Biznews

ย้อนเวลาหาอดีต! ‘7 ธุรกิจ’ ที่คิดถึง …ครั้งหนึ่งเคยเฟื่องฟู

ไวรัสโควิด-19 ระบาดไปทั่วโลก  ทำให้เกิดกระแส “นิวนอร์มอล” ซึ่งการแพร่ระบาดนั้นยังส่งผลกระทบต่อบางอาชีพที่คาดว่าอาจจะหายไปเมื่อสถานการณ์กลับมาเป็นปกติ
อย่างไรก็ตาม สำหรับวัยรุ่นหรือคนที่เคยผ่านยุค 90 มาแล้ว เราจะพบว่าในอดีตสังคมไทยมีอาชีพที่เคยสำคัญมากๆ ธุรกิจที่เคยเฟื่องฟูสุดๆ ซึ่งหากย้อนเวลากลับไปวันนั้นก็ไม่สามารถจินตนาการได้ว่ากิจการเหล่านั้นจะหายไปอย่างไม่มีวันกลับมาได้อีก

บางอาชีพอาจทำให้บางคนระลึกถึงวัยเยาว์ บางธุรกิจอาจทำให้ภาพเก่าๆในวันที่เราเข้าไปเดินในร้านค้านั้นกลับคืนมาอีกครั้ง

เรารวบรวม 7 ธุรกิจที่หายไป มีอะไรบ้าง และใครนึกถึงอาชีพอะไรที่หายไปอีก?

1.เช่าวีดีโอ-หนังสือ
การจะดูหนังย้อนหลังสักเรื่องในอดีต ร้านเช่าวีดีโอคือแหล่งเดียวที่สามารถยืมเพื่อมาดูที่บ้าน โดยมีค่าย ST วีดีโอ เป็นเจ้าแห่งธุรกิจการผลิตและจำหน่ายในไทย ยุคที่อาชีพตลกคาเฟ่เฟื่องฟูถึงขีดสุดรถทัวร์ทุกคันนิยมเปิดวีดีโอตลกหรือภาพยนตร์จากฮอลลีวู้ดเพื่อสร้างความบันเทิงให้กับผู้โดยสาร ร้านเช่าวีดีโอผุดมากมายเหมือนดอกเห็ด เช่นเดียวกับร้านเช่าหนังสือการ์ตูนที่มีอยู่แทบทุกมุมเมือง สนนราคาเช่าวีดีโอม้วนละ 5-10 บาทต่อคืน และหนังสือเล่มละ 1-2 ต่อวัน

หลังจากการมาของซีดี ทำให้วีดีโอค่อยๆลดความนิยมลงเรื่อยๆ อาจเป็นเพราะเครื่องเล่นที่ค่อนข้างใช้ยาก การกรอเร่งหรือย้อนหลังต้องใช้มือกดแล้วกะจังหวะซึ่งทำให้ตัวม้วนเทปเสื่อมคุณภาพ ร้านวีดีโอและร้านเช่าหนังสือการ์ตูนถือเป็นธุรกิจที่เคยรุ่งเรืองอย่างขีดสุด ก่อนจะถูกเทคโนโลยีเข้าแทรกแซงจนต้องทยอยปิดตัวและสาปสูญไปในที่สุด

2.ร้านขายเทปคาสเซ็ทท์
ก่อนจะมีอินเตอร์เน็ตที่สามารถเปิด Youtube หาเพลงที่อยากฟังได้ทันทีอย่างปัจจุบัน ร้านขายเทปคาสเซ็ทท์ถือว่าเป็นธุรกิจที่ต้องลงทุนมหาศาล ศิลปินคนไหนที่สามารถขายเทปได้ 1 ล้านตลับถือว่าฮิตมากๆ เทียบกับปัจจุบันคือ 100 ล้านวิว ไม่เพียงแต่เทปเพลงเท่านั้น เทปธรรมะ เทปคาสเซ็ทท์เปล่า รวมถึงน้ำยาล้างหัวเทป เคยขายดีมากๆเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ราคาเทปเพลงต่อตลับอยู่ที่ 55 บาท แต่ถ้าเป็นศิลปินที่ได้รับความนิยมมากๆ ราคาอาจสูงถึงตลับละ 75 บาท จนกระทั่งการมาถึงของ MP3 อาณาจักรแห่งเทปก็ค่อยๆผุกร่อนพังทลายจนในที่สุดธุรกิจร้านขายเทปก็ไม่สามารถต้านทานกระแสโลกาภิวัฒน์ได้ แม้ครั้งหนึ่งการกำเนิดขึ้นมาของแผ่น CD จะทำให้ความหวังของร้านขายเทปกระเตื้องขึ้นบ้าง

อย่างไรก็ตามเครื่องเล่นเทป หรือที่เรียกว่าซาวน์อะเบาท์ มีกลไกการทำงานเหมือนกับเครื่องเล่นวีดีโอ คือเมื่อเปิดฟังบ่อยๆเทปอาจยานได้ ยากต่อการที่จะรักษาให้คุณภาพของเสียงคงเดิม ในที่สุดเทปธุรกิจร้านขายเทปจึงต้องปิดตัวลงไปอย่างน่าเสียดาย และทำให้ราคาเทปเพลงของศิลปินบางคนในอดีตมีราคาสูงมากในปัจจุบันเพราะกลายเป็นของหายากที่เหล่านักสะสมต้องการ

 

3.ร้านเช่าเกม-เครื่องเล่น
เครื่องเล่นเกมแฟมิคอม กับตลับเกม เมื่อประมาณ 35 ปีที่แล้วถือเป็นเรื่องฟุ่มเฟือยและมีราคาแพงอย่างมาก หากเด็กสมัยนั้นต้องการเล่นเกมต้องไปที่ร้านที่ให้เช่าทั้งเครื่องและตลับเกม โดยเสียค่าเช่าเครื่องเล่นเกมคืนละ 15-20 บาท ส่วนตลับเกมอยู่ที่ 10 บาท ร้านเช่าเกมเป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่ต้องลงทุนเป็นอย่างมาก เพราะต้องใช้โทรทัศน์หลายเครื่องในการเปิดและเสียบสายต่อเพื่อทดสอบให้ลูกค้าได้เห็นว่าเกมและเครื่องเล่นเมื่อเช่าไปที่บ้านแล้วสามารถเล่นได้ หากร้านที่ลุฏค้าเยอะ โทรทัศน์ที่จะใช้ทดลองเปิดก่อนตกลงเช่าก็ต้องมีหลายเครื่อง ต่อมาเมื่อมีเครื่องเล่นเพลย์สเตชั่นเข้ามาตีตลาด ราคาเครื่องเล่นแฟมิคอมราคาถูกลงและไม่ได้รับความนิยมเหมือนอดีต มีธุรกิจเกิดขึ้นใหม่คือร้านเกมที่ให้คนเข้าไปนั่งเล่น ชั่วโมงละ10 บาท

ปัจจุบันร้านเช่าเกมได้กลายเป็นตำนานที่ไม่สามารถย้อนกลับคืนมาได้ เนื่องจากเทคโนโลยีสมัยใหม่สามารถเล่นเกมผ่านทางคอมพิวเตอร์และสมาร์ทโฟน ไม่มีใครเช่าเกมมาเล่นที่บ้านอีกแล้ว

 

4.โทรศัพท์มือถือตั้งโต๊ะ นาทีละ 3 บาท
ใครจะคิดว่าครั้งหนึ่งใน กทม. จะมีการนำโต๊ะเล็กๆมาตั้งแล้วให้คนมาโทรศัพท์คิดนาทีละ 3 บาท ธุรกิจนี้ได้รับความนิยมอย่างมากโดยเฉพาะหน้า ม.รามคำแหง มีผู้นำโต๊ะมาตั้งเรียงแถวยาว และมีเกือบทุกซอย หากใครเคยต่อแถวตู้โทรศัพท์ หรือเคยใช้บริการห้องโทรทางไกลระหว่างจังหวัด การตั้งโต๊ะแล้วนำโทรศัพท์มือถือคิดนาทีละ 3 บาท เรียกได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นแแห่งการล่มสลายของตู้โทรศัพท์หยอดเหรียญทันที เพราะหลังจากนั้นในช่วงปี 2540 โทรศัพท์มือถือเริ่มเข้ามายังประเทศไทย แม้จะมีราคาแพงระดับหมื่นบาท บางรุ่นแพงถึง 3-4 หมื่นบาท ก่อนการแข่งขันทางธุรกิจจะทำให้ราคาค่อยๆถูกลง

ต่อมาเทคโนโลยีได้ทำสิ่งที่คนไม่คาดฝันคือโทรศัพท์มือถือสามารถถ่ายรูปได้ และค่อยๆพัฒนามาเป็นสมาร์ทโฟนในปัจจุบันซึ่งเชื่อว่าในอนาคตโทรศัพท์เล็กๆในมืออาจทำอะไรได้อีกหลายอย่าง แต่ถึงกระนั้นการได้ต่อคิวโทรศัพท์นาทีละ 3 บาท คือประสบการณ์ที่วัยรุ่นยุค 90 ยากจะลืม

 

 

5.พนักงานโอเปอเรเตอร์เพจเจอร์
ในขณะที่โทรศัพท์มือถือมีแนวโน้มจะพัฒนาอย่างต่อเนื่อง แต่ก่อนหน้าที่ราคาโทรศัพท์มือถือจะจับต้องได้ วัยรุ่นยุค 90 เคยนิยมใช้เพจเจอร์เป็นอย่างมาก ธุรกิจเพจเจอร์มี 6 ค่ายดังๆ ได้แก่ WorldPage (142) , PhoneLink (152),Hutchison (162) ,EasyCall (1500), PacLink (1144),Postel (1187/1188) นั่นทำให้อาชีพโอเปอเรเตอร์รับส่งข้อความเป็นอาชีพที่รับพนักงานเข้าไปทำงานเป็นจำนวนมาก เปรียบปัจจุบันแล้วอาจเหมือนไรเดอร์ขี่รถจักรยานยนต์ส่งอาหาร

สเน่่ห์ของการใช้เพจเจอร์ที่วัยรุ่นสมัยนั้นฮิตคือ ต้องหยอดเหรียญตู้โทรศัพท์แล้วโทรไปฝากข้อความถึงคนที่แอบรัก บางคนที่ขี้อายอาจไม่กล้าบอกโดยตรงกับคนที่ชอบก็ต้องส่งผ่านกับโอเปอเรเตอร์ เทคโนโลยีการสื่อสารในปัจจุบันเราสามารถส่งข้อความผ่านได้หลายช่องทางจากแอพลิเคชั่นมากมาย ทั้ง Line, Messenger ,Twitter หรือ Instagram ความนิยมในตัวเพจเจอร์เริ่มเสื่อมลงเรื่อยๆเมื่อโทรศัพท์มือถือพัฒนาให้รับส่งข้อความได้ ในที่สุดอาชีพโอเปอเรเตอร์รับส่งข้อความเพจเจอร์ก็กลายเป็นอาชีพขึ้นหิ้งระดับตำนานที่ได้ชื่อว่าครั้งหนึ่งเคยมีอยู่ในประเทศไทย

6.ร้านรับ-ส่งแฟกซ์
แม้ว่าแฟกซ์ หรือเครื่องรับส่งเอกสารยังคงมีอยู่ในปัจจุบัน แต่ก็ถือว่ามีผู้ใช้บริการร้านค้าน้อยลงมาก หลังจากการเข้ามาของอินเตอร์เน็ต เมื่อสังคมไทยเริ่มรู้จักกับ “อีเมล์” ซึ่งเข้ามาตอบโจทย์เรื่องการรับส่งที่รวดเร็วและเป็นส่วนตัวมากกว่า ทำให้ธุรกิจรับส่งแฟกซ์ที่เคยจำเป็นต้องทยอยปิดตัวลง

อุปกรณ์สำนักงานชนิดนี้ค่อยๆกลายเป็นส่วนเกินในการสื่อสาร โดยปัจจุบันมีความจำเป็นบางกรณีเท่านั้นที่เราจะหันมาใช้แฟกซ์ และคาดว่าวันหนึ่งแฟกซ์อาจจะหายไปกับเทคโนโลยีเนื่องจาก Line สามารถรับส่งภาพได้คมชัด รวดเร็ว และส่งถึงคนในกลุ่มได้อย่างทันที ไม่ต้องรอให้ใครเดินไปดูว่าเอกสารที่ส่งแฟกซ์มาถึงหรือยัง

 

7.โรงเรียนสอนพิมพ์ดีด
วิชาพิมพ์ดีดเคยเป็นวิชาหลัก ที่นักเรียนระดับชั้น ม.ปลายต้องเรียน โดยเฉพาะคนที่ต้องสอบเทียบจาก ม.5 เข้ามหาวิทยาลัยโดยไม่ต้องเรียน ม.6 นอกจากนี้ยังเป็นวิชาบังคับที่อยู่ในหลักสูตรการศีกษานอกโรงเรียน คือบังคับว่าต้องสอบให้ผ่านด้วยการพิมพ์ดีดให้ได้ 60 คำต่อนาทีเป็นต้นไป

 

บางโรงเรียนวิชาพิมพ์ดีดถูกบรรจุให้นักเรียนต้องเรียนตั้งแต่ชั้น ม.ต้น นั่นจึงแสดงให้เห็นว่าวิชาพิมพ์ดีดเคยสำคัญมากๆ มากจนบางคนไม่สามารถฝึกพิมพ์ได้ทันในชั่วโมงเรียน จนต้องไปเรียนจากโรงเรียนสอนพิมพ์ดีดเพิ่มเติม
ความสำคัญของวิชานี้ยังอยู่ที่การคิดจำนวนคำ หากพิมพ์ผิดต้องหักลบ ยิ่งผิดมากเท่าไรจำนวนคำยิ่งน้อยลงมากเท่านั้น ในยุคนั้นสำหรับบางคนแล้วการฝึกพิมพ์ที่เริ่มจาก “ฟหกด่าสว” จึงไม่ใช่เป็นเรื่องง่ายเสมอไป และอนาคตที่จะเข้าเรียนมหาวิทยาลัยยังต้องถูกผูกติดกับผลคะแนนการสอบพิมพ์ดีด โดยผู้ที่จะสามารถออกคะแนนให้ได้และเป็นที่ยอมรับก็คือ “โรงเรียนสอนพิมพ์ดีด”

     เมื่อหลักสูตรการสอบเอ็นทรานซ์เข้ามหาวิทยาลัยถูกเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ความสำคัญของวิชาพิมพ์ดีดก็ถูกลดความสำคัญลงเช่นกัน ปัจจุบันการประกอบธุรกิจเปิดโรงเรียนสอนพิมพ์ดีดในหลายจังหวัดหายสาปสูญไปแล้วอย่างถาวร

#ขอบคุณภาพประกอบหลายแห่งจากเว็บไซต์ต่างๆในอินเตอร์เน็ตและเฟซบุ๊ก

Related Articles

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Back to top button
X
%d bloggers like this: