สงกรานต์ อิสสระ (ตอนที่ 7)
รวมทีมคนเก่ง
เมื่อบริษัท ซี ไอ พร๊อพเพอร์ตี้ จำกัด จะเริ่มงานใหญ่ประเดิมเป็นโครงการแรก ผมจึงชวนน้องสาวของผม คุณวัฒนา อิสสระ ซึ่งขณะนั้นทำงานด้านการเงินอยู่ที่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ทิสโก้ให้ออกมาช่วยงานผม วัฒนาและลินดาศึกษาเรื่องโครงกาและการลงทุนอย่างจริงจัง ซึ่งเรื่องพวกนี้ผมและลินดาได้ฝึกซ้อมมาบ้างแล้วจากโครงการที่จะคิดสร้างบนถนนเพชรบุรีตัดใหม่ เพียงแต่โครงการนั้น จะเป็นการให้เช่าอาคารเท่านั้น พระราชบัญญัติอาคารชุดที่เพิ่งออกในปี 2522 ทำให้เราสามารถแบ่งขายอาคารบางส่วนได้ ซึ่งจะส่งผลต่อ Cash Flow ของโครงการเป็นอย่างมาก ในสมัยนั้นถือได้ว่าบริษัท ซี ไอ พร๊อพเพรอตี้ เป็นผู้บุกเบิกการพัฒนาอาคารชุดโดยอาศัยกฎหมายที่ออกใหม่ผสมผสานกับการวิเคราะห์ทางการเงิน และการพัฒนารูปแบบทั้งด้านสถาปัตยกรรมตลอดจนการใช้งานของอาคารสูง
ผมเชิญสถาปนิกสองรายมาเสนอแบบโครงการ หนึ่งในนั้นคือ ดร . กฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา ซึ่มีการนำเสนอที่น่าประทับใจมาก ป๋ากับแม่ผมฟังแล้วเคลิ้มไปเลย เราจึงตกลงเลือกบริษัท CASA ของอาจารย์กฤษฎาให้เป็นผู้ออกแบบโครงการ โยผมได้เชิญ ดร.สิริลักษณ์ และดร. การุณ จันทรางศุ มาร่วมให้คำปรึกษาตั้งแต่ต้น
แบบที่บริษัท CASA นำเสนอจนป๋าและแม่ของผมเคลิ้มนั้น เป็นอาคารสำนักงานทั้งตึก แต่เมื่อผมได้ลองศึกษาสำรวจตลาด หาความรู้เกี่ยวกับความต้องการของผู้ที่ทำการค้าในย่านนั้นซึ่งเป็นย่านธุรกิจการเงินและการค้าสำคัญของประเทศ ผมพบว่ายังมีความต้องการอาคารร้านค้าพาณิชย์มากพอดู ขณะนั้นมีเพียงสยามสแควร์และสยามเซ็นเตอร์ที่เป็นศูนย์การค้าหลัก ถ้าจะเพิ่มพื้นที่ให้ชาญอิสสระทาวเวอร์ของเราเป็นศูนย์การค้าสักส่วนหนึ่ง แทนที่จะเป็นอาคารสำนักงานทั้งตึก ผมมั่นใจว่าจะส่งผลบวกกับทั้งการขายและการลงทุนอย่างแน่นอน
เราจึงตกลงใจจะก่อสร้างอาคารสูง 27 ชั้น บวกกับชั้นใต้ดิน 2 ชั้นไว้เป็นที่จอดรถ ชั้น 1 ถึง 4 เป็นร้านค้า ส่วนชั้น 5 ถึง 26 เป็นสำนักงาน ชั้น 27 ยอดบนสุดเป็น Penthouse ที่สวยงาม เพราะตัวตึกของเราหันไปทางทิศเหนือ เราจึงมองเห็นวิวสนามกอล์ฟและสนามม้าของสปอร์ตคลับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสวนลุมพินิวันเต็มๆ ถ้ามองเฉียงๆ จะเห็นแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งด้านซ้ายและด้านขวา วันไหนท้องฟ้าเปิดไม่มีเมฆบังจะสามารถมองไปได้ไกลจนเห็นแนวเขาที่จังหวัดชลบุรี ในสมัยนั้นตึกชาญอิสสระทาวเวอร์ 1 ของเราถือว่าเป็นตึกที่โดดเด่นทันสมัยมาก และเป็นตึกสูงในจำนวนไม่มากนักที่ผู้พัฒนาไม่ใช่ธนาคารหรือบริษัทประกันภัย
