Columnist

ลูกตื่น เมื่อพ่อหลับ

ลูกตื่นเมื่อพ่อหลับ

กำไร บุญเย็น

ฉันต้องยอมรับกับตัวเองว่า ตั้งแต่เกิดมาจนถึงวันนี้ไม่เคยรู้สึกได้ใกล้ชิด “พ่อหลวง” มากเท่านี้มาก่อนในชีวิต จนกระทั่งฉันตัดสินใจเข้าร่วมอบรม 3 วัน 2 คืนในโครงการเศรษฐกิจพอเพียงที่ ศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติ จังหวัดนครนายก แหล่งเรียนรู้ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชได้จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีๆ ปีละหลายครั้งเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการ

ยอมรับอีกครั้งว่า สนใจโครงการเศรษฐกิจพอเพียงมานานแล้วแต่ได้เพียงแค่คิดว่าวันหนึ่งเมื่อเลิกจากงานประจำที่ทำอยู่มากว่า 20 ปีในแวดวงสื่อสารมวลชนจะหอบร่างและจิตวิญญาณ(ถ้ายังเหลืออยู่) กลับบ้านเนรมิตแปลงที่นาที่แม่อุตส่าห์ยกไว้ให้กลายเป็นอาณาจักรส่วนตัว ขุดบ่อ เลี้ยงปลา เลี้ยงไก่ ปลูกผักปลูกหญ้าไว้กินแบบพออยู่พอกิน สิ่งเหล่านี้ฉันเฝ้าวาดฝันมาเนิ่นนาน จนเพื่อนแอบแซวว่า เมื่อไหร่จะสานฝันซะที(วะ)

ความฝันใกล้เป็นความจริง ในวันที่ฉันตัดสินใจหอบกระเป๋าที่ภายในบรรจุความฝันไว้เต็มเปี่ยมออกเดินทางไปยัง ศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติ ถามว่า ทำไมต้องเป็นโครงการนี้ ตอบได้เลยว่าเพราะเป็นโครงการที่ พ่อหลวงใช้เงินส่วนพระองค์ซื้อที่ไว้เมื่อหลายสิบปีก่อนหลังสร้างเขื่อนขุนด่านปราการชล ด้วยทรงเล็งเห็นแล้วว่าหลังเขื่อนเสร็จที่ดินนครนายกจะเต็มไปด้วยรีสอร์ทมากมายเพื่อรองรับการท่องเที่ยวที่จะตามมา ซึ่งทุกสิ่งอย่างเป็นจริง ปัจจุบันนครนายกเต็มไปด้วยรีสอร์ทนับร้อยนับพันแห่ง

ครั้งนี้.. ฉันได้ไปใช้ชีวิตขลุกตัวอยู่ในที่ของพ่อถึงสองคืน สามวัน ครั้งแรกในชีวิตที่ได้ใช้ชีวิตอยู่แบบที่ฉันฝันไว้ ภายในศูนย์ฯ ของพ่อแห่งนี้ วันแรกที่ไปถึงมีเพื่อนๆ ที่มีความฝันเดียวกันร่วมด้วยเกือบ 40 ชีวิตซึ่งทุกคนเดินทางมาจากสถานที่ต่างกัน บางคนอยู่ในกรุงเทพฯ แบบฉัน บางคนมาจากต่างจังหวัดทั่วทุกภาคของประเทศไทยแต่ทุกคนมีเป้าหมายเดียวกันนั่นคือ เดินตามรอยที่พ่อสร้างไว้

หลังจากที่แบ่งกลุ่มเพื่อละลายพฤติกรรมเรียบร้อยก็ให้ทุกกลุ่มตั้งชื่อหมู่บ้านของตนเอง มีหมู่บ้านเพียงและพอ(ที่ฉันคิดเอง) หมู่บ้านโชคเจริญ และหมู่บ้านเพียงพอ พร้อมกับแต่งตั้งกำนันเพื่อดูแลความเรียบร้อยตลอดระยะเวลา 3 วันที่เราต้องใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน

ฉันเป็นสมาชิกอยู่ในหมู่บ้านเพียงและพอ ที่มีลูกบ้านรวม 14 คน มีผู้ใหญ่แก่งเป็นพ่อบ้าน หลังจากที่เริ่มรู้จักคุ้นเคย ภาคเช้าเดินชมแนวคิดภายในศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติ จากนั้นภาคบ่ายได้เวลาปฏิบัติ 3 อย่างคือ ฐานปุ๋ยชีวภาพ + น้ำหมักชีวภาพ ฐานเตรียมแปลงปลูกผัก โดยใช้หลักการห่มดินเข้ามาช่วยให้ดินมีความสมบูรณ์ด้วยการนำฟางเข้ามาห่มทิ้งไว้รอการเพาะปลูกต่อไป และฐานสุดท้ายคือฐานผลิตภัณฑ์ของใช้ส่วนตัว อาทิ สบู่ก้อน สบู่เหลว แชมพูมุก เป็นต้น

เข้าวันที่ 2 ช่วงเช้าได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนกับอาจารย์ปัญญา ปุลิเวคินทร์ ผู้อำนวยการดูแลสถานที่แห่งนี้มากว่า 10 ปี ซึ่งอาจารย์ปัญญานั้นถ้าอ่านประวัติส่วนตัวจะพบว่าเป็นอีกหนึ่งบุคคลที่เสียสละ ยอมละทิ้งเงินเดือนร่วมแสนบาท หน้าที่การงานที่ดีเป็นถึงผู้จัดการธนาคารแห่งหนึ่งแต่ตัดสินใจลาออกเพื่อเดินตามรอยพ่อ

อาจารย์ปัญญาอธิบายที่มาของหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงให้พวกเราฟังถึงที่มาที่ไป จากนั้นได้เวลาฝึกปฏิบัติอีกครั้งด้วยการเตรียมผสมดินปลูกผักที่ต้องใช้ทั้งปุ๋ยชีวภาพและน้ำหมักมาผสมกัน

ภาคบ่ายวันที่ 2 ปฏิบัติยาวถึงเย็น เริ่มด้วย ฐานห่มดิน แห้งชามน้ำชาม นั่นคือการใส่ปุ๋ยชีวภาพ สลับกับน้ำหมักชีวภาพ ฐานคันนาทองคำ การแปลงคันนาที่เปล่าประโยชน์ให้กลายเป็นแหล่งพืชผักสวนครัว เช่น ปลูกตะไคร้ มะเขือบนคันนา ฐานขุดคลองไส้ไก่ เพื่อป้องกันน้ำท่วม ขณะเดียวกันยังเป็นสถานที่กักเก็บน้ำไว้ยามหน้าแล้งอีกด้วย

เข้าสู่วันที่สุดท้าย วันนี้ทีมงานวิทยากรให้พวกเราออกแบบที่ดินของแต่ละคนว่าจะมีการจัดสรรพื้นที่อย่างไร ฉันได้โอกาสเนรมิตที่ดินแบ่งมา 5 ไร่ สานฝันในใจออกมาเป็นโคก หนอง นา โมเดลตามทฤษฎีเป๊ะๆ ว่าจะไปใส่กรอบไว้ก่อนกลัวหาย 555 จากนั้นก็เตรียมแยกย้ายโดยให้ตั้ง Line กลุ่มไว้ติดต่อกัน โยใช้ชื่อรุ่นว่า รักษ์ภูมิ ไม่ทิ้งกัน เป็นอันจบทริป 3 วัน 2 คืนที่ให้ประสบการณ์แบบที่ไม่มีมาก่อนครั้งแรกในชีวิต

อ้อ ลืมบอกไป ที่นี่ไม่มีโทรทัศน์ให้ดู ทุกๆ 8 โมงเช้าและ 6 โมงเย็นเราจะมารวมตัวกันเคารพธงชาติ และก่อนกินข้าวท่องบทพิจารณาอาหาร ส่วนก่อนนอนก็สวดมนต์ทุกคืนก่อนเข้านอน ตื่นตี 5 ออกกำลังกาย รู้สึกดีแบบบอกไม่ถูก ถ้าอยากรู้ต้องมาลองด้วยตัวเอง

ฉันนึกถึงภาพของพ่อหลวงที่เคยก้าวเดินสะพายกล้องถ่ายรูป ในมือถือแผนที่ สมุดโน้ต แว่นขยาย และดินสอยี่ห้อที่ผลิตในประเทศไทย ภาพของพ่อหลวงที่ใบหน้าเต็มไปด้วยเหงื่อเพื่อศึกษาสภาพธรรมชาติในสถานที่ต่างๆ ทั่วประเทศนำไปสู่การพัฒนาต่อไป

ยิ่งเมื่อฉันแหงนหน้าคอตั้งบ่ามองขึ้นไปยัง “เขื่อนขุนด่านปราการชล”……ที่พ่อสร้างไว้เพื่อกักเก็บน้ำไว้ให้พวกเราได้กินได้ใช้ ให้ชาวนาทำนา ทำการเกษตรในหน้าแล้ง ป้องกันน้ำท่วม ด้วยโครงการ “จากภูผา.. สู่ มหานที” ฉันรู้สึกได้ถึงความเย็นฉ่ำฉุดความคิดให้ล่องลอยข้ามเขื่อน ข้ามขุนเขาไปในท้องฟ้า และไปไกลกว่านั้น

ศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติเป็นที่ดินของพ่อหลวง มีพื้นที่ 14 ไร่ 2 งาน 8 ตารางวา ตั้งอยู่ที่ เลขที่ 98/1 หมู่ 2 บ้านท่าด่าน ตำบลหินตั้ง อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ให้มูลนิธิชัยพัฒนาซื้อที่เมื่อปี 2532 …เดิมเป็นที่นามีสภาพแห้งแล้ง อยู่บริเวณเขตรอยต่อดงพญาเย็น …เมื่อ 20 ปีที่แล้ว การเดินทางยังไม่สะดวก ยังไม่มีถนนเข้าถึง พระองค์ทรงเดินทางมาสำรวจและเจรจากับชาวบ้านด้วยพระองค์เอง

ปี 2542 พ่อหลวงทรงให้ดำเนินการสร้างเขื่อนขุนด่านปราการชล เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ภัยแล้ง และน้ำเค็มขึ้นถึงทำลายต้นไม้ ใช้เวลาสร้าง 6 ปี จึงแล้วเสร็จในปี 2548

ปี 2545 สมาคมนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์ ขออนุญาตจากมูลนิธิชัยพัฒนา เข้ามาพัฒนาที่ดิน ปี 2546 – 2547 ปรับพื้นที่ ซึ่งเดิมเป็น “ทุ่งนา” โดยนำเอาดินและหินที่ได้จากการระเบิดสร้างเขื่อนมาถมปรับที่เป็นภูเขา เพื่อแสดงแนวคิดในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เกี่ยวกับธรรมชาติ ดิน น้ำ ป่า คน ด้วยแนวคิด “จากภูผา สู่มหานที” ซึ่งจะต้องทำภูเขา มีร่องน้ำ ที่ราบ บ่อน้ำ และแบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 ภาค กลาง อิสาน เหนือ และใต้

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีได้พระราชทานชื่อโครงการว่า “ศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติ” เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2545

ในปี 2547-2548 มูลนิธิชัยพัฒนาร่วมกับมูลนิธิศิษย์เก่าวชิราวุธ ได้สร้างอาคารนิทรรศการ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เผยแพร่แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง และทฤษฎีการพัฒนาในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2551 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จมาทรงเปิดศูนย์ภูมิรักษ์ฯ อย่างเป็นทางการ

Related Articles

Back to top button
X
%d bloggers like this: