Financial

สังคมไทยไร้เงินสด รับยุคไทยแลนด์ 4.0

อีกกระแสบนโลกดิจิตอลที่กำลังได้รับความสนใจ คงหนีไม่พ้นเรื่อง “การทำธุรกรรมการชำระเงินผ่านเครือข่ายของระบบโทรศัพท์มือถือ” หรือที่เรียกว่า Mobile Payments ที่นับวันยิ่งขยายตัวเพิ่มมากขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย และกำลังก่อให้เกิดการทำธุรกรรมการชำระเงินยุคใหม่ ที่จะทำให้การชำระเงินค่าสินค้าและบริการในรูปแบบเดิมๆ เริ่มหยุดชะงักลงไป ยิ่งไปกว่านั้นยังมีปัจจัยต่างๆ ที่เป็นแรงกระตุ้นสำคัญที่ช่วยผลักดันให้เกิดการขยายตัวมากขึ้น ประกอบด้วย 3 ส่วนหลักๆ คือ 1) การเติบโตของจำนวนผู้ใช้สมาร์ทโฟนและรูปแบบการใช้ชีวิตดิจิตอลที่เพิ่มมากขึ้น 2) โครงข่ายโทรคมนาคมและกระบวนการทำธุรกรรมทางด้านการเงินที่ดีขึ้น และ 3) การผลักดันการใช้ National e-payment หรือระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ที่รัฐบาลพยายามผลักดัน

Marketbuzzz ได้สำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคบนฐานข้อมูลของบัซซี่บีส์ ในหัวข้อ “การใช้มือถือในการชำระเงินค่าสินค้าและบริการต่างๆ” เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาจากคนไทยที่ใช้สมาร์ทโฟน จำนวน 2,000 คน เพื่อแสดงให้เห็นถึงสถานะปัจจุบันของการใช้บริการในการชำระค่าสินค้าและบริการแบบดิจิตอล และสะท้อนให้เห็นว่ามือถือได้ส่งผลต่อวิถีการใช้อุปกรณ์ต่างๆ ในการชำระค่าสินค้าและบริการอย่างไร

ข้อมูลหลักๆ ที่ได้จากผลสำรวจ แสดงให้เห็นว่า 50% ของผู้ใช้สมาร์ทโฟนมีการใช้งาน Mobile Payments รูปแบบต่างๆ อยู่แล้ว Mobile Banking และ Mobile Shopping เป็นสองรูปแบบที่มีการใช้งานมากที่สุดด้วยจำนวนผู้ใช้มือถือกว่าครึ่งหนึ่งที่ใช้สองรูปแบบนี้ โดย Mobile Banking มีการใช้งานบ่อยครั้งกว่า เฉลี่ยใช้งานกว่า 6 ครั้งต่อเดือน และ Mobile Shopping ใช้งานเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 4 ครั้งต่อเดือน

มีเพียง 17% ของผู้ใช้สมาร์ทโฟนที่ใช้ Mobile Wallet อยู่ในขณะนี้ ซึ่งมีศักยภาพในการเติบโต พิจารณาจากจำนวนครั้งต่อเดือนที่ใช้ Mobile Wallet เฉลี่ยสูงถึง 5 ครั้ง ซึ่งใช้งานบ่อยครั้งกว่าธุรกรรมการชำระเงินในรูปแบบอื่นๆ ยกเว้น Mobile Banking

มีการใช้งาน TrueMoney สูงสุดอยู่ที่ 51% ของกลุ่มผู้ใช้สมาร์ทโฟน รองลงมาคือ Line Pay ด้วยอัตราการใช้งานอยู่ที่ 30% และ mPay อยู่ที่ 28% ตามลำดับ ในขณะที่ Mobile Wallet ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น แต่สำหรับผู้ที่เคยใช้แล้ว ส่วนใหญ่สูงถึง 96% พบว่าใช้งานง่ายมากและยิ่งง่ายดายมากยิ่งขึ้นหากมี

???? จุดให้บริการที่มากขึ้นและครอบคลุมทุกแห่ง – แสดงให้เห็นว่าเป็นที่ยอมรับ โดยมีจุดให้บริการในหลายพื้นที่

o ระบบการออกใบเสร็จที่ดีขึ้น – ไม่จำเป็นต้องมีใบเสร็จแบบกระดาษ แค่ใบเสร็จบนระบบก็เพียงพอ

o การใช้งานหน้าจอที่มีประสิทธิภาพ – เช่น การทำธุรกรรมแบบแตะและจ่าย (tap and go) รวดเร็วทันใจ

สำหรับผู้ใช้ Mobile Payments จำนวน 2 ใน 3 กล่าวว่า พวกเขาจะใช้ Mobile Payments ในปริมาณเดียวกับที่ใช้อยู่ในปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ 5 ครั้งต่อเดือน และอีก 1 ใน 3 กล่าวว่า พวกเขาจะใช้ในปริมาณที่บ่อยครั้งมากขึ้น

ผู้บริโภคที่เคยใช้ Mobile Payments เกือบทุกคนต่างเห็นตรงกันว่า อุปสรรคในการใช้ Mobile Payments จะลดลง ถ้าMobile Payments ทำให้การชำระค่าสินค้าและบริการมีความสะดวกง่ายดายมากขึ้น มีทางเลือกในการชำระเงินมากขึ้น สามารถชำระเงินได้ทุกที่ทุกเวลา และรวดเร็วกว่าการชำระเงินรูปแบบอื่น ถึงแม้จะยังมีข้อกังวลอยู่บ้างในเรื่องของระดับความปลอดภัย แต่อย่างไรก็ตาม 55% ของผู้ใช้ยังเชื่อว่าระดับความปลอดภัยยังอยู่ในระดับสูง

จากผลสำรวจสะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มการเติบโตของ Mobile Payments ในทิศทางที่ดีขึ้น ชี้ให้เห็นถึงโอกาสทางธุรกิจที่เกิดขึ้นของMobile Payments ว่าประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ของการทำธุรกรรมทางการเงินด้วยการใช้สมาร์ทโฟน แน่นอนว่าย่อมเข้ามามีบทบาทในการปรับเปลี่ยนระบบทางการเงินโดยได้ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคเป็นหลัก ซึ่งผู้บริโภคต่างก็ต้องการระบบการชำระเงินที่มีความสะดวกสบาย มีความรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมถึงคนไทยต้องการระบบการชำระเงินแบบทันทีหรือเรียลไทม์มากขึ้น และการใช้มือถือแทนการถือเงินสดหรือบัตรเครดิตเป็นทางเลือกที่สามารถทำได้

“ซัมซุง เพย์” การชำระเงินรูปแบบใหม่

ตอกย้ำความชัดเจนเมื่อเอกชนอย่างค่าย ซัมซุง รับเทรนด์ดังกล่าวด้วยการเปิดตัว “ซัมซุง เพย์ (Samsung Pay)” นวัตกรรมการชำระเงินรูปแบบใหม่อย่างเป็นทางการ ช่วยผลักดันประเทศไทยไปสู่สังคมไร้เงินสด (Cashless Society) ตามแผนยุทธศาสตร์ National e-Payment ของรัฐบาล

ทั้งนี้ ซัมซุงเริ่มให้ผู้บริโภคไทยได้ใช้งานซัมซุง เพย์ ระบบการชำระเงินรูปแบบใหม่ผ่านสมาร์ทโฟน ที่ใช้ง่าย ปลอดภัย และครอบคลุมมากที่สุด ตั้งแต่เมื่อ 4 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งได้รับความร่วมมือจากพันธมิตรทางการเงินชั้นนำ ไม่ว่าจะเป็น มาสเตอร์การ์ด วีซ่า ธนาคารกรุงเทพ กรุงศรี คอนซูมเมอร์ ธนาคารกสิกรไทย เคทีซี ซิตี้แบงก์ และธนาคารไทยพาณิชย์รวมทั้งห้างสรรพสินค้าและร้านค้าชั้นนำทั่วประเทศ

ผลสำรวจล่าสุด[1] ชี้ให้เห็นว่าการใช้ระบบกระเป๋าเงินดิจิทัลเพื่อชำระค่าสินค้าและบริการนั้นมีข้อดีทั้งในด้านความสะดวกสบายและปลอดภัย แต่คนไทยส่วนใหญ่ให้ความสำคัญในเรื่องความปลอดภัยมากกว่า โดยผู้บริโภคกลุ่มนี้มีแนวโน้มที่จะเลือกใช้วิธีการชำระเงินผ่านระบบกระเป๋าเงินดิจิทัลมากขึ้นเมื่อมั่นใจว่าระบบกระเป๋าเงินดิจิทัลนั้นมีมาตรการรักษาความปลอดภัยอยู่ในระดับที่สูงมากพอ

ซัมซุง เพย์ การชำระเงินรูปแบบใหม่ผ่านสมาร์ทโฟน โดดเด่นด้วยคุณสมบัติ 3 ประการ ได้แก่

  1. ใช้ง่าย – หลังจากลงทะเบียนใช้งานซัมซุง เพย์ แล้ว เมื่อต้องการชำระเงินก็แค่หยิบสมาร์ทโฟนออกมาเลือกบัตรที่ต้องการ สแกนลายนิ้วมือยืนยันตัวตน และแตะสมาร์ทโฟนกับเครื่องรูดบัตร
  2. ปลอดภัย – อุ่นใจด้วยระบบโทเคน (Tokenization) ที่สร้างเลขบัตรดิจิทัล แทนการใช้เลขบัตรเครดิตจริงในการชำระเงิน ปลอดภัยขึ้นอีกขั้นด้วยระบบยืนยันตัวตนผ่านลายนิ้วมือทุกครั้งที่ชำระเงิน และ ระบบรักษาความปลอดภัยชั้นหนึ่งคือ ซัมซุง น็อกซ์ (Samsung Knox) ตู้เซฟที่ช่วยปกป้องข้อมูล ตั้งแต่ระดับฮาร์ดแวร์จนถึงซอฟต์แวร์ ซึ่งยังไม่มีผู้ผลิตสมาร์ทโฟนรายใดทำได้
  3. ครอบคลุมมากที่สุด –ซัมซุง เพย์ รองรับเทคโนโลยี MST (Magnetic Secure Transmission) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเดียวกับเครื่องรูดบัตรเครดิตที่ใช้อย่างแพร่หลายในประเทศไทย และยังรองรับเทคโนโลยี NFC (Near Field Communication) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ของระบบการจ่ายเงินอีกด้วย ไม่ว่าที่ใดที่รับบัตรเครดิต

จ่ายค่าแท็กซี่ผ่าน “SCB พร้อมเพย์”

ด้านธนาคารไทยพาณิชย์ พร้อมให้บริการ “SCB พร้อมเพย์” โดย ชูแนวคิด Lifestyle Payment ผลักดัน การใช้จ่ายแบบไร้เงินสด (Cashless Ecosystem) ในทุกไลฟ์สไตล์รับนโยบายรัฐเดินหน้ารณรงค์ให้ประชาชนเข้าใจและใช้งานระบบพร้อมเพย์ ประเดิมด้วยแคมเปญในชื่อ “SCB พร้อมเพย์ แท็กซี่เดลิเวอรี่พร้อมรับ” ด้วยการดึง 4 พันธมิตรเครือข่ายแท็กชี่และเดลิเวอรี่เซอร์วิส ได้แก่ แกร็บแท็กซี่ (Grab), ออลไทย แท็กซี่ (All Thai Taxi), สกู๊ตตาร์ (Skootar) และอีทเรนเจอร์ (Eat Ranger) ร่วมสร้างเครือข่ายการใช้งานพร้อมเพย์เพื่อความรวดเร็ว ปลอดภัย ไม่ต้องพกเงิน โดยผู้ใช้บริการรถแท็กซี่และเดลิเวอรี่เซอร์วิส สามารถชำระค่าโดยสารหรือค่าบริการผ่าน SCB พร้อมเพย์ แทนเงินสดบนแอพพลิเคชั่น SCB Easy ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้กับผู้โดยสารและผู้ใช้บริการ เพียงสังเกตรถบริการที่เข้าร่วมแคมเปญได้จากสติกเกอร์ “SCB พร้อมเพย์” บริเวณด้านหน้ารถ

สำหรับช่วงเปิดบริการ “SCB พร้อมเพย์ แท็กซี่เดลิเวอรี่พร้อมรับ” มีเครือข่ายแท็กซี่และเดลิเวอรี่เซอร์วิสเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 1,000 คัน และคาดว่าจะมีจำนวนสมาชิกเพิ่มขึ้นเป็น 10,000 คัน ภายในปีนี้ โดยจะเปิดรับสมัครผู้ขับแท็กซี่เข้าร่วมโครงการที่สาขาธนาคารในกรุงเทพฯ และปริมณฑล

Related Articles

Back to top button
X
%d bloggers like this: