รู้จัก 3 อภิมหาเศรษฐีหน้าใหม่ประจำปี 2560 (ตอนที่ 1 )
จากการจัดอันดับ 50 มหาเศรษฐีไทยประจำปี 2560 โดย Forbes พบว่า ส่วนใหญ่ล้วนเป็นผู้มั่งคั่งหน้าเดิมๆ โดยอันดับ 1 ยังคงเป็นตระกูล “เจียรวนนท์” แห่งเครือเจริญโภคภัณฑ์ ของเจ้าสัว ธนินท์ เจียรวนนท์ มีมูลค่าทรัพย์สินรวมไม่มากไม่มายเพียง 7.417 แสนล้านบาทเท่านั้น
อันดับ 2 ในทำเนียบยังคงเป็น เจริญ สิริวัฒนภักดี ด้วยมูลค่าทรัพย์สิน 5.313 แสนล้านบาท ตามด้วยตระกูลจิราธิวัฒน์ เจ้าของห้างเซ็นทรัล เข้าวินเป็นอันดับ 3 ด้วยมูลค่าทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้น 18% จากปีก่อน ส่งให้มูลค่าทรัพย์สินพุ่งขึ้นแตะ 5.278 แสนล้านบาท อันดับ 4 ในทำเนียบคือ เฉลิม อยู่วิทยา แห่งกระทิงแดง โดยทรัพย์สินเพิ่มขึ้นจากปี 2559 ถึง 9.66 หมื่นล้านบาท (เพิ่มขึ้นเป็นอันดับ 2 รองจากเครือเจริญโภคภัณฑ์) ขึ้นแตะ 4.312 แสนล้านบาท ด้าน วิชัย ศรีวัฒนประภา แห่ง King Power ขยับขึ้นสู่อันดับ 5 ด้วยมูลค่าทรัพย์สิน 1.621 แสนล้านบาท จากอานิสงส์ด้านการท่องเที่ยวขาขึ้นของไทย โดยร้านค้าปลอดภาษีของเขามียอดขายเพิ่มขึ้นถึง 20%
ความน่าสนในของการจัดอันดับเหล่าอภิมหาเศรษฐีในปีนี้คือ ทำเนียบอภิมหาเศรษฐีของไทยในปีนี้ได้มีโอกาสต้อนรับหน้าใหม่ถึง 3 คน ได้แก่ อิทธิพัทธ์ พีระเดชาพันธ์ ผู้ก่อตั้งกิจการสาหร่ายอบแห้งตราเถ้าแก่น้อย ซึ่งนับเป็นมหาเศรษฐีผู้มีอายุน้อยที่สุดเพียง 32 ปี ในทำเนียบด้วยมูลค่าสินทรัพย์ที่ 2.104 หมื่นล้านบาท
นอกจากนี้ยังมีผู้ก่อตั้ง ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป เมื่อปี 2530 จากฟาร์มเลี้ยงไก่เพียง 20,000 ตัวและสามารถสร้างตัวจนมีทรัพย์สินถึง 2.587 หมื่นล้านบาท และณัฐชไม ถนอมบูรณ์เจริญ แห่งคาราบาวแดง สหายผู้ร่วมก่อตั้งธุรกิจกับ เสถียร เศรษฐสิทธิ์ และยืนยง โอภากุล (แอ๊ด คาราบาว) จนมีมูลค่าทรัพย์สินสูงถึง 2.035 หมื่นล้านบาท
คราวนี้เราไปทำความรู้จัก 3 เจ้าสัวหน้าใหม่กันดีกว่าเขามีกลยุทธ์เคล็ดลับอะไรที่ทำให้ก้าวขึ้นมาเป็นอภิมหาเศรษฐีหน้าใหม่ในปีนี้กัน
“อิทธิพัทธ์ พีระเดชาพันธ์”
จากเถ้าแก่น้อยสู่ทำเนียบเจ้าสัว(น้อย)
จากเด็กติดเกมส์ในวัยเด็กใครจะไปคาดคิดว่าวันนี้ชีวิตเขาจะพลิกผันสู่มหาเศรษฐีเทียบชั้นตระกูลใหญ่ๆ ดังๆ ในเมืองไทย
อิทธิพัทธ์ พีระเดชาพันธ์ ชื่อเล่น ต๊อบ นักธุรกิจชาวไทย ผู้ก่อตั้งบริษัท เถ่าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง จำกัด ซึ่งผลิตสาหร่ายทะเลทอดกรอบ และขนมขบเคี้ยวภายใต้ตราสินค้า “เถ้าแก่น้อย” เมื่อปี พ.ศ. 2546 ขณะมีอายุ 19 ปี โดยมียอดจำหน่ายกว่า 1,500 ล้านบาท ในปี พ.ศ. 2553 จึงเป็นเหตุให้จีทีเอชนำเค้าโครงชีวประวัติของเขา ไปสร้างเป็นภาพยนตร์ไทยเรื่อง ท็อป ซีเคร็ต วัยรุ่นพันล้าน ในปี พ.ศ. 2554
ต๊อบ อิทธิพัทธ์ กุลพงษ์วณิชย์ เศรษฐีร้อยล้านคนนี้ ก่อนหน้านี้เขาถูกตราหน้าว่าเป็นคนไม่เอาถ่าน ไม่สนใจเรียน ชีวิตของ ต๊อบ มีแต่คำว่า “เกม” เท่านั้น โดยต๊อบเริ่มเล่นเกมออนไลน์ Everquest มาตั้งแต่ ม.4 ถึงขนาดสะสมแต้มจนรวยที่สุดในเซิร์ฟเวอร์ และกลายเป็นผู้ที่มีชื่อเสียงอย่างมากในเกมดังกล่าว จนมีฝรั่งมาขอซื้อไอเท็มเด็ด ๆ ไอเท็มเจ๋ง ๆ ที่หายากในเกมจากเขา และนั่นก็เป็นการเริ่มต้นสร้างรายได้ของต๊อบ ซึ่งการซื้อขายไอเท็มเกมดังกล่าว บวกกับการที่เป็นผู้ทดสอบระบบเกมในฐานะคนเล่น ก็สร้างรายได้ให้เขาเป็นกอบเป็นกำ จนมีเงินเก็บเป็นหลักแสนบาทเลยทีเดียว
ด้วยความที่เป็นเด็กติดเกม ต๊อบ อิทธิพัทธ์ จึงเรียนจบชั้นระดับมัธยมมาได้อย่างยากลำบาก และเรียนต่อระดับอุดมศึกษาที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ซึ่งตอนนั้นนั่นเองเขาก็เริ่มก้าวเข้าสู่ถนนแห่งเส้นทางธุรกิจ พร้อมตั้งใจจะทำความฝันของตัวเองให้เป็นจริงด้วยการมีธุรกิจเป็นของตัวเอง และในช่วงจังหวะที่เกมออนไลน์เริ่มไม่เป็นที่นิยมเหมือนเคย เขาก็หารายได้จากช่องทางอื่น ทั้งขายเครื่องเล่นวีซีดี ดูทำเลเปิดร้านกาแฟหน้ามหาวิทยาลัย แต่ก็ไม่เป็นที่ประสบความสำเร็จ จนกระทั่งเขาได้ไปเดินงานแฟร์ช่องทางธุรกิจ ซึ่งในงานนั้นมีเฟรนไชส์จากประเทศญี่ปุ่นมาออกบู๊ท ด้วยความที่เขาเป็นคนชอบกินเกาลัดอยู่แล้วเลยสนใจธุรกิจนี้เป็นพิเศษ จึงเข้าไปสอบถามค่าเฟรนไชส์เกาลัดดังกล่าว แต่ทว่าราคาสูงเกินกำลังที่เขามี เลยขอแค่เช่าตู้คั่วเกาลัดเท่านั้น แล้วมาสร้างเฟรนไชส์เป็นของตัวเอง และเมื่อวันที่เขาต้องไปเซ็นสัญญาซื้อขายเกาลัดที่ห้างแห่งหนึ่ง ก่อนออกจากบ้านเขาได้ยินคุณพ่อพูดกับเพื่อนว่า “ลูกอั้วกำลังจะเป็นเถ้าแก่น้อยแล้ว” คำว่าเถ้าแก่น้อยที่ได้ยินตอนนั้นนั่นเองที่เป็นที่มาของชื่อ “เถ้าแก่น้อย” สาหร่ายทอดกรอบในปัจจุบัน
เศรษฐีร้อยบาท ได้ใช้เวลาเพียงแค่ 3 วันกว่า ๆ ขยายเฟรนไชส์เกาลัดเถ้าแก่น้อย ได้กว่า 30 สาขา และเมื่อเขาเห็นว่า เฟรนไชส์ของเขาขายได้หลายแห่งแล้ว เขาจึงคิดจะทำสินค้าอื่นเพิ่มเติม จึงลองนำอย่างอื่นมาวางขายในร้าน ไม่ว่าจะเป็น เกาลัด ลูกท้อ ลำไยอบแห้ง และสาหร่าย แต่สินค้าที่ขายดีที่สุดในตอนนั้นกลับไม่ใช่เกาลัด แต่กลายเป็นสาหร่ายทอดกรอบ ซึ่งนั่นเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้เขาอยากต่อยอดธุรกิจในการทำสาหร่ายทอดตรา “เถ้าแก่น้อย” อย่างจริงจัง
หลังจากนั้นเขาก็พยายามศึกษา หาความรู้เกี่ยวกับสาหร่าย และได้ลองผิดลองถูกอยู่หลายครั้ง โดยเริ่มจากบรรจุซองพลาสติกไปฝากตามร้านค้าต่าง ๆ แต่ก็มีอุปสรรคมากมาย ทั้งสินค้าหมดอายุไว รูปแบบแพ็กเกจจำหน่ายไม่สวย จึงทำให้เขากลับมานั่งคิดอีกครั้งว่า จะทำอย่างไรให้สินค้าเก็บไว้ได้นาน มีแพ็คเกจที่น่าสนใจ และสามารถขายในร้านสะดวกซื้ออย่าง 7-11 ได้
แต่พรสวรรค์ทางการตลาดของเขาก็ได้จุดประกายความคิดอีกครั้ง เขาได้นำกระแสเกาหลี กระแสญี่ปุ่น เป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบ โดยอยากให้ผู้บริโภคจดจำสินค้าของ เขาได้ทันทีที่แรกเห็น เขาจึงทำโลโก้เป็นเด็กหน้ายิ้ม ดูน่ารักมีความสุข อีกทั้งถือธงเพื่อให้รู้ว่า ถึงจะเป็นของกินเล่นแต่มีคุณค่าทางอาหารสูง รวมไปถึงเพิ่มรสชาติต่าง ๆ ให้หลากหลาย ตอบรับความต้องการของแต่ละคนและเมื่อเขาได้ปรับปรุงสินค้าเรียบร้อยแล้ว เขาจึงนำสาหร่ายเถ้าแก่น้อยไปเสนอแก่ 7-11 อีกครั้ง และจากนั้นก็ได้รับการติดต่อกลับมาในทันทีว่า “ภายใน 3 เดือน สินค้าคุณพร้อมจะวางขายในร้าน 7-11 จำนวน 3,000 สาขาทั่วประเทศ หรือไม่” เมื่อได้ยินดังนั้น คำถามก็ประดังประเดเข้ามาในหัวของเขาว่า เขาต้องทอดสาหร่ายกี่แผ่น ใช้คนทอดกี่คน และจะทำทันหรือไม่ ทั้ง ๆ ที่ตอนนั้นมีคำถามอยู่เต็มหัวไปหมด แต่เขาก็ตอบกลับ 7-11 ไปเกือบจะทันทีว่า พร้อมครับ!!!
หลังจากที่ ต๊อบ อิทธิพัทธ์ ตอบตกลงไปแล้ว เขาก็ต้องกับมานั่งกุมขมับ กับปัญหา และสิ่งที่ตามมาทั้งการสร้างโรงงาน เงินทุน แหล่งวัตถุดิบ การนำเข้าเครื่องจักรต่าง ๆ เพื่อผลิตสินค้าให้ได้มาตรฐาน พร้อมส่งขายแก่ 7-11 กว่า 3,000 สาขา ในระยะเวลาเพียง 3 เดือนเท่านั้น เขาจึงเดินหน้าด้วยการเริ่มต้นหาทุนสร้างโรงงาน โดยการไปขอกู้ยืมจากธนาคารแห่งหนึ่ง แต่ก็ได้รับการปฏิเสธกลับมา นั่นเป็นเพราะว่า ในตอนนั้นเขามีอายุเพียง 20 ปี เท่านั้น และเมื่อเขากู้เงินไม่ผ่าน เขาจึงยอมตัดใจขายธุรกิจเฟรนไชส์เกาลัดทิ้ง ซึ่งเฟรนไชน์กว่า 30 สาขาดังกล่าว สร้างรายได้ให้เขาเดือนละกว่าล้านบาทเลยทีเดียว แต่กว่าที่เขาจะตัดสินใจขายเฟรนไชส์แรกที่เขาปลุกปั้นมากับมือ ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและสำคัญต่อจิตใจของเขามาก แต่เขาก็ต้องขายด้วยความเสี่ยง เพราะเขาไม่รู้เลยว่า ธุรกิจสาหร่ายนั้น จะดีเท่ากับธุรกิจเกาลัดหรือไม่
ในขณะที่ธุรกิจกำลังก้าวหน้า ต๊อบ อิทธิพัทธ์ ได้ตัดสินใจดร๊อปเรียนไว้ตอนปี 1 เพื่อนำเวลามาทำธุรกิจส่วนตัวอย่างเต็มตัว ส่วนทางด้านเงินที่ขายเฟรนไชส์เกาลัด ก็นำมาลงทุนกับสาหร่ายทั้งหมด โดยการสร้างโรงงานผลิตสาหร่ายทอด ซึ่งมีพนักงานก็คือครอบครัวของเขาทุกคน และคนงานอีกเพียงแค่ 6-7 คนเท่านั้น ทุกคนทำงานอย่างหนัก ยิ่งช่วงใกล้ส่งสินค้าให้กับทาง 7-11 ครอบครัวและคนงานของเขา แทบไม่ได้หลับได้นอน ทอดสาหร่าย และบรรจุภัณฑ์ แต่ก็สำเร็จ เขาสามารถบรรทุกสาหร่ายเถ้าแก่น้อยเต็มคัน ขับไปส่งศูนย์จำหน่าย 7-11 ได้สำเร็จ
จากนั้นเป็นต้นมา สาหร่าย “เถ้าแก่น้อย” ก็ทะยานสู่ตลาดวัยรุ่น และผู้บริโภคที่ชื่นชอบสาหร่ายทอดกรอบได้สำเร็จ ส่วน ต๊อบ ก็กลายเป็นนักธุรกิจหนุ่มใหม่ไฟแรง เปลี่ยนสถานะจากเศรษฐีร้อยล้าน กลายเป็นเศรษฐีหมื่นล้านได้อย่างสำเร็จ
ทุกวันนี้ ภายในประเทศเถ้าแก่น้อยขายทุกช่องทางที่มี ทั้งโมเดิร์นเทรด (MT) และเทรดดิชั่นแนลเทรด (TT) รวมทั้งส่งออกไปขายต่างประเทศมากกว่า 40 ประเทศ รายได้หลัก 90% มาจากธุรกิจสาหร่าย
หลักความสำเร็จของเถ้าแก่น้อยวันนี้ ต๊อบย้ำว่า ไม่มีสูตรตายตัว เพราะการทำธุรกิจไม่มีสูตรตายตัว แต่มีคอนเซ็ปต์ความคิดของตนเองนั่นคือ การบริหารต้องเป็นมืออาชีพ (โปรเฟสชั่นนอล)แม้จะเริ่มจากธุรกิจครอบครัวก็ตามแต่วิธีการบริหารงานแบบมืออาชีพ มีความเป็นโอนเนอร์ชิบ ด้วยการปลูกฝังพนักงานทุกคนให้เกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมกันเพื่อประสิทธิภาพในการทำงานที่เพิ่มขึ้น
การทำธุรกิจของต๊อบกำหนดเปนสเต็ปๆ เป็นขั้นเป็นตอน ด้วยมาตรฐานที่คงเส้นคงวา โดยเมื่อครอบคลุมช่องทางในประเทศแล้ว ต่อไปคืออาเซียน เมื่ออาเซียนเป็นที่รู้จัก เป้าหมายต่อไปคือระดับโลกซึ่งเขาได้ทำสำเร็จแล้วในวันนี้
โดยมีคติประจำใจคือ การคิดถึงผลประโยชน์ของผู้อื่นก่อนคือ หัวใจหลัก หรือ แก่นของการทำธุรกิจ
ขอบคุณข้อมูล จากวิกิพีเดีย