วิวัฒนาการค้าปลีก : ยุคบุกเบิกค้าปลีกสมัยใหม่
ก่อนทศวรรษ 2500 ร้านค้าปลีกส่วนใหญ่ยังคงเป็นร้านขายของชำขนาดเล็กที่ขายให้กับผู้คนในชุมชนตลาดสด และละแวกใกล้เคียง จนกระทั่งในราวปี พ.ศ.2495 ถึง 2500 พ่อค้าคนจีนได้นำเอาแนวความคิดการค้าปลีกแบบตะวันตกมาพัฒนาการค้าขายทำให้เกิดห้างสรรพสินค้าครั้งแรกในประเทศไทย ในช่วงปี 2499 โดยผู้บุกเบิกสำคัญ คือ กลุ่มเซ็นทรัล ซึ่งก่อตั้งโดยนายเตียง แซ่เจ็ง (ต้นตระกูลจิราธิวัฒน์) เป็นขาวจีนจากเกาะไหหลำ ได้ก่อตั้งห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเป็นแห่งแรกที่วังบูรพา โดยจำหน่ายสินค้าประเภทเสื้อผ้า เครื่องประดับ เครื่องใช้ไฟฟ้า และของใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศ
นอกจากห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลแล้ว ในยุคนั้นที่รู้จักร่ำลือกันก็มี ห้างใต้ฟ้า (ซึ่งตอนนี้เป็นที่ตั้งโรงแรมไชน่า ปริ้นเซส เยาวราช) ห้างแมวดำ (ยังอยู่ตรงที่แยกถนนราชวงศ์ตัดกับถนนเยาวราช) ห้างไนติงเกล ห้างสรรพสินค้าในสมัยนั้นยังเป็นธุรกิจที่จำกัดอยู่ในวงแคบ เพราะสินค้าที่จำหน่ายส่วนใหญ่เป็นการนำเข้า ยังมีราคาค่อนข้างสูง และลูกค้าจึงจำกัดอยู่ในสังคมชนชั้นสูง ที่มีฐานะดี
ต่อมาความนิยมในธุรกิจห้างสรรพสินค้าเพิ่มขึ้น โดนเฉพาะห้างสรรพสินค้า “ ไทยไดมารู “ ซึ่งเป็นห้างสรรพสินค้าจากประเทศญี่ปุ่น ก็ได้เปิดสาขาแห่งแรก ที่ราชประสงค์ (อาคารเวิลด์เทรด ปัจจุบัน) ซึ่งถือได้ว่าเป็นห้างสรรพสินค้าแห่งแรกที่นำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่ เข้ามาเป็นส่วนประกอบของห้าง ได้แก่ บันไดเลื่อน และเครื่องปรับอากาศ และห้างสรรพสินค้าไทยไดมารู จึงกลายเป็นแม่แบบให้กับห้างสรรพสินค้าไทยในเวลาต่อมา ที่จะต้องมีเทคโนโลยีใหม่ๆ มาอวดกัน เช่น ลิฟท์แก้วตัวแรกของเมื่องไทยที่โรบินสัน ราชดำริ
ทางห้างเซ็นทรัลเองก็เริ่มมองเห็นการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นในธุรกิจค้าปลีก นอกจากการปรับปรุงกิจการของห้างเซ็นทรัล สาขาวังบูรพา แล้ว ก็ยังได้ขยายสาขาเพิ่มอีกหลายแห่ง ได้แก่ สาขาราชประสงค์ (ปี 2500) สาขาสีลม (ปี 2511) และสาขาชิดลม (ปี2517)
ความสำเร็จของห้างเซ็นทรัล ทำให้มีห้างสรรพสินค้าเกิดขึ้นใหม่เป็นจำนวนมาก นับตั้งแต่ปี 2520 ไม่ว่าจะเป็นห้างขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ เช่น พาต้า, ตั้งฮั่วเส็ง, เมอรี่คิงส์, บางลำพู, โรบินสัน, แก้วฟ้า, อาเซียน เป็นต้น นอกจากนั้นยังมีห้างสรรพสินค้าต่างประเทศโดยเฉพาะห้างญี่ปุ่นเริ่มเข้ามาดำเนินกิจการ เช่น คาเธ่ย์ ,โซโก้, โตคิว, เยาฮัน ฯลฯ
ยุคบุกเบิกของห้างสรรพาหารไทย (ซูเปอร์มาร์เก็ต)
วิวัฒนาการร้านค้าปลีก แบบห้างสรรพาหาร หรือซูเปอร์มาร์เก็ต เริ่มจากร้านขายของชำขนาดใหญ่ มีเคาน์เตอร์เครื่องคิดเงิน แต่ก็ยังไม่ได้ติดเครื่องปรับอากาศ ซึ่งก็มีอยู่หลายร้าน อาทิเช่น ร้านธานีที่บางรัก ร้านสุ่ยฮั้ง ร้านตงฮู ร้านใต้ดินสโตร์ที่สุขุมวิท และสนามเป้า
จนกระทั่งปี พ.ศ.2517 ซูเปอร์มาร์เก็ตเต็มรูปแบบก็ได้เกิดขึ้น คือ ฟู้ดแลนด์ (Foodland) ซึ่งเปิดสาขาแรกที่พัฒน์พงศ์ และเปิดสาขาเพลินจิตในเวลาต่อมาอีกไม่นาน ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า Foodland เป็นต้นแบบของซูเปอร์มาร์เก็ต Stand Alone ของซูเปอร์มาร์เก็ตของเมืองไทย
ถัดจาก Foodland ไม่นาน ซูเปอร์มาร์เก็ตในห้างสรรพสินค้าไทยไดมารู ก็ได้พัฒนาขึ้นมาในช่วงระยะเวลาใกล้เคียงกัน ในขณะที่ซูเปอร์มาร์เก็ตค่อยๆ พัฒนาขึ้นในช่วงนั้น ร้านค้าปลีกอีกประเภทหนึ่งที่ได้รับความนิยมสูงคือ ร้านค้าแบบสหกรณ์ โดยเฉพาะสหกรณ์กรุงเทพฯ และสหกรณ์พระนคร ซึ่งส่งผลทำให้การจับจ่ายของผู้บริโภคในยุคนั้นเปลี่ยนไป จากการจับจ่ายตามตลาดสด ร้านค้าห้องแถว มาเป็นซูเปอร์มาร์เก็ตและ สหกรณ์อย่างในปัจจุบัน
การพัฒนาการของซูเปอร์มาร์เก็ตในประเทศไทย ส่วนใหญ่ก็จะอิงกับห้างสรรพสินค้า ซึ่งมักจะอยู่บริเวณใต้ดิน หรือชั้นล่างของห้างสรรพสินค้า ซึ่งในหลักการของร้านค้าปลีกแนวตะวันตก ร้านสรรพสินค้า (Department Store) และร้านสรรพาหาร (Supermarket) เป็นธุรกิจคนละประเภท กลุ่มลูกค้าเป้าหมายของร้านสรรพสินค้าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนทำงานมีฐานะ มีอำนาจในการซื้อสูง ที่จะสามารถจับจ่ายซื้อสินค้าที่มีคุณภาพที่ดี (Brand Name) และราคาสูงได้ กลุ่มลูกค้าเป้าหมายของร้านซูเปอร์มาร์เก็ตส่วนใหญ่ จะเป็นแม่บ้านที่มาจับจ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน การที่ห้างสรรพสินค้าในเมืองไทยสมัยนั้นนำเอาซูเปอร์มาร์เก็ตมาไว้รวมกัน เพื่อให้ร้านซูเปอร์มาร์เก็ตเรียกลูกค้า (Traffic Builders)
ทั้งนี้ผู้บริโภคส่วนใหญ่จะต้องจับจ่ายสินค้าในซูเปอร์มาร์เก็ตเป็นประจำเกือบทุกวัน หรืออย่างน้อยก็สัปดาห์ละครั้ง ส่วนห้างสรรพสินค้าเป็นส่วนสร้างกำไร (Profit Builder) สินค้าในซูเปอร์มาร์เก็ตผู้บริโภคมาซื้อบ่อย กำไรไม่มาก ส่วนสินค้าในห้างสรรพสินค้า กำไรอาจจะค่อนข้างสูง แต่ลูกค้าซื้อไม่บ่อย ขณะเดียวกันเมื่อนำห้างสรรพสินค้า กับซูเปอร์มาร์เก็ตมารวมกันก็สามารถเป็นแม่เหล็กในการสร้างหลักการ One Stop Shopping เพื่อสนองตอบความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างเบ็ดเสร็จ ดังนั้นห้างสรรพสินค้าส่วนใหญ่ก็จะมีซูเปอร์มาร์เก็ตประกอบอยู่ทั้งนั้น
ห้างสรรพสินค้า และซูเปอร์มาร์เก็ตในสหรัฐอเมริกา และยุโรป ส่วนใหญ่มักจะแยกกัน ซูเปอร์มาร์เก็ตก็จะเป็นแบบสแตนด์อโลน (Stand Alone) ตั้งอยู่เดี่ยวๆ กระจายกันเป็นจำนวนมากทั่วบ้านทั่วเมือง ถ้าใครเคยไปเดินตามศูนย์การค้าใหญ่ๆ ของสหรัฐอเมริกา เรามักจะไม่เคยพบซูเปอร์มาร์เก็ตในศูนย์การค้า จะมีก็เพียงร้าน Convenience Store เล็กๆ
ดังนั้นการที่เราจะกำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆ โดยอิงทฤษฎีทางตะวันตก คงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ และละเอียดถี่ถ้วนในเหตุแห่งปัจจัยความต่างดังกล่าว การที่จะกำหนดให้ร้านค้าประเภทนี้ต้องไปอยู่นอกเมือง ร้านค้าประเภทนี้ต้องกำหนดเวลาเปิด-ปิด ก็คงจะต้องพิจารณาอย่างระมัดระวัง