Biznews

ส่องธุรกิจการศึกษา จับตา “มหาวิทยาลัย” ส่อแววเจ๊ง

ส่องธุรกิจการศึกษา

จับตา “มหาวิทยาลัย” ส่อแววเจ๊ง

โดย…ธนก บังผล

มีคำกล่าวที่ว่า “การลงทุนกับการศึกษาไม่มีวันขาดทุน” ด้วยเหตุนี้ในยุคสมัยหนึ่งโรงเรียนกวดวิชาจึงผุดขึ้นในประเทศไทยราวกับดอกเห็ด

แต่ทุกสิ่งเกิดขึ้นย่อมมีดับ ระบบการศึกษาในปัจจุบันกลายเป็นธุรกิจที่เปรียบเสมือนร้านกาแฟสดซึ่งมีจำนวนมากแต่กำลังซื้อกลับลดลง ซึ่งปัจจัยทางสังคมในปัจจุบันก็เป็นหนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ไม่สามารถมองข้ามไปได้

เป็นที่ทราบกันดีกว่า การใช้ชีวิตของคน “โสด” ส่วนหนึ่งบนโลกนี้ รวมถึงความนิยม “มีบุตรน้อย” ไม่เหมือนกับอดีตที่ครอบครัวหนึ่งอาจมีลูกตั้งแต่ 3 คน หรือมากถึง 10 คน

ความโสดกับภาระทางเศรษฐกิจได้ทำให้ประชากรบนโลกนี้ลดลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งมีแนวโน้มว่าอนาคตไม่เกิน 10-20 ปีข้างหน้า “วัยผู้สูงอายุ” จะมีสัดส่วนเพิ่มสูงขึ้นมาก ทำให้สังคมโลกจะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุ

เมื่อประชากรในปัจจุบันลดลงส่งผลให้วัยเรียนลดลงเช่นกัน กรณีนี้ได้รับการยืนยันจาก ศ.สมหวัง พิธิยานุวัฒน์ ราชบัณฑิตประเภทวิชาศึกษาศาสตร์ สาขาวิชาศึกษาศาสตร์ทางสารัตถะ และนักวิชาการด้านการศึกษา ซึ่งเปิดเผยว่า ปีนี้ที่นั่งเรียนทั้งหมดประมาณ 9 แสนที่ แต่เด็กที่สอบเข้าเรียนต่อในระดับอุดมศึกษามีเพียง 3 แสนคน มีที่ว่างถึง 6 แสนที่ เช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐบางแห่ง ซึ่งเคยมีนักศึกษาทุกชั้นปี รวมกันถึง 1.4 หมื่นคน แต่ปีนี้ลดลงเหลือเพียง 7,000 คน (ที่มา…เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์ 24 ส.ค. 2561)

เมื่อจำนวนผู้เข้าเรียนลดลง ผลกระทบที่ตามมาคือคุณภาพในการเรียนการสอนก็จะลดลงเช่นกัน โดย ศ.สมหวัง มองว่า งบประมาณแต่ละปีของมหาวิทยาลัยโดยทั่วไปนั้น จะถูกกำหนดให้มาจากค่าเล่าเรียนหรือค่าเทอมเพียง 1 ใน 3 ส่วน อีก 2 ส่วนมาจากงบประมาณที่รัฐบาลสนับสนุน และรายได้ที่มาจากการทำงานวิจัย งานด้านวิชาการ หรือการหารายได้จากด้านต่างๆ ที่แต่ละแห่งดำเนินการ

แต่สัดส่วนงบประมาณของมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐหลายแห่งกลับไม่เป็นเช่นนั้น และมีบางแห่งที่งบประมาณกลับขึ้นอยู่กับรายได้จากค่าเล่าเรียนถึงร้อยละ 80 ดังนั้นจำนวนผู้เรียนที่ลดลงก็จะทำให้เจอปัญหาเรื่องงบประมาณในการบริหารทันที

จำนวนผู้เรียนที่ลดลงมากส่วนหนึ่งก็มาจากปัญหาสังคม เด็กสมัยนี้หลายคนไม่เรียนหนังสือ หรือเรียนจบเพียงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เท่านั้น ในขณะที่ในหากครอบครัวมีฐานะดีเมื่อจบมัธยมศึกษาปีที่ 6 ก็นิยมจะให้ลูกหลานไปเรียนต่อที่ต่างประเทศ ซึ่งช่องว่างทางสังคมนี้เกิดมาจากผลกระทบทางเศรษฐกิจโดยตรง ยังไม่นับระบบการสอบเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาทุกวันนี้ที่กลายเป็นเป็นปัญหาสร้างช่องโหว่ทำให้การตัดสินใจเข้าเรียนต่อยังมหาวิทยาลัยน้อยลงเช่นกัน

เมื่อได้เข้าไปศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยแล้ว ผู้เรียนอีกจำนวนหนึ่งก็ได้ไปพึ่งพากองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) และกลายเป็นการสร้างปัญหา “เบี้ยวหนี้” ตามมาอีกทอดหนึ่ง

ไม่นับเด็กอีกจำนวนมากที่มองว่าการศึกษาในมหาวิทยาลัยจบมาหางานทำยาก ดังนั้นเมื่อจบระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 จึงหันไปศึกษาต่อยังสายวิชาชีพ ที่ปัจจุบันตลาดแรงงานขาดแคลนเป็นอย่างมากและมีงานรองรับผู้เรียนจบให้มีงานทำได้หลายอัตรา

นอกจากนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ ผู้อำนวยการหลักสูตร Ph.D. และ M.Sc. (Business Analytics and Data Science) สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ได้เขียนบทความวิเคราะห์ปัญหาวิกฤตมหาวิทยาลัย เผยแพร่เมื่อวันที่ 26 ส.ค.ที่ผ่านมา ไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้

“ผมต้องออกมายอมรับว่าตัวเองพยากรณ์พลาดไปมาก เพราะได้เขียนบทความว่า เมื่อมหาวิทยาลัยไทยต้อง lay off อาจารย์และเจ้าหน้าที่ในอีก 3-5 ปีข้างหน้า เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 2561 แต่สิ่งที่ผมคาดไว้กลับเกิดขึ้นไวกว่าที่ผมพยากรณ์ไว้มาก

วันก่อนลูกศิษย์ผมที่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยเอกชนมาเล่าให้ฟังว่าตัวเธอเองต้องรับหน้าที่ไปบอกเพื่อนอาจารย์ว่าต้อง lay off แล้วเพราะไม่มีภาระงานสอน มหาวิทยาลัยต้องเลิกจ้างโดยไม่มีความผิดใด ๆ”

“มีมหาวิทยาลัยเอกชนหนึ่งแห่ง ได้ขายให้กลุ่มทุนจีนแล้ว และเปลี่ยนผู้บริหารชุดใหม่ และเริ่ม lay off อาจารย์ที่สอนได้แต่ภาษาไทยและภาษาอังกฤษออกไป และเริ่มหาอาจารย์ชาวจีนที่สอนเป็นภาษาจีนได้เข้ามาทำงานแทน”

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อานนท์ ยังยืนยันด้วยว่าแนวโน้มประชากรที่ลดลงมีส่วนทำให้ “ธุรกิจการศึกษา” เข้าสู่ภาวะวิกฤติ

“ไม่มีนักเรียนไทยเพียงพอแล้ว เด็กไทยมีอัตราการเกิดต่ำมาก เราเป็นสังคมสูงอายุรุนแรงมาก ถ้าไม่มีนักศึกษาจีนเลย ไม่มีทางไปรอดสำหรับมหาวิทยาลัยเอกชน และที่ผ่านมาก็เอาเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาเป็นเครื่องจูงใจให้เด็กมากู้เงินแล้วเรียนในมหาวิทยาลัยเอกชนกันมาก แต่ก็ไม่ยั่งยืนและไปไม่รอด”

“ผมได้ยินข่าวมาว่ากลุ่มทุนจีนที่ทำธุรกิจพานักเรียนจีนเข้ามาเรียนในประเทศไทยจะลงทุนซื้อมหาวิทยาลัยเอกชนเอง และบริหารเอง และหาอาจารย์จีนมาสอนเอง และหานักเรียนจีนมาเรียนด้วยตัวเอง ครบวงจรอย่างยิ่งครับ”

“เอาเป็นว่า ณ บัดนี้ เริ่มมีการ lay off อาจารย์มหาวิทยาลัยที่ไม่มีภาระการสอนกันแล้วอย่างเป็นเรื่องเป็นราวหลายๆ ที่ครับ ที่แย่สุดคือ รองอธิการบดี หรือ คณบดี ไม่ลงไปพูดกับผู้ถูก lay off เอง แต่ให้หัวหน้าภาควิชาลงไปพูด ทำไมไม่ลงไปบอกเองหนอ”

ปัญหาอีกอย่างที่กำลังจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ในแวดวงอุดมศึกษาคือ หลักสูตรการเรียนการสอนที่ถูกพัฒนาขึ้นมาให้รองรับครอบคลุมกับอาชีพเฉพาะทางมากขึ้น เป็นสาขาวิชาที่มีชื่อหรูหราไม่เหมือนนอดีต โดยอัตราการจบมาแล้วไม่แน่ว่าจะมีตำแหน่งงานรองรับมากพอหรือไม่

เช่น สาขาการจัดการธุรกิจการบิน การจัดการความปลอดภัยการบิน การจัดการบริการธุรกิจเรือสำราญ ภาษาญี่ปุ่นเพื่อการสื่อสารธุรกิจ การจัดการธุรกิจดิจิทัล วิศวกรรมระบบราง มนุษยนิเวศศาสตร์ ภาควิชานโยบายการจัดการและความเป็นผู้นำทางการศึกษา โลจิสติกส์และโซ่อุปทานสมัยใหม่ การจัดการและการเป็นผู้ประกอบการดิจิทัล ฟิสิกส์ประยุกต์ ฯลฯ เป็นต้น

เมื่อนำประเด็นที่ ศ.สมหวัง ระบุว่า มหาวิทยาลัยบางแห่งมีนักศึกษาทุกชั้นปี รวมกันถึง 1.4 หมื่นคน แต่ปีนี้ลดลงเหลือเพียง 7,000 คน ยิ่งกลายเป็นเรื่องที่น่าตกใจว่าสาขา ภาควิชา ที่เกิดขึ้นใหม่เหล่านี้ ได้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้เรียนหรือไม่

เช่นเดียวกับบทความของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อานนท์ ที่กล่าวถึงการถูก lay off ของบรรดาอาจารย์ในมหาวิทยาลัยว่า

“สาขาวิชาที่เสี่ยงจะถูก lay off คือสาขาวิชาที่ไม่มีนักศึกษาเรียน ได้แก่ เศรษฐศาสตร์ วันก่อนอธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยออกมาพูดเองเลย ,สถิติคณิตศาสตร์ฟิสิกส์ วิทยาการคอมพิวเตอร์การจัดการระบบสารสนเทศ วิชาพวกนี้ยากไป เด็กไทยไม่อยากเรียน ,ปรัชญาประวัติศาสตร์ วิชาพวกนี้จบไปไม่มีงานโดยตรง เด็กไทยก็ไม่อยากเรียน”

“อาจารย์มหาวิทยาลัยในสาขาวิชาพวกนี้น่าจะไปก่อนครับผม เอาเข้าจริงเห็นอาจารย์ในสาขาวิชาเหล่านี้เริ่มถูก lay off แล้วครับ ส่วนสาขาวิชาบางสาขากลับขาดแคลนหนักมาก เช่น พยาบาลศาสตร์ ผลิตเท่าไหร่ก็ไม่พอ หาอาจารย์พยาบาลก็ยากลำบากเหลือเกิน สาขาแพทย์ก็ขาดแคลนแต่ไม่เท่าพยาบาล เพราะเราเข้าสังคมผู้สูงอายุ การเจ็บป่วยก็มากขึ้น ต้องการคนดูแลมากขึ้น”

“พวกมหาวิทยาลัยราชภัฎ ในต่างจังหวัด ที่นักศึกษาลดลงมากก็มีการเลิกจ้างและ lay off อาจารย์ที่เป็นพนักงานมหาวิทยาลัยกันมากมาย”

“มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ จะมีวิธีการบริหารที่เด็ดขาดกว่า เช่น สาขาวิชาไหน ไม่มีนักศึกษาเรียนพอแล้วทำให้ขาดทุน ก็ต้องยุบไป ต้องเกลี่ยอาจารย์ไปสอนในสาขาวิชาที่มีนักศึกษา หากปรับตัวไม่ได้หรือไม่มีสาขาวิชาไหนต้องการก็ต้องลาออกไป ไม่ต่อสัญญาจ้าง จะถูกบีบให้ออก เพราะไม่มี value และ ไม่มี contribution อะไรที่มาทดแทนกันได้ หรือไม่ก็ให้โอกาสให้ไปเขียนหลักสูตรมาใหม่ ทำให้มีนักศึกษามาเรียนให้ได้”

อย่างไรก็ตาม เมื่อสังคมไทยยังคงมีค่านิยมว่า การเรียนจบมหาวิทยาลัยหรือเรียนสูงๆเป็นปัญญาชนมีปริญญาสามารถหางานทำได้ การศึกษาในประเทศไทยก็ยังคงมีความสำคัญอยู่ เพียงแต่ระบบการศึกษาที่กลายเป็นธุรกิจอย่างทุกวันนี้ได้กลายเป็นการสร้างอีกปัญหาให้เกิดขึ้นกับ “ผู้เรียน” และ “ผู้สอน” ด้วยเช่นกัน

นี่เป็นผลกระทบจากเศรษฐกิจและเทรนด์การใช้ชีวิตของคนสมัยใหม่ ที่ยังไม่มีแสงสว่างปลายอุโมงค์

ขอบคุณภาพประกอบบางส่วนจากคม ชัด ลึก

Related Articles

Back to top button
X
%d bloggers like this: