เช็คด่วน! เปิด 30 รายชื่อ “น้ำส้มคั้นสด-น้ำส้มแท้ 100%” เกินครึ่งพบสารเคมีตกค้างอื้อ
ในบรรดาเครื่องดื่มที่ทำจากผลไม้ น้ำส้ม เป็นน้ำผลไม้ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดครองใจคนไทยมาโดยตลอด ด้วยรสชาติหวานเข้มอมเปรี้ยวลงตัวและมีกลิ่นหอมอ่อนๆ ทำให้เป็นที่นิยมดื่มกันทุกเพศวัย และไม่เพียงแต่รสชาติถูกใจยังได้รับการยอมรับด้วยว่า มีคุณค่าทางโภชนาการสูง อุดมด้วยแร่ธาตุและวิตามินซึ่งมีประโยชน์ต่อสุขภาพ แต่จะเป็นความจริงหรือไม่ เรามาลองดูผลวิเคราะห์ตัวอย่าง “น้ำส้มคั้น” ที่นิตยสารฉลาดซื้อ โดยโครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ นำมาทดสอบ ทั้งคุณภาพทางเคมี ได้แก่ วัตถุกันเสีย(กรดซอร์บิกและกรดเบนโซอิก) ปริมาณน้ำตาล การตรวจวิเคราะห์หาการตกค้างของสารเคมีการเกษตร และการวิเคราะห์หาการตกค้างของยาปฏิชีวนะ 4 ชนิด ซึ่งเก็บตัวอย่างกันแบบสดใหม่ในช่วงเดือนสิงหาคม ที่ผ่านมา จำนวนทั้งสิ้น 30 ตัวอย่าง โดยเกณฑ์การคัดเลือกตัวอย่าง คือ
1.เก็บจากสถานที่จำหน่ายน้ำส้มคั้นสด จำนวน 25 ตัวอย่าง ในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล และจังหวัดเชียงใหม่(1 ตัวอย่าง) และ
2.น้ำส้มบรรจุกล่องผ่านการพาสเจอร์ไรซ์ ที่ระบุบนฉลากว่าเป็นน้ำส้ม 100 เปอร์เซ็นต์ จำนวน 5 ตัวอย่าง ซึ่งผลตรวจสอบพบสารเคมีตกค้างสูงในน้ำส้ม 18 ตัวอย่าง คิดเป็น 60% และไม่พบสารตกค้างในน้ำส้ม 12 ตัวอย่าง คิดเป็น 40%
โดยสารเคมีที่ตกค้างมีจำนวน 13 ชนิด ได้แก่ Imazalil พบในน้ำส้ม 8 ยี่ห้อ, Imidacloprid พบในน้ำส้ม 8 ยี่ห้อ, Ethion พบในน้ำส้ม 5 ยี่ห้อ, Carbofuran พบในน้ำส้ม 4 ยี่ห้อ, Carbendazim พบในน้ำส้ม 3 ยี่ห้อ, Acetamiprid พบในน้ำส้ม 3 ยี่ห้อ, Carbofuran-3-hydroxy พบในน้ำส้ม 3 ยี่ห้อ, Profenofos พบในน้ำส้ม 2 ยี่ห้อ, Chlorpyrifos พบในน้ำส้ม 1 ยี่ห้อ, Methomyl พบในน้ำส้ม 1 ยี่ห้อ, Azoxystrobin พบในน้ำส้ม 1 ยี่ห้อ, Fenobucarb พบในน้ำส้ม 1 ยี่ห้อ และ Prothiofosพบในน้ำส้ม 1 ยี่ห้อ
ขณะที่ผลการทดสอบวัตถุกันเสีย พบในน้ำส้มเพียง 4 ตัวอย่าง แต่ไม่เกินมาตรฐาน ซึ่งในน้ำส้ม 3 ตัวอย่าง มีกรดเบนโซ และกรดซอร์บิกพบในน้ำส้ม 2 ตัวอย่าง พบใน ซึ่งปริมาณที่พบอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข คือ ไม่เกิน 200 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ส่วนปริมาณน้ำตาลพบว่ามีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 9.84 กรัม/100 มิลลิลิตร ด้านผลทดสอบยาปฏิชีวนะทั้ง 4 ชนิด ไม่พบการตกค้างในทุกตัวอย่าง แต่ก็ไม่สามารถยืนยันได้ว่าจะไม่มีการใช้ยาปฏิชีวนะ
ข้อมูล มูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค