หมวกอีกใบ!’สรัญญา เจนวานิชกุล’ กับบทบาทประธานชมรมทายาทห้างค้าปลีก-ค้าส่งฯ

นอกจากตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บ.ลำปางเสรีกรุ๊ป จำกัด แล้วหมวกอีกใบที่ “สรัญญา เจนวานิชกุล” ได้เข้าไปมีบทบาทผลักดันกิจกรรมร่วมกับกระทรวงพาณิชย์คือ ประธานชมรมทายาทห้างค้าปลีก-ค้าส่งแห่งประเทศไทย
สรัญญา เล่าว่า ที่มาเริ่มต้นจากร้านค้าที่เป็นห้างท้องถิ่นในแต่ละจังหวัดทั่วประเทศมีชมรมค้าปลีกส่งของประเทศไทย ขึ้นอยู่กับส่วนกลาง และรวบรวมค้าปลีก โชห่วยต่างๆของทั้งประเทศมาตั้งเป็นชมรม
“อันนี้เก่าแก่มาก คนจะเข้าใจว่าชมรมค้าปลีกของประเทศไทยเป็นรุ่นผู้ใหญ่ดูแลอยู่แล้วเข้าถึงยาก แต่ละห้างเวลาเราทำเป้าถึงจะมีการจัดกรุ๊ปทัวร์ อย่างสหพัฒน์ฯ ยูนิลีเวอร์ เชิญร้านค้าต่างๆไปเที่ยวไปสังสรรค์ ไปสัมมนา ไปประชุมร่วมกันก็เจอกันบ่อยๆ ซึ่งบางทีพ่อแม่ไม่ได้ไปก็ส่งลูกไปบ้าง เด็กก็เลยมานั่งคุยกันว่าเด็กคุยกันแล้วง่ายกว่าเราก็มาจัดชมรมใช้คำว่าทายาทห้างค้าปลีกส่งไหม เพราะไม่สามารถตั้งชมรมค้าปลีกเหมือนอันเดิมที่เขาขึ้นเป็นสมาคมแล้ว สมาคมค้าปลีกส่งแห่งประเทศไทย เป็นของผู้ใหญ่ที่พ่อแม่ของทุกคนเข้าอยู่ในสมาคมหมด เลยมาจัดชมรมรุ่นเด็ก ตั้งชื่อว่าชมรมทายาทค้าปลีก-ค้าส่งแห่งประเทศไทย เอาเจนเนอเรชั่น 2 ,3 ของแต่ละร้านส่งตัวแทนมารวมกลุ่มกัน เริ่มกันมาใกล้จะ 10 ปีแล้ว” สรัญญา ย้อนที่มาที่ไป
โดยสมาชิกชมรมทายาทห้างค้าปลีก-ค้าส่งแห่งประเทศไทย เป็นรุ่นที่มารับช่วงต่อธุรกิจบางคนมีไอเดียก็มาคุยกัน
“งานมันก็จะซ้ำซ้อนกับสมาคมใหญ่ที่ช่วงหลังมานิ่งๆ ถ้ารวมกับน้องๆที่อยู่ร้านค้ายังไฟแรงก็จะมีกิจกรรมเยอะแยะ ตั้งไลน์กรุ๊ปขึ้นมา เอาไหมใครทำบ้าง แลกเปลี่ยนข่าวสารกัน มีน้องที่เป็นโต้โผค่อนข้างจะรู้จักกับกรมการค้าภายในหรือกระทรวงพาณิชย์ค่อนข้างเยอะ เป็นแกนนำจัดตั้ง ตามงานประชุมสัมมนาที่ซัพพลายเออร์จัด เจอกันก็ปาร์ตี้บ้าง คุยบ้าง เป็นการเป็นงานบ้าง เราไม่ต้องซีเรียสตลอดแบบของผู้ใหญ่ แต่มีอะไรก็มาเทรดข้อมูลความรู้กัน” ประธานชมรม กล่าวถึงจุดเริ่มต้นการรวมกลุ่มกัน
ซึ่งที่ผ่านมากิจกรรมที่ทางชมรมทำคือการรับซื้อมังคุด ที่ สรัญญา บอกอย่างอารมณ์ดีว่า “เขาบังคับให้ความร่วมมือ”
“มารอบ 3 แล้ว รอบแรกเป็นมะม่วง เหมือนทางกรมการค้าภายในจะมีงบช่สยเหลือเกษตรกรแล้วต้องการที่ระบายผลไม้ออก ถ้าติดต่อห้างโมเดิร์นเทรดอาจจะมีหลักเกณฑ์เข้าออกค่อนข้างยุ่งยาก ไม่เหมือนห้างท้องถิ่นที่บอกว่าเดี๋ยวจะมีของมาขาย เราก็เอาเลย ขายเท่าไรก็โอนเงินให้กรมไป แต่ถ้าเข้าโมเดิร์นเทรดแต่ละที่มีสาขาก็จริง แต่เขาต้องติดต่อส่วนกลางเพื่อระบายสินค้าคือขั้นตอนจะเยอะ อย่างผลไม้จะมาเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ เท่าไรก็ยังไม่ทราบ กรมการค้าภายในก็เลยมาขอให้ห้างท้องถิ่นแต่ละจังหวัดช่วย ห้างไหนช่วยได้เท่าไร”
ครั้งแรกที่ชมรมเข้าไปช่วยกรมการค้าภายในระบายสินค้าเกษตรคือ มะม่วง ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดี
“ล็อตมะม่วงมาแบบน้ำดอกไม้สีทองสวย คนก็เลยฮือฮากันเอามาจากไหน เราก็ไม่รู้ว่าของที่จะมามันมาอย่างไร แล้วห้างเสรีเองก็แทบจะไม่ได้ค้าของสดอยู่แล้ว ให้ช่วยได้แต่ขอไม่รับของเสีย ก็เลยรับเข้ามา มะม่วงกลายเป็นของดี มาจากไหนก็ไม่รู้ แต่จะล็อตจะมาเท่าไรก็ไม่ทราบ ก็มาลุ้นตอนเปิดลังว่ายังไง แต่มะม่วงมากี่รอบก็หมด”
ส่วนล็อต 2 ที่ผ่านไปคือส้มโอ ซึ่งเป็นของทางภาคเหนือ ประธานชมรมทายาทค้าปลีกฯ ยอมรับว่า “ไม่ค่อยเท่าไรแต่เขาก็เหมือนให้มาช่วยระบายสินค้า” และล็อต 3 ล่าสุดคือมังคุด
“ทีแรกเขาขอว่าห้างประธานชมรมรับสัก 8 ตันได้ไหม เยอะอยู่นะ ช่วยก็ช่วย เพราะเสียเขาไม่คิดอยู่แล้ว ปรากฎว่ามาจริง 12 ตันป่านนี้ยังไม่หมดเลย มังคุดจะขายดีทางเหนือกับอีสาน ทางใต้ที่เขามีสวนขายไม่ได้เลย แต่กว่าของจะมาถึงเรา ไม่ถึง 1 อาทิตย์เน่าไปเกือบครึ่ง มาแล้วพร้อมทานเลยมีเวลาการขายน้อยมาก ก็ยังคุยกันอยู่ว่ารอบ 2 จะอย่างไรเพราะถ้ามาตอนสุกแล้ว ปล่อยไม่ทัน ถัดจากมังคุดเห็นว่าจะเป็นลำไย ทางเหนือก็คงขายไม่ออกให้ไปขายภาคอื่นดีกว่า เทรดข้ามภาคกันดีกว่า” สรัญญา ให้ความเห็น
ทั้งนี้ กิจกรรมของชมรมทายาทห้างค้าปลีกฯ ในส่วนหลักๆคือโครงการพาณิชย์ช่วยประชาชน ที่จัดเหมือนเป็นเทศกาลกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อให้ร้านท้องถิ่นมีการลดราคาในช่วงเวลาที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด
“เราเคยคุยว่าแต่ละจังหวัดขายของไม่เหมือนกันราคาไม่เท่ากัน ทุกห้างมีอิสระในการคิดโปรโมชั่น แต่มีกำหนดตายตัวคือข้าวสาร น้ำมัน ไข่ไก่ ขอให้ถูกจริงๆที่เหลือสินค้าแต่ละภาคก็ขายไม่เหมือนกัน แต่ละห้างขอให้เข้าร่วมช่วงเวลาตามที่กรมกำหนด สินค้าข้างในเขาจะไม่จุกจิกกับเราวื่ห้างไหนจะขายอะไรขอให้เป็นราคาพิเศษจริงๆในช่วงเวลานั้น ที่ทางชมรมทำกิจกรรมกับกรมการค้าภายในมาตลอดจะเป็นประมาณนี้ ปีละ 2-3 รอบ” ประธานชมรมทายาทห้างค้าปลีก-ค้าส่งแห่งประเทศไทย สรุป
แนวคิดวิสัยทัศน์การบริหารห้างเสรีสรรพสินค้าที่มีข้อมูลวิเคราะห์ตลาดใน จ.ลำปาง เตรียมพร้อมรับกระแสสินค้าออนไลน์ หาจุดแข็งให้กับห้าง และยังช่วยเหลือการระบายสินค้าเกษตรร่วมกับกรมการค้าภายใน
“หญิง สรัญญา” ถือว่าเป็นคนรุ่นใหม่ผู้บริหารไฟแรงในวงการธุรกิจท้องถิ่นที่น่าติดตามอีกคนหนึ่ง