ส่อง ‘เจเอสแอล’ ในวันที่หลายคนจับตา ไปต่อ… หรือพอแค่นี้?

เดินทางผ่านร้อนผ่านหนาวคู่สังคมไทยมากว่า 40 ปี สำหรับ ‘เจเอสแอล’ ในฐานะบริษัทที่ผลิตรายการโทรทัศน์และรับจัดงานกิจกรรมต่างๆ มากมาย มีหลากหลายรายการดัง แถมยังเป็นแหล่งผลิตคนดังๆ ที่โลดแล่นในวงการบันเทิงมากมาย แต่ดูเหมือนล่าสุดสถานการณ์ของบริษัทดังกล่าวเริ่มกระท่อนกระแท่นท่ามกลางข่าวลือต่างๆ นานาถึงการปิดตัวเองในเร็วๆ นี้ หลายคนตั้งคำถาม เกิดอะไรขึ้นกับ เจเอสแอล?
เพจ Modernist รายงานว่า ในช่วง 3 ปีให้หลัง เจเอสแอล หรือ “บริษัท เจเอสแอล โกลบอล มีเดีย จำกัด” ตกอยู่ในสภาวะ “ขาดทุน” แค่ปี 2564 ร่วม 57 ล้านบาท
เจเอสแอล โกลบอล มีเดีย ก่อตั้งในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2522 ช่วงแรกเน้นผลิตรายการให้กับสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 (ท.ท.บ. 5) จากนั้นขยายสายงานการผลิต สร้างสตูดิโอ รวมไปถึงรับจัดกิจกรรมต่างๆ และยังเป็นผู้ดูแลลิขสิทธิ์ตัวการ์ตูนในด้านของการทำสินค้าเพื่อจัดจำหน่ายอีกด้วย
รายการต่างๆ ที่เป็นที่นิยม ถ้าให้ไล่เรียงกันก็คงจะเยอะ ไม่ว่าจะเป็น “เจาะใจ” “กิ๊กดู๋ สงครามเพลง เงินล้าน” “ตามสัญญา” หรือรายการในอดีตอย่าง “คอนเสิร์ต คอนเทสต์” “วิก 07” “พลิกล็อก” “จันทร์กะพริบ” หรือแม้กระทั่งละครอย่าง “ละอองดาว” และการจัดงานใหญ่ๆ อย่าง “ASIAN GAMES ครั้งที่ 13” ที่จัดที่กรุงเทพฯ พิธีเปิด-พิธีปิดก็ผ่านมือเจเอสแอลมาหมดแล้ว
ปัจจุบันถ้าดูผลประกอบการในปี 2562 – 2564 จะพบว่ารายรับของเจเอสแอล เริ่มลดน้อยลงหลักหลายร้อยล้าบบาทเลยทีเดียว ส่วนหนึ่งก็มาจากภาวการณ์แข่งขันที่ไม่เหมาะสมกับมูลค่าโฆษณาที่เกิดขึ้นจริง กล่าวคือมีการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น แต่การลงทุนกับเม็ดเงินโฆษณากลับลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด ประกอบกับเจเอสแอลมีรายการที่อยู่ในความดูแลน้อยลง ปัจจุบันมีเพียง 4 รายการเท่านั้น โดยอยู่ในช่อง 7HD และช่อง 9MCOT HD
โดยเฉพาะการกลับมาจูบปากระหว่างช่อง 7HD และเจเอสแอล ที่เกิดขึ้นเมื่อต้นปีที่ผ่านมา โดยส่ง 2 รายการลงช่วงเย็นวันเสาร์-อาทิตย์ คือ “ไมค์คู่ไม่รู้ใคร” และ “มาลัยไฟท์เตอร์” ซึ่งทั้ง 2 รายการเริ่มสร้างฐานผู้ชมได้ในระดับหนึ่ง และในขณะเดียวกันก็แปลงบริษัท สตูดิโอ แอคทิฟ จำกัด เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท จูเวไนล์ จำกัด เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2564 มีทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท โดยมีคณะกรรมการบริษัท ได้แก่ รติวัลคุ์ ธนาธรรมโรจน์ และกฤษฏิ์ ชูพินิจ โดยรับเป็นผู้จัดละครทางช่อง 3 คือ เกมรักทรยศ และละครทางไทยพีบีเอสอีกหลายเรื่องเลยทีเดียว
จากการเปิดเผยของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรงพาณิชย์ พบว่าในปี 2564 เจเอสแอล รายได้ลดลงจากปี 2563 ที่มีอยู่ที่ 348.9 ล้านบาท เหลือเพียง 195.5 ล้านบาท ในขณะที่รายจ่ายก็ยังลดลง แต่ไม่สัมพันธ์กับรายได้ กล่าวคือปี 2563 มีรายจ่ายอยู่ที่ 361 ล้านบาท แต่ในปี 2564 เหลือรายจ่ายเพียง 236.5 ล้านบาท ทำให้ในปี 2564 มียอดขาดทุนรวมอยู่ที่ 57.1 ล้านบาท มากกว่าปี 2563 ที่ขาดทุนอยู่ที่ 22.3 ล้านบาทนั่นเอง
ล่าสุด เพจเขวี้ยงรีโมท โพสต์ข้อความระบุว่า
เตรียมช็อก! ปิดบริษัทบันเทิงดัง “ระดับตำนาน”
เป็นข่าวลือสนั่น เขย่าวงการบันเทิง ชนิดช็อกทั้งบางว่ามี “บริษัทระดับบิ๊ก” อายุหลายทศวรรษ เตรียมปิดตัวแบบฟ้าผ่า สะท้านฝนถล่มกรุง กลางปีแบบนี้
.
ชนิดคนในองค์กรที่รับสายหลายคน ยังไม่กล้าคอนเฟิร์มถึงชะตากรรมตัวเองว่า ขึ้นเดือน “กรกฎาคม” จะมีสถานะอะไรในองค์กร ยังไม่นับ “รายการ” ที่ยังออนแอร์อยู่บนหน้าจอทีวี “หลายช่อง” จะต้องเป็นหมัน ยุติการออกอากาศแบบเหลือไม่กี่เทป หรือจะโยกย้ายถ่ายเทไปยังบริษัทพันธมิตรหรือไม่…อย่างไร?
.
แว่วมาอีกว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องกะทันหัน เพราะเพิ่งจะประชุมใหญ่ไปในวันนี้ แถมบางคนรู้ตัวก่อนล่วงหน้าเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ถึงขนาดฝากบอกต่อกันว่า ที่ไหนมีงานให้ทำบ้าง ช่วยหากันหน่อย ถือว่าเป็นเรื่องที่น่าเห็นใจ แต่ถ้ามองในแง่ของธุรกิจ ก็พอจะเข้าใจได้ว่า หลังๆ ความนิยมไม่ค่อยจะมีใครพูดถึงเกี่ยวกับบริษัทนี้
.
ถือว่า “น่าเสียดาย” กับบริษัทนี้ ที่สร้าง “ตำนาน” ไว้หลายหน้าของวงการบันเทิงไทย มีผลงานจับใจคนทุกยุค ทุกคนที่บ้านมี “ทีวี” ต้องคุ้นเคยกับ “โลโก้” บริษัทนี้ ที่การันตีผลงานความสนุก ข้ามยุคตั้งแต่ “อนาล็อก” ยัน “ดิจิทัล” แต่สุดท้ายก็ต้องลงเอยด้วยการ “จากลา” เหลือไว้เพียงความประทับใจในความทรงจำ
.
การรูดม่านของบริษัท “ระดับตำนาน” แห่งนี้ อาจเป็น “โดมิโน่ตัวแรก” ของวงการที่สร้างแรงกระเพื่อมของอุตสาหกรรมบันเทิงก็เป็นได้ เพราะจับสัญญาณได้ว่า ยังมีอีกหลายที่ ที่จ่อจะปรับลดคนอีกรอบแล้ว ที่สำคัญ ยังมีอีกหลายรายการที่ต่างทน “ค่าเช่า” ไม่ไหว จำเป็นต้องโยกย้ายกันไปตามเวลา ได้แต่ส่งกำลังใจให้กันและกัน เพราะเรื่องกะทันหันอะไรแบบนี้ ก็เกิดขึ้นได้ในวงการทีวี
.
ทั้งนี้ เมื่อโพสต์ได้กระจายออกไป มีคอมเมนต์เข้ามามากมาย โดยหลายคนได้บอกว่า “มีคนรู้จักทำงานที่นั่น บอกว่า เสียความรู้สึก เพราะได้เงินชดเชยเพียงแค่ 16%”
.
สำหรับบริษัท เจ เอส แอล โกลบอล มีเดีย จำกัด เป็นบริษัทผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ในประเทศไทย เดิมชื่อว่า บริษัท เจ เอส แอล จำกัด ปัจจุบัน มีนาง รติวัลคุ์ ธนาธรรมโรจน์ เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สำนักงานอยู่ที่ซอยลาดพร้าว 107 ถนนลาดพร้าว แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร
เจ เอส แอล ก่อตั้งเมื่อปลายปี พ.ศ. 2522 ด้วยเงินทุนจดทะเบียนแรกเริ่ม 1 แสนบาท โดยมีผู้ร่วมก่อตั้งคือ ลาวัลย์ ชูพินิจ (กันชาติ), จำนรรค์ ศิริตัน และสมพล สังขะเวส นักแปลนวนิยายชื่อดัง ซึ่งชื่อของบริษัทมาจากชื่อของผู้ก่อตั้งนั่นเอง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประกอบกิจการถ่ายทำภาพยนตร์ และจัดรายการทางวิทยุโทรทัศน์ รวมทั้งการโฆษณาประชาสัมพันธ์ จนกระทั่งสมพลขอลาออกจึงได้มีการเปลี่ยนกรรมการผู้จัดการและหุ้นส่วนคนสำคัญเป็น เสรี ชยามฤต และสมพงษ์ วรรณภิญโญ ตามลำดับ ภายหลังสมพงษ์และบุคลากรจำนวนหนึ่งได้ขอแยกตัวไปก่อตั้งทีวี ธันเดอร์ เจ เอส แอล จึงได้ปริพันธ์ หนุนภักดี เป็นรองประธานกรรมการ ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น บริษัท เจ เอส แอล โกลบอล มีเดีย จำกัด เพื่อให้เข้ากับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีด้านการสื่อสารไร้พรมแดน ซึ่งส่งผลต่อพฤติกรรมของผู้บริโภค โดยมีรติวัลคุ์ ธนาธรรมโรจน์ เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และมีบริษัทในเครือ อาทิ AI (Thailand) ที่เป็นผู้ดูแลลิขสิทธิ์คาแรคเตอร์การ์ตูนดังๆ ในการนำไปผลิตเป็นสินค้า รวมทั้งยังมีบริการให้เช่า กล้อง ห้องตัดต่อ ห้องลงเสียงและสตูดิโอ
บริษัทเริ่มทำการผลิตรายการโทรทัศน์ประเภทเกมโชว์ ออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 ต่อมาได้ขยายการผลิตรายการในหลากหลายรูปแบบ และหลายสถานี เช่น ช่อง 5 ช่อง 7 ช่อง 3 ช่อง 9 ไอทีวี ช่องวัน ไทยรัฐทีวี และอื่น ๆ เป็นจำนวนกว่า 100 รายการ เพื่อนำเสนอออกอากาศ เช่น เกมโชว์ ควิซโชว์ เรียลลิตี้โชว์ การประกวด วาไรตี้โชว์ ทอล์คโชว์ รายการตลก ละครเวที ละครซิทคอม ละครเรื่องยาว ละครสั้น สารคดีโทรทัศน์ และรายการวันหยุดนักขัตฤกษ์ ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้ชมทุกเพศ ทุกวัย และยังได้รับรางวัลจากหลายสถาบัน
ปัจจุบันมีรายการโทรทัศน์ประเภททอล์คโชว์และวาไรตี้โชว์ออกอากาศทางเอ็มคอตเอชดีและพีพีทีวี โดยบางรายการจะมีผู้ผลิตรายการรายอื่นร่วมผลิตด้วย
นอกจากนี้ ยังเปิดสถานีโทรทัศน์ดาวเทียม เจ เอส แอล แชนแนล โดยนำเสนอรายการต่างๆ ของบริษัทตั้งแต่ยุคเริ่มต้น ทั้งที่เคยออกอากาศแล้วแต่ยังคงความร่วมสมัย และเทปรายการที่ไม่เคยออกอากาศทางโทรทัศน์ เนื่องจากไม่ผ่านการเซ็นเซอร์ รวมทั้งรายการใหม่ของผู้จัดรายต่าง ๆ ที่นำเสนอผลงานแต่ไม่ได้รับโอกาสจากที่อื่นอีกด้วย[2] แต่ได้ยุติการแพร่ภาพลงตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2554 โดยยังไม่มีกำหนดการกลับมาแพร่ภาพแต่อย่างใด
ที่ทำการของบริษัท เริ่มแรกใช้บ้านพักบริเวณสนามเป้า ถนนพหลโยธิน แล้วจึงย้ายมาที่ซอยอินทามระ 6 ถนนสุทธิสารวินิจฉัย และหมู่บ้านราชาวิลล่า ซอยลาดพร้าว 67 ตามลำดับ และตั้งแต่ปี พ.ศ. 2528 จนถึงปัจจุบัน บริษัทมีสำนักงานและสตูดิโอของตนเอง ตั้งอยู่ที่ 154 ซอยลาดพร้าว 107 ถนนลาดพร้าว แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร
ขอบคุณข้อมูล เพจ Modernist , เพจเขวี้ยงรีโมท