ในสมัยนั้นตึกสูงยังมีอยู่น้อยมาก ไม่เหมือนสมัยนี้ซึ่งมีอยู่มากมายนับไม่ถ้วน เท่าที่ผมจำได้ก็มีตึกธนาคารกรุงเทพที่ถนนสีลมสูง 33 ชั้น โรงแรมดุสิตธานีสูง 23 ชั้น ฉะนั้นตึกของเราซึ่งสูง 27 ชั้นจึงเป็นแลนด์มาร์คแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ เลยทีเดียว ทำไมเราจึงสร้างตึกสูงถึง 27 ชั้น ในขณะที่เพียงไม่กี่ปีที่แล้ว เมื่อเราคิดจะสร้างอาคารบนถนนเพชรบุรีตัดใหม่ เราคิดคำนวณดีแล้วว่าความสูงที่จะได้ประโยชน์สูงสุด โดยมีราคาค่าก่อสร้างต่อตารางเมตรอยู่ในระดับที่เหมาะสมหรือ optimum ที่สุดนั้นคือ ระดับความสูงเพียง 12 ชั้นสาเหตุสำคัญมีอยู่ 3 ประการคือ
1. ด้วยมูลค่าที่ดินในย่านใจกลางเมืองนี้สูงกว่ามูลค่าที่ดินบริเวณถนนเพชรบุรีตัดใหม่มาก เราจึงสมควรที่จะก่อสร้างให้ได้พื้นที่อาคารมากที่สุด แม้ราคาค่าก่อสร้างต่อตารางเมตรจะสูงขึ้น ก็ไม่ถือเป็นสาระสำคัญ
2. ราคาค่าก่อสร้างอาคารสูง 27 ชั้น ที่คาดว่าจะสูงกว่าการก่อสร้างอาคารขนาด 12 ชั้นนั้น เอาเข้าจริงๆ ก้ไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีในการก่อสร้างที่สำคัญหลายประการคือ
2.1 มีการใช้ระบบไม้แบบหมุนเวียนแทนการที่ใช้เพียงครั้งเดียวแล้วต้องทิ้งเลย ระบบไม้แบบมีประสิทธิภาพสูงมาก ช่วยประหยัดค้าไม้แบบและเวลาในการก่อสร้างไปได้มาก จากเดิมที่เคยต้องนำไม้มาทำโครงค้ำยันและประกอบด้วยมือ กว่าจะประกอบเสร็จก็ทั้งยากและใช้เวลา กว่าจะรื้อหรือถอดไม้แบบออกก็ยากและใช้เวลามากกว่าตอนประกอบ แถมไม้ส่วนมากยังเสียหายเกินกว่าจะนำมาใช้ใหม่ได้ ในขณะที่ระบบใหม่ที่เรียกว่าระบบ Table Form มีการประกอบไม้แบบมาเป็นโต๊ะ มีลูกล้อเลื่อนได้ มีขาเหล็กซึ่งปรับระดับความสูงได้ ถือเป็นวัตกรรมใหม่ในยุคนั้นเลยทีเดียว
2.2 ระบบก่อสร้างพื้นแบบใหม่ จากที่เคยต้องสร้างคาน ผูกเหล็ก และเทคอนกรีตมาเป็นระบบ Post tension ซึ่งเป็นระบบไร้คาน มีการวางเส้นลวดพลังสูงที่เรียกว่า Tendon แทนการผูกเหล็ก ทำให้สามารถประหยัดเหล็กที่เคยต้องใช้เป็นจำนวนมหาศาล ตลอดจนเวลาและแรงงานที่ต้องใช้ในการผูกเหล็ก นอกจากนี้ ระบบ Post tension ยังช่วยประหยัดเนื้อคอนกรีตเพราะสามารถทำพื้นให้บางขึ้นมาก การไม่ต้องสร้างคานและความบางของพื้น ทำให้เราได้ประโยชน์ด้านความสูงของอาคารด้วย
2.3 ได้มีการเริ่มใช้ระบบปั้มส่งคอนกรีต โดยมีท่อส่งคอนกรีตต่อตรงจากรถคอนกรีตอาศัยแรงดันเครื่องปั้มพลังสูงนำคอนกรีตขึ้นไปฉีดตามชั้นต่างๆ บนอาคาร ช่วยให้ทำงานได้สะดวกและประหยัดเวลามหาศาล ระบบเดิมนั้นเมื่อรถคอนกรีตขนาดบรรจุ 5 คิว มาถึงบริเวณก่อสร้าง ก็ต้องจัดการเทคอนกรีตลงในถังที่เรียกว่า bucket ขนาดครึ่งถึงหนึ่งคิว แล้วใช้ tower crane ค่อยๆ ยกถังนี้ขึ้นไปยังชั้นที่ต้องการ ค่อยๆ ส่งถังเข้าไปเทคอนกรีตลงบนพื้นที่ที่กำหนด และ tower crane ก็ค่อยๆหย่อนถังลงมาเติมคอนกรีตอีกรอบ ถ้าใช้ถัง 1 คิว ก็ต้องขนขึ้นขนลง 5 รอบ แต่ละรอบใช้เวลาประมาณ 10-15 นาที เพื่อส่งคอนกรีตขึ้นไปชั้นที่ 10 ถึงชั้น 20 โดยจะเทพื้นได้ประมาณ 4 ตารางเมตร ฉะนั้นรถคอนกรีต 1 คันกว่าจะส่งคอนกรีตได้หมดจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 50 นาที สำหรับพื้นผิว 20 ตารางเมตร ถ้าใช้ tower crane 1 ตัว ในขณะที่ระบบปั้มส่งคอนกรีตจะใช้เวลาประมาณ 5 นาทีเท่านั้น การประหยัดเวลานี้สำคัญมาก โดยเฉพาะเมื่อคิดถึงภาพรถคอนกรีตต่อคิวกันยาวเหยียด ซึ่งส่งผลต่อการจราจรและสุขภาพจิตของผู้คนในบริเวณนั้น
3. โครงการนี้จะเป็นโครงการแรกเริ่มในธูรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ซึ่งเป็นธุรกิจใหม่ของเราจึงนับว่ามีความสำคัญมากต่อชื่อเสียงของเรา ป๋าของผมเป็นคนที่เนี้ยบและมีรสนิยมชื่นชอบของดีมีราคา เราจึงมีนโยบายมาตั้งแต่แรกว่า เราจะสร้างของดีที่เป็น Signature ที่เราจะต้องภาคภูมิใจ และสิ่งนั้นก็คือ อาคารสูงตระหง่าน 27 ชั้น ซึ่งจะมีชื่อว่า ชาญ อิสสระ อยู่บนยอดตึกนี่แหละ
ขณะที่การออกแบบกำลังดำเนินไป เราก็ต้องศึกษาเรื่องการเงินและการตลาดควบคู่กันไปด้วย การจะทำโครงการใหญ่ให้รอด เราต้องศึกษาเรื่องการเงิน เงินลงทุน และ cash flow ให้รอบคอบ ครอบครัวเราไม่ได้ร่ำรวยขนาดที่จะมีเงินสดมากมายมาลงทุนก่อสร้างตึกสูง 27 ชั้น เราต้องหาแหล่งเงินกู้ เงินกู้ และต้องศึกษาว่าเราควรจะขายส่วนที่เป็นร้านค้าและส่วนที่เป็นสำนักงานอย่างละเท่าไหร่ ส่วนที่เหลือนั้นควรจะทำอย่างไร เพราะถือว่าเป็นการลงทุนระยะยาว ควรจะปล่อยเช่าช่วงหรือไม่ และให้เช่าระยะเวลายาวสักกี่ปี เราลองเล่นเป็นตัวเลข เงินลงทุน เงินกู้ยืม พื้นที่ขาย พื้นที่ให้เช่า ราคาขาย ราคาให้เช่า ค่าภาษีต่างๆ ระยะเวลาต่างๆ และอื่นๆ อีกมาก สรุปได้ว่า เพื่อให้สภาพคล่องและสถานะการเงินอยู่ในเกณฑ์พอเหมาะพอเจาะ เราควรจะปล่อยพื้นที่ขายราวๆ 40-50% และถือเก็บไว้เป็นการลงทุนระยะยาวประมาณ 50-60%
เพราะเราต้องการจะทำ pre-sale คือ ต้องการจะชายพื้นที่บางส่วนตั้งแต่ก่อนจะเริ่มก่อสร้าง ผมจึงรีบจัดตั้งทีมการขาย เราต้องตั้งสำนักงานขาย พร้อมทำแผนการตลาดและการโฆษณา ทุกๆเรื่องเป็นสิ่งที่เราไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน เราต้องศึกษาเองและทำเองทั้งหมด สมัยนั้นยังไม่มี sale agent เหมือนในสมัยนี้ บริษัท Richard Ellis ซึ่งเป็นบริษัทตัวแทนขายอสังหาริมทรัพย์สัญชาติอังกฤษ เป็นบริษัทแรกที่ได้เข้ามาทำธุรกิจนี้ในเมืองไทย เมื่อมาเปิดกิจการครั้งแรก ก็มาเช่าตึกชาญอิสสระทาวเวอร์ 1 ของเรานี่แหละเปิดสำนักงาน ทีมขายที่เรารับเข้ามาก็เป็นมือใหม่ทั้งหมด พี่สาวของผมคือ คุณจรรยา และพี่เขยคือ คุณชาญวิทย์ ลิมตระกูล ซึ่งเป็นกัปตันการบินไทยยังต้องสละเวลามาช่วยพวกเราด้านการตลาดและการขายด้วย
เมื่อตั้งสำนักงานขายแล้ว เราก็เริ่มโฆษณาในหนังสือพิมพ์และตั้งป้ายโฆษณาขนาดใหญ่บริเวณริมถนนพระราม 4 หน้าที่ดินของเรา พร้อมทั้งทำโบรชัวร์การขาย ลูกค้ารายแรกที่เห็นป้ายโฆษณาแล้วเดินเข้ามาในสำนักงานขายของเราคือ เจ้าของร้าน Adam Tailor ซึ่งเป็นร้าตัดสูทผู้ชายชื่อดังบนถนน ธนิยะ ผมเป็นคนเข้าไปต้อนรับ ใช้เวลาพูดคุยให้ข้อมูลอยู่ไม่นาน ยังไม่ทันพูดจาโน้มน้าวอันใด เขาก็ตกลงใจซื้อ 1 ห้องอย่างรวดเร็ว เพราะเขาอยากจะมีห้องเป็นของตัวเองแทนการเช่าร้าน และเขาเห็นว่าเราคาของเราเหมาะสม ทำให้ผมดีใจมาก แม้ผมจะมั่งใจจากการศึกษาวิเคราะห์โครงการอย่างละเอียด แต่ทุกสิ่งทุกอย่างก็ยังเป็นเพียงตัวเลขบนกระดาษ ยังสัมผัสไม่ได้ว่าค่าของโครงการของเรานั้นจะเป็นเช่นตัวเลขที่เราคิดคำนวณไว้หรือไม่ เมื่อขายได้นั่นแหละ จึงจะสัมผัสได้จริงๆ ทำให้ผมมั่นใจในโครงการของเราว่าจะต้องประสบความสำเร็จด้วยดี เวลา ประสบการณ์ และการเรียนรู้ มักจะส่งผลต่อความมั่นใจของคนเราเป็นอย่างมาก
อย่างไรก็ตาม การขายคอนโดมิเนียมในสมัยนั้นถือว่าเป็นเรื่องที่ใหม่มากๆ ผู้คนยังไม่ค่อยจะเข้าใจและวางใจเท่าใดนัก แม้จะมีการออกโฉนดห้องชุดให้ก็ตาม มันก็ยังไม่เหมือนโฉนดที่ดิน การขายจึงไม่หวือหวาคล่องตัวเหมือนในสมัยนี้ หลังจากยกป้ายโฆษณาขายได้ประมาณ 2 เดือน ขายร้านค้าไปได้แล้วประมาณ 10 ยูนิต แต่ยังขายส่วนที่เป็นสำนักงานเนื้อที่มากๆ ไม่ได้ เราก็เริ่มทุบห้องแถวด้านหน้าบางส่วนทิ้ง วันหนึ่ง ป๋าเรียกผมเข้าไปพบ หน้าตาป๋าดูค่อนข้างจะซีเรียสและมีความวิตกกังวล ป๋าบอกผมว่าเราเอาป้ายลงดีกว่า ยกเลิกโครงการเถิด เราไม่เคยทำ เราทำไม่ได้หรอก ผมเดาได้ว่าคงมีใครมาพูดจนทำให้ป๋าเกิดความหวั่นไหว ป๋าเคยทำธุรกิจชนิดที่การตลาดไม่ยุ่งยาก ธุรกิจยางมะตอยก็เกือบๆ จะเป็น oligopoly มีผู้ค้าไม่กี่ราย และลูกค้าก็เป็นหน่วยงานราชการต่างๆ ธุรกิจรถเมล์เหลืองก็เป็นสัมปทานธุรกิจน้ำมัน แม้จะเป็นการค้าปลีกแต่ก็ต่างจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มาก แถมการก่อสร้างอาคารสูงแบบนี้เราต้องลงทุนมากและต้องกู้เงินธนาคารด้วย
ผมบอกป๋าว่า เราจะยกเลิกโครงการเสียเฉยๆอย่างนี้ไม่ได้ จะทำให้ชื่อเสียงเราเสียหายมากทีเดียว ผมยืนยันกับป๋าว่า ผมศึกษาโครงการมาอย่างดีแล้ว เรามีกำลังเพียงพอที่จะทำให้สำเร็จได้ ผมได้เตรียมทั้งเงินทุนและวงเงินกู้ยืมไว้เรียบร้อยแล้ว ค่าก่อสร้างก็ไม่แพง การขายล่วงหน้าจะช่วยให้เราไม่ต้องใช้เงินมาก ผมต้องพยายามเกลี้ยกล่อมป๋าอยู่นานพอสมควร กว่าป๋าของผมจะยอมเชื่อใจลูกชายและรู้สึกสบายใจขึ้น
ส่วนการออกแบบ การประมูลงาน และการก่อสร้างนั้น ผมก็ทำงานร่วมกับสถาปนิกวิศวกรอย่างใกล้ชิด และผมยังตั้งอกตั้งใจศึกษาทุกเรื่องเพิ่มเติมด้วยตนเอง โดยอ่านตำรา ทั้งด้านการก่อนสร้างและการควบคุมงานก่อสร้าง ตลอดจนโปรแกรมการควบคุมต่างๆ ให้เป็นระบบ โดยเฉพาะ Critical Path Method ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญอย่างหนึ่ง นอกจากนี้ ผมยังหาข้อมูลเกี่ยวกับกระบวนการขออนุญาตจากรุงเทพมหานคร ซึ่งมีหลายขั้นตอนและค่อนข้างจะสลับซับซ้อน ต้องศึกษาเกี่ยวกับวัสดุที่ต้องใช้ในการก่อสร้างต่างๆ ซึ่งมีรายละเอียดปลีกย่อยมากมาย
สำหรับการควบคุมงานก่อสร้าง เราได้ตกลงว่าจ้างบริษัท SEATEC ของดร.สุบิน ปิ่นขยัน ซึ่งทาง SEATEC ได้มอบหมายให้คุณประสงค์ ธาราไชย ซึ่งเป็นวิศวกรควบคุมที่เก่งมากและมาดูโครงการของเรา การควบคุมงานที่ดีจะช่วยให้การดำเนินการก่อสร้างเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ราบรื่นไม่ติดขัด ไม่เสียเวลา และมีคุณภาพ ตรงตามสเปคที่ได้กำหนดไว้ ทั้งป๋า ผม อ.จ.กฤษฎา สถาปนิก ดร.สิริลักษณ์ และ ดร.การุณ วิศวกรโครงการ รวมถึงคุณประสงค์ วิศวกรที่ปรึกษาและผู้ควบคุมงาน ได้ร่วมกันเจรจาต่อรองคัดเลือกผู้รับเหมา ซึ่งในที่สุดเราก็ได้เลือกบริษัท กรีไทย จำกัด
การที่เราพิถีพิถันคัดสรรและได้คนเก่งๆ มาร่วมทีมทำงานกับเรานั้น เป็นเรื่องที่สำคัญมาก เป็นการเริ่มต้นที่ดี และผมก็ถือว่าเราโชคดีมากในเรื่องนี้ สำหรับผมแล้ว คนเก่งคือเก่งในวิชาชีพ และดีในด้านคุณธรรม เราต้องมีความไว้วางใจซึ่งกันและกันได้ ต้องรู้สึกได้ถึงความปรารถนาดีต่อกัน ยกตัวอย่างง่ายๆ การเลือกใช้พื้นคอนกรีตระบบ Post Tension ซึ่งถือเป็นนวัตกรรมใหม่ในสมัยนั้น ถ้าผมไม่เชื่อใจวิศวกรคือ ดร.สิริลักษณ์ และดร.การุณ ผมคงจะไม่กล้าใช้เป็นแน่
เมื่อกล่าวถึงพื้นระบบ Post Tension ที่ใช้ในครั้งนั้น ก็มีบทเรียนที่สำคัญอีกบทหนึ่งที่ผมได้เรียนรู้ ในสมัยนั้นมีผู้จำหน่ายเส้นลวดพลังสูง Tendon อยู่ 2 บริษัท คือ บริษัทล็อกซเลย์และบริษัทปูนซีเมนต์ไทย บริษัทล็อกซเลย์เป็นบริษัทแรกที่นำระบบนี้เข้ามาใช้ในเมืองไทย เมื่อนำสินค้ามาเสนอก็มาแบบสบายๆ ง่ายๆ มาถึงก็เอาลวด Tendon ยาวประมาณ 2 ฟุตมาวางลงบทโต๊ะประขุม เป็นขดลวดเคลือบน้ำมันจารบีเหนียวๆ มีกระดาษบางๆ คล้ายๆ กระดาษหนังสือพิมพ์พันไว้ น้ำมันจารบีเลอะเทอะออกมาเปื้อนโต๊ะประชุมของเราด้วย ผู้นำสินค้ามาเสนอเพียงแต่บอกว่า ลวด Tendon เป็นอย่างที่เห็นนี้ บริษัทล็อกซเลย์เป็นผู้บุกเบิก ราคาอย่างนี้ๆ ในขณะที่บริษัทปูนซีเมนต์ไทยส่งทีมการขายมาทั้งทีมร่วมสิบกว่าคน ดูเป็นเรื่องเป็นราวมาก นำสินค้าหลายอย่างมาเสนอ ลวด Tendon ก็มีที่ห่อหุ้มไว้ ดูมั่นคงแข็งแรงแถมยังสะอาดด้วย
ช่วงนั้นผมและป๋าเดินทางไปฮ่องกง ตัวแทนจำหน่ายลวด Tendon ของบริษัทล็อกซเลย์ก็ได้พาเราไปดูอาคารสูงหลายแห่งที่ใช้สินค้าของเขา อย่างไรก็ตาม แม้เราจะไว้วางใจบริษัทล็อกซเลย์มากแถมราคายังถูกกว่าบริษัทปูนซีเมนต์ด้วย เราก็ยังตกลงใจเลือกใช้ของบริษัทปูนซีเมนต์ ตัวตัดสินหลักน่าจะเป็นที่หน้าตาของสินค้า พูดง่ายๆก็คือ ลวดในท่อของบริษัทปูนซีเมนต์ไทยดู “หล่อ” กว่าลวดพันกระดาษที่มีน้ำมันจารบีเลอะๆ เล็ดออกมา ทั้งๆที่มันไม่มีผลต่อความแข็งแรงหรือพลังของลวดเลยก็ตาม
ผมจึงได้บทเรียนเรื่อง ความสำคัญของการตลาดและ Presentation หรือรูปลักษณ์ของสินค้า กระแสข่าวแว่วมาว่า คุณหญิงชัชนี จาติกวณิช ประธานบริษัท ล็อกซเลย์ ซึ่งเป็นผู้ที่ผมเคารพนับถือมาก แสดงความสงสัยในที่ประชุมว่า เหตุใดทางเราจึงไม่สั่งซื้อลวด Tendon จากล็อกซเลย์ ทั้งๆที่ราคาก็ดีกว่า ประสบการณ์ก็มากกว่า แถมยังรู้จักกันดีด้วย เมื่อได้คำตอบเรื่อง “ความหล่อ” ที่สู้กันไม่ได้ของสินค้า ภายหลังทราบว่า บริษัทล็อกซเลย์ก็จัดการแต่งตัวใหม่ให้ลวด Tendon โดยสวมท่อแทนที่จะพันด้วยกระดาษเช่นเดิม