Columnist

หมุนกงล้อประวัติศาสตร์การเมืองไทย! อะไรที่จะทำให้ ‘ประยุทธ์’ลาออก ?

       ***** บทความนี้บางตอนผ่านการวิเคราะห์และเรียบเรียงด้วยถ้อยคำภาษาที่สุภาพจากเหตุการณ์ทางการเมืองไทยที่เคยเกิดขึ้นในอดีต มิได้มีจุดประสงค์เพื่อการชี้นำแต่อย่างใด อาจมีบางประเด็นที่ไม่ใช่ข้อมูลจากการสำรวจโดยสำนักโพลซึ่งเกรงใจรัฐบาล #มีฤทธิสร้างความระคายเคืองระหว่างการอ่าน *****

เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าต่อให้มีการชุมนุมกดดันให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลาออกจากตำแหน่ง หรือจะขับไล่อย่างไร และในอนาคตจะมีอีกกี่ครั้ง อำนาจวันนี้ที่มีนั้นทำให้นายกฯ กลายเป็น “ทองไม่รู้ร้อน” ไปแล้ว

ใช้กำลังและอาวุธสลายการชุมนุมที่ไม่ได้เข้าข่ายหลักสากลก็ยังไม่ทำให้ขาเก้าอี้ของ พล.อ.ประยุทธ์ สั่นคลอน

การบริหารที่ล้มเหลวช่วงวิกฤตประชาชนล้มตายเป็นจำนวนมาก จนกลายเป็น Fail State ก็ไม่ได้ระคายเคืองให้นายกฯรู้สึกกระดากแต่อย่างใด

แล้วจะมีเหตุผลอะไรทำให้ นายกฯ พ้นจากตำแหน่ง แบบไม่ต้องเหนื่อยให้ออกมาชุมนุมกดดันให้ลาออก

 

4 เหตุผลต่อไปนี้มาไล่เรียงจากความเป็นไปได้น้อยที่สุดไปถึงเป็นได้มากที่สุดในทางทฤษฎี ซึ่งผมยืนยันว่า 3 ใน 4 ข้อ ที่ทุกท่านจะได้รับทราบต่อไปนี้ คือทางทฤษฎี ยกเว้นข้อสุดท้ายที่เป็นไปในทางปฏิบัติ
       
1 #ปฏิวัติโดยทหาร “หนามยอกเอาหนามบ่ง”
หลายคนมองว่าเรื่องนี้เป็นไปไม่ได้เลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรวบอำนาจเบ็ดเสร็จเริ่มจากการสร้างทายาทอสูรขึ้นมาคุมกองทัพ และเข้าไปจัดการด้วยการรวบอำนาจในกระทรวงกลาโหม พร้อมทั้งให้รางวัลด้วยการอนุมันิซื้อยุทโธปกรณ์ตามที่กองบัญชาการ 4 กองทัพร้องขอ เรียกได้ว่าซื้อใจกันสุดๆ

แต่กงล้อประวัติศาสตร์การเมืองไทยมันเคยหมุนมาอย่างนั้นครับ ผมอยากจะยกตัวอย่างสัก 2 กรณี
1. การเลือกตั้งครั้งที่ 9 ในไทยมีขึ้นเมื่อวันที่ 26 ก.พ. 2500 จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีขณะนั้น ได้ประกาศจะจัดการเลือกตั้งให้บริสุทธิ์ ถวายเป็น “พุทธบูชา” เนื่องในโอกาสครบรอบวาระกึ่งพุทธกาล หลังผลการเลือกตั้ง สื่อมวลชนออกมาประนามว่าเป็นการเลือกตั้งที่สกปรก แต่จอมพล ป.แถลงต่อหนังสือพิมพ์ว่า อย่าเรียกว่าการเลือกตั้งสกปรก ควรจะเรียกว่าเป็น “การเลือกตั้งไม่เรียบร้อย”

ต่อมาเหตุการณ์บานปลายกลายเป็นความขัดแย้งกันระหว่างกลุ่มทหารและตำรวจที่สนับสนุน จอมพล ป. และ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการทหารบก จนกลายเป็นการรัฐประหารในวันที่ 16 ก.ย. 2500 โดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นหัวหน้าเข้าทำการโค่นอำนาจ

ซึ่งทำให้สยามเข้าสู่ยุคพ่อขุนอุปถัมถ์แบบเผด็จการทหารครองอำนาจจนถึงปี 2516
2. เหตุการณ์รัฐประหารตนเอง ในเวลา 19.00 น. ของวันที่ 17 พ.ย. 2514หลังจากรัฐบาลเสนอร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2515 ผ่าน สภาผู้แทนราษฎร เมื่อ ก.ค. 2514 แล้วสภาฯ ผู้อนุมัติรับหลักการในวาระที่ 1 เรียบร้อยแล้ว แต่เพราะ ส.ส. บางส่วนต้องการเพิ่มเงินงบประมาณในส่วนเงินบำรุงท้องที่เป็นเงิน 448 ล้านบาทจากที่รัฐบาลได้จัดสรรเงินให้เพียง 224 ล้านบาท ทำให้เกิดเป็นความขัดแย้งกันระหว่างรัฐบาลและ ส.ส. บางส่วน

จอมพลถนอม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ,รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ,หัวหน้าพรรคสหประชาไทยและนายกรัฐมนตรี เจ้าของฉายา “นายกฯคนซื่อ” ควบคุมสถานการณ์ในสภาผู้แทนราษฎรไม่ได้ เลยยึดอำนาจตนเองเสียอย่างนั้น

โดยมีคำปรารภในการยึดอำนาจตัวเองครั้งนี้ว่า “ภัยที่คุกคามประเทศและราชบัลลังก์ สถานการณ์ภายใน ความวุ่นวายทั้งภายในและภายนอกสภานิติบัญญัติ การนัดหยุดงานของกรรมกร การเดินขบวนของนักศึกษา การแก้ไขสถานการณ์ถ้าจะดำเนินการตามวิถีทางรัฐธรรมนูญย่อมไม่ทันต่อเหตุการณ์ จึงจำเป็นต้องใช้การยึดอำนาจการปกครองเพื่อให้สามารถแก้ไขสถานการณ์ได้โดยเฉียบขาดและฉับพลัน”

ก่อนกลายเป็นสาเหตุให้เกิด เหตุการณ์ 14 ตุลา ในอีก 2 ปี ต่อมา
แน่นอนครับว่าทฤษฎีนี้เป็นไปได้ยากที่สุด ตราบเท่าที่ประชาชนยังเรียกร้องประชาธิปไตยและต่อต้านเผด็จการ

 

2 #กลไกรัฐสภา
จะเห็นได้ว่าในอดีตการรัฐประหารตัวเองของจอมพลถนอม มาจากความขัดแย้งที่เริ่มต้นที่สภาผู้แทนราษฎร เพราะฉะนั้นแม้ในยุคที่บางคนบอกว่าเป็นเผด็จการแบบสุดขั้วก็ยังต้องจำนนต่อผลประโยชน์ที่ไม่ลงตัวของ “งบประมาณ” ที่สภาฯอนุมัติรับหลักการไปแล้ว

มองสถานการณ์ในปัจจุบันที่ค่อนข้างลางเลือนและยังไม่มีวี่แววว่าพรรคร่วมรัฐบาลจะแตกแถวอันเนื่องมาจากผลประโยชน์ในเก้าอี้ต่างๆหอมหวลกว่าความตายประชาชนที่ทุกข์ทนกับวิกฤตโควิดระบาด อีกทั้งยังมีสมาชิกวุฒิสภาเป็นแผนสำรองในการลงมติเลือก พล.อ.ประยุทธ์ กลับมานั่งตำแหน่งนายกฯ ได้ทุกเมื่อ

แต่สถานการณ์ที่รัฐบาลกำลังทำการกู้เงินแบบหน้ามืด รัฐธรรมนูญ ปี 2560 มาตรา 144 ระบุว่า ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี งบประมาณ ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม และร่างพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะแปรญัตติเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขเพิ่มเติมรายการหรือจำนวนในรายการมิได้ แต่อาจแปรญัตติในทางลดหรือตัดทอนรายจ่ายซึ่งมิใช่รายจ่ายตามข้อผูกพันอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้

(1) เงินส่งใช้ต้นเงินกู้ (2) ดอกเบี้ยเงินกู้ (3) เงินที่กำหนดให้จ่ายตามกฎหมาย
ในกรณีที่ ส.ส. หรือ สว. มีจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภา เห็นว่ามีการกระทำที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติตามวรรคสอง (ดอกเบี้ยเงินกู้) ให้เสนอความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณา และศาลรัฐธรรมนูญต้องพิจารณาวินิจฉัยให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับความเห็นดังกล่าว

ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามีการกระทำที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติตามวรรคสอง ให้การเสนอ การแปรญัตติ หรือการกระทำดังกล่าวเป็นอันสิ้นผล

ถ้าผู้กระทำการดังกล่าวเป็น ส.ส.หรือ สว. ให้ผู้กระทำการนั้นสิ้นสุดสมาชิกภาพนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้น

ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้กระทำการหรืออนุมัติให้กระทำการหรือรู้ว่ามีการกระทำดังกล่าวแล้วแต่มิได้สั่งยับยั้ง ให้คณะรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งนั้น

เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้อยู่ในที่ประชุมในขณะที่มีมติและให้ผู้กระทำการดังกล่าวต้องรับผิดชดใช้เงินนั้นคืนพร้อมด้วยดอกเบี้ย

ในทางหลักการหลังจากนี้ ยังคงต้องส่งเรื่องต่อไปยัง สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) อีกครับ ซึ่งผมขอละไว้ในฐานที่เข้าใจ (ฮา)

 

3 #ตามข้อบังคับของรัฐธรรมนูญ ปี 2560
สรุปสั้นๆ มีมาตรา 158 คือ นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกิน 8 ปีมิได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ แต่มิให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตำแหน่ง
มาตรา 170 ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว เมื่อ (4) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 160

มาตรา 160 (4) มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ (5) ไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง

มาตรา 186 (1) การดํารงตําแหน่งหรือการดําเนินการที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นหน้าที่หรืออํานาจของรัฐมนตรี

นอกจากกรณีตามวรรคหนึ่ง รัฐมนตรีต้องไม่ใช้สถานะหรือตําแหน่งกระทําการใดไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม อันเป็นการก้าวก่ายหรือแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อประโยชน์ของตนเอง ของผู้อื่น หรือของพรรคการเมืองโดยมิชอบตามที่กําหนดในมาตรฐานทางจริยธรรม

และสุดท้ายที่เกิดขึ้นได้ยากมาก แต่ก็อาจเกิดขึ้นได้หากเหลิงอำนาจกันถึงที่สุด คือ มาตรา 169 ครม. ที่พ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 167 (2) รัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากตำแหน่ง เมื่ออายุสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงหรือมีการยุบสภาผู้แทนราษฎร

รัฐมนตรีที่พ้นตำแหน่งไปแล้วแต่ยังต้องรักษาการต่อต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อ ดังต่อไปนี้
(1) ไม่กระทำการอันมีผลเป็นการอนุมัติงานหรือโครงการ หรือมีผลเป็นการสร้างความผูกพันต่อคณะรัฐมนตรีชุดต่อไป เว้นแต่ที่กำหนดไว้แล้วในงบประมาณรายจ่ายประจำปี

(2) ไม่แต่งตั้งหรือโยกย้ายข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำหรือพนักงานของหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือให้บุคคลดังกล่าวพ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ หรือพ้นจากตำแหน่ง หรือให้ผู้อื่นมาปฏิบัติหน้าที่แทน เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อน

(3) ไม่กระทำการอันมีผลเป็นการอนุมัติให้ใช้จ่ายงบประมาณสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อน

(4) ไม่ใช้ทรัพยากรของรัฐหรือบุคลากรของรัฐเพื่อกระทำการใดอันอาจมีผลต่อการเลือกตั้ง และไม่กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามระเบียบที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด

จะเห็นได้ว่าก็มีบางมาตราที่หากรัฐมนตรีทั้งคณะพ้นสภาพก็ทำให้นายกรัฐมนตรีต้องพ้นจากตำแหน่งด้วยเช่นกัน หรือ การทำให้นายกรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหม แล้วรอให้ทำผิดมาตรา 169 ครับ

 

4 #มีผู้เสียชีวิตจากการชุมนุม
ผมไม่คิดว่านี่เป็นทางเลือกที่ดีหรือทางออกของประเทศนะครับ แต่ในทางปฏิบัตินี่คือสิ่งที่ทำให้นานาชาติกดดันรัฐบาลได้

ขออนุญาตไม่กล่าวถึงรายละเอียดนะครับ เพราะผมไม่สนับสนุนให้เกิดความรุนแรงใดๆทั้งสิ้น

ใครที่เคยคิดว่าการปล่อยให้ประชาชนเสียชีวิตข้างถนนจะทำให้นายกรัฐมนตรีออกมาแสดงความรับผิดชอบสักหน่อยหรือขอโทษประชาชนสักนิด วันนี้คงทราบกันแล้วว่า พล.อ.ประยุทธ์ คือผู้นำที่บริหารประเทศด้วยวิธี Work from home คนเดียวในโลก ระหว่างนั้นก็แถลงผ่านเฟซบุ๊กโทษประชาชนว่าการ์ดตกเป็นเหตุทำให้การระบาดหนักขึ้น โดยไม่เคยรู้สึกว่าการจัดหาวัคซีนที่มีคุณภาพมาให้ประชาชนล่าช้าเป็นความรับผิดชอบของรัฐบาล

ไม่เพียงสะท้อนระบบราชการไทยภายใต้การบริหารของนายกรัฐมนตรีที่ตลอดทั้งชีวิตดำรงอาชีพอยู่แต่ในค่ายทหารขาดความรู้ความสามารถเท่านั้น แต่ยังทำหูทวนลมไม่ฟังเสียงประชาชนที่เรียกร้องให้ลาออกอีกด้วย

       ความสามารถไม่มีแต่นายกรัฐมนตรีบอกว่าจะสู้จนกว่าจะชนะ …คำถามคือท่านกำลังต่อสู้กับใคร และจะเอาชนะใคร?

       ….เอาชนะประชาชน?  

(โดย…ธนก บังผล)

Related Articles

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Back to top button
X
%d bloggers like this: