หวานอมขมกลืน “ฟาร์มเฮ้าส์VSเซเว่น”
เคยสงสัยกันบ้างหรือไม่ว่า ทำไมขนมปังฟาร์มเฮ้าส์ในร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่น ลดพื้นที่ขายน้อยลงไปทุกที และชนิดสินค้าที่มีให้เลือกก็น้อยลงตามสัดส่วนพื้นที่ที่ลดลง แถมบางสาขายังมีสินค้าวางแบบหร่อยหรอกระปริบกระปรอยเต็มที งานนี้คนชอบทานขนมปังโดยเฉพาะขาประจำของฟาร์มเฮ้าส์คงกังขากันไม่ใช่น้อย
ในทางกลับกัน ขนมปังและเบเกอรี่ แบรนด์ เลอแปง ที่ผลิตโดยบริษัท ซีพีแรม ในเครือเจริญโภคภัณฑ์หรือ ซีพี กลับมีขนมปังหลายชนิดหลากรสให้เลือกมากมาย อัดแน่นเต็มพื้นที่ตลอดเวลา ยิ่งทำให้เห็นความแตกต่างอย่างชัดเจนมากขึ้น
ถ้ามองกันแบบชิลชิล มีเหตุผลที่เห็นได้ชัดเจนว่า ซีพีแรมเป็นสินค้าในเครือเดียวกับซีพีออลล์ หรือเรียกง่ายๆว่าอยู่ใต้ร่มเงาซีพีเหมือนกัน และการเกิดของเลอแปงก็เพราะต้องการมีสินค้ากลุ่มขนมปังและเบเกอรี่เข้ามาชิงตลาดจากเดิมที่ฟาร์มเฮ้าส์ครองตลาดด้วยส่วนแบ่งกว่า 80% จนกล่าวได้ว่าเกือบผูกขาดตลาด แถมยังมีการเติบโตที่ดีต่อเนื่อง ทำให้ซีพีแรมมองเห็นโอกาสในตลาดเช่นกัน
ส่วนอีกเหตุผลลึกๆ ที่น้อยคนจะรู้ก็คือ เพราะฟาร์มเฮ้าส์ไม่ยอมเข้าระบบการค้าของเซเว่นอีเลฟเว่น ที่ต้องการเปลี่ยนระบบการค้าขายกับซัพพลายเออร์เป็นการซื้อขาดทั้งหมด ซึ่งปัจจุบันทำได้แล้วประมาณ 90% และสินค้าที่จะจำหน่ายในร้านเซเว่นอีเลฟเว่นต้องใช้ระบบกระจายสินค้าของเซเว่น นั่นคือ นำสินค้าไปส่งที่ดีซีหรือคลังสินค้าของเซเว่นแล้วเซเว่นจะเป็นผู้กระจายสินค้ามายังสาขาเองโดยคิดค่ากระจายสินค้าจากซัพพลายเออร์
แล้วทำไมฟาร์มเฮ้าส์ถึงไม่ยอมทั้งที่มองแล้วจะช่วยลดความยุ่งยากได้มาก เพราะจำนวนร้านเซเว่นอีเลฟเว่นที่มีนับหมื่นสาขา
นั่นก็เพราะปัจจุบัน ฟาร์มเฮ้าส์ได้ลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาร้านค้าปลีกประเภทโมเดิร์นเทรดด้วยการหันไปรุกตลาดร้านค้าปลีกรายย่อยหรือโชห่วยมากขึ้น เนื่องจากเห็นแนวโน้มแล้วว่า บรรดาโมเดิร์นเทรดจะผลิตสินค้าเฮ้าส์แบรนด์มาแข่งกับสินค้าแบรนด์ปกติมากขึ้น รวมถึงกลุ่มขนมปัง เบเกอรี่ที่เห็นได้ชัดเจนว่าทั้งบิ๊กซี เทสโก้โลตัส รวมถึงเซเว่นอีเลฟเว่นเองก็มีสินค้าเฮ้าส์แบรนด์กลุ่มนี้มาทำตลาดแข่งขันชิงก้อนเค้กก่อนนี้แล้วทั้งสิ้น
การลดความเสี่ยงของฟาร์มเฮ้าส์ที่เดินหน้าตะลุยเจาะร้านค้ารายย่อย นำมาซึ่งการลงทุนสร้างทีมขนส่งที่มีประสิทธิภาพสูง ทั้งรถบรรทุก รถสี่ล้อ ทีมขายตรงเข้าร้านค้า อุปกรณ์การขายที่ทันสมัย และด้วยจำนวนร้านค้ารายย่อยที่สามารถเข้าถึงได้หลัก 1-2 แสนร้านค้าทั่วประเทศ ทำให้ต้นทุนการขนส่งของฟาร์มเฮ้าส์ลดลงหรืออยู่ที่ประมาณ 2-3% เท่านั้น แต่หากให้เซเว่นอีเลฟเว่นเป็นผู้กระจายสินค้า ฟาร์มเฮ้าส์จะเพิ่มค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ถึง 7% จากยอดขาย ยังไม่รวมค่าส่วนแบ่งกำไรจากยอดขายที่ต้องจ่ายให้เซเว่นอีเลฟเว่นอยู่แล้ว
ดังนั้น ฟาร์มเฮ้าส์จึงยอมที่จะลดพื้นที่ในร้านเซเว่นอีเลฟเว่นลง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะไม่มีทางเลือก แต่หันไปสร้างยอดขายจากร้านค้ารายย่อยทั่วประเทศเข้ามาทดแทน ซึ่งก็ถือว่าทำได้ดีทีเดียว
