Biznews

รู้ทันมิจฉาชีพไซเบอร์ก่อนตกเป็นเหยื่อ

อาชญากรสมัยใหม่มักใช้เทคโนโลยีในการหลอกลวงเหยื่อ แทนวิธีการแบบเก่าๆที่ต้องสร้างเรื่องหรืออาศัยการสร้างความน่าเชื่อถือต่อหน้า และบ่อยครั้งมิจฉาชีพมักเป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์โทรหลอกให้โอนเงิน

แต่ในปัจจุบันเมื่อโทรศัพท์มือถือ กลายเป็นสมาร์ทโฟนสามารถใช้โซเชียลมีเดีย รวมถึงโอนเงินผ่านแอพลิเคชั่นได้เพียงปลายนิ้ว ทำให้บรรดาโจรไฮเทคหันมาใช้เป็นช่องทางในการหลอกเหยื่อเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะการ “แฮค” เฟซบุ๊ก หรือไลน์ เพื่อเข้าไปส่งข้อความให้ผู้ที่เป็นเพื่อนหลงเชื่อเสียเงิน, การจัดทำเฟซบุ๊คปลอมแอบอ้างว่าเป็นบริษัทชื่อดัง หลอกเหยื่อว่าได้รับรางวัลใหญ่ จนมีการโอนเงินเพื่อยืนยันสิทธิ์, ร้านค้าขายของออนไลน์ หลอกให้ซื้อของราคาถูก เป็นต้น

นอกจากนี้อาชญากรไซเบอร์ยังสร้างธุรกิจปลอมขึ้นมาเพื่อหาเหยื่อเข้ามาติดกับดัก การสร้างอีเมล์ปลอมเพื่อล้วงความลับทางการค้า ชักจูงให้เหยื่อเข้ามาร่วมทำธุรกิจลงทุนในสกุลเงินดิจิตอล การแอบอ้างรายการโทรทัศน์ก่อนจะหลอกให้เป็นแชร์ลูกโซ่ ซึ่งขบวนการเหล่านี้มีความยุ่งยากและสลับซับซ้อน ก่อให้เกิดความเสียหายที่รุนแรงในขณะที่การติดตามตัวผู้กระทำความผิดก็ต้องใช้ทรัพยากรที่มากขึ้น เช่นเดียวกับการติดตามเอาเงินมาคืนผู้เสียหายก็แทบเป็นไปไม่ได้

ล่าสุด พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ ก็ได้ออกมาเตือนประชาชนให้ระมัดระวัง หลังมีผู้เสียหายร้องเรียนผ่านหน่วยบริการประชาชนด้านงานคดีพิเศษในเรื่องที่เกี่ยวกับภัยไซเบอร์ ตัวเลขที่น่าสนใจคือมีการแจ้งเบาะแสว่า มีการหลอกลวงผ่านเฟซบุ๊ค จำนวน 207 เรื่อง ในขณะที่มีการหลอกลวงผ่าน Call Center ไม่น้อยกว่า 8 เรื่อง และใช้สื่อสังคมออนไลน์เป็นเครื่องมือในการหลอกลวงประชาชนเพื่อให้หลงเชื่อโอนเงิน โดยมีวิธีการหลอกลวงหลากหลายรูปแบบ

1. การเข้าไปเจาะระบบเฟสบุ๊คหรือไลน์ของบุคคลอื่น เพื่อที่จะหลอกขอยืมเงินจากเพื่อนในเฟสบุ๊คหรือไลน์นั้น ๆ

2. การจัดทำเฟสบุ๊คปลอมแอบอ้างว่าเป็นบริษัทชื่อดัง หลอกเหยื่อว่าได้รับรางวัลใหญ่ แต่ต้องโอนเงินมาก่อนเพื่อยืนยันสิทธิ์, ปลอมเป็นร้านค้าขายของออนไลน์ หลอกให้ซื้อของราคาถูก, หลอกขอรับเงินบริจาค หรือประกาศหาคนทำงานออนไลน์ โดยหลอกให้ส่งสำเนาบัตรประชาชน และหมายเลขบัญชีธนาคาร เพื่อคนร้ายจะนำเอาข้อมูลดังกล่าวไปใช้ในการรับเงินที่ได้จากการกระทำความผิดอื่น ๆ

ทั้งนี้ ทางดีเอสไอ ได้ร่วมกับ (ทรู มันนี่) True Money ซึ่งเป็นบริษัทที่ให้บริการกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ มีความห่วงใยประชาชนที่อาจตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมไซเบอร์ จึงขอแจ้งเตือนประชาชนทั่วไปให้ระมัดระวังภัยจากสื่อสังคมออนไลน์ซึ่งเป็นภัยใกล้ตัว โดยมีข้อพึงระวังดังนี้

1. ระมัดระวังการลงข้อมูลส่วนบุคคลในสื่อสังคมออนไลน์ เพราะคนร้ายอาจนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ในการกระทำความผิดได้ เช่น ที่อยู่ หมายเลขโทรศัพท์ รูปถ่ายบัตรประชาชน รวมถึงรูปถ่ายส่วนตัวของตนและบุคคลในครอบครัว

2. การตั้งรหัสผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ไม่ควรใช้รหัสผ่านที่คาดเดาได้ง่าย เช่น หมายเลขโทรศัพท์ วันเดือนปีเกิด หรือรหัสประจำตัวนักเรียน/นักศึกษา

3. เมื่อมีเพื่อนหรือคนรู้จักขอยืมเงินผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ ควรมีการติดต่อไปยังบุคคลดังกล่าวทางช่องทางอื่นอีกครั้ง เพื่อเป็นการยืนยันตัวตน ไม่ควรรีบโอนเงินให้ทันที โดยเฉพาะอย่างยิ่งการโอนเงินเข้าชื่อบัญชีธนาคารของบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ชื่อของเพื่อนที่มายืมเงิน

4. เมื่อพบเห็นเฟซบุ๊คหรือเว็บไซต์รับสมัครงาน ให้ตรวจสอบว่าบริษัทดังกล่าวมีตัวตนจริงหรือไม่ มีที่ตั้งอยู่ที่ใด ลักษณะของงานที่ทำเป็นอย่างไร ช่องทางการติดต่อกับบริษัทมีช่องทางที่สามารถยืนยันตัวตนได้นอกจากทางเฟซบุ๊คหรือทางไลน์หรือไม่ หากไม่แน่ใจ ไม่ควรส่งสำเนาบัตรประชาชน หมายเลขบัญชีธนาคารให้โดยเด็ดขาด

5. การรับจ้างเปิดบัญชีธนาคารให้บุคคลอื่น หากบัญชีนั้นถูกนำไปใช้ในการกระทำความผิด เจ้าของบัญชีจะต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมายด้วย เพราะถือว่าเป็นการกระทำที่ให้ความร่วมมือกับมิจฉาชีพ จึงขอให้ประชาชนที่หลงผิด รีบปิดบัญชีที่รับจ้างเปิดไว้โดยเร็ว

ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยหรือมีเบาะแสการกระทำความผิด สามารถสอบถาม รวมถึงแจ้งเบาะแสได้ที่ดีเอสไอ หรือ สายด่วนกรมสอบสวนคดีพิเศษ โทร. 1202 ฟรีทั่วประเทศ

อย่างไรก็ตาม ดีเอสไอ ได้เข้าการจับกุมกลุ่มเยาวชนจำนวนกว่า 20 คน ใน จ.จันทบุรี หลังพบว่ามีการทำธุรกรรมการเงินผ่านระบบอินเตอร์เน็ตเพื่อหลอกลวงประชาชนให้โอนเงินผ่านช่องทางออนไลน์อย่าง กระเป๋าเงินดิจิตอล หรือ Wallet

พ.ต.ท.วิชัย สุวรรณประเสริฐ ผู้บัญชาการสำนักคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ กล่าวถึงพฤติการณ์ของขบวนการนี้ว่า มักจะรวมกลุ่มกันในร้านเกม เพื่อง่ายต่อการเข้าถึงระบบข้อมูลทางอินเตอร์เน็ต ใช้วิธีการแฮกข้อมูลและสวมรอยเป็นเจ้าของบัญชีเฟซบุ๊ก หรือสื่อโซเชียล ขอยืมเงินบุคคลอื่น หลอกลวงว่าเหยื่อได้รับรางวัลใหญ่ แต่ต้องโอนเงินมาก่อน เพื่อยืนยันสิทธิ์ หรือปลอมเป็นร้านค้าออนไลน์ขายสินค้าแบรนด์คุณภาพในราคาถูก ก่อนจะให้โอนเงินผ่านระบบ จากการสืบสวนพบว่านอกจากขบวนการนี้ยังมีกลุ่มผู้ก่อเหตุกระจายในหลายพื้นที่ มูลค่าความเสียหายกว่า 7 ล้านบาท

ด้าน นายอธิปัตย์ พลอยพรายแก้ว ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารความเสี่ยงและตรวจสอบทุจริต บริษัท ทรูมันนี่ จำกัด ผู้ให้บริการช่องทางโอนเงินออนไลน์ เปิดเผยว่า ทางบริษัทซึ่งเป็นเจ้าของบัญชีมีระบบการป้องกันและตรวจสอบเส้นทางการเงิน ที่มีความรัดกุม หากพบว่ามีการโอนเงินเข้าบัญชีที่ผิดปกติ จะสามารถตรวจสอบได้ รวมทั้งยังได้ร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ในการติดตามจับกุมตัวผู้กระทำความผิดด้วย

อย่างไรก็ตาม จากกรณีที่เกิดขึ้นขอฝากเตือนประชาชนให้ระมัดระวังการลงข้อมูลส่วนบุคคลในสื่อโซเชียล อาทิ เลขประจำตัวประชาชน เลขบัญชีธนาคาร รวมถึงการตั้งรหัสผ่านต่างๆ ไม่ควรให้รหัสผ่านที่เดาได้ง่าย หรือหากมีการขอยืมเงินผ่านทางสื่อโซเชียล ควรโทรศัพท์สอบถามให้แน่ชัด ก่อนจะโอนเงินทุกครั้ง

ทั้งนี้หากย้อนกลับไปดูคดีที่เคยเกิดขึ้นก็จะพบว่า เมื่อปลายปีที่ผ่านมาทางตำรวจได้จับกุมหญิงสาววัยเพียง 17 ปี ซึ่งกำลังศึกษาอยู่ชั้น ปวช. ปีที่ 2 พร้อมของกลางเป็นสมุดบัญชีธนาคาร 19 เล่ม บัตรเอทีเอ็ม 19 ใบ โดยมีพฤติการณ์สวมรอยเป็นผู้ใช้งานเฟซบุ๊กและระบบไลน์ก่อนจะติดต่อขอยืมเงิน บางคนเสียรู้ถูกหลอกหลักพัน บางคนหลักหมื่น

เด็กคนนี้ยอมรับว่าหาเบอร์โทรศัพท์เหยื่อจากคอมเมนต์ในเพจดูดวงหรือ เพจซื้อของออนไลน์ แล้วแฮ็คระบบไลน์หรือเฟซบุ๊กเหยื่อ หลังจากนั้นจะเลือกเพื่อนของเหยื่อที่ดูมีฐานะวัยกลางคน ไม่พูดอะไรมาก ตลอด 10 เดือนที่ก่อเหตุได้เงินมากกว่า 9 แสนบาท

พล.ต.ต.อิทธิพล อัจฉริยะประดิษฐ์ ผู้บังคับการสืบสวนสอบสวน กองบัญชาการตำรวจนครบาล เตือนประชาชนในกรณีนี้ว่าไม่ควรระบบไลน์มาลิงค์เชื่อมต่อกับเฟซบุ๊ก นอกจากนี้ไม่ควรนำเบอร์โทรศัพท์มาตั้งเป็นรหัสยูสเซอร์ และรหัสพาสเวิร์ด ในเฟซบุ๊กหรือไลน์ เพราะจะเป้นช่องทางให้คนร้ายแฮคข้อมูลได้

Related Articles

Back to top button
X
%d bloggers like this: