Columnist

รัฐบาลกำลังฆ่าตัวตายจากการต่อ​อายุ ‘พรก.ฉุกเฉิน’​

รัฐบาลกำลังฆ่าตัวตายจากการต่อ​อายุ พรก.ฉุกเฉิน​

ธนก​ บังผล

วิถีชีวิตของคนทั้งประเทศภายใต้​การประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน​ พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน)​ ของรัฐบาลเพื่อควบคุมการระบาดไวรัสโควิด-19​ แม้จะมีคนไม่เห็นด้วยอยู่บ้างในช่วงแรก​ แต่ก็ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าด้วยความสามารถของบุคลากรทางการแพทย์​ และการให้ความร่วมมือกับมาตรการล็อคดาวน์ ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อในไทยค่อยๆลดลง​ จนระยะหลังบางวันไม่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ

แต่ตัวเลขที่บางคนชื่นชมดีใจนั้น​ กลั่นออกมาจากน้ำตาของประชาชนจำนวนมาก​ที่ได้รับผลกระทบจากการตกงาน​ และมีไม่น้อยที่สถานประกอบการต้องเลิกกิจการ​อย่างถาวรลอยแพคนงานท่ามกลางวิกฤตโรคระบาด

จริงอยู่ที่การควบคุมโรคระบาดอุบัติใหม่ร้ายแรงจำเป็นต้องมีค่าใช้จ่ายด้วยความเสียสละของประชาชน​ ชาวบ้านที่เดือดร้อนอาจจะทำได้แค่บ่นหรือแสดงออกได้เพียงเรียกร้องเงินชดเชย​ นั่นเป็นเพราะไม่รู้ว่าจะเอาเงินที่ไหนมาซื้ออาหารแต่ละมื้อ​ให้ครอบครัว

ซึ่งผู้มีอำนาจ​ และยังมีงานทำ​ ผ่านวิกฤตโรคระบาดนี้มาด้วยความสนุกสนานในกิจกรรมการสั่งอาหารผ่านช่องทางออนไลน์​ อย่างไม่รู้ร้อนหนาว​ ท้องไม่เคยหิว​เลยสักมื้อ​ ย่อมไม่มีทางเข้าใจ

 

และแม้จะเริ่มมีเสียงบ่นถึงการต่ออายุ​ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน​ ออกไปอีกจนถึงสิ้นเดือน​ มิ.ย.​ พร้อมๆกับมีคนในรัฐบาลรีบออกมาปฏิเสธว่าไม่มีเรื่องการเมืองอยู่เบื้องหลัง​ ทั้งๆที่ตัวเลขของผู้ติดเชื้อใหม่ของหลายๆวันอยู่ในระดับต่ำกว่า​ 10​ ราย​ แต่รัฐบาลกลับรีบร้อนลุกลนให้ความสำคัญกับ​ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน​ ก่อนประกาศผ่อนปรนให้สถานประกอบการต่างๆทยอยเปิด

ท่าทีและการเฝ้าระวังสถานการณ์ไม่ให้กลับมาระบาดซ้ำในปัจจุบันที่ควรจะเข้มข้นในเชิงลึก​ เร่งสร้างความเคยชินให้กับประชาชน​ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน​ ควรถูกพิจารณาต่ออายุออกไปครั้งละ​ 14​ วัน​ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนว่าสิ่งที่กวดขันกันมาในวิกฤตกำลังคลี่คลายไปทิศทางที่ดีขึ้น

แต่นี่เปล่าเลยครับ​ บุญท่วมหัวของคนไทยด้วยซ้ำที่รัฐบาลไม่ประกาศต่ออายุ​ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน​ เป็นรายปี​

ข้อเสียของการดำรงอยู่อย่างไร้อนาคตของ​ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน​ สร้างแรงกระเพื่อมใต้น้ำที่รัฐบาลไม่อาจหลีกเลี่ยงได้​ และในบางมิติอาจหมายถึงผลกระทบทางการเมืองที่รัฐบาลหวาดกลัว​แต่กลับทำมันขึ้นมาเสียเองคือ… “ม็อบขับไล่”

แต่ม็อบชุมนุมขับไล่รัฐบาลนั้นไม่ใช่ประเด็นที่ผมให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกครับ

เพราะ​การต่ออายุ​ พ.ร.ก.ฉุก​เฉิน เหมือนการประกาศให้สถานประกอบการและกิจการบางอย่างยังคงต้องปิดต่อไป​ ทำให้ผลกระทบที่ต่อเนื่องคือการตกงานของคนจำนวนมาก

 

เดือน​ ธ.ค. 2562 ที่ผ่านมา​ ไวรัสโควิด-19​ ยังไม่แพร่ระบาดมีตัวเลขจำนวนคนไทยว่างงานทั้งหมด 367,000 คน โดยในไตรมาสที่ 3 ของปี 2562 มีจำนวนผู้ว่างงานจำนวนกว่า 400,000 คน คิดจากกำลังแรงงาน 38 ล้านคน ซึ่งถือว่ามีจำนวนคนว่างงานเพิ่มขึ้นจากปี​ 2561 โดยผู้จบปริญญาตรีมีอัตราการว่างงานสูงสุดคือ​ 2.3 %

หลังจากไวรัสโควิด-19​ ระบาด​ ประเมินว่าขณะนี้มีคนตกงานแล้วไม่น้อยกว่า 7 ล้านคน ขณะที่ทางสภาอุตสาหกรรมและหอการค้าไทยระบุว่าน่าจะเป็น 10 ล้านคน

แต่หากดูตัวเลขของรัฐบาลในโครงการ​ “เราไม่ทิ้งกัน” มีคนไปลงทะเบียนขอ 5,000 บาท​ มากกว่า 27 ล้านคน

ตั้งแต่ปี​ 2557 หรือหลังการทำรัฐประหารเป็นต้นมา​ อัตราการว่างงานของไทยเราต่ำกว่า 1% มาตลอด ซึ่งข้อมูลนี้เหมือนจะดีใช่ไหมครับ​ แตาปรากฏว่าไม่มีไตรมาสไหนเลยที่เศรษฐกิจไทยสามารถโตได้ตามเป้าที่ฝั่งผู้กำหนดนโยบายคาดการณ์ไว้

ไตรมาส 2/2019 ที่ผ่านมา GDP Growth ของไทยเรา ประกาศออกมาอยู่ที่ 2.3% ชะลอตัวลงมาเป็นไตรมาสที่ 3 ติดต่อกัน จนทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย​ ต้องปรับเป้าประมาณการ GDP ของไทย จากเดิม 3.3% ลงมาเหลือ 2.8% ในปีนี้

ผมไม่แน่ใจว่าข้อมูลอัตราการว่างงานที่น้อยลงนั้น​ เกี่ยวข้องกับการรัฐประหารหรือไม่​ แต่แน่ใจว่ารัฐบาลภายใต้การบริหารของนายกรัฐมนตรีคนเดียวคนนี้​ ทำให้มีอัตราการว่างงานลดลง​

ซึ่งอัตราการลดลงไม่ได้หมายความว่าคนมีงานทำเพิ่มมากขึ้นเสมอไปนะครับ​ แต่ยังหมายถึงจำนวนของผู้มีอายุในช่วงประกอบอาชีพในระบบลดลง​ มาปัจจัยหลักคือการมีผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น​นั่นเอง

แต่แน่นอนว่า​ ไตรมาสแรกของปีนี้​ อัตราการว่างงานของคนไทยต้องสูงขึ้นอย่างมากแน่นอน

เพราะฉะนั้นการประกาศต่ออายุ​ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน​ ต่อไปเรื่อยๆ​ ไม่ได้เป็นผลดีกับรัฐบาลนะครับ​ เนื่องจากเป็นการกีดกันไม่ให้แรงงานไหลกลับเข้าสู่ในระบบเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจตามที่ควรจะเป็น

การตกงานนานๆโดยมองไม่เห็นอนาคต​ จะไปสมัครที่ไหนสถานประกอบการก็ยังปิด​ ยิ่งเป็นการสุมเชื้อเพลิงให้ประชาชนไม่พอใจการบริหารประเทศของรัฐบาลเพิ่มมากขึ้น​ อาจทำให้​ Mob From​ Home​ มีแนวร่วมกระจายออกไปเรื่อยๆ

ช่วงแรกๆของการตกงาน​ มีหลายคนหันมาทำขนม​ ทำอาหาร​ ขายทางออนไลน์​ เพื่อประทังชีวิต​ ประคองให้รอดพ้นจากวิกฤตการแพร่ระบาด​ ชาวบ้านทุกคนเฝ้ารอจะกลับไปใช้ชีวิตตามปกติให้เร็วที่สุด

 

มาถึงขณะนี้การขายของออนไลน์ก็ไม่ได้เป็นช่องทางประกอบธุรกิจที่ชาวบ้านสามารถจะพึ่งพาเป็นหลักแทนการทำงานประจำเหมือนเดิม​ ยิ่งไม่รู้ว่าไวรัสโควิด-19จะอยู่นานจนถึงเมื่อไร​ เช่นเดียวกับไม่รู้ว่ารัฐบาลนี้จะอยู่อีกนานแค่ไหน​ ยิ่งทำให้ชาวบ้านรู้สึกว่าการกลับมาลืมตาอ้าปากอีกครั้งนั้นเลือนลางเต็มที​

อย่าลืมว่ามาตรการจ่ายเงินเยียวยา​ 5,000​ บาท​ เดือน​ มิ.ย.นี้เป็นเดือนสุดท้ายแล้วนะครับ​ จะกู้เงินมาเพิ่มเพื่อแจกต่อนั้นรัฐบาลไหวหรือ​

การจะต่ออายุ​ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน​ ครั้งต่อไป​ รัฐบาลควรตัดสินใจโดยคำนึงถึงอนาคตของประชาชนให้มากกว่านี้ครับ​ เพราะผลเสียที่กลับมานั้นทำให้รัฐบาลกำลังฆ่าตัวตายชัดๆ​

Related Articles

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Back to top button
X
%d bloggers like this: