ส่องเทรนด์อีคอมเมิร์ซ 2017 – 2018
จากการเติบโตอย่างรวดเร็วของตลาดอีคอมเมิร์ซในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี้ ทางบริษัท iPrice ซึ่งเป็นบริษัทอีคอมเมิร์ซใน 7 ประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จึงได้จัดทำการศึกษาตลาดอีคอมเมิร์ซเฉพาะในประเทศไทยในด้านต่าง ๆ ดังนี้ ศึกษาความสนใจของคนไทยต่อร้านค้าอีคอมเมิร์ซชื่อดัง, จัดอันดับแอพพลิเคชั่นในปี 2017, ร้านค้าออนไลน์ที่มีความโดดเด่นทางด้านโซเชียลมีเดีย คาดการณ์เทรนด์ที่จะเกิดขึ้นในปี 2018 โดยพบผลการศึกษาที่น่าสนใจดังต่อไปนี้
ปี 2018 นี้ เทศกาลซื้อสินค้าออนไลน์ 11.11 และ 12.12 กลับมาอีกครั้ง
ผลการค้นหาปี 2017
งานออนไลน์เซล 11.11 และ 12.12 เป็นหนึ่งในช่วงการจัดโปรโมชั่นทางการตลาดที่ประสบความสำเร็จที่สุดในประเทศไทย โดยในช่วง 11.11 และ 12.12 นั้นมี ค่า search interest index ที่สูงขึ้นกว่าช่วงปกติ โดยงาน 12.12 มีค่าความสนใจสูงถึง 100 แสดงให้เห็นว่าคนไทยหันมาจับจ่ายซื้อสินค้าออนไลน์ในช่วงนี้เพิ่มมากขึ้น
คาดการณ์ปี 2018 เทรนด์การแข่งขันทุ่มงบการตลาดเพื่อโปรโมทเทศกาลเซลที่ใหญ่ที่สุดของปีอย่าง 11.11 และ 12.12 นี้ยังจะคงจะมีให้เห็นในปีนี้อย่างแน่นอน เนื่องจากแบรนด์ต่างๆเพิ่มยอดขายและจำนวนผู้ซื้อสินค้าอย่างมาก ดังนั้นโอกาสนี้จึงเป็นโอกาสทองสำหรับผู้แข่งขันในปัจจุบันและผู้แข่งขันรายใหม่ที่จะเข้าชิงส่วนแบ่งในช่วงเทศกาลนี้
อย่างไรก็ดีในปี 2018 นี้คงเป็นที่น่าจับตามองว่าการโปรโมทแบรนด์ผ่านการลด แลก แจก แถมนี้ จะเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคให้คำนึงแต่เรื่องราคาหรือไม่ ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบให้กับแบรนด์ต่างๆในอนาคตอย่างแน่นอน
การแข่งขันอย่างดุเดือดสำหรับผู้นำตลาดอย่าง Lazada และ Shopee
ผลการค้นหาปี 2017
ในปี 2017, 90% ของผู้ใช้อินเตอร์เน็ตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาจากทางสมาร์ทโฟน กล่าวคือสมาร์ทโฟนกลายเป็นเครื่องมือสำคัญแทนที่คอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟนช่วยให้คนสามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้ง่ายขึ้น ดังนั้นร้านค้าออนไลน์ในโลกอีคอมเมิร์ซที่เล็งเห็นถึงเทรนด์ที่เปลี่ยนไปนี้ ได้หันมาให้ความสนใจกับการพัฒนาแอพพลิเคชั่นซื้อขายสินค้าออนไลน์เพื่อรองรับกับความต้องการของลูกค้าในอนาคต
จากการศึกษาพบว่าในปี 2017 ที่ผ่านมาร้านค้าอีคอมเมิร์ซสองร้านดังอย่าง Lazada และ Shopee มีการแข่งขันกันอย่างดุเดือด โดยใน Google Play นั้นไตรมาสที่ 1 ของปี 2017 Shopee ยังครองอันดับสองตามยอดดาวน์โหลด อย่างไรก็ดี Shopee มีการตีตัวขึ้นอย่างรวดเร็วในไตรมาสที่เหลือจนสามารถขึ้นเป็นที่หนึ่งนำ Lazada ได้ในปีที่ผ่านมา
ในทางตรงกันข้าม สำหรับ App Store นั้น Lazada ยังคงเป็นที่หนึ่งในทุกๆไตรมาสตลอดปี 2017
คาดการณ์ปี 2018 เป็นที่น่าจับตามองอย่างยิ่งสำหรับการแข่งขันอย่างดุเดือดระหว่างสองยักษ์ใหญ่ Lazada และ Shopee ในการขึ้นเป็นที่สุดของทั้ง Google Play และ App Store ซึ่งในปี 2018 นี้ คาดการณ์ว่า Shopee น่าจะขึ้นเป็นที่หนึ่งในทั้งสองระบบ
ร้านค้าอีคอมเมิร์ซที่มียอดโซเชียลมีเดีย (Facebook) สูงสุด
ผลการค้นหาปี 2017 จากการศึกษาร่วมกับบริษัท Socialbakers ซึ่งเป็นผู้นำในด้านโซเชียลมีเดียพบว่า ในปี 2017 มีรายชื่อร้านค้าออนไลน์ที่ติดอันดับยอดผู้ติดตามบน Facebook สูงสุดดังต่อไปนี้
อันดับที่หนึ่ง คงหนีไม่พ้นยักษ์ใหญ่อย่าง Lazada ซึ่งมียอดผู้ติดตามกว่า 4 ล้านไลค์ Lazada มีการใช้กลยุทธ์แบบ regional strategy คือการรวมเพจของทุกประเทศเข้าด้วยกัน อย่างไรก็ดี Lazada Thailand ก็ยังเป็นที่หนึ่งนำแฟนเพจร้านช้อปปิ้งออนไลน์อื่น ๆ ในประเทศไทย
อันดับที่สองนั้นได้แก่ Chilindo มีผู้ติดตามอยู่ที่ 3.8 ล้านไลค์ ซึ่งบริษัทมีการโปรโมทที่แอ็กทีฟกว่าเพจอื่น ๆ กล่าวคือมีการโพสต์รูปภาพและวิดีโอที่น่าสนใจ เช่น การนำเสนอสินค้าใหม่ ๆ ที่กำลังเป็นกระแสหรือการใช้เกมสร้าง engagement กับลูกเพจ อีกทั้ง Chilindo ยังเข้าใจถึงความตลกและขี้เล่นของคนไทย ในปีที่ผ่านมาจึงมีโพสต์ขำ ๆ มาให้ลูกเพจได้ร่วมแสดงความเห็นอยู่เสมอ
คาดการณ์ปี 2018
จากการศึกษาพบว่าแฟนเพจของบริษัท Chilindo นั้นมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 1.5% ต่อสัปดาห์ ซึ่งถ้าหากเทียบกับ Lazada จะมีอัตราการเติบโตของเพจอยู่ที่ 0.7% โดย Chilindo มีอัตราการเติบโตของเพจเร็วกว่าสองเท่า ดังนั้นในปี 2018 ปีจึงเป็นที่น่าสนใจว่าแฟนเพจของ Chilindo นั้นจะหากลยุทธ์ไหนเข้ามาเจาะตลาด สร้างคอนเท็นต์ให้ถูกใจลูกเพจและกลุ่มเป้าหมายได้อีก ซึ่งเราเชื่อว่าในช่วงปลายปีนี้อันดับที่หนึ่งและที่สองอาจจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างแน่นอน
นอกจากการแข่งขันที่ดุเดือดระหว่างบริษัทอีคอมเมิร์ซต่างๆแล้วนั้น ปี 2018 ยังเป็นปีที่น่าจะเห็นการเปลี่ยนแปลงในโลกอีคอมเมิร์ซอีกมากมายโดยทางบริษัท iPrice เล็งเห็นถึงเทรนด์ใหญ่ๆดังนี้
1. ในช่วงครึ่งปีหลังของ 2017 เพื่อความเท่าเทียมรัฐบาลจึงมีการถกเถียง และออกนโยบายให้มีการเรียกเก็บภาษี e-Business เพื่อกันปัญหานักลงทุนต่างชาติเข้ามาทำการค้าผูกขาดในไทย ซึ่งข้อถกเถียงนี้ยังไม่มีความเห็นเป็นเอกฉันท์ คาดว่าไม่เกินกลางปี 2018 คงได้เห็นข้อกฎหมายเป็นลายลักษณ์อักษร ส่วนจะมีผลบังคับใช้เมื่อไหร่นั้นคงต้องรอขณะกรรมการสรุปให้ทราบอีกครั้ง
2. เป็นข่าวครึกโครมจนสะเทือนวงการธุรกิจอีคอมเมิร์ซของเอเชียกับการจับมือระหว่าง Central และ JD.com เพื่อผันตัวเองเข้าสู่ Cyber Trade พร้อมควักเงินทุนลงไปอีก 17,500 ล้านบาท เพื่อช่วยพัฒนาธุรกิจ B2C และธุรกิจ B2B ทั้งสองฝ่ายได้รับประโยชน์เพราะ JD.com ก็ตั้งเป้าขยายอนาเขตให้ครอบคลุมทุกประเทศในอาเซียนเช่นกัน ซึ่งในปี 2018 นี้ทั้งสองบริษัทยังคงดำเนินการเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ตลาด ซึ่งสังเกตได้จากการเริ่มสมัครพนักงานในตำแหน่งใหญ่ๆเพื่อเป็นหัวเรือในการเริ่มธุรกิจ
3. E-payment มีบทบาทมากยิ่งขึ้นในปี 2018 โดยในปีที่ผ่านมาเราจะเห็นว่ามีบริษัทที่เข้ามาให้บริการในด้าน e-payment มากยิ่งขึ้นไม่ว่าจะเป็น Airpay, LINE Pay, Alipay, Mpay และอีกมากมาย นอกจากนี้ธนาคาร 5 แห่งในประเทศไทยได้รับอนุญาติให้บริการด้าน QR Code ซึ่งในปีที่ผ่านมาจะเริ่มเห็นร้านค้าตามตลาดเริ่มวาง QR Code หน้าร้าน เพื่อเป็นช่องทางในการชำระเงินกันมากยิ่งขึ้น ซึ่งในปีนี้เชื่อเลยว่าบริการเหล่านี้จะเข็มแข็งมากยิ่งขึ้นและที่สำคัญผู้บริโภคจะหันมาใช้บริการ e-payment มากยิ่งขึ้น
4. ระบบการขนส่งสิ่งค้าที่แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น จะเสริมประสบการณ์การช้อปปิ้งออนไลน์ให้ดีมากยิ่งขึ้น ในอดีตมีเพียงไปรษณีย์ไทยเป็นผู้ให้บริการเท่านั้น ซึ่งในปี 2017 ผู้ให้บริการมีการพัฒนาระบบที่แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้นไม่ว่าจะเป็น Kerry Express, Lala Move หรือ LINE Man ที่หันมาให้บริการส่งสินค้าทั้งแบบด่วนและแบบ same day delivery การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นี้จึงส่งผลให้การขนส่งในประเทศไทยพัฒนาไปอีกขั้นและในปี 2018 นี้ คุณภาพการขนส่งที่ดีขึ้นนี้จะช่วยเพิ่มความต้องการให้ผู้บริโภคซื้อสินค้าออนไลน์มากยิ่งขึ้น
ข้อมูลเพิ่มเติม : iPrice Trend