“เจเอแอล”เตือนสมาร์ทซิตี้เสี่ยงทางไซเบอร์
ในขณะที่หลายๆ เมืองในเอเชียแปซิฟิกกำลังพัฒนาไปสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ หรือ สมาร์ทซิตี้ การนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาใช้กับอสังหาริมทรัพย์และระบบสาธารณูปโภคมากขึ้น อาจนำไปสู่ความเสี่ยงด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์มากขึ้นตามไปด้วย ตามการวิเคราะห์โดยบริษัทที่ปรึกษาและบริการด้านอสังหาริมทรัพย์ เจแอลแอล ในรายงานที่มีชื่อว่า ‘Clicks and Mortar: The Growing Influence of Proptech’
รายงานฉบับดังกล่าวจัดทำขึ้นโดยเจแอลแอล ด้วยความร่วมมือกับ Tech In Asia ซึ่งเป็นองค์กรเอกชนที่จัดทำเว็บไซต์นำเสนอข่าวสาร จัดกิจกรรม และเป็นสื่อกลางการหางานหรือพนักงาน สำหรับแวดวงเทคโนโลยีและธุรกิจสตาร์ทอัพ โดยได้วิเคราะห์การหลอมรวมกันของเทคโนโลยีกับอสังหาริมทรัพย์ และการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ในแวดวงอสังหาริมทรัพย์ใน 13 หัวเมืองสำคัญของเอเชียแปซิฟิก
สมาร์ทซิตี้ เป็นแนวคิดที่กำลังถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลายทั่วโลก รวมถึงหลายๆ ประเทศในเอเชียแปซิฟิก ตัวอย่างเช่น จีนได้เริ่มกระบวนการเปลี่ยนเมืองกว่า 500 เมืองของตนให้กลายเป็นสมาร์ทซิตี้ อินเดียเปิดเผยแผนที่จะเปลี่ยนเทศบาลนคร 100 แห่งให้เป็นสมาร์ทซิตี้ เช่นเดียวกับญี่ปุ่นและเกาหลีที่มีการประกาศโครงการแล้ว สิงคโปร์ประกาศวิสัยทัศน์สมาร์ทเนชั่น (ชาติอัจฉริยะ) ในปี 2557 และเมื่อเดือนมีนาคมปีนี้ รัฐบาลออสเตรเลียประกาศจัดสรรเงินทุน 23 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สำหรับสนับสนุนการพัฒนาสมาร์ทซิตี้ของประเทศในอาเซียน
ส่วนประเทศไทย มีการเริ่มโครงการสมาร์ทซิตี้นำร่องในสามจังหวัด ได้แก่ ภูเก็ต เชียงใหม่และขอนแก่น และเมื่อปลายปีที่ผ่านมา มีการประกาศแผนที่จะขยายสมาร์ทซิตี้นำร่องเพิ่มในอีกสี่จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ และสามจังหวัดในโครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ได้แก่ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา พร้อมตั้งเป้าจะให้ประเทศไทยมีสมาร์ทซิตี้ 100 แห่งภายใน 20 ปี
ตามบทวิเคราะห์ในรายงานของเจแอลแอล ภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มีการพึ่งพาเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าสูงขึ้น ทำให้ต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่สูงขึ้นด้วย โดยเฉพาะภาคธุรกิจที่อยู่อาศัยซึ่งมีธุรกิจสตาร์ทอัพจำนวนมากที่พัฒนา proptech ขึ้นมาสำหรับให้บริการ
อย่างไรก็ดี ไม่ได้หมายความว่า ภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ประเภทอื่นๆ ที่ไม่ใช่ที่อยู่อาศัย จะไม่มีความเสี่ยงทางไซเบอร์ เพราะอสังหาริมทรัพย์ทุกประเภทล้วนมีการพึ่งพาเทคโนโลยี
อนึ่ง สมาร์ทซิตี (smart city) หรือ เมืองอัจฉริยะ เป็นรูปแบบการประยุกต์เทคโนโลยีดิจิตัล หรือข้อมูลสารสนเทศและการสื่อสารในการเพิ่มประสิทธิและคุณภาพของบริการชุมชน เพื่อช่วยในการลดต้นทุน และลดการบริโภคของประชากร โดยยังคงเพิ่มประสิทธิภาพให้ประชาชนสามารถอยู่อาศัยได้ในคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น