ส่องเวอร์ชั่นใหม่ “พิซซ่าฮัท” ใต้ปีก “มหากิจศิริ”
หลังจากที่ “พิซซ่า ฮัท” เปลี่ยนมืออีกครั้ง เมื่อบริษัทยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล บรรลุข้อตกลงในการแต่งตั้ง บริษัท พีเอช แคปปิตอล จำกัด (PHCapital) เป็นแฟรนไชส์ซีผู้ให้บริการร้านพิซซ่า ฮัท ในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ มีอายุสัญญา 20 ปีในปีที่ผ่านมา ซึ่งพีเอช แคปปิตอล เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง บริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท พีเอ็ม แคปปิตอล จำกัด ด้วยสัดส่วน 70% และ 30% ทุนจดทะเบียนเริ่มต้น 60 ล้านบาท ซึ่งทั้ง 2 บริษัทอยู่ภายใต้การบริหารและการลงทุนของตระกูลมหากิจศิริ ซึ่งมี อุษณา มหากิจศิริ ลูกสาวคนสุดท้องของตระกูล เป็นผู้ดูแล ทั้งนี้ พีเอช แคปปิตอล ได้เข้าบริหารร้านพิซซ่า ฮัท ภายใต้การดูแลของยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล ทั้งหมด 93 สาขาทั่วประเทศในช่วงไตรมาสที่ 2 ของ ปี 2560
การเปลี่ยนมือของพิซซ่าฮัทในครั้งนี้ ไม่ใช่ครั้งแรก เพราะในช่วงที่เข้ามาทำตลาดเมืองไทยใหม่ๆ เมื่อกว่า 30 ปีที่แล้ว ยัมฯ ก็เคยขายแฟรนไชส์พิซซ่า ฮัท ให้กับกลุ่มไมเนอร์เป็นผู้ลงทุน และต่อมาในปี 2543 ยัมฯ ได้ยกเลิกแฟรนไชส์หันมาลงทุนเอง ทำให้กลุ่มไมเนอร์หันมาเปิดแบรนด์ เดอะพิซซ่า และได้กลายเป็นคู่แข่งคนสำคัญของพิซซ่า ฮัท ในเวลานี้
การขายแบรนด์พิซซ่าฮัทในประเทศไทยครั้งนี้ จึงน่าสนใจว่าอาจเกิดจากการปรับธุรกิจของยัมฯ ในไทยเอง เพราะก่อนหน้านี้ยัมฯ ก็เพิ่งประกาศปรับวิธีจัดการสาขาของ KFC ในไทย จากเดิมที่ยัมฯ เป็นเจ้าของเองในบางสาขา ผสมผสานกับการให้แฟรนไชส์ในบางสาขา มาเป็นใช้ระบบแฟรนไชส์ทั้งหมด
ความเปลี่ยนแปลงของพิซซ่าฮัทภายใต้อุ้งมือของตระกูลมหากิจศิริ ตามข้อตกลง นอกจากพีเอช แคปปิตอล จะทยอยรีโนเวตสาขาเดิมทุกแห่งให้ทันสมัยขึ้นแล้ว ยังเตรียมเดินหน้าขยายสาขาใหม่ในช่วง 3 ปีหลังเปลี่ยนมือวางไว้ที่ 200 สาขา ภายใต้เงินลงทุน 1,000 ล้านบาท เพื่อเข้าถึงลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ โดยเฉพาะในต่างจังหวัด หลังจากที่สาขาพิซซ่า ฮัทครอบคลุมพื้นที่ในกรุงเทพฯ ถึง 80 – 90% โดยปีนี้เปิดสาขาใหม่ทั้งสิ้น 30 สาขา เน้นพื้นที่ตามหัวเมืองต่างจังหวัดเป็นหลัก
ทั้งนี้ รูปแบบสาขาของพิซซ่า ฮัท จะถูกปรับเปลี่ยนใหม่ จากเดิมที่เป็นรูปแบบ “ไดน์นิ่ง” แบบ FULL SERVICE มีพนักงานมารับออเดอร์และเสิร์ฟ มาอยู่ในรูปแบบใหม่ ที่เรียกว่า แคทช่วล เซอร์วิส เน้นความรวดเร็วมากขึ้น โดยจะมีทั้งบริการส่งถึงบ้าน และทานในร้าน
นอกจากการเดินหน้าขยายสาขาให้ครบตามเป้าหมายแล้ว เวอร์ชั่นใหม่ของพิซซ่าฮัทคือการปรับเปลี่ยนเมนูให้เข้ากับกลุ่มคนไทยมากยิ่งขึ้น ผ่านดาต้าที่มีอยู่นำมาปรับเปลี่ยนให้ถุูกปากคนไทพร้อมทั้งขยายกลุ่มเป้าหมายไปยังกลุ่มคนรุ่นใหม่ให้มากขึ้นด้วย รวมทั้งการจัดรายการโปรโมชั่นโดยนำแบรนด์ต่างๆ ในเครือร่วมจัดโปรโมชั่นร่วมกัน
จะเห็นได้ว่า แบรนด์ในเครือของยัม ฯ มี 3 แบรนด์คือ KFC, Pizza Hut และ Taco Bell กลุ่มมหากิจศิริ ยังได้สิทธิ์ทำตลาด Taco Bell ร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดในสไตล์แม็กซิกัน ซึ่งมีอายุไล่เลี่ยกับพิซซ่าฮัทที่มีอายุ 60 ปีจัดเป็นสาขาที่ 3 ในอาเซียน นอกจากจากฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์
การนำ Taco Bell เข้ามาครั้งนี้เป็นการซื้อแฟรนไชส์เช่นเดิม โดยเตรียมเปิดบริษัทใหม่เพื่อบริหารงานโดยเฉพาะ ตามนโยบาย 1 ร้าน ต่อ 1 บริษัท โดยที่ TTA ถือหุ้น 70% และคนในตระกูลมหากิจศิริ 30% เช่นเดิม โดยเตรียมเปิดสาขาแรกในช่วงปลายปีนี้
ล่าสุด พิซซ่าฮัท เดินหน้าเปิดตัวกลยุทธ์การตลาดใหม่ โดยหันมาจับกลุ่มคนรุ่นใหม่จนถึงลูกค้ากลุ่มพรีเมี่ยม โดยตั้งเป้าเป็นแบรนด์ พิซซ่าที่ได้รับความนิยมสูงสูดในกลุ่มผู้บริโภคทั่วประเทศไทย
อุษณา มหากิจศิริ กรรมการบริษัท พีเอช แคปปิตอล จำกัด เจ้าของเฟรนไชส์พิซซ่าฮัท ประเทศไทย กล่าวว่า ได้เปิดโมเดลการตลาด ภายใต้ชื่อ Pizza Hut 4.0 Innovation & Digital Experience เน้นในเรื่องของการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ทั้งในแง่สินค้า การบริการออนไลน์หนุนบริการเดลิเวอร์รี่ที่รวดเร็ว พร้อมโปรแกรมรอยัลตี้ และการขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง
ถ้าลองศึกษาประวัติของพิซซ่าฮัทตั้งแต่เริ่มเปิดบริการมาจนถึงปีนี้ ฉลองครบรอบ 60 ปีของแบรนด์พิซซ่าฮัทแล้ว จะพบว่าพิซซ่าฮัท ไม่เคยหยุดพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ให้ผู้บริโภคได้ตื่นตาตื่นใจอยู่เสมอ ตัวอย่างเช่น พิซซ่าฮัทเป็นผู้ริเริ่มทำ “Pizza Pan” และ “Stuffed Crust Pizza” เป็นรายแรก ซึ่งต่อมากลายเป็นเมนูที่ได้รับความนิยมอย่างสูง เช่นเดียวกันกับเรื่องเทคโนโลยีที่พิซซ่าฮัทเป็นผู้นำเทรนด์ที่เปิดบริการสั่งพิซซ่าผ่านทางอินเตอร์เน็ตได้รายแรกของโลก
กลยุทธ์ในการรักษาฐานลูกค้าและขยายแบรนด์สู่กลุ่มลูกค้าใหม่ คือ จะเน้นเรื่องการพัฒนารสชาติของพิซซ่า ใหม่ๆ ที่ถูกใจลูกค้าคนไทย ที่ Pizza Hut ลูกค้าจะพบกับพิซซ่าที่อร่อยกว่า ด้วยวัตถุดิบที่นำเข้าจากต่างประเทศ Sauce ที่เป็นสูตรเฉพาะ Signature ของ Pizza Hut / Cheese ที่มาจาก New Zealand ที่รู้จักกันดีว่า เป็น ชีสที่ดีที่สุดของโลก นอกจากนี้ ไม่หยุดสร้างสรรค์เมนูพิซซ่าหน้าใหม่ๆ ที่ถูกปากคนไทยอยู่เสมอ ปีที่ผ่านมา เมนูใหม่นำเสนอมา 10 กว่าเมนูแล้ว ปีนี้ก็จะมีอีก
