Biznews

“สูงวัย” ขุมทรัพย์ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม

เต็ดตรา แพ้ค ชี้ กลุ่มผู้สูงวัยของไทยมีอำนาจในการจับจ่ายเพิ่มขึ้น
เปิดโอกาสใหม่แก่อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม

ปัจจุบันภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีจำนวนผู้สูงวัย คิดเป็นถึงร้อยละ 60 ของจำนวนประชากรโลก โดยคาดว่าตัวเลขนี้จะเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว หรือคิดเป็นกว่า 1,300 ล้านคน ในปี พ.ศ. 2593 เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มผู้บริโภคที่เติบโตเร็วที่สุดกลุ่มนี้ เต็ดตรา แพ้ค ได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับเทรนด์การบริโภค และการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ในกว่า 27 ประเทศ รวมไปถึงประเทศไทย และพบว่าร้อยละ 59 ของผู้สูงวัย ยินดีที่จะจ่ายเงินเพิ่มเพื่อซื้อผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบมาเพื่อพวกเขาโดยเฉพาะ และร้อยละ 88 มองว่า ‘คุณค่าของสินค้า’ เทียบได้กับ ‘คุณภาพที่สูง’

จากการวิจัยเกี่ยวกับความสำคัญของผู้บริโภคกลุ่มสูงวัย (Senior White Paper) หรือ ผู้ที่มีอายุเกิน 60 ปี ต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ คาดว่าจะมีอำนาจซื้อทั่วโลกสูงถึง 10 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในอีกสามปีข้างหน้า ซึ่งอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มมีโอกาสโตสูงมากหากเข้าใจความต้องการและมีการทำตลาดได้ตรงจุด

สำหรับประเทศไทย จำนวนผู้บริโภคกลุ่มนี้ จะมีจำนวนถึงหนึ่งในสี่ของประชากรทั้งหมดในปี พ.ศ. 2583 ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจเช่นประเทศจีน ซึ่งผู้สูงวัยในไทยถือเป็นกลุ่มประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วแต่กลับได้รับความสนใจน้อย โดยในปี พ.ศ. 2559 มีประชากรไทยที่อายุเกิน 65 ปี ถึงกว่าร้อยละ 11 เทียบกับเพียงร้อยละ 5 เท่านั้น ในปี พ.ศ. 2538 ” นางสาวรัตนศิริ ติลกสกุลชัย ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท เต็ดตรา แพ้ค (ประเทศไทย) จำกัด กล่าว และว่าด้วยอำนาจการซื้อที่สูงขึ้น พร้อมกับความสนใจในด้านสุขภาพที่เพิ่มมากขึ้น งานวิจัยพบว่าบริษัทอาหารและเครื่องดื่มที่ให้ความสำคัญกับการสร้างผลิตภัณฑ์สำหรับผู้บริโภคกลุ่มนี้ จะสามารถช่วยเพิ่มฐานลูกค้าที่มีความภักดีต่อแบรนด์ (brand loyalty)ได้ดี และมีโอกาสเติบโตสูง

บรรจุภัณฑ์เป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งสำหรับผู้ผลิต ผู้สูงอายุกว่าร้อยละ 59 ระบุว่าบรรจุภัณฑ์มีบทบาทสำคัญในการเลือกซื้อสินค้า งานวิจัย Senior White Paper ชิ้นนี้ จึงระบุถึงคุณสมบัติสำคัญของบรรจุภัณฑ์ 5 ข้อ ที่ผู้บริโภคกลุ่มสูงวัยต้องการ ดังนี้

  1. บรรจุภัณฑ์จะต้องเปิดได้ง่าย และวางฝาไว้ในตำแหน่งที่สูงกำลังพอดีเพื่อป้องกันการหลุดลื่นจากมือ
  2. บรรจุภัณฑ์ต้องมีน้ำหนักเบา โดยรูปทรงกลมมน ง่ายต่อการหยิบจับมากกว่าทรงสี่เหลี่ยม
  3. บรรจุภัณฑ์ควรช่วยเพิ่มอายุการเก็บผลิตภัณฑ์ เพื่อลดจำนวนเที่ยวในการเดินทางเพื่อไปซื้อสินค้า
  4. ตัวอักษรและฉลากบนบรรจุภัณฑ์ควรมีขนาดใหญ่ ชัดเจน และมีสีสันสดใส
  5. ข้อมูลทางโภชนาการและวันหมดอายุควรถูกระบุอย่างชัดเจนบนบรรจุภัณฑ์

ผลการวิจัย ยังระบุอีกว่าผู้บริโภคสูงวัยใช้รายได้ร้อยละ 20 ของตัวเองไปกับการซื้ออาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งนับว่าเป็นสัดส่วนที่สูงเมื่อเทียบกับผู้บริโภคที่อายุน้อยกว่าซึ่งใช้จ่ายเพียงร้อยละ 18 นอกเหนือไปจากคุณสมบัติสำคัญของบรรจุภัณฑ์แล้ว ประเภทของผลิตภัณฑ์ที่เฉพาะเจาะจงด้านสุขภาพ เช่น เครื่องดื่มและอาหารที่เพิ่มวิตามินและแร่ธาตุ ลดปริมาณน้ำตาล เกลือ และไขมัน ยังได้รับความนิยมสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

Related Articles

Back to top button
X
%d bloggers like this: