Foreign news
หนาวสุดขั้ว!’แคนาดา-สหรัฐฯ’รับมือกระแส’ลมวน’ขั้วโลกครั้งใหญ่ คาดติดลบกว่า 60 องศา

สำนักงานอุตุนิยมวิทยาแห่งชาติของสหรัฐฯ ประจำภูมิภาคอเมริกาเตือนว่า หลายพื้นที่ของรัฐเมนในสหรัฐฯ อาจมีกระแสลมเย็นจัดติดลบ 60 องศาเซลเซียส นครบอสตันประกาศปิดโรงเรียนรัฐเมื่อวันศุกร์ และคาดว่าจะมีกระแสลมเย็นจัดติดลบ 34 องศาเซลเซียส ส่วนนครนิวยอร์กที่อยู่ถัดลงมาทางใต้คาดว่าจะมีอุณหภูมิติดลบ 23 องศาเซลเซียส
ทั้งนี้ กระแสลมวนขั้วโลกครั้งนี้เป็นครั้งมหากาพย์ที่เกิดขึ้นในหนึ่งชั่วอายุคน หากเผชิญกับสภาพอากาศแบบนี้โดยไม่เตรียมเครื่องกันความหนาวให้เพียงพอ อาจถูกหิมะกัดเป็นอันตรายต่อผิวหนังได้ภายในเวลาเพียง 5 นาที คาดว่าสภาพอากาศจะเลวร้ายที่สุดช่วงคืนวันศุกร์ถึงเช้าวันเสาร์ตามเวลาท้องถิ่น
สำนักงานฯ ยังได้ประกาศเตือนภัยสภาพอากาศทั่วรัฐควิเบกและภาคตะวันออกของแคนาดา เพราะคาดว่ากระแสลมเย็นจัดจะทำให้อุณหภูมิในนครมอนทรีออลในช่วงบ่ายวันศุกร์มีความเย็นเหมือนติดลบ 41 องศาเซลเซียส และน่าจะทำให้รัฐควิเบกมีอุณหภูมิติดลบ 50 องศาเซลเซียส ส่วนที่กรุงออตตาวาของแคนาดามีหิมะตกและกระแสลมแรง 60-70 กิโลเมตรต่อชั่วโมงตั้งแต่คืนวันพฤหัสบดีจนถึงวันศุกร์ ทำให้ทัศนวิสัยลดลงเกือบเป็นศูนย์ คาดว่ากระแสลมที่อุ่นขึ้นจะพัดเข้าสู่ภูมิภาคนี้ในเช้าวันอาทิตย์ตามเวลาท้องถิ่น
สำหรับปรากฏการณ์ ลมวนขั้วโลก (Polar Vortex)เป็นปรากฏการณ์เกี่ยวกับกระแสอากาศเย็นความกดอากาศต่ำบริเวณขั้วโลกเหนือ เกิดขึ้นพร้อม ๆ กับช่วงกลางคืนที่ยาวนานหลายเดือน ปราศจากแสงอาทิตย์ ทุก ๆ ปีในฤดูหนาว ซึ่งจะหายไปเมื่อเข้าสู้ฤดูใบไม้ผลิและก่อตัวขึ้นใหม่ช่วงเดือนกันยายนหรือตุลาคม
เมื่อลมวนมีความเร็วและเสถียรมากพอ ลมจะทำให้ขั้วโลกเหนือกักความเย็นเอาไว้ที่ระดับต่ำกว่า 48 องศาเซลเซียส แต่เมื่อหากมีอะไรไปรบกวนกระแสลมหรือกระแสลมอ่อนตัวลงจะทำให้อากาศหนาวหลุดออกมาจากกระแสลมปกติ ทำให้เกิดพายุและเพิ่มโอกาสที่จะเกิดหิมะในพื้นที่ซีกโลกเหนือ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาและแคนาดา ในขณะที่ยุโรปกับเอเชียมักจะได้รับผลกระทบน้อยกว่า ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นไปทั่วซีกโลกเหนือในตอนนี้
ดร.ฮันนาห์ อัททาร์ด ศาสตราจารย์สาขาวิชาบรรยากาศศาสตร์ มหาวิทยาลัยการบินเอ็มบรี-ริดเดิ้ล ประเทศสหรัฐอเมริกา ระบุว่า ปรากฏการณ์นี้เป็นสิ่งที่เธอคาดว่าจะเกิดอยู่แล้วในปีนี้ เนื่องจากเกิดอากาศอุ่นขึ้นแบบฉับพลันในบรรยากาศชั้นบนเหนือขั้วโลกเหนือ
การอธิบายว่าปรากฏการณ์ลมวนขั้วโลกเกิดจากอากาศหนาวเย็นอาจจะไม่ถูกต้องเสียทีเดียว เพราะแท้จริงแล้วเกิดขึ้นจากอากาศอบอุ่นเฉียบพลันที่เข้าไปทำให้ลมวนสูญเสียเสถียรภาพ ส่งผลให้อากาศเย็นที่ถูกกักอยู่ในลมวนหลุดออกมาในเขตละติจูดกลาง วงการบรรยากาศศาสตร์จะมีตัวชี้วัดที่เรียกว่า การสั่นของอาร์กติก (Artic Oscillation หรือ AO) สำหรับบอกว่าลมวน ณ ขั้วโลกเหนือยังกักอากาศเย็นไว้ได้มากแค่ไหน เมื่อค่า AO เป็นลบ จะเป็นการบอกว่ามีโอกาสที่จะเกิดปรากฏการณ์ลมวนขั้วโลกสูงมากยิ่งขึ้น
ดังนั้นอากาศอุ่นขึ้นฉับพลันที่เกิดขึ้นในขั้วโลกเหนือช่วงต้นมกราคมช่วยทำให้ค่า AO ลดลงมากขึ้นจากที่ติดลบอยู่แล้ว จึงนำไปสู่คำอธิบายของอากาศหนาวที่รุนแรงมากขึ้นในซีกโลกเหนือของปีนี้