ล่าสุดเปิดตัว เมนู “มีทแอนด์ชีส” “ชิกแอนด์ชีส” ซึ่งเป็น 2 หน้าใหม่ เครื่องใหญ่ ทั้งมีทบอลเนื้อแน่นกับไก่ ป๊อบชิ้นโต และชีสเยิ้มๆ ในราคาลดพิเศษถาดแรกจาก 299 บาท ลดเหลือ 199 บาท และถาดที่ 2 ลดเหลือเพียงแค่ 99 บาท ที่มั่นใจว่าสามารถตอบสนองไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่ต้องการลิ้มรสความอร่อยอย่างเต็มสูตรเต็มคำที่พิซซ่าฮัทจะจัดให้ได้แน่นอน
นอกจากนี้ พิซซ่าฮัทประเทศไทย ยังได้สร้างประสบการณ์ใหม่ให้แก่ผู้บริโภคในประเทศไทยเป็นแห่งแรกของโลก ด้วยการคิดค้นเมนู “อาติซาน พิซซ่า” เป็นพรีเมี่ยมพิซซ่าที่มีให้เลือกถึง 5 หน้า ได้แก่ “พิซซ่า พาร์ม่าแฮม”, “พิซซ่า สไปซี่ เยอรมัน ซอสเซจ”, “พิซซ่า ซีฟู้ด ซิมโฟนี”, “พิซซ่า ไวท์ ทรัฟเฟิล ชิกเก้น” และ “พิซซ่า มาร์เกริต้า” ซึ่งกระบวนการทำอาติซาน พิซซ่า พิถีพิถันทุกขั้นตอน ตั้งแต่แป้งทำมือ จนถึงการอบ ท็อปปิ้ง และซอสสูตรพิเศษ เพื่อทำให้ผู้บริโภคได้สัมผัสถึงความเป็นพิซซ่าแบบโฮมเมด ที่เหมาะสำหรับแฟนพิซซ่าตัวจริงในราคาที่คุ้มค่า
ในด้านการสื่อสารออนไลน์ ก็นับเป็นช่องทางการสื่อสารที่พิซซ่าฮัทให้ความสำคัญอย่างมาก เพราะจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการสร้างการรับรู้แบรนด์ให้เข้าถึงง่าย รวมถึงช่วยกระตุ้นการขายสินค้าอีกด้วย
พิซซ่าฮัทได้เปิดตัวไลน์สติกเกอร์ (LINE) เป็นเครื่องมือการสื่อสารการตลาดกับผู้บริโภคโดยตรง และ ใช้ในการบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้าโดยการนำเสนอโปรโมชั่นที่แตกต่างกันตามความต้องการของลูกค้าแต่ละบุคคลที่มีความชอบและพฤติกรรมไม่เหมือนกัน และเพิ่งเปิดตัวเว็บไซต์พิซซ่าฮัทโฉมใหม่ www.pizzahut.co.th ไปเมื่อเร็วๆ นี้ เพื่อรองรับปริมาณการสั่งซื้อผ่านช่องทางออนไลน์ได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น
เฉลิมชัย มหากิจศิริ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TTA แสดงความมั่นใจว่าหลังจากที่บริษัท พีเอช แคปปิตอล ซึ่ง TTA มีสัดส่วนถือหุ้นอยู่ร้อยละ 70 ได้รับสิทธิ์บริหารร้านอย่างเต็มตัวเมื่อเดือนมิถุนายน ปีที่ผ่านมา ธุรกิจพิซซ่าฮัทเติบโตในระดับที่น่าพอใจ แม้ว่าร้านอาหารบริการด่วนมีการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น เพราะปัจจุบันผู้บริโภคมีตัวเลือกมากขึ้น แต่คาดว่าปีนี้จะเติบโตได้อีก โจทย์ของพิซซ่าฮัทจึงต้องพยายามสร้างการรับรู้และขยายฐานลูกค้าให้มากขึ้น ให้พิซซ่าฮัทเป็นแบรนด์อันดับหนึ่งในใจของลูกค้าคนไทยให้สำเร็จ
ทิศทางของพิซซ่าฮัท จากนี้ยังจะเดินหน้าขยายสาขาเพิ่มต่อเนื่อง เพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคในกรุงเทพฯ ปริมณฑลและต่างจังหวัด บริษัทมีแผนที่จะเปิดเพิ่มอีกประมาณ 20 สาขาภายในปี 2561 จากเมื่อต้นปีเปิดให้บริการไปแล้ว 13 สาขาใหม่ คาดสิ้นปีจะมีร้านพิซซ่าฮัท ทั้งสิ้นราว 128 สาขา ทั่วประเทศ จากปัจจุบันที่มี 121 สาขา แบ่งเป็นกรุงเทพฯและปริมณฑล 79 สาขา และต่างจังหวัด 42 สาขา
พิซซ่าฮัทยังเป็นแบรนด์ที่ได้รับความนิยม ครองอันดับที่ 29 ต่อเนื่องเป็นปีที่สอง จากการจัดอันดับ 1000 แบรนด์ที่ดีที่สุดในเอเชีย (Asia’s Top 1000 Brands) โดยเป็นการสำรวจประจำปีทางออนไลน์ของแคมเปญเอเชียแปซิฟิค ( Campaign Asia-Pacific) ร่วมกับ นีลเส็น (Nielsen)
ทั้งนี้ พิซซ่าฮัท (Pizza Hut) เป็นธุรกิจแฟรนไชส์ร้านอาหารพิซซ่า เริ่มก่อตั้งในปี พ.ศ. 2501 โดยสองพี่น้อง แฟรงค์ และ แดน คาร์นี ชาวเมืองวิชิต้า รัฐแคนซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยเปิดร้านแรกที่เมืองวิชิต้า รัฐแคนซัส และใน ปีถัดมา พ.ศ. 2502 พิซซ่าฮัทได้เริ่มระบบตัวแทนจำหน่าย (แฟรนส์ไชส์) “ร้านพิซซ่าฮัท” โดยร้านตัวแทนแห่งแรกอยู่ที่ เมืองโทเพกา รัฐแคนซัส ซึ่งร้านตัวแทนสาขาจะต้องทำตามสูตรการทำพิซซ่าต้นตำรับ และทางด้านการบริหารต้องได้รับการอบรมจากสองพี่น้องตระกูลคาร์นีย์
พิซซ่าฮัท มีสาขาต่างประเทศครั้งแรกในปี พ.ศ. 2511 ที่ประเทศแคนาดา ต่อมาในปี พ.ศ. 2520 พิซซ่าฮัท อิงค์รวมตัวเข้ากับ เป๊ปซี่ โค อิงค์ (Pepsi Co., Inc.) และได้เริ่มโครงการขยายสาขาไปทั่วโลก
ต่อมา เป๊ปซี่ โค อิงค์ มีนโยบายแยกตัวกลุ่มธุรกิจร้านอาหารในเครือ ซึ่งได้แก่ พิซซ่าฮัท เคเอฟซี และ ทาโก้เบลล์ และได้ก่อตั้งเป็นบริษัท ไทรคอน โกลโบล เรสเทอรองตส์ จำกัด (Tricon Global Restaurants) เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2540
เดือนพฤษภาคม ปี พ.ศ. 2545 บริษัท ไทรคอน โกลโบล เรสเทอรองตส์ จำกัด (Tricon Global Restaurants) เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ยัม! แบรนด์ส อิงค์ จำกด (Yum! Brands, Inc.) และบริษัท ไทรคอน เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (Tricon Restaurants International) เปลี่ยนเป็น บริษัท ยัม! เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (Yum Restaurants International) หลังจากได้เข้าซื้อกิจการของ ร้านอาหารลอง จอห์น ซิลเวอร์ และ เอ แอนด์ ดับบลิว จึงทำให้มีแบรนด์อาหารเพิ่มขึ้นเป็น 5 แบรนด์คือ เคเอฟซี, พิซซ่าฮัท, ทาโก้ เบลล์, ลอง จอห์น ซิลเวอร์ และ เอ แอนด์ ดับบลิว