได้ด้วย ตักเตือนกันได้ และการเป็นสมาชิกในสังคมที่ต้องการเปลี่ยนแปลงนั้นอาจจำเป็นต้องยอมร่วมขบวนที่มีริ้วรอยแปดเปื้อนบ้าง หากคงตนให้บริสุทธิ์ผุดผ่องตลอดก็จะไม่ได้ใช้พลังของตัวเองเลย – อ่านจบ ผมรู้สึกว่าสเตตัสนี้เขย่าใจตัวเองไม่น้อย
ผมเป็นคนหนึ่งที่เป็นเช่นนั้น และเห็นด้วยกับหมออ๊อฟและตุลว่า การร่วมทุกข์ร่วมสุขเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมนั้นคือการร่วมทางไปด้วยกัน ย่อมมีรายละเอียดที่ชวนหงุดหงิดหรือคลุกดินคลุกฝุ่นบ้าง หากนั่นแหละคือหนทางของความรู้สึก ‘เป็นพี่เป็นน้อง’ ทางสังคม
อย่างน้อยผมก็ยังรู้สึกโอเคที่ตัวเองรู้สึกรู้สากับผู้ชุมนุมในวันสลายม็อบ ผมคิดว่าในฐานะคนในสังคมเดียวกัน แม้คิดแตกต่าง อย่างน้อยที่สุดก็ไม่ควรถึงขั้นสะใจเมื่อเกิดการกระทำรุนแรงขึ้นไม่ว่ากรณีใด (เหตุใดการสลายชุมนุมจึงรุนแรง มีผู้อธิบายไว้มากมายแล้ว)
และต้องยอมรับว่า ภาพการสลายการชุมนุมซึ่งจัดขึ้นในเวลาไม่กี่ชั่วโมง และพร้อมแยกย้ายในค่ำคืนเดียว แถมยังเต็มไปด้วยเยาวชนในค่ำคืนนั้น ทำให้รู้สึกว่า อย่างน้อยก็ขอเป็นอีกคนหนึ่งที่ยืนข้างๆ เพื่อนพี่น้องที่กำลังต่อสู้กับความไม่ถูกต้องและไม่เป็นธรรม
ผมเองไปร่วมชุมนุมมาบางครั้ง แต่ไม่ได้แสดงออกในที่สาธารณะ เพราะอย่างที่บอกว่าขี้ขลาดเกินกว่าจะทำ ถึงวันนี้ผมอยากขอบคุณเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ที่แสดงออกในทุกวิธี ที่ช่วยเพิ่มความกล้าหาญให้ตัวผมเองมากขึ้น
ยิ่งคนออกมามาก ยิ่งปลอดภัย – ผู้ชุมนุมมักบอกกันแบบนี้
ผมคิดว่าการแสดงออกทางการเมืองไม่ควรเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย แม้คิดไม่ตรงกันก็ฟังกันได้ แลกเปลี่ยนกันได้ แต่ถ้าผิดหวังและทนไม่ไหวจริงๆ หากต้องแยกทางก็คงจะต้องเป็นไปตามนั้น วันข้างหน้าอาจมีเหตุบางอย่างทำให้เราเข้าใจกันมากขึ้นก็เป็นได้
ผมเองเคารพทุกความคิดเห็น ความศรัทธา และความรู้สึก ยกเว้นความรู้สึกสะใจหรือยินดีที่ได้เห็นคนอื่นถูกกระทำรุนแรงและคุกคาม ผมคิดว่าความรู้สึกเช่นนี้เป็นภัยต่อตัวท่านเองและเป็นพิษต่อสังคม
สำหรับเพื่อนพี่น้อง ญาติ และผู้อ่านผู้ชมทุกคนที่คิดไม่เหมือนกัน ผมยังเคารพรักและปรารถนาดีต่อทุกคนไม่เปลี่ยนแปลง อย่างที่เคยเขียนไป–เรายังคบกันได้ แต่ถ้าใครหงุดหงิดใจจนอยากแยกทางกันไปก็เข้าใจเช่นกันครับ
เขียนมาทั้งหมดเพื่อขอบคุณทุกคนที่ทำให้ผมกล้าหาญขึ้น เพื่อน น้อง พี่ ทุกคนจริงๆ ครับ ผมขอเป็นส่วนหนึ่งกับ ‘เพื่อน’ ร่วมสังคมที่จะเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ไม่ถูกต้องให้เป็นธรรมมากขึ้น ขอต่อแถวส่งหมวกส่งร่มและส่งเสียงอยู่ในขบวนการชุมนุมโดยสงบด้วยคน
สำหรับ สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์ ชื่อเล่น เอ๋ หรือเป็นที่รู้จักในนามปากกาว่า นิ้วกลม (เกิด 15 ตุลาคม พ.ศ. 2521) เป็นครีเอทีฟโฆษณา ผู้กำกับโฆษณา นักเขียน พิธีกรชาวไทย มีผลงานสร้างชื่ออย่าง โตเกียวไม่มีขา
ชื่อนิ้วกลม เริ่มจากตอนที่เขียนเริ่มใช้อินเทอร์เน็ต ในเว็บบอร์ดคณะ ที่เขามักชอบเข้าไปตั้งกระทู้เห็นคนอื่นมีนามจอ (นามปากกาที่ใช้ในจอคอมพิวเตอร์) อย่าง “ตัวกลม” จึงเริ่มมองดูนิ้วตัวเอง แล้วตั้งนามจอว่า “นิ้วกลม” และจึงใช้นามปากกานี้มาอย่างต่อเนื่อง
นิ้วกลมเป็นบุตรคนเล็กจากทั้งหมดสามคนของครอบครัว บิดามารดาเปิดร้านขายของชำ มีพี่สาวสองคน[2] เข้าศึกษาที่โรงเรียนเซนต์จอห์น จากนั้นศึกษาที่โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) และศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภาควิชาการออกแบบอุตสาหกรรม ในช่วงเรียนปี 5 เขากับเพื่อนอีก 7 คน ใช้ชื่อว่า “dim” ทำหนังสือทำมือไปเสนอ กระทั่งได้เขียนคอลัมน์ E=iq2 และงานเขียนต่าง ๆ ที่เป็นลักษณะของสนามทดลองสมมติฐาน เช่น การเขียนกลับหลัง การเขียนด้วยตัวพยัญชนะและรูปแบบที่ไม่คุ้นชิน
หลังจากศึกษาจบเข้าฝึกงานที่ลีโอเบอร์เนตต์ บริษัททางด้านโฆษณา เข้าเรียนเพิ่มเติมการผลิตสื่อโฆษณาของสมาคมผู้กำกับศิลป์บางกอก (B.A.D. Bangkok Art Directors) ผลงานของเขาได้รับรางวัลชนะเลิศในหมู่นักเรียน B.A.D. โดยในการแข่งขันออกแบบโฆษณาสิ่งพิมพ์เพื่อรณรงค์ให้ประเทศไทยปลอดจากคอรัปชั่น โดยเขาประกวดโดยการส่งงานที่เป็นกุญแจรถบีเอ็มดับเบิลยูกับกระดาษพับที่มีข้อความว่า “สวัสดีคณะกรรมการ Junior B.A.D. Awards ทุกท่านครับ เห็นว่าพวกท่านทำงานกันหนัก อยากให้พวกท่านได้นั่งรถสบายๆ จึงส่งรถคันนี้มาเป็นของกำนัล ยังไงตอนให้คะแนนก็ช่วยพิจารณางานชิ้นนี้ของผมเป็นพิเศษหน่อยนะครับ ขอบคุณล่วงหน้าครับ…ประเทศไทยในฝัน? ไม่มีคอรัปชั่น คำตอบอยู่ที่คุณ”
จากนั้นเริ่มงานใหม่ที่ JWT มีผลงานสร้างสรรค์โฆษณาอย่างเช่น เบียร์เชียร์ ช็อกโกแลตคิดแคต แว่นท็อปเจริญ ฯลฯ เขายังทำของผลิตภัณฑ์เครื่องกีฬาอย่างอาดิดาส ที่ประเทศจีน ในช่วงการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน 2008 ที่ปักกิ่ง
ด้านผลงานคอลัมนิสต์ เขียนให้กับนิตยสารอะเดย์ และหลังจากนั้นเริ่มมีตีพิมพ์รวมเล่ม โดยเฉพาะสารคดีท่องเที่ยวอย่าง โตเกียวไม่มีขา (2547) กัมพูชาพริบตาเดียว (2548) เนปาลประมาณสะดือ (2549) สมองไหวในฮ่องกง (2550) และ นั่งรถไฟไปตู้เย็น (2551) และยังมีเขียนนวนิยายเรื่อง นวนิยายมีมือ (2550) และรวมบทความชื่อ อิฐ (2548) ณ (2550) เพลงรักประกอบชีวิต (2551) และ หิมาลัยไม่มีจริง (2560) เขายังได้เขียนเพลงร่วมกับ แสตมป์ อภิวัชร์ เอื้อถาวรสุข ในเพลง “ทฤษฎีสีชมพู”
นอกจากนั้นเป็นพิธีกรรายการโทรทัศน์ทางช่องไทยพีบีเอส ได้แก่รายการพื้นที่ชีวิต, รายการเป็นอยู่คือ, รายการวัฒนธรรมชุบแป้งทอด และรายการ Status Story นิ้วกลมยังมีสำนักพิมพ์ของตัวเอง ใช้ชื่อว่า KOOB ที่มาจากคำว่า BOOK ย้อนกลับหลัง
Post Views:
827
Like this: Like Loading...
Related