ฝั่งยักษ์เซเว่นอีเลฟเว่นเอง ก็ทำอะไรไม่ได้มากกว่าการสร้างแบรนด์เข้ามาตีตลาด ซึ่งจนถึงขณะนี้ก็ต้องยอมรับว่าทำได้ดีระดับหนึ่ง เพราะแม้ว่าแบรนด์ฟาร์มเฮ้าส์จะได้เปรียบด้านความแข็งแกร่งของแบรนด์ในฐานะผู้นำตลาดที่ทำตลาดมายาวนานและเป็นผู้เปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคให้ทานขนมปังทดแทนข้าวได้ในยามเร่งด่วน แต่เมื่อลูกค้าเข้าไปในร้านค้าแล้วไม่เจอสินค้าที่ต้องการก็ต้องยอมรับเช่นกันว่า ขนมปังเป็นสินค้าที่สามารถทดแทนกันได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันที่ฟาร์มเฮ้าส์ดูจะลดการทุ่มงบตอกย้ำแบรนด์ลงไปพอสมควร ทำให้เกิดการซื้อทดแทนได้ง่ายยิ่งขึ้น
สภาวะตอนนี้จึงเปรียบได้ว่า ทั้งฟาร์มเฮ้าส์และเซเว่นอีเลฟเว่นต่างหวานอมขมกลืนเพราะยังต้องทำการค้ากันไปโดยมีเป้าหมายเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก เพราะจะจำหน่ายเลอแปงเพียงแบรนด์เดียว ต้องเกิดคำถามจากลูกค้าแน่นอนว่าฟาร์มเฮ้าส์หายไปไหน ดีไม่ดีจะกลายเป็นผู้ร้ายรังแกซัพพลายเออร์เหมือนเคย จึงต้องมีพื้นที่ให้ฟาร์มเฮ้าส์ขายเพื่อไม่ต้องมานั่งตอบคำถามสังคม
ขณะที่ฟาร์มเฮ้าส์เองก็ยังจำเป็นต้องขายในเซเว่นอีเลฟเว่นด้วยจำนวนสาขานับหมื่นที่ยังสร้างยอดขายได้ไม่น้อย โดยเฉพาะกลุ่มขนมปังแผ่นที่ปัจจุบันยังไงก็ต้องเป็นฟาร์มเฮ้าส์เท่านั้น และหาทางออกด้วยการไปเพิ่มทางเลือกให้ผู้บริโภคให้ซื้อหาได้ในทุกร้านโชห่วย
หากดูผลประกอบการของบริษัท เพรซิเดนท์ เบเกอรี่ เจ้าของแบรนด์ ฟาร์มเฮ้าส์ เมื่อไตรมาส 3 ปี 2560 (เดือนก.ย.2560) ที่ผ่านมาพบว่า มียอดขายรวม 339,334,000 บาท ลดลงจาก 425,079,000 บาท เมื่อไตรมาส 3 ปี 2559 และหากพิจารณาผลประกอบการ 9 เดือนปี 2560 อยู่ที่ 973,084,000 บาท ลดลงจาก 9 เดือนปั 2559 ซึ่งอยู่ที่ 1,082,047,000 บาท
อีกทางออกหนึ่งของฟาร์มเฮ้าส์คือ การขยายไลน์ธุรกิจโดยไม่จำกัดเฉพาะขนมปัง เบเกอรี่เท่านั้น เห็นได้จากการร่วมทุนกับบริษัทร้านอาหารรายใหญ่จากญี่ปุ่น นำแฟรนไชส์ร้าน “ชาโบเตน” ซึ่งเป็นเบอร์ 1 ของหมูทอดทงคัตสึจากญี่ปุ่นมาขยายธุรกิจในเมืองไทย และยังคงมองหาธุรกิจอาหารใหม่ๆ เข้ามาเสริมพอร์ตอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ปัจจุบัน บริษัท เพรซิเดนท์ เบเกอรี่ มี 4 สายธุรกิจด้วยกันคือ 1. ธุรกิจเบเกอรี่ค้าส่ง 2. ธุรกิจเบเกอรี่ค้าปลีก 3. ธุรกิจฟาสต์ฟู้ด และร้านอาหาร ภัตตาคาร และ 4. ธุรกิจส่งออก
ดังนั้น ทางรอดของฟาร์มเฮ้าส์ที่ทำได้นับจากนี้คือ ต้องทำทั้งแนวตั้งและแนวนอน นั่นคือ การขยายช่องทางจำหน่ายใหม่ๆ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการขยายไลน์ธุรกิจใหม่ๆ เพื่อสร้างรายได้ให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งน่าจะเห็นความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ภายในปีนี้ หลังจากบริษัท สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) เข้าซื้อหุ้นทั้ง บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) บริษัท เพรซิเดนท์ไรซ์โปรดักส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตข้าวต้มกึ่งสำเร็จรูปมาม่า และเส้นหมี่ขาว เส้นก๋วยเตี๋ยวมาม่า และบริษัท เพรซิเดนท์ เบเกอรี่ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ฟาร์มเฮ้าส์ ซึ่งจะมีการซินเนอร์ยี่ธุรกิจเพื่อสร้างความแข็งแกร่งมากขึ้น
กลายเป็นอีกหนึ่งกรณีที่น่าศึกษาของท้ั้ง 2 แบรนด์ผู้ยิ่งใหญ่ในเวทีเดียวกัน ท่ามกลางข้อกังขาต่อภาพลักษณ์การทำธุรกิจของเจ้าพ่อร้านสะดวกซื้อเมืองไทย อย่าง เซเว่นอีเลฟเว่น ที่คุณก็รู้ว่าใครเป็นเจ้าของ !!!!