สำเร็จตามคาด “STYLE APRIL 2018” ซื้อขายกว่า 2,600 ล้าน
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ ตอกย้ำความสำเร็จของงานแสดงสินค้าไลฟ์สไตล์ที่ยิ่งใหญ่และครบครันที่สุดในภูมิภาค จัดงาน “STYLE APRIL 2018” ขึ้นระหว่างวันที่ 19-23 เมษายน 2561 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา โดยรวมงานแสดงสินค้าแฟชั่นและงานแสดงสินค้าเครื่องหนัง (BIFF&BIL) งานแสดงสินค้าของขวัญและของใช้ในบ้าน (BIG+BIH) และงานแสดงสินค้าเฟอร์นิเจอร์ (TIFF) ไว้ในงานเดียว ชูจุดเด่นสินค้าไลฟ์สไตล์ของผู้ประกอบการไทยที่มีการต่อยอดและพัฒนาผลงานอย่างสร้างสรรค์ มีนวัตกรรมนำสมัย ดึงดูดผู้เข้าชมงานกว่า 51,000 ราย สร้างมูลค่าซื้อขายกว่า 2,600 ล้านบาท
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เผยถึงผลการจัดงานแสดงสินค้า “STYLE APRIL 2018” ว่าช่วงเจรจาการค้า ระหว่างวันที่ 19-21 เมษายน 2561 ได้รับผลตอบรับเป็นที่น่าพอใจ มียอดสั่งซื้อ 2,600 ล้านบาท และมีผู้เข้าชมงานรวม 3 วันแรกนับหมื่นราย โดยผู้เข้าชมงานจากต่างประเทศสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ไต้หวัน ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ อินเดีย ตามลำดับ
ทั้งนี้งาน “STYLE APRIL 2018” จัดขึ้นภายใต้คอนเซ็ปต์ “Crenovative Origin” ซึ่งมาจากแนวคิดในการผสมผสานความคิดสร้างสรรค์ (Creative) นวัตกรรม (Innovation) และอัตลักษณ์ไทย (Original) เข้าไว้ด้วยกัน เพื่อสานต่อนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของรัฐบาล โดยภายในงานมีผู้ประกอบการ 637 บริษัทนำสินค้าไลฟ์สไตล์มาร่วมจัดแสดงรวม 1,700 คูหา บนพื้นที่กว่า 47,000 ตร.ม. แบ่งเป็นผู้ประกอบการในประเทศ 552 บริษัท และผู้ประกอบการต่างประเทศ 85 บริษัท จากประเทศ ญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ ไต้หวัน กานา และกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ เวียดนาม) มีมูลค่าซื้อการซื้อขายกว่า 2,600 ล้านบาท ในส่วนของผู้เข้าชมงานมีมากกว่า 51,000 คนจากทั่วโลก นับว่าบรรลุภารกิจของกรมฯ ในการการขยายช่องทางการค้าให้แก่ผู้ประกอบการไทย และส่งเสริมผู้ประกอบการไทยสู่ตลาดต่างประเทศ
งาน “STYLE APRIL 2018” มีผู้ประกอบการนำสินค้าไลฟ์สไตล์มาร่วมจัดแสดงและจำหน่ายอย่างครบครัน โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่มประเภทสินค้าหลักคือกลุ่มสินค้าแฟชั่น อาทิ เสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย และเครื่องประดับ รองเท้า กระเป๋า เครื่องหนัง อุปกรณ์กีฬา เครื่องใช้สำหรับเดินทางและสันทนาการ กลุ่มสินค้าของขวัญและของแต่งบ้าน อาทิ ของขวัญของแต่งบ้าน เครื่องใช้ในบ้าน เครื่องใช้สำนักงาน ของเล่น ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ และ กลุ่มสินค้าเฟอร์นิเจอร์ นอกจากนี้ยังมีกลุ่มสินค้าไลฟ์สไตล์สำหรับตลาดเฉพาะกลุ่ม (Niche Markets) เช่น สินค้าสำหรับผู้สูงอายุ ของใช้สำหรับแม่และเด็ก ผลิตภัณฑ์สำหรับสัตว์เลี้ยง สินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) สินค้าสำหรับชาวมุสลิม และกลุ่มสินค้าและบริการใหม่ เช่น สิ่งทอคุณสมบัติพิเศษ (functional textile) คาแรคเตอร์การ์ตูนไทย (character) รวมถึงสินค้าและบริการเชิงสุขภาพ (wellness & medical service)
ภายในงานยังจัดให้มีโซนความคิดสร้างสรรค์และการออกแบบ (Creative and Design Zone) ขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการสินค้าไลฟ์สไตล์ที่มีการต่อยอดพัฒนาสินค้าภูมิปัญญาดั้งเดิมด้วยความคิดสร้างสรรค์และการออกแบบให้มีพื้นที่ในการโชว์ศักยภาพไปสู่สายตาผู้ซื้อจากทั่วโลก โดยมี Creative Lab เป็นเวทีเสมือนห้องทดลองให้ผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะ SMEs และ Creative Maker ได้แลกเปลี่ยนมุมมอง ความคิดสร้างสรรค์ และแนวคิดใหม่ๆ ในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการของตน เพื่อพัฒนารูปแบบสินค้าและบริการให้ตอบสนองความต้องการของผู้ซื้อยุคใหม่ทั่วโลก ซึ่งสินค้าที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากในพื้นที่ Creative Lab มีทั้งสีไทยโทน ชาสุคนธรส ผ้าไหมทำความสะอาดตนเอง และหมอนสุขภาพสำหรับผู้นอนกรน อีกทั้งยังมีผู้เข้าร่วม Workshop และเข้ารับคำปรึกษาอีกจำนวนมาก
นอกจากนี้ยังได้จัดให้มีโครงการส่งเสริมผู้ประกอบการรายใหม่ (The New Face) โดยเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการหน้าใหม่นำสินค้าไลฟ์สไตล์ดีไซน์แปลกใหม่มานำเสนอ ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี สร้างมูลค่าการซื้อขายในงานกว่า 67.14 ล้านบาท ด้านพาณิชย์จังหวัดเชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน และบึงกาฬ ที่นำผู้ประกอบการ SMEs ในพื้นที่มาร่วมงานก็สามารถสร้างมูลค่าการซื้อขายถึง 57,350,300 บาท
ทั้งนี้สินค้าจากผู้ประกอบการไทยที่ได้รับความสนใจจากผู้ซื้อต่างประเทศภายในงาน อาทิ ผ้าที่มีคุณสมบัติพิเศษและเสื้อผ้าที่ผลิตจากผ้าที่มีคุณสมบัติพิเศษ เช่น การกันน้ำ กันรังสียูวี การใช้เส้นใย Cool Max การใช้เส้นใยที่กันไฟฟ้าสถิต ผ้าที่มีส่วนผสมของคอลลาเจน เสื้อและกระเป๋าที่ผลิตจากผ้าฝ้ายซึ่งมีนวัตกรรมป้องกันเชื้อแบคทีเรีย ฯลฯ ผลิตภัณฑ์สปา เครื่องหอมสำหรับตกแต่งบ้าน ของใช้บนโต๊ะอาหาร เช่น จานชามที่ทำมาจากน้ำตาลข้าวโพด ฯลฯ
ซึ่งตลอดการจัดงานผลิตภัณฑ์จากผู้ประกอบการไทยได้รับการตอบเป็นอย่างดีจากผู้เข้าชมงาน มีการติดต่อสั่งซื้อสินค้ารวมถึงเจรจาธุรกิจเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะจากกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ เช่น ผู้ค้าปลีก (Retailer), Concept Store, ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ (Property Project), ตัวแทนจัดซื้อของต่างประเทศ (Buying Agent), ห้างสรรพสินค้าทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจนผู้ที่อยู่ในวงการแฟชั่นและไลฟ์สไตล์จากทั่วโลก ทำให้ผู้ประกอบการของไทยสามารถขยายฐานลูกค้าออกไปได้กว้างขึ้น โดยทางกรมได้ให้บริการและอำนวยความสะดวกแก่ผู้ที่ทำธุรกิจอย่างครบวงจร มีศูนย์ให้คำปรึกษา DITP LOGISTIC CENTER ให้บริการด้านการขนส่งสินค้า และ DITP SERVICE CENTER ที่รวบรวมบริการต่างๆ ของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศไว้ในจุดเดียว จึงช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถขยายตลาดส่งออกได้สะดวกและรวดเร็ว