Biznews

ย้อนรอยความดัง สร้างชื่อให้ปังสไตล์ “สเนลไวท์”

ประกาศรายชื่อเป็นที่เรียบร้อยแล้วสำหรับ 50 มหาเศรษฐีไทยประจำปี 2561 โดยนิตยสารฟอร์บ ไทยแลนด์ซึ่งมีการจัดอันดับแบบนี้กันทุกปี อันดับ 1 ก็เป็นไปตามคาดครองแชมป์มาเกือบทุกปีชนิดยากที่ใครจะแซงได้ นั่นคือ พี่น้องเจียรวนนท์ มีมูลค่าทรัพย์สิน 3.0 หมื่นล้านเหรียญ
ตามด้วยเบอร์สองอย่าง ตระกูลจิราธิวัฒน์ มูลค่าทรัพย์สิน 2.12 หมื่นล้านเหรียญ เฉลิม อยู่วิทยา ตามมาที่ 3 ด้วยมูลค่าทรัพย์สิน 2.1 หมื่นล้านเหรียญ ที่ 4 เป็นของเจริญ สิริวัฒนภักดี เจ้าพ่อเบียร์ช้าง มูลค่าทรัพย์สิน 1.74 หมื่นล้านเหรียญ และ วิชัย ศรีวัฒนประภา เจ้าพ่อดิวตี้ฟรีอย่างคิงเพาเวอร์ มีมูลค่าทรัพย์สิน 5.2 พันล้านเหรียญ

ที่น่าสนใจสำหรับการจัดอันดับมหาเศรษฐีประจำปี 2561 ก็คือ การมีมหาเศรษฐีหน้าใหม่เข้ามาถึง 4 รายได้แก่ “สารัชถ์ รัตนาวะดี” มูลค่าทรัพย์สิน 3.4 พันล้านเหรียญ สารัชถ์ รัตนาวะดี (อันดับ 7) ซีอีโอแห่ง บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ ซึ่งเข้าตลาดเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ทำให้เขากลายเป็นมหาเศรษฐีหน้าใหม่ที่ร่ำรวยที่สุดด้วยทรัพย์สินมูลค่า 3.4 พันล้านเหรียญ (1.06 แสนล้านบาท) และอีกหนึ่งคือประจักษ์ ตั้งคารวคุณ (อันดับ 14) เข้าทำเนียบมาเป็นปีแรกด้วยทรัพย์สินสุทธิ 2.1 พันล้านเหรียญ(6.56 หมื่นล้านบาท)

อีกสองมหาเศรษฐีหน้าใหม่ประจำทำเนียบมาจากธุรกิจความสวยความงามที่กำลังเฟื่องฟู ได้แก่ นพ.สุวินและธัญญาภรณ์ ไกรภูเบศ (อันดับ 40) แห่งบิวตี้ คอมมูนิตี้ โดยทั้งคู่มีทรัพย์สินรวมกัน 715 ล้านเหรียญ (2.23 หมื่นล้านบาท) และสราวุฒิ พรพัฒนารักษ์ (อันดับ 45) กับมูลค่าทรัพย์สิน 675 ล้านเหรียญ (2.11 หมื่นล้านบาท) ดู เดย์ ดรีม ของเขาทำรายได้อย่างงามจากกระแสคลั่งไคล้ผิวขาว

วันนี้แอดมินขออนุญาตินำเสนอเกล็ดชีวิตเล็กๆ น้อยๆ กว่าจะมาเป็น “สราวุฒิ พรพัฒนารักษ์” มหาเศรษฐีอันดับ 45 ของเมืองไทย กับมูลค่าทรัพย์สิน 675 ล้านเหรียญ (2.11 หมื่นล้านบาท) เจ้าของดู เดย์ ดรีม ของเขาทำรายได้อย่างงามจากกระแสคลั่งไคล้ผิวขาวของคนไทย

ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร บริษัท ดู เดย์ ดรีม จำกัด เล่าว่ากว่าจะมาเป็นแบรนด์ SNAILWHITE ในทุกวันนี้ผ่านปัญหาและอุปสรรคไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าบริษัทอื่นๆ ตอนปีแรกของการก่อตั้ง และสร้างแบรนด์นั้นงบประมาณมีอยู่จำกัด ต้องปันเงินส่วนหนึ่งไปเพื่อการลงทุนด้านการผลิต การจะนำเงินไปลงทุนเพื่อทำการตลาดหรือโฆษณาในสื่อหลักที่เป็นออฟไลน์ มีเดียนั้นต้องใช้เงินมาก จึงเห็นช่องทางใหม่ในยุคนี้คือการทำการตลาดบนออนไลน์ หรือโซเชียลมีเดีย จึงนำเงินที่เหลือทั้งหมดมาลงที่สื่อโซเชียลมีเดียเป็นหลัก

กลยุทธ์การทำการตลาดในปีแรกเน้นการสร้างการรับรู้ในตราสินค้าหรือ Brand Awareness และการสร้างแบรนด์เป็นหลัก ส่งเสริมให้มีการรีวิวสินค้าเพื่อสร้างการรับรู้ ส่งเสริมให้มีการให้ข่าวสารตัวสินค้าหรือแบรนด์จากปากต่อปาก ใช้ดีแล้วบอกต่อ และค่อย ๆ สร้างความเชื่อมั่น ความไว้วางใจในหมู่ผู้บริโภค จากนักวิจารณ์ภายนอก แต่ไม่ใช่เกิดจากการโฆษณาชวนเชื่อของเรา สิ่งเหล่านี้ทำให้เห็นว่าเป็นการทำการตลาดแบบลงทุนต่ำ แต่ให้ผลสูง ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือในปีแรกมีรายได้จากการขายสินค้า 90 ล้าน ซึ่งเป็นการขายผ่านการใช้โซเชียลมีเดีย 95%

เมื่อรายได้ของ SNAILWHITE ในปีแรกไปได้สวย ทำให้สราวุฒิมีความเชื่อมั่นในทิศทางการตลาดที่ตนเองเดินมา และต้องการให้การเติบโตของผลิตภัณฑ์เป็นไปตามวิสัยทัศน์ที่วางไว้ จึงได้เริ่มเข้าสู่กลยุทธ์การทำการตลาดออฟไลน์ด้วยการตั้งงบประมาณ 15 % ของรายได้มาทำโฆษณาในสื่อหลัก เพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภคที่กว้างขึ้น โดยทำโฆษณา ซึ่งผลตอบรับดีเกินคาด สินค้าขายออกคล่องมากขึ้น ยิ่งทำให้กล้าตัดสินใจในการลงโฆษณามากยิ่งขึ้น ในที่สุดก็กล้าจ้างคนดังมาเป็นพรีเซนเตอร์ นั่นก็คือ อั้ม พัชราภา ไชยเชื้อ และคนอื่นๆ ตามมา

เมื่อสินค้ามีชื่อเสียงมากขึ้น ปัญหาเรื่องการก็อปปี้ก็ตามมา วิธีแก้ปัญหาของ“สเนลไวท์” คือการอธิบายให้ลูกค้ารู้ถึงวิธีการดูแบรนด์ที่เป็นของแท้ดูกันอย่างไร มีการสร้าง QR code เพื่อตรวจสอบได้ว่านี่เป็นแบรนด์ “สเนลไวท์” และใช้สื่อออนไลน์ในการประชาสัมพันธ์ออกไปเพื่อให้ลูกค้ารู้อย่างกว้างขวาง ซึ่งลูกค้าที่เป็นลูกค้าขาประจำจะแยกออกว่าสินค้าไหนเป็นของจริงและสินค้าไหนเป็นของเลียนแบบ

นอกจากการป้องกันการก็อปปี้จากคู่แข่งในตลาดแล้ว “สเนลไวท์” ย้ำว่าสิ่งสำคัญในการรักษาแบรนด์หรือตอบโจทย์ผลิตภัณฑ์ได้ดีคือ “การรักษาคุณภาพ”

ส่วนอนาคต สเนลไวท์ จะไม่ได้หยุดการทำตลาดแค่ในประเทศไทย และวางเป้าหมายทำการตลาดกับลูกค้าในเอเชีย โดยเฉพาะประเทศในกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) และตลาดใหญ่ เช่น จีน และอินเดีย เพื่อผลักดันแบรนด์ไปสู่การเป็น 1 ใน 3 ของเอเชียให้ได้ด้วย

สราวุฒิ ทิ้งท้ายว่า “ไม่ว่าคุณจะทำธุรกิจ SME ประเภทใด สามารถประสบความสำเร็จได้หมด เพียงแต่ต้องหาความแตกต่างของตัวเองให้ได้ พร้อมกับศึกษา และมั่นใจเกี่ยวกับการทำธุรกิจนั้นๆ หากมีโอกาสผ่านมา ให้รีบคว้าไว้ อย่าปล่อยให้โอกาสผ่านไป”

Cr.ข้อมูลและรูปภาพประกอบจาก SCB SME

Related Articles

Back to top button
X
%d bloggers